Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นพพล  อาชามาส



แดดเที่ยงวันสาดแสงแรงลงมายังขบวนคนจนบนท้องถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งกำลังเคลื่อนไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถวขบวนทอดยาวออกไปด้วยจำนวนคนหลายพันคน สีสันหลากสีบนธง เสื้อ และผ้าพันคอ ประดับแต่งริ้วขบวนดูราวกับขบวนพาเหรด แต่ละสีแสดงแทนสภาพปัญหาและวิธีการรณรงค์ต่อสู้ของชาวบ้านแต่ละกลุ่ม เสียงฆ้องหลังขบวนตีดังกังวานไกล เสียงประกาศจากรถบัญชาการปลุกเร้าขบวน และเสริมความเข้าใจกับประชาชนรอบข้างเป็นระยะ


 


"พี่น้องเอ๋ย...คนจนเอ๋ย" แกนนำบนรถขานเรียก


 


"เอ๋ย" เสียงขานรับจากขบวนแถวคนจน พร้อมกับการโบกธงตอบรับ เตรียมเคลื่อนไปเป็นกำลังใจให้ตัวแทนชาวบ้านที่จะเข้าเจรจาที่กระทรวง


 


ชาวบ้านจากทั้งเหนือ กลาง ใต้ อีสาน เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ต่างคนต่างมีปัญหาของตนเอง ทั้งเรื่องสลัม การประมง ที่ดินทำกิน เขื่อน ป่า ที่อยู่อาศัย ผู้ป่วยจากการทำงาน ฯลฯ ต่างตากลมฝนอยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการมา 3-4 วันแล้ว ยังมีมวลมิตรเดินทางมาสบทบจากรอบทิศ ในนามของ "สมัชชาคนจน"






วงข้าวเหนียว


 


 



วงดนตรีปักษ์ใต้


 


 


 


ด้านข้างขบวน ชายหนุ่มในเสื้อพื้นถิ่นสีแดง กางเกงยีนส์ พร้อมย่ามใบเล็ก กำลังวิ่งเคลียร์พื้นที่ และดูแลความปลอดภัยของขบวนอย่างแข็งขัน "ประพันธ์" ปกาเกอญอหนุ่ม จากหมู่บ้านห้วยหอย อ.แม่วัง จ.เชียงใหม่ เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยในขบวนสมัชชาคนจนเที่ยวนี้ ต้องคอยดูแลทั้งพื้นที่ที่ชาวบ้านปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษา และพื้นที่ที่ขบวนพี่น้องจะเดินทางไป


 


เขาและพี่น้องชาวเขา ต้องการเรียกร้องเรื่องป่าชุมชน และทำความเข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียนของชาวเขาว่าไม่ได้เป็นการทำลายป่า แต่มีวิธีการจัดสรรดูแลตามวิถีทางของปกาเกอญอมาเนิ่นนาน มีการแบ่งประเภทป่าเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย ป่าทำกิน หรือการเผาก็เผาทำเป็นแนวกันไฟเท่านั้น


 


เขาเห็นว่าเรื่องป่าก็โยงใยกับเรื่องที่ดินทำกิน เมื่อไม่มีป่าก็ไม่มีพื้นที่ทำกิน ปัญหาของชาวบ้านจากส่วนอื่นๆ เองก็ตาม มันต่างเกี่ยวโยงร้อยรัดไว้ไม่ต่างกัน ในนามของ "คนจน"


 




หนุ่มปกาเกอญอ



 


"ถ้าไม่มีปัญหาเราก็ไม่มาหรอก เราก็รู้ว่าการมาทำให้เกิดปัญหาขึ้น รถติด เดือดร้อนคนอื่น แต่ปัญหาของเราก็ใหญ่เหมือนกัน"


 


"อยากให้คนเมืองเข้าใจว่า ไร่นาป่าเขาสำคัญแค่ไหน แต่ถ้าสู้ไม่ไหวจริงๆ เราก็ต้องกลับไปสู้กันในป่า ให้เขาเข้ามาเรียนรู้เรื่องป่า เรื่องวิถีชีวิตชาวเขาในพื้นทีป่า มาบอกกันในเมืองอย่างนี้ เขาไม่รู้หรอก มันคนละสภาพกัน ถ้าทำอะไรไม่ได้แล้ว คิดเล่นๆ ว่าเราจะหยุดส่งข้าวให้เขากิน ไม่ขายให้แล้ว อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง" ประพันธ์เล่าด้วยสำเนียงชาวเขา


 


 


0 0 0


 


 


ขบวนชาวบ้านหยุดนั่งบนทางเท้าหน้ากระทรวงเกษตร ตัวแทนชาวบ้านเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่หน้ากระทรวงอยู่นาน กว่าจะได้เข้าไปเจรจา ทั้งที่นัดกันไว้ก่อนแล้ว


 


"ห้องน้ำจะใช้ยังยากจริงๆ ภาษีของเราแท้" เสียงบนรถเวทีกล่าวถึงเรื่องไม่มีห้องน้ำใช้ ด้วยเหตุที่กรุงเทพมหานครนำรถบริการห้องน้ำกลับไป ขณะชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือที่สภา ตอนเช้าชาวบ้านเกือบร้อยต้องเดินทางไปกดดัน ร้องเรียนที่ที่ว่าการกรุงเทพฯ จนได้รถห้องน้ำมาหนึ่งคันในท้ายที่สุด


 


"ส้วมคันเดียว สามหลัง คนสองสามพัน มันจะพอไหม" โฆษกบนเวทีเรียกร้อง




อาบน้ำอาบท่า


 




นอนพักผ่อน


 



นี่ก็นอน...ใต้รถบัส


 



หลังบ้าน กำลังเตรียมกระติ๊บให้กองทัพ "คนจน"


 



พ่อแขกและสหาย


 


 


ท้ายขบวนสมัชชา "พ่อแขก ถนอมพล" ชาวบ้านจากเขื่อนราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ในเสื้อสีน้ำเงินตัวเก่า ด้านหลังมีตัวอักษรว่า "เฮาฮักป่าทาม น้ำสงคราม บ้านเฮา" พร้อมผ้าขาวม้าโพกหัว ยืนโบกธงอยู่กับพี่น้องอีกหลายคน


 


พ่อเล่าว่า ที่นาถูกน้ำท่วม พื้นที่หากินอย่างป่าทุ่งป่าทาม ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตคนลุ่มน้ำมูลก็เสื่อมทรุด สลายลง ปลาก็ไม่ขึ้นมา


"ชีวิตชาวนาก็พอเพียงอยู่แล้ว ถ้าราชการไม่ยัดเหยียดความจนให้ ทำไมประชาชนถึงจน จนเพราะใคร รัฐต้องถามตัวเองบ้าง ไม่ใช่ถามแต่ประชาชน ตอนนี้แม้แต่หญ้ายอดหนึ่งเราก็ต้องซื้อ แล้วมันจะพอเพียงกันได้อย่างไร ไม้ในนาเราเอง นึกอยากตัดไปสร้างบ้านอยู่ กลับผิดกฎหมายเสียอีก"


 


"ผมอยู่ท้องไร่ท้องนาสบายกว่า น้ำก็มีกิน ห้องน้ำก็มีเข้า มานี่ต้องเสียเงินซื้อน้ำ ขวดตั้ง 10 บาท" แกชี้มือไปที่ขวดน้ำที่วางอยู่


 


"แต่ถ้าไม่ตามเรื่องตามปัญหาแล้วใครจะตาม พอตามก็บอกพวกกวนบ้านกวนเมือง ประชาชนด้วยกันก็ดูถูกประชาชน คนในเมืองบอกพวกเรากวนบ้านกวนเมือง ทำรถติด กีดขวางถนน แล้วคิดไหมว่าคนกวนบ้านกวนเมืองนี่เขามากวนทำไม ถนนนี่จริงๆ ก็ภาษีประชาชน คนจนก็มีสิทธิใช้ แต่ไม่ได้ใช้ทุกวันหรอก ปีหรอกสองสามหนก็พอ


 


"เรายังโดนถามบ่อยๆ อีกว่ามาชุมนุมไปรับจ้างใครเขามา ผมตอบ...ผมรับจ้างเมียผมมาโว้ย และผมยังรับจ้างตัวผมมาเองด้วย" แกหัวเราะและยิ้มทิ้งท้าย


 


 


 


0 0 0


 


 


"สมัชชาคนจน ทั่วทุกหนท้องถิ่นไทย พี่น้องเราภูมิใจ สู้ต่อไปเพื่อความเป็นธรรม สามัคคีรวมพลัง อย่าหยุดยั้งพลั้งอธรรม กี่หนที่เขาทำ ต้องจดจำไว้เป็นบทเรียน เราพี่น้องพ้องคนจน อดทนต่อสู้เพื่อชีวิตใหม่ เพื่อสิทธิ เสรี ประชาธิปไตย สู้ต่อไป สู้ต่อไป เพื่อชิงชัยมา" เสียงเพลงสมัชชาคนจน ที่แต่งโดยตี้ กรรมาชน ดังกระหึ่มไปทั่ว พร้อมเสียงปรบมือเข้าจังหวะของเหล่าพี่น้องคนจน




"สู้เข้าไปอย่าได้ถอย..พี่น้อง"


 




ยังมีลมหายใจอยู่สู้ตาย...


"ลุงอำพล" ชาวบ้านจากสระแก้ว นั่งอยู่ใกล้ๆ พ่อแขก และไม่ไกลจากรถเข็นขายน้ำ ขยับแว่นสายตาอันเก่า ก่อนเล่าเรื่องของแกว่า แกทำนาและเลี้ยงวัวควาย แต่พื้นที่ำนาถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานตาพระยา ตั้งแต่เมื่อปี 2535 ทำให้ลุงถูกบังคับให้ย้ายออกไป


 


"การแก้ปัญหาก็โยนกันไปมา ปลัด ผู้ว่าฯ ส่วนราชการต่างๆ สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไรได้ อ้างว่าต่างทำตามหน้าที่ ตามกฎหมาย ข้างบนสั่งมา อำเภอบอกข้างบนสั่ง ผู้ว่าฯ ก็บอกข้างบนสั่ง แล้วข้างบนมันตรงไหนกันแน่ สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไรเลย" ลุงพูดถึงปัญหาของตัวเอง


 


ชายชราเล่าว่า ตอนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาชุมนุม ก็ถูกตำรวจเรียกไปสอบสวนระหว่างทางเกือบ 2 ชั่วโมง ชาวบ้านที่ตามมาจากสระแก้วแต่อยู่คนละหมู่บ้าน ก็ถูกสกัดกั้นตลอด จนต้องตัดสินใจเดินเท้ากันเข้ามา จนป่านนี้ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้าง


ลุงยืนยันว่าไม่ได้มาขับไล่หรือมาสนับสนุนรัฐบาลเลย แต่จุดยืนของสมัชชาคนจนคือต้องการให้แก้ปัญหาของคนจน


 


"เลิกมองคนยากจนเป็นคนโง่ไม่รู้เรื่องเสียที ท่านปัญญาชน ท่านผู้นำทั้งหลาย ถึงเราจะจน แต่เราก็เป็นคน มีศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์ เรียกชื่อสวยหรูว่าประชาธิปไตย แต่มีการแบ่งชนชั้นตลอด กฎหมายเอง เวลาทำก็ใช้มือทำ แต่ตอนลบกลับเอาตีนลบ นี่หรือประชาธิปไตย? "


 


ลุงเล่าเรื่องลูกๆ ที่ต้องเข้ามาขายแรงงานในเมือง แล้วพูดถึงชะตากรรมของคนจนว่า "ชาวนาตอนนี้มันไม่ใช่กระดูกสันหลังของชาติหรอก มันเป็นขี้ข้าของชาติมากกว่า แรงงานมันก็ไม่ใช่แค่แรงงานหรอก จริงๆ มันคือทาสมากกว่า"


 


"ความยุติธรรม ความเป็นธรรม มันถูกเขียนไว้แต่ในตัวหนังสือ แต่ในความเป็นจริงมันไม่มีอยู่เลย" แกพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนแรง


 



หนังลุงโนห์รา


 


 


...ใช่ไหมว่าสิ่งที่ "คนจน" ไม่เคยได้ คือความเป็นธรรม คือความเท่าเทียมในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คือสิทธิในการกำหนด เลือกวิถีชีวิตของตนเอง คือการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในเรื่องที่กระทบต่อพวกเขา ตราบที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ถึงมือคนจน เราอาจได้เห็นสมัชชาคนจนบนท้องถนนอยู่ร่ำไป


 


แดดเย็นอ่อนแสงลง แต่ความร้อนของบรรยากาศโดยรอบไม่ได้ลดลง ขบวน "คนจน" ยังคงนั่งอย่างอดทน ท้าทายแดดกล้า พวกเขาไม่ได้นั่งรอคอยความหวัง เพราะพวกเขาเรียนรู้ว่า ไม่มีใครให้ความหวังกับพวกเขาได้ นอกจากจะต่อสู้ เรียกร้อง และยืนหยัด ด้วยกำลังของตัวเอง ความหวังสำหรับคนจนจึงเกิดขึ้นได้จากมือคนจนเอง...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net