Skip to main content
sharethis



ชามิลา อิรอม (ซ้าย) และเลนิน รากูวานชิ (ขวา) 2 นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจากอินเดีย


 


 


ประชาไท—เกาหลีใต้ 19 พ.ค. 2550 ชามิลา อิรอม (Irom Shamila Chanu) วัย 35 ปี ผู้อดอาหารเรียกร้องสันติภาพให้กับจังหวัดมานิปุร์ ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียมาเป็นเวลากว่า 6 ปี ได้รับรางวัลร่วมกับ เลนิน รากูวานชิ (Lenin Raghuvashi) นักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอินเดียตอนเหนือ ร่วมรับรางวัลกวางจูเพื่อิทธิมนุษยชนประจำปี 2007


 



  ชามิลา อิรอม


 


 


ชามิลา อิรอม เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่ปี 2001 เป้าหมายของเธอคือ เรียกร้องต่อรัฐบาลอินเดียให้ยุติความรุนแรงต่อประชาชนของตัวเองในเขตจังหวัดมานิปุร์ ซึ่งเป็นตะเข็บชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างพม่าและอินเดีย


 


ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารของรัฐบาลอินเดียได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี หญิงสาวชาวมานิปุร์จำนวนมากถูกทหารอินเดียข่มขืนต่อหน้าต่อตาญาติพี่น้อง และชาวมานิปุร์ต้องเผชิญกับความรุนแรงหลายรูปแบบจากทหารของรัฐบาลอินเดีย คลิกดูเหตุการณ์ความรุนแรงในมานิปุร์ ที่นี่  


 



 สิงหจิต สิงห์ อิรอม พี่ชายของชามิลา เข้ารับรางวัลแทนน้องสาว


 


ทุกวันนี้ ชามิลา ได้รับสารอาหารทางสายยางผ่านจมูก และไม่สามารถเดินทางมารับรางวัลด้วยตัวเองได้ เนื่องจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาล พี่ชายของเธอ สิงหจิต สิงห์ อิรอม เป็นผู้มารับรางวัลดังกล่าวแทน และกล่าวเมื่อชามิลา รู้ตัวว่าได้รับรางวัลดังกล่าวเธอกล่าวกับพี่ชายว่า รางวัลนี้ไม่ใช่ของเธอเพียงผู้เดียว แต่เป็นรางวัลของชาวมานิปุร์ทั้งหมด


 


 


 เลนิน รากูวานชิ ขณะรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน


 


เลนิน รากูวานชิ (Lenin Raghuvashi) ได้ก่อตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อสิทธิมนุษยชน (The people"s vigilance on Human Rights-PVCHR) โดยมีเป้าหมายเพื่อจับตา เฝ้าระวังสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 5 รัฐตอนเหนือของอินเดีย โดยองค์กรที่เขาจัดตั้งขึ้น ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 50,000 คน


 


รางวัล กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวมีขึ้นเพื่อมอบให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทุกๆ ปี นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ปีที่แล้ว (2006) ผู้ที่รับรางวัลนี้ คือนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิต ซึ่งเริ่มต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการหาตัวไปของสามี และได้ขยายการต่อสู้ของเธอออกไปเพื่อสิทธิของบุคคลที่สูญหายในเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net