Skip to main content
sharethis

ศยามล ไกยูรวงศ์


 


เมื่อได้อ่านร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ฉบับที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ และกำลังพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ยังไม่เดินหน้าต่อการแก้ไขปัญหาการทำลายป่าไม้อย่างจริงจัง และยิ่งสร้างปัญหาให้หนักมากยิ่งขึ้นจากการหวงอำนาจเหนือพื้นที่ป่าอนุรักษ์



สถานการณ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีบุคคลสามกลุ่มที่กำลังเผชิญหน้ากัน กลุ่มบุคคลแรกคือกลุ่มบุคคลทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาแต่ดั้งเดิม ก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์


 


กลุ่มบุคคลที่สองคือกลุ่มบุคคลที่บุกเบิกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ภายหลังการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และจะเพิ่มมากขึ้นถ้าหากรัฐยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาเชิงรุก


 


กลุ่มบุคคลที่สามคือนายทุน ผู้มีอิทธิพลที่ว่าจ้างกลุ่มบุคคลแรก และกลุ่มบุคคลที่สองในการตัดไม้ทำลายป่า หรือมาซื้อสิทธิทำกินอย่างผิดกฎหมาย


 


ในหลายพื้นที่กลุ่มบุคคลที่สามได้สิทธิในที่ดินถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายราย เช่น ทำรีสอร์ทโรงแรม บริการท่องเที่ยว พบเห็นโดยทั่วไปทั้งในเชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น



ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ คือมอบภารกิจให้หัวหน้าหน่วยต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ด้วยกำลังบุคลากรเพียงน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับป่าผืนใหญ่คอยปราบปรามจับกุมผู้ทำลายป่าไม้ ในกรณีของกลุ่มบุคคลที่สองและกลุ่มบุคคลที่สาม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่สามารถจับกุมบุคคลเหล่านั้นได้ทั่วถึง และบางพื้นที่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็เกรงกลัวผู้มีอิทธิพล หรือไม่ก็ร่วมในผลประโยชน์หากินกับป่าไม้ของชาติ



สำหรับบุคคลกลุ่มแรก รัฐบาลใช้แนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 41 สำรวจประชากรที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยในป่าอนุรักษ์ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 9 ปี ยังทำไม่เสร็จ และในหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้สำรวจฝ่ายเดียว ทำให้มีประชากรตกสำรวจจำนวนมาก ชาวบ้านในกลุ่มบุคคลแรกเบื่อหน่ายต่อการรอคอยการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวที่ยังใช้แนวทางการพิสูจน์สิทธิที่สร้างความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลที่มี ส..1 กับกลุ่มบุคคลที่มีการแต่เสียภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งเป็นหลักฐานการทำประโยชน์จริง ทั้งๆที่กลุ่มบุคคลที่มี ส..1 หรือไม่มีก็ตาม จากข้อเท็จจริงพวกเขาควรได้สิทธิทำกิน การไม่มีเอกสารหลักฐานตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่แจกเอกสารหลักฐานได้ทั่วถึงในยุคสมัยนั้น



บุคคลกลุ่มแรกซึ่งตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวรได้รวมกลุ่มแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำลายป่าต้นน้ำซึ่งมีผลกระทบต่อการทำกินของตนเอง ด้วยการกำหนดพื้นที่ป่าชุมชนที่ชุมชนจัดการได้ กำหนดกฎกติกาไม่ให้สมาชิกในชุมชนและบุคคลภายนอกมาตัดไม้ทำลายป่า ชุมชนเหล่านี้ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการจับกุมบุคคลที่ตัดไม้ จึงทำให้ป่าชุมชนนั้นไม่ศักดิ์สิทธิ์ และสมาชิกในชุมชนที่ตัดไม้มาสร้างบ้านเรือนภายใต้กฎกติกาของชุมชนก็ถูกจับจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ด้วยเหตุนี้กฎหมายป่าชุมชนจึงมีความสำคัญต่อการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการป่า และยังช่วยรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้สมบูรณ์ตามศักยภาพของชุมชนที่จัดการได้



สำหรับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยชุมชนต้องการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกำหนดเขตที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ชุมชนร่วมดูแลจัดการที่ดินทำกิน มีกฎกติกาที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกป่าใหม่ แนวทางนี้ดำเนินการได้ทันทีถ้าหากกรมอุทยานฯเห็นความสำคัญและเร่งดำเนินการ โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้สำรวจประชากรตามแนวทาง มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ทั้งพื้นที่ป่าชุมชน และที่ทำกินยังคงอยู่ในป่าอนุรักษ์ โดยใช้หลักการจัดการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชุมชน ซึ่งควรมีการแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติให้รับรองสิทธิดังกล่าว



จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะแยกให้เห็นชัดเจน ระหว่างกลุ่มบุคคลที่ต้องการรักษาป่าและทำกินอย่างมั่นคง เป็นคนละกลุ่มกับบุคคลที่ต้องการทำลายป่าไม้ การจับกุมปราบปรามผู้ที่ทำลายป่าไม้จริงจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านในพื้นที่รู้ชัดเจนว่ามีจำนวนชุมชนและประชากรที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์และช่วยรักษาป่า ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ก็จะช่วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้



แต่น่าเสียดายที่ร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับของกระทรวงทรัพยากรฯ กลับถอยหลังไป 18 ปี นับตั้งแต่มีการรณรงค์เรื่องป่าชุมชน เมื่อปี พ..2532 ภายหลังการยกเลิกสัมปทานทำไม้ ร่างกฎหมายป่าชุมชนถูกยกร่างเมื่อปี พ..2536 ด้วยการยกร่างไม่กี่มาตรา และมองรูปแบบการจัดการป่าชุมชนจากข้อเท็จจริง การออกกฎหมายเพื่อมารองรับสิทธิการจัดการป่าชุมชน ทั้งอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนได้มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้าระวังป่าชุมชนและจับกุมผู้ที่ทำลายป่า ให้ภาครัฐสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรชุมชนที่มีศักยภาพจัดการป่าชุมชน ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดูแลป่าอีกแรงหนึ่ง แต่ด้วยความไม่ไว้วางใจของสังคมไทยและเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้ร่างกฎหมายป่าชุมชนถูกปรับปรุงแก้ไข


 


และล่าสุด การแก้ไขของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ยังคงอำนาจหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการสงวนพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งมีนัยยะไม่ให้มีการจัดการป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์ อีกทั้งกระบวนการจัดตั้งป่าชุมชนมีขั้นตอนที่ยุ่งยากใช้เวลานาน



ในความเป็นจริง การที่ชาวบ้านจะได้สิทธิในการจัดการป่าชุมชนนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด และถูกตรวจสอบจากหลายฝ่าย บทเรียนของร่างกฎหมายป่าชุมชนชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบไม่ได้เรียนรู้กระบวนการของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และศึกษาองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นจากภาคประชาชน ซึ่งให้ความสำคัญต่อการจัดการป่าชุมชนเชิงสังคม ในมิติของการพัฒนาคน การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น มิติของการรวมกลุ่มองค์กรในการตรวจสอบ ซึ่งแยกให้เห็นชัดเจนระหว่างกลุ่มคนที่รักษาป่า กับกลุ่มคนที่ทำลายป่า และมิติของชุมชนที่จะร่วมกับภาครัฐในบทบาทของการส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่บทบาทของการควบคุม จับกุมและปราบปราม



ด้วยเหตุนี้ ร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับที่กำลังพิจารณาในสนช. จึงกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน และยิ่งเป็นผลเสียที่ทำให้ป่าถูกทำลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น กฎหมายที่ยกร่างขึ้นมาจะลดทอนศักยภาพและเจตนารมณ์หวังดีของชุมชนที่มุ่งมั่นรักษาป่า ชุมชนจะปฏิเสธการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายป่าชุมชนจะมีสภาพไม่ต่างไปจากกฎหมายอื่นที่ประชาชนปฏิเสธและดื้อแพ่งต่อการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และ สนช. ควรพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งว่ากฎหมายป่าชุมชนควรเป็นเช่นไร ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนที่ต้องการรักษาป่าทำได้ง่ายขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อมาช่วยกันรักษาป่าที่กำลังถูกทำลายทุกวัน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของกลุ่มบุคคลแรก ก็ควรเร่งดำเนินการทันทีตามที่เสนอไว้ข้างต้น


 

รัฐบาลและสนช.ต้องเร่งตัดสินใจ ดำเนินการบนฐานความเป็นจริงและข้อมูลที่ชัดเจนรอบด้าน เพราะการให้อำนาจแก่กรมอุทยานฯ ดูแลฝ่ายเดียวจะยิ่งทำให้ป่าถูกทำลายมากยิ่งขึ้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net