Silence of the Lamp : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหาร : วาทกรรมและนัยยะต่ออนาคตสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

 

ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเห็นสื่อหนังสือพิมพ์รายงานข่าวเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 และใช้เนื้อที่สำหรับการรายงานข่าวมาก โดยทุ่มกำลังนักข่าวและเนื้อกระดาษมหาศาล แต่กลับดูเหมือนมองไม่เห็นภาพรวมที่อยู่เหนือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนี้

 

ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์กำลังหลงเกมหรือเต็มใจเล่นตามเกมที่เขาเซ็ตมาหรือเปล่า เพราะว่าจริงๆ แล้ว ปัญหาการเมืองที่สำคัญกว่าการร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ปัญหาของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่มีเผด็จการหลายรูปแบบเข้ามาปกครองประเทศสลับกับรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญ มิหนำซ้ำ มันเป็นการซื้อเวลาช่วยให้สื่อลืม หรือเป็นข้ออ้างให้สื่อไม่ต้องตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของเผด็จการทหารและรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้ง

 

ดูเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะเขียนรายงานข่าวร่างรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่เขาเซ็ตมาและเขียนเหมือนอยู่ในสถานการณ์ปกติธรรมดา รวมถึงการถกเถียงตามมาตราต่างๆ ที่หวือหวาจนลืมดูบริบทรวมและอนาคตของประเทศ ว่าหากรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารนี้จะส่งสัญญาณและเกิดผลอะไรต่ออนาคตประชาธิปไตยไทย

 

ผู้เขียนได้ยินประชาชนคนหนึ่งพูดในงานเสวนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประชาชนเหมือน "ผู้ต้องขังเล่นกีฬาสีซึ่งจัดในเรือนจำ ผู้คุมขังไม่พอใจเมื่อไหร่ก็ให้เลิก"

 

หากมองบริบทรวมแล้ว คงปฏิเสธมิได้ว่า ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีจุดดีบ้างบางมาตราในมุมมองของหลายคน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลผลิตของรัฐประหาร 19 กันยา ที่ฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่คนทั่วไปถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การฉีกกันเองและร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันเองโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้นเป็นเรื่องตลก แถมกรรมาธิการยกร่างฯ จำนวนหนึ่งมีความเห็นแบบดูถูกประชาชนและพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทำนองว่าประชาชนส่วนใหญ่มิสามารถตัดสินใจด้วยตนเองอย่างมีวุฒิภาวะได้ จึงต้องรอสงเคราะห์จากศาลบ้าง ข้าราชการบ้าง ทหาร และแม้กระทั่งกรรมาธิการยกร่างฯ เอง โดยผู้พิพากษาจะเลือกสมาชิกวุฒิสภาและองค์กรอิสระให้

 

คำพูดที่ติดใจผู้เขียนซึ่งได้ยินมากับหู คือกรรมาธิการคนหนึ่งชื่อนายวิชา มหาคุณ พูดในที่ประชุมเวลาจะขอให้กรรมาธิการยกร่างฯ คนอื่นๆ มีเมตตาปราณีเผื่อแผ่ผลประโยชน์ถึงประชาชนทั่วไป เช่น นโยบายการศึกษาขั้นต่ำ 12 ปี นายวิชาก็จะพูดว่า "ให้เขาเถอะครับ" ส่วนกรรมาธิการยกร่างฯ อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาที่ชอบดูถูกประชาชนชื่อ นายศรีราชา เจริญพานิช พูดทำนองว่าคนไทยไม่รู้เรียนปริญญาตรีไปทำไม เพราะส่วนใหญ่จบมา 300,000 คน แต่กลับทำอะไรไม่เป็น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องไปสนับสนุน แถมเขาคนนี้ยังเคยพูดว่า เขาไม่เชื่อในความเท่าเทียมกันในสังคม และในอีกโอกาสหนึ่งก็พูดว่า เขาไม่กล้าที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ทหาร

 

น่าจะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีการโหวตลับที่บางแสนในวันสุดท้าย ใช้ระบบแบล็คเมลว่า ถ้าเซย์โน คมช. ก็จะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ได้มาปัดฝุ่นและแก้ไขใช้ แถมล่าสุดพยายามออกกฎห้ามไม่ให้ทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อร่างฉบับทหารนี้ และ ครม. ยังได้แก้ระเบียบต่ออายุให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ต่อได้ถึงอายุ 60 ซึ่งถือเป็นการปูฐานในท้องถิ่นให้มีการสนับสนุนทหารหรือพันธมิตรของทหารในการเลือกตั้งครั้งหน้าและการลงประชามติ

 

เราคงพูดถึงข้อเสียของร่างทหารต่อไปได้อีกเยอะ อย่างเช่น เรื่องนิรโทษกรรม (ม.299) เรื่องเขียนเพิ่มงบให้ทหารทางอ้อม (ม.76) ที่บอกว่ารัฐมีหน้าที่ต้องจัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ "ทันสมัย" พร้อมเทคโนโลยีอย่าง "เพียงพอ" แต่เรื่องการศึกษาและเรื่องอื่นๆ กลับบอกว่าแค่ "พอเพียง" ก็เกินพอแล้ว

 

ตอนนี้กลายเป็นว่า ใครจะออกมาปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกมองว่าไร้เหตุผล ให้รอแปรญัตติร่างแรกให้เสร็จก่อน แล้วใครจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหารทางการเมืองก็ถูกบอกให้รอดูผลประชามติก่อน ซึ่งถือได้ว่า เป็นแผนในการซื้อเวลาของเผด็จการทหารที่ขาดความชอบธรรม และแผนนี้เต็มไปด้วยเล่ห์กลเพราะหากผ่านประชามติ ทหารก็จะอ้างว่าประชาชนยอมรับทหารด้วย และต่อไปจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะลำบากเพราะมีเสียงประชามติเป็นข้ออ้าง แต่หากไม่ผ่าน ทหารก็อาจโทษว่าเป็นเพราะรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำงานไม่เข้าตาประชาชน (ซึ่งนายประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ พูดอยู่เป็นประจำว่า ร่างจะผ่านหรือไม่ผ่านขึ้นอยู่กับผลงานรัฐบาล) และอาจเป็นข้ออ้างให้เกิดการรัฐประหารซ้อนได้ กลายเป็นสังคมตกอยู่ในสภาวะแห่งความกลัวยอมจำนนอย่างมิมีวันจบ

 

แต่ประเด็นที่กล่าวข้างต้นทั้งหมด ไม่มีเรื่องใดสำคัญเท่ากับการที่สื่อส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองอนาคตว่า ถ้าเรายอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ มันจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรให้กับสังคมและทหาร ทหารคงจะได้ใจว่าต่อไปก็สามารถก่อรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญได้อีก เพราะประชาชนยอมทนรัฐประหารไม่พอ ยังโง่ไปรับรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการอีก การรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีผลในการเอื้อให้วงจรอุบาทว์ของรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่คงอยู่ต่อไป

 

เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ประชาชนจะต้องคำนึงถึงนัยยะและผลของการลงประชามติ เพราะมันจะมีผลกระทบสู่อนาคตของระบอบประชาธิปไตยไทยโดยตรง วาทกรรมบางอย่างได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนสับสนว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคืออะไร โดยที่สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตั้งคำถามกับวาทกรรมเหล่านั้นอย่างเท่าทัน (ไม่รู้ว่าโง่หรือแกล้งโง่) เช่น "ประชาชนไม่ควรจะปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงเพราะเป็นบุตรนอกสมรส"  (เท่าที่ทราบ ผู้เขียนเข้าใจว่าคนที่สร้างวาทกรรมนี้คือนายวิชา มหาคุณ) ซึ่งเป็นวาทกรรมที่เป็นปัญหามาก เพราะว่าหากคิดเช่นนี้แปลว่าการที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปนั้นถือว่าเป็นการฆ่าบุตรในสมรสไปแล้วหรือไม่

 

การเปรียบเปรยแบบประชาชนเป็นผู้หญิงที่ไม่มีพลัง ต้องไปมีเพศสัมพันธ์กับทหารซึ่งเป็นผู้ชายและมีพันธมิตรหลอกหรือทำให้ผู้หญิงต้องไปมีสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งน่าจะคล้ายการถูกข่มขืน เป็นความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้ประชาชนถูกเปรียบเสมือนผู้อ่อนแอและผู้ถูกกระทำอยู่ร่ำไป แม้ผู้ต่อต้านรัฐธรรมนูญและรัฐประหารอย่างกลุ่มเอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหารบางคน ยังคล้อยตามการเปรียบเปรยเช่นนี้ เพียงแต่อ้างว่า นี่เป็นลูกที่เกิดจากการถูกข่มขืน จึงมีสิทธิทำแท้งได้

 

ในความเป็นจริงแล้ว การเปรียบเปรยว่ารัฐธรรมนูญมาจากเพศสัมพันธ์นั้นคลาดเคลื่อนมาก เพราะสังคมสลับซับซ้อน (complex) เกินกว่าที่จะแบ่งฝ่ายหนึ่งเป็นชายและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นหญิงเพราะมีหลายกลุ่มคนในสังคมที่มีความเห็นหลากหลาย มากกว่าขาวหรือดำ ซ้ายหรือขวา เอาทหารหรือไม่เอาทหาร

 

ส่วนเนติบริกรชื่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้สร้างวาทกรรมทำนองว่า ขอให้ดูภาพรวมของรัฐธรรมนูญ เหมือนดูนางงาม อย่าไปตัดสินกันที่ตำหนิเล็กๆ น้อยๆ แต่ให้ดูความงามโดยรวม ผู้เขียนเห็นว่าภาพรวมที่แท้จริงในกรณีนี้นั้นไม่ใช่ตัวนางงาม แต่กระบวนการจัดการประกวดนางงามซึ่งหากเปรียบเปรยพวกเผด็จการทหารก็คงไม่ต่างจากขบวนการค้าทาสหรือแมงดาที่บังคับให้ผู้หญิงมาประกวดหรือแม้กระทั่งขายตัว ประชาชนจึงมีพันธะต่ออนาคต ต่อคนรุ่นหลังในการปฏิเสธกระบวนการที่ขาดความชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยและเลวร้ายอย่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างอยู่ทุกวันนี้ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

 

ผู้เขียนขอเสนอว่า หากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ ก็เปรียบเสมือนการที่ประชาชนและสังคมยอมเป็นพาหะให้เชื้อโรคร้ายของวงจรอุบาทว์แห่งการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารคงอยู่ในสังคมไทยต่อไป

 

....................

 

ป.ล. บทความนี้ดัดแปลงมาจากคำอภิปรายในงานเสวนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญกับอนาคตสังคมไทย" จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 สี่แยกคอกวัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท