Skip to main content
sharethis

 



 


นางราฟิดาห์ อาซิซ ( Rafidah Aziz ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ของมาเลเซีย [ ที่มาภาพ : http://www.bernama.com ]


 


 


 


ประชาไท 14 พ.ค. 50 - ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการเปิดเขตค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐอเมริกาได้ จากการเปิดเผยข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ระบุถึงปัญหาจากข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯ บางประเด็นที่ขัดกับนโยบายของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณแก่ประเทศในอาเซียนว่า ควรมีความระมัดระวังและรอบคอบในการเซ็นสัญญาบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ อย่ากระทำด้วยความรีบร้อนเพื่อแซงหน้าประเทศใดๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์เลยสำหรับการเปิดประเทศทำการค้าเสรีในอนาคต


 


สำนักข่าว Bernama รายงานความคืบหน้าการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างมาเลเซียกับสหรัฐ (Malaysia-US Free Trade Agreement) หรือ FTA มาเลเซีย - สหรัฐ ต้องมีอันสะดุดไม่ไหลลื่นรวดเร็ว ดังที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศกำลังแข่งขันกัน


 


ความล่าช้าในการเจรจาต่อรองนั้น สืบเนื่องมาจากบางประเด็นในข้อเสนอของสหรัฐฯ ขัดกับนโยบายของรัฐบาลมาเลเซีย กรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และกรอบข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศกลุ่มอาเซียน (Asean Free Trade Area) รวมถึงความพยายามของวุฒิสภามาเลเซีย ที่ต้องการให้การบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีนี้ ส่งผลให้ประเทศมาเลเซียได้รับผลกระทบด้านลบน้อยทึ่สุด


 


โดยนางราฟิดาห์ อาซิซ (Rafidah Aziz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวตอบกระทู้ของวุฒิสมาชิก เกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างมาเลเซียกับสหรัฐว่า ยังต้องเจรจาต่อรองกันต่อไปอีก เนื่องจากบางประเด็นในข้อเสนอของอเมริกานั้นขัดกับนโยบายของรัฐบาลมาเลเซีย, ขัดกับกรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และขัดกับกรอบข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศกลุ่มอาเซียน (Asean Free Trade Area)


 


ซึ่งจากการศึกษาของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ที่ได้ศึกษาสถานะของประเทศชิลี, อุรุกวัย, แคเมรูน, เคนยา, ไนจีเรีย, อูกันดา และแซมเบีย หลังจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้น ถูกเขี่ยออกจากงานในภาคอุตสาหกรรมภายในเป็นจำนวนมาก


 


นางอาซิซ กล่าวต่อวุฒิสภาว่า ยังต้องต่อรองเจรจาข้อตกลงเพื่อหาทางเลือกอื่น หรืออาจต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายมาเลเซียเอง ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป


 


โดยนางได้เปิดเผยว่า สหรัฐฯ เสนอให้มาเลเซียลดภาษีนำเข้าสินค้าถึง 561 รายการ โดยให้ลดภาษีนำเข้าสินค้า 114 รายการก่อนภายใน 5 ปี หลังจากสหรัฐและมาเลเซียได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอแล้ว


 


สินค้าดังกล่าว รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติก ยาง ไม้ กระดาษ แก้ว โลหะ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งการเจรจาระหว่างมาเลเซียกับสหรัฐนั้น ได้ทำการเจรจาเอฟทีเอนี้มาถึงรอบที่ 6 แล้ว


 


ทั้งนี้ในด้านการค้า จากสถิติในปี 2003 ประเทศมาเลเซียเป็นคู่ค้าของสหรัฐรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนและเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศมีการเติบโตสูงขึ้นมาโดยตลอดจากมูลค่า 26.77 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 7.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1990 เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าเป็นมูลค่า 126.76 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 33.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2003 คิดเป็นอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 13.5 ในปี 2003 มูลค่าการค้ากับสหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียทั้งหมด


 


ส่วนด้านการลงทุน ประเทศสหรัฐฯ ได้เข้ามาลงทุนในมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างปี 1998 - 2003 บริษัทต่างๆ ของสหรัฐได้เข้ามาลงทุนในมาเลเซียถึง 232 โครงการคิดเป็นมูลค่า 25.89 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 6.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นแหล่งทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสามจากจำนวนประเทศที่เข้ามาลงทุนในมาเลเซียทั้งหมด


 


 


ที่มา :


 


http://www.bernama.com/bernama/v3/news_lite.php?id=261109


http://www.bernama.com/bernama/v3/news_lite.php?id=260816


www.depthai.go.th/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net