Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตติกานต์ เดชชพงศ


 



 


ภาพจาก "บล็อกที่เงียบที่สุดบนดวงจันทร์"


 


อีกไม่กี่วันก็จะถึงงานมหกรรมเสื้อยืดแนวๆ อย่าง T-Shirt Festival ที่จัดโดยแฟตเรดิโออีกครั้งหนึ่งแล้ว...


 


สารภาพตามตรงว่ามนุษย์เงินเดือนวัยใกล้สามสิบบางคนยังตั้งใจว่าจะไปเบียดเสียดยัดเยียดกับวัยรุ่นในงานนั้น เพื่อซื้อหาเสื้อยืดลายมันๆ แบบที่ไม่โหล และไม่ซ้ำใคร (มากนัก) มาเป็นกรรมสิทธิ์สักหลายๆ ตัว


 


งานขายเสื้อยืดที่แสนจะเท่แบบนี้ ไม่ได้หาง่ายๆ ตอนที่มนุษย์เงินเดือนคนเดิมเคยเป็นวัยรุ่น หรืออาจจะถึงขั้นไม่มีเลยด้วยซ้ำไป


 


สมัยก่อน (คือประมาณ 15 ปีที่แล้ว) การที่วัยรุ่นสักคนจะมีเสื้อยืดโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่เสื้อโหลระดับผลิตครั้งละพันๆ ตัวไว้ใส่นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก นอกเสียจากจะไปคุ้ยหาเสื้อยืดเก่าแถวสวนจตุจักร ที่มีแหล่งรับเสื้อยืดมือสองจากเมืองนอกมาขาย เผื่อให้วัยรุ่นที่ไม่ชอบอะไรซ้ำซากจำเจได้ซื้อหามาใส่กัน


 


แม้จะรู้ว่าเสื้อมือสองอาจผ่านเหงื่อไคลของคนอื่นมาก่อน วัยรุ่นฮอร์โมนฉีดพล่านในวันนั้นก็ยอมซื้อมาใส่แต่โดยดี เพียงเพื่อที่จะได้รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากวัยรุ่นคนอื่นๆ


 


ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว วัยรุ่นแทบทุกยุคทุกสมัยต้องการแค่จะประกาศตัวตนของตัวเองให้เป็นที่รับรู้ของคนรอบข้าง...ก็เท่านั้น


 


นั่นคือเหตุผลที่เสื้อยืดสีเทาตุ่นๆ สกรีนตัวเลข 23 และภาพ "ไมเคิล จอร์แดน" แบบซิลลูเอท (ซึ่งหายากมากเมื่อ 15 ปีก่อน) ได้รับอนุญาตให้นอนอยู่ในตู้เสื้อผ้าของใครบางคนมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ไม่สามารถสวมใส่ใช้งานได้จริงอีกต่อไป


 


แต่ถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างล้วน "เป็นเหตุเป็นผล" ถึงกัน ความต้องการของวัยรุ่นที่ไม่ชอบใส่เสื้อโหลในยุคนั้น น่าจะมีส่วนทำให้พ่อค้า-แม่ค้าและผู้ผลิตเสื้อยืดหลายราย เริ่มมองเห็นช่องทางที่จะต่อรองกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่ชอบของโหล พวกเขาจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขาย และตั้งชื่อเสียใหม่ภายใต้คำหรูหราว่า มันคือการสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างเพื่อวัยรุ่นที่มีความคิด


 


หรือบางคนอาจจะเรียกมันด้วยชื่ออื่นๆ เช่น "สไตล์" "ความคิดสร้างสรรค์" "ความเท่" ฯลฯ


 


แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้เกิดจากอุปสงค์-อุปทาน และไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ส่วนบุคคลสักเท่าไหร่หรอก


 


แต่อย่างน้อยที่สุด "ความต้องการ" และ "เจตจำนง" ที่จะสวมใส่เสื้อผ้าไม่ซ้ำแบบใคร ซึ่งอันที่จริงมันก็เป็นประเด็นเล็กน้อยขี้ปะติ๋ว สิวๆ มาก แต่มันสามารถตอบโจทย์และบ่งบอก "ความเชื่อ" ของมนุษย์ (วัยรุ่น) คนหนึ่งอย่างชัดเจน


 


ถ้าเราแปรความต้องการ เจตจำนง และความเชื่อเหล่านั้นไปเป็น "อำนาจต่อรอง" กับพ่อค้าแม่ขายที่ชอบยัดเยียดรสนิยมของตัวเองมาให้ลูกค้าอย่างเราๆ ได้ ก็น่าจะถือเป็นความสำเร็จบางประการที่มีความหมายมากกว่าการยอมรับสิ่งที่คนบางกลุ่มเลือกมา (ขาย) ให้เราสวมใส่เท่านั้น...


 


เรื่องจิ๊บจ๊อยขี้ปะติ๋วอย่างเสื้อยืด ดูมีอะไรน่าสนใจขึ้นมาบ้างไหมในสายตาคุณ?


 


ถ้ามองกลับมา ณ วันนี้ วัยรุ่นไทยมีตัวเลือกมากมาย พวกเขาสามารถหาเสื้อยืดสกรีนลายเก๋ๆ เพื่อบ่งบอกตัวตนของตัวเองได้ง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย


 


วัยรุ่นนิยมของแบรนด์เนม สามารถ "ยืด" กับเสื้อยืดราคาแพงที่บางตัวมีสนนราคาสูงเทียบเท่ากับเงินเดือนสาวโรงงานทั้งเดือน


 


วัยรุ่นที่รักในงานศิลปะ สามารถเพนท์ลวดลายตามจินตนาการของตัวเองได้อย่างใจ


 


หรือแม้แต่วัยรุ่นที่ฝักใฝ่กับการเป็น "นักแหกคอก" ก็สามารถหาเสื้อยืดลาย "เช กูวารา" หรือแม้แต่ "เหมาเจ๋อตุง" มาใส่เพื่อประกาศตัวตนว่าพวกเขาไม่สยบยอมให้กับกระแสทุนนิยมหรือบริโภคนิยมได้อย่างเก๋ไก๋ (ไม่ว่าในความเป็นจริงจะใช่หรือไม่ก็ตามที)


 


แต่เสื้อยืดลายเดียวกันนี้แหละ อาจทำให้วัยรุ่นเมื่อ 30 กว่าปีก่อนถูกจับเข้าคุกหรือถูกยิงให้ตายได้ ถ้าเขานึกอยากจะใส่เพื่อประกาศความเชื่อส่วนบุคคล…


 


โชคดีที่วันนี้เราเดินมาไกลจากการกดขี่ คุกคาม และลิดรอนสิทธิ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนได้แล้ว แม้ว่าหลายคนอาจจะเถียงว่าเรายังเดินมาไม่ไกลพอ แต่ใครอีกหลายคนก็ยังมีสิทธิ์พูด-คิดและเชื่ออย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ และเรียกได้ว่า "มากกว่า" คนในยุค 30 กว่าปีก่อนหลายเท่า


 


คนที่รู้คุณค่ากับสิ่งที่ได้มาย่อมรู้สึกขอบคุณในตัว "ใคร" หรือ "กระบวนการ" ใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในชีวิตเรา


 


ที่น่าเสียดายก็คือว่า บางทีเรื่องเหล่านี้กลายเป็นแค่ภาวะปกติธรรมดาที่ทุกคนคุ้นชินกันไปแล้ว


 


สิ่งที่เคยเป็นของพิเศษสำหรับคนในยุคหนึ่ง จึงกลายเป็นเพียงความธรรมดาสามัญสำหรับคนยุคต่อมา...


 


นับประสาอะไรกับเรื่องเล็กๆ อย่างการเลือกสวมใส่เสื้อยืดลายแปลกๆ ในวันนี้


 


สักวันหนึ่งก็คงเลือนหายไปจากความต้องการของผู้คน


 


เพราะกระทั่ง 'เหตุการณ์' ที่จุดประกายให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาต่อรองเพื่อเรื่องเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้น แม้จะเคยเป็นเรื่องใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในเมื่อ 15-30 กว่าปีก่อน


 


แต่ปัจจุบันความหมายของมันก็ถูกลดทอนและจืดจางความสำคัญลงไปมากแล้วในความรู้สึกของใครหลายคน...


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net