บทความ : 9 ปีหลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ : ปัญหาความยุติธรรม, มนุษยธรรม, และการให้อภัยซูฮาร์โต

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

สำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

วันที่ 21 พฤษภาคม 2007 นี้เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในการเมืองประเทศอินโดนีเซีย นั่นคือวันครบรอบ 9 ปีเต็มที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังจากที่โดนกระแสต่อต้านทั้งจากในและต่างประเทศอย่างหนัก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 1997 และหลังจากการประกาศลาออกได้มีความพยายามดำเนินคดีกับซูฮาร์โตในข้อหาคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่จนถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 9 ปีแล้ว แต่ความคืบหน้าของคดีกลับมีเพียงน้อยนิด

 

ยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลังนี้มีกระแสจากคนอินโดนีเซียจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควร ที่เรียกร้องให้ยกโทษให้ซูฮาร์โตจากการกระทำทั้งหมดที่ถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ครองอำนาจอยู่ 32 ปี ก่อนจะถูกโค่นอำนาจลงไป โดยกระแสดังกล่าวรวมไปถึงต้องการให้ยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายกับเสือเฒ่าซูฮาร์โตด้วย

           

ในหลายๆ เหตุผลของคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นนั้น คือเรื่องความยุติธรรมและมนุษยธรรม เนื่องจากซูฮาร์โตอายุมากแล้ว (86 ปีในปีนี้) และป่วยหนักจนกระทั่งไม่สามารถเดินทางไปขึ้นศาลได้ และมีบางคนที่เสนอให้ยกโทษให้ซูฮารโต เนื่องจากผลงานต่างๆ ที่ซูฮาร์โตได้สร้างไว้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเฉพาะที่โดดเด่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยม ยิ่งกว่านั้น ยังมีบางคนที่ให้ความเคารพยกย่องซูฮาร์โตในฐานะ "วีรบุรุษ" แห่งชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาได้ช่วยชาติให้รอดพ้นจากภ้ยคุกคามความมั่นคงของประเทศอันเกิดจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติอินโดนีเซีย และได้ทำลายระบอบเผด็จการของซูการ์โนลงด้วย และครอบครัวของซูฮาร์โต โดย Siti Hediati Haryadi (Titik) บุตรสาวของซูฮาร์โตได้ออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนอินโดนีเซียในความผิดทั้งหมดทั้งมวลที่บิดาของเธอได้กระทำ

           

จากการแตกแยกกันระหว่างคนที่สนับสนุนและคัดค้านในการดำเนินคดีกับซูฮาร์โตดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจต่อนักสังเกตการณ์การเมืองอินโดนีเซียว่า ความขัดแย้งนี้จะบานปลายกลายเป็นการจลาจลได้ ทำให้ต้องมีการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับปัญหาซูฮาร์โตจากหลายๆ ปัจจัย ว่าการเรียกร้องความยุติธรรมและมนุษยธรรมต่อซูฮาร์โตนั้น ได้คำนึงถึงประเด็นความยุติธรรมและมนุษยธรรมต่อเพื่อนร่วมชาติชาวอินโดนีเซียคนอื่นๆ หรือไม่ ปัญหาซูฮาร์โตไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้น และไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัว แต่ปัญหาซูฮาร์โตมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ได้กับปัญหาระดับชาติและประเทศอินโดนีเซีย

 

การกระทำของซูฮาร์โตตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ครองอำนาจ

เพื่อที่จะประเมินความเป็นผู้นำของซูฮาร์โตในช่วง 32 ปี เราจำเป็นต้องกลับมาวิเคราะห์สิ่งที่ซูฮาร์โตได้กระทำในด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม และรวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน ต่อประเทศชาติและประชาชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาในด้านต่างๆ ค่อนข้างกว้าง ในงานเขียนนี้จะจำกัดเฉพาะปัญหาความยุติธรรมและมนุษยธรรม ที่สัมพันธ์กับปัญหาซูฮาร์โตและชาติกับประชาชน

 

ความไม่ยุติธรรมในด้านการเมือง

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกล่าวย้ำให้ทราบว่าตลอดระยะเวลา 32 ปีของซูฮาร์โตได้มีการละเมิดและทำลายความยุติธรรมในด้านการเมืองอย่างมหาศาล มีคนตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมจากการปกครองของซูฮาร์โตจำนวนมาก การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยระเบียบใหม่เป็นเพียงแค่ฉากหนึ่งในละครการเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ในการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งนั้น ทหารมีบทบาทอย่างมากในการทำให้กลุ่มกอลคาร์ชนะในการเลือกตั้งด้วยระดับคะแนนเสียงประมาณ 70% ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้จากการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าเป็นตัวแทนของความไม่ยุติธรรมทางการเมืองนี้

           

กอลคาร์หรือที่ชื่อเต็มๆ ว่า Golongan Karya ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า "กลุ่มหรือคณะทำงาน" เป็นกลุ่มทางการเมืองเดียวที่สามารถจัดตั้งและรวมรวบคนจากหลายสาขาอาชีพ แม้ว่าโดยสถานะจะมิได้เป็นพรรคการเมืองแต่มีบทบาทและจำนวนสมาชิกหลายล้านคนทั่วประเทศ และเป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสาขาได้ในระดับหมู่บ้าน ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ได้รับอนุญาต ก่อนหน้าที่ซูฮาร์โตจะลงจากอำนาจ ประชาชนและนักศึกษาเรียกร้องให้ทำลายกลุ่มกอลคาร์นี้ลงด้วย แต่ในปัจจุบันนอกจากกลุ่มนี้จะไม่ได้ถูกทำลายลงแล้ว ยังคงมีอำนาจและบทบาทโดดเด่นในรัฐสภาของอินโดนีเซีย ซึ่งประเด็นนี้ทำให้หลายๆ คนลงความเห็นว่า การปฏิรูปที่ประชาชนอินโดนีเซียเรียกร้องกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

           

นอกจากประเด็นเรื่องการเลือกตั้งแล้ว อดีตประธานาธิบดีซูการ์โนและผู้สนับสนุนของเขาร่วมสิบล้านคน ถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมและไร้มนุษยธรรม ในหลายรูปแบบภายใต้กระบวนการ "ทำลายความเป็นซูการ์โน" ซึ่งกวาดล้างทุกอย่างที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับซูการ์โน หรือถูกกล่าวหาว่าสัมพันธ์ก้บซูการ์โน ความยุติธรรมไม่เคยถูกนำมาใช้กับผู้สนับสนุนที่จงรักภักดีกับซูการ์โน

           

ความไม่ยุติธรรมและความไร้มนุษยธรรมที่เด่นชัดที่สุดคือการกวาดล้างของซูฮาร์โตกับระบอบทหารของยุคระเบียบใหม่ที่กระทำต่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติอินโดนีเซีย หรือต่อคนที่ถูกกล่าวหาหรือสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือพวกฝ่ายซ้าย ซึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อโดยปราศจากความผิดใดๆ นี้มีจำนวนมหาศาล แม้ว่าตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตและสูญหายจากการทำลายล้างพรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่แน่ชัดว่าเท่าใด จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องของตัวเลข แต่เป็นที่ยอมรับกันว่ามีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากที่ถูกฆ่าตายหรือคุมขังโดยไม่มีการขึ้นศาลเพื่อตัดสินความผิด อย่างน้อยที่สุดเป็นเรือนแสน บางหลักฐานชี้ว่าอาจจะถึงสามล้านคน

 

ความไม่ยุติธรรมในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความไม่ยุติธรรมในด้านเศรษฐกิจเป็นลักษณะที่เด่นชัดอีกด้านหนึ่งของรัฐบาลซูฮาร์โต เพราะมีประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซูฮารโตไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับสูง, บรรดานายพล, นักธุรกิจที่มีทุนขนาดใหญ่, และครอบครัวของซูฮาร์โต ที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในความมั่งคั่งอันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจของยุคซูฮาร์โต ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในความยากจนและมีระดับคุณภาพชีวิตต่ำ

           

แม้ว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคระเบียบใหม่ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะมีตัวเลขที่สูงจนมีการคาดการณ์กันว่าอินโดนีเซียจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย แต่ระดับตัวเลขที่สวยหรูนั้นไม่ได้เป็นหลักในการรับประกันว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับส่วนแบ่งในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นด้วย                    

ในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียไม่มียุคสมัยใดที่ช่องว่างทางสังคมจะมีระยะห่างเท่ากับสมัยซูฮาร์โต คำขวัญที่ว่า "ความเจริญรุ่งเรืองและความเท่าเทียมกันของประชาชน" ที่เคยถูกใช้สมัยเพิ่งได้รับเอกราชได้กลายเป็นคำที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป วัฒนธรรมแบบศักดินาที่ฝังรากในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่สมัยยุคจารีตที่ซูการ์โนพยายามทำลายลงไป กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในสมัยของซูฮาร์โต

           

ความไม่ยุติธรรมในด้านสังคมได้ส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม คนจีนในด้านหนึ่งถูกปราบปรามและเข่นฆ่าจากข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ในอีกด้านหนึ่งคนจีนที่เป็นนักธุรกิจเจ้าของทุนรายใหญ่เป็นพันธมิตรที่สำคัญของซูฮาร์โต และการครอบครองทรัพย์สินจำนวนมหาศาลอยู่ในมือของคนไม่กี่ร้อยครอบครัว ในขณะที่คนนับล้านอยู่ในความยากจน เป้าของความเกลียดชังจึงพุ่งไปที่ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ดังที่เราได้เห็นจากข่าวในเดือนพฤษภาคม 1998 ก่อนหน้าที่ซูฮาร์โตจะประกาศลาออกจากตำแหน่ง

 

คนว่างงานจำนวน 40 ล้านคนในขณะนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลซูฮาร์โต ซึ่งรัฐบาลชุดต่อๆ มาก็ยังคงสานต่อนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลซูฮาร์โต

           

ความไม่ยุติธรรมในด้านสิทธิมนุษยชน 

ความเลวร้ายอันใหญ่หลวงต่อสิทธิมนุษยชนเป็นลักษณะสำคัญของระบอบทหารของยุคระเบียบใหม่ เหตุการณ์สังหารโหดนักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติ (Universitas Trisakti) จำนวน 4 คน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 นักศึกษาทั้ง 4 คนถูกยิงจากกลุ่มที่ใส่ชุดเหมือนทหาร หลังจากที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติได้เดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะไปยังอาคารรัฐสภา แต่ถูกกำลังเจ้าหน้าที่สกัดไว้ระหว่างทาง และได้มีการเจรจากันระหว่างผู้นำกลุ่มนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ ในที่สุดนักศึกษายอมถอยและในขณะที่กำลังเดินขบวนกลับยังไม่ถึงประตูมหาวิทยาลัย ได้มีการยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษา และนักศึกษา 4 คนถูกกระสุนและเสียชีวิต และหลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่มหาวิทยาลัยตรีศักติ ความวุ่นวายของมวลชนได้ก่อตัวขึ้นอย่างที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ มีการปล้น เผา ข่มขืน และฆ่าชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนจำนวนมาก การที่เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้เกิดการกระทำแบบนี้โดยไม่พยายามหยุดยั้ง หรือเข้าควบคุมสถานการณ์ เป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

 

ก่อนหน้านี้ในทศวรรษ 1980 ถึงก่อนการสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ คนจำนวนมากที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนที่ถูกรัฐเอารัดเอาเปรียบหายตัวไป ที่เด่นชัดคือการหายตัวไปของสมาชิกพรรค PRD หรือ Partai Rakyat Demokratik (People"s Democratic Party) ซึ่งพรรคนี้ถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ หรือเป็นการเกิดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเลวร้ายของระบอบซูฮาร์โตในด้านสิทธิมนุษยชน การที่ไม่เคยสามารถเอาผู้กระทำผิดในกรณีดังกล่าวมาดำเนินดดีตามกฎหมายเลยสักกรณีเดียว เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไม่มีความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในยุคซูฮาร์โตจนถึงปัจจุบัน

           

และความอยุติธรรมในด้านสิทธิมนุษยชนต่อคนนับสิบๆ รายที่ไม่มีความผิดนี้เป็นความเลวร้ายที่ซูฮาร์โตไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

           

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงภาพกว้างๆ ที่ชี้ถึงปัญหาที่เกิดโดยซูฮาร์โตผ่านการครองอำนาจเผด็จการทหาร ซึ่งทั้งหมดนี้ในปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างทั้งภายในและภายนอกประเทศอินโดนีเซีย

           

ในช่วงที่มีการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับซูฮาร์โตนั้น ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน พลเอกซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Suliso Bambang Yudhoyono) ได้ออกมาแถลงว่ารัฐบาลจะยุติการสอบสวนและดำเนินคดีกับซูฮาร์โต ปรากฎว่าหลังจากแถลงการณ์ดังกล่าว ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงท่าทีประท้วงอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวกลายเป็นการปะทะระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่คัดค้าน ในที่สุดพลเอกซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโนต้องออกมาประกาศเสียใหม่ว่ายกเลิกความคิดที่จะยุติการดำเนินคดีกับซูฮาร์โต หมายความว่าการดำเนินคดีกับซูฮาร์โตยังคงดำเนินต่อไป

           

จากงานเขียนสั้นๆ นี้คงพอให้ภาพแก่ผู้อ่านเพื่อที่จะประเมินซูฮาร์โตในปัญหาด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันในขณะนี้ มีนักวิชาการชาวอินโดนีเซียบางท่านสรุปว่าสิ่งที่ซูฮาร์โตกระทำตลอดระยะเวลา 32 ปีที่อยู่ในอำนาจ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการรับใช้ประชาชนหรือการทำเพื่อประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นซูฮาร์โตนั่นเองที่ก่อให้เกิดความทุกข์เข็ญทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติ ดังนั้นซูฮาร์โตจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติ

           

เมื่อพิจาณาและทบทวนถึงความไม่ยุติธรรมและไม่มีมนุษยธรรมของยุคซูฮาร์โตที่กระทำต่อคนอินโดนีเซียอย่างหนักหนาสาหัส  ความผิดของซูฮาร์โตทั้งหมดนี้สามารถให้อภ้ยได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายเลยหรือ? ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคำตอบของประชาชนอินโดนีเซียส่วนใหญ่คือ : ไม่!

           

แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมในอินโดนีเซียเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าไร้น้ำยา แต่คนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังแสดงเจตนารมณ์ว่า คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษ การให้อภัยไม่สามารถกระทำได้ การขอโทษไม่ได้ช่วยให้เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบรรเทาเบาบางไปได้ ปรากฏการณ์นี้น่าจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเราได้เห็นแบบอย่างและข้อคิดอะไรบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท