สกัดสมัชชาคนจน ห้ามเข้ากรุงเจรจานายกฯ

ประชาไท - 23 พ.ค.50 ตามที่นายกรัฐมนตรี พล.เอก สุรยุทธ์ จุลานนท์  ได้ให้สัญญากับทางสมัชชาคนจน หลังจากลงพื้นที่นัดหมายในวันที่ 23 เม.ย.50 ณ  ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี  และรับปากว่าจะให้มีการเปิดเจรจาสำหรับทุกกรณีปัญหาของสมัชชาคนจนในวันที่ 23 - 25 พ.ค.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล 

 

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (22พ.ค.) ทางกลุ่มสมัชชาคนเปิดเผยการเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีมาครั้งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบากจากการถูกเจ้าหน้าที่ทางรัฐทั้งฝ่ายปกครองของอำเภอ ทหาร ตำรวจ สกัดกั้นและขู่ไม่ให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่เดินทางออกนอกพื้นที่ 

 

นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า สมัชชาคนจนจำนวนประมาณ 1000 คนในจังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ อุบลราชธานี ซึ่งจะเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 23 พ.ค. นี้ เพื่อให้แก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน 7 เครือข่าย ได้แก่ ปัญหาเรื่องการสร้างเขื่อน ที่สาธารณะกับที่ดินทำกิน สนับสนุนเกษตรยั่งยืน คัดค้านจีเอ็มโอ เอฟทีเอ ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนงานในโรงงาน ปัญหาของประมงพื้นบ้านที่เกิดจากการที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ที่อยู่อาศัยของพี่น้องในสลัม  ถูกสกัดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและนายอำเภอ

 

"เขาไม่ให้ขึ้นรถเลย ในบางพื้นที่ เช่น ที่นครสวรรค์ สระแก้ว ขนส่งไม่ออกใบอนุญาตให้รถวิ่ง ทำให้ไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นรถบัส วิ่งนอกเส้นทางต้องมีใบอนุญาตจึงจะออกได้" นายบารมีกล่าว

 

เมื่อถามถึงสาเหตุในการบล็อค นายบารมี กล่าวว่า "ไม่ทราบเหตุผล ทั้งที่เขารู้ว่าเราไม่ได้มาด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่มาเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา กลับไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ เท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างมาก"  พร้อมระบุว่า หากไม่สามารถขึ้นรถมาได้จะเดินเท้ามา และจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

นายสมัย หงษ์คำ  ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า "ปลัดป้องกันอำเภอราษีไศลและทหาร 1 คนได้โทรศัพท์มาหาผมพร้อมบอกว่า ไม่อยากให้ไปชุมนุมเรียกร้องที่กรุงเทพฯ หากจะไปจริงๆ ก็ขอให้ไปที่อำเภอ ทางอำเภอจะทำใบผ่านทางให้เพื่อนำไปแสดงหากมีการตั้งด่านสกัดขบวนของชาวบ้าน ดังนั้นทางเราจึงได้มีตัวแทนชาวบ้านไปที่อำเภอ 2 คน ปรากฏว่าทางอำเภอก็ทำร่างและหนังสือผ่านทางอย่างดี แต่ไม่ยอมเซ็นรับรองให้ และบอกว่าจะเซ็นให้พรุ่งนี้ วันนี้ไม่ต้องไปหรอกให้ไปพรุ่งนี้แทน ขณะนี้ทางปลัดอำเภอยังได้เดินทางมายังหมู่บ้านและเรียกผู้ใหญ่บ้านพร้อมกับประกาศไม่ให้ชาวบ้านออกไปชุมนุม ทำให้ในพื้นที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลไม่สามารถเดินทางออกเพื่อออกไปรับฟังการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างสมัชชาคนจนและนายกรัฐมนตรีได้"

 

ขณะเดียวกันอีกฝั่งของพื้นที่ราษีไศล ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา  จ. ศรีสะเกษ ประมาณ 300  คน ก็ได้เตรียมตัวเดินทางมากรุงเทพมหานครเพื่อมาเจรจาตามนัดหมาย

 

นางสำราญ สุระโคตร ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ทีมเจ้าหน้าที่รัฐจากอำเภอราษีไศล ประกอบด้วย นายอำเภอราษีไศล ปลัดอำเภอราษีไศล ผู้กำกับการตำรวจอำเภอราษีไศลและลูกน้อง รวมทั้งหมดประมาณ 20 คน ลงไปสกัดกั้นชาวบ้านในพื้นที่ตรงจุดที่ชาวบ้านนัดหมายรถที่จะออกเดินทาง โดยมีการพูดข่มขู่ และพูดโกหกชาวบ้านไม่ให้ออกไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้บอกกับชาวบ้านว่าวันที่ 24 พ.ค.นี้ นายกฯ จะลงมาพบชาวบ้านที่จังหวัดศรีสะเกษเอง ไม่ต้องไปถึงกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีการปฏิกิริยาข่มขู่ชาวบ้านโดยการจดหมายเลขทะเบียนคันรถทั้ง 2 คันไว้ พร้อมระบุว่า "มีการจดทะเบียนรถไว้ทุกคันแล้ว และในพื้นที่อื่นที่จะเดินทางไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทางอำเภอ ตำรวจ ทหาร สกัดกั้นไว้ทุกจุด และเจ้าหน้าที่ลงไปสกัดกั้นไว้ทุกพื้นที่ที่จะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้"

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในค่ำของวันที่ 22 พ.ค. ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธรประมาณ 140 คน ก็เดินทางโดยรถบัส 3 คัน เพื่อจะเข้ามาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯมหานครเช่นกัน แต่เมื่อรถเดินทางมาถึง อ.เดชอุดม ก็ถูกสกัดที่ด่านนากระแซง จึงมีการเจรจาต่อรองกันผลปรากฏว่าชาวบ้านทั้งหมดไม่สามารถเดินทางต่อมายังกรุงเทพมหานครได้จึงต้องเดินทางกลับบ้านตัวเองโดยมีทหารนอกเครื่องแบบได้ขึ้นรถบัสไปกับขบวนของชาวบ้านด้วย

 

นายภักดี จันทเกียรติ ชาวบ้านผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า "พอถูกกักที่ด่านมีการต่อรองว่าจะให้ไปแค่คันเดียวซึ่งเราก็ได้บอกเหตุผลที่ต้องไปว่าไปเจรจาให้มีการแก้ไขปัญหา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเก่า หรือจะเคลื่อนไหวด้วยเรื่องยุบพรรค แต่สุดท้ายก็ตกลงที่จะไปแค่คันเดียวเพราะยังไงพี่น้องก็ต้องไป แต่ขณะที่เรากำลังประชุมกันอยู่นั้นทางทหารก็ได้เรียกคนขับรถไปคุยด้วย แล้วก็ไม่มีคนขับคนไหนกล้าพาพวกเราเข้าไปร่วมชุมนุมได้เลย

 

นอกจากนี้นายภักดียังตั้งข้อสังเกตว่าด่านจุดนี้ค่อนข้างใหญ่เป็นพิเศษอย่างไม่เคยเจอมาก่อน ประกอบไปด้วย ทหารประมาณ 100 นาย และตำรวจประมาณ 40 นาย พร้อมไปด้วยรถถัง รถปิ๊กอัพ เป็นสิบๆ คัน 

 

ส่วนชาวบ้านกรณีปัญหาป่ายูคาลิปตัสทับที่ทำกินป่าดงมะไฟ ได้มีทหาร ตำรวจเข้าไป ประกบแกนนำถึงในหมู่บ้าน  ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรวมตัวกันได้

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมัชชาคนจนจึงมีมติจะไปชุมนุมหน้าที่ทำการ คมช. ถนนราชดำเนิน ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ เพื่อประณามการกระทำในกรณีดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ข้าราชการฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจในพื้นที่ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการขัดขวาง หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมของพี่น้องสมัชชาคนจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท