Skip to main content
sharethis


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ


สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)


 


ตามที่มีรายงานข่าวนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และทั่วประเทศ 76 คน แถลงข่าว "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง" คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติ เรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับแก้ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 30 วันเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองในบรรยากาศประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ได้มีปฏิกิริยาของ ส.ส.ร. และ กรรมาธิการยกร่างหลายราย ต่อการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยนักวิชาการกลุ่มดังกล่าว


 


 


"สมคิด" บอกรอฉบับ 6 ก.ค.ก่อนค่อยมาว่ากัน ยังยัน "50 ดีกว่า "40


โดยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ รายงานว่านายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความเห็นเพื่อการปรับแก้ไข ยังไม่ถึงเวลาลงประชามติ จึงไม่น่าจะเป็นเวลารณรงค์ว่าจะรับหรือไม่รับ อยากให้รอดูฉบับวันที่ 6 ก.ค.เสียก่อน แล้วค่อยมารณรงค์กัน ซึ่งตนก็เห็นด้วย ทั้งนี้ หากอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างการเลือกตั้ง ส.ว. หรือเป็นอำมาตยาธิปไตย ก็แก้ไขได้ทั้งนั้น เพราะยังเป็นฉบับฟังความเห็น ไม่ใช่ฉบับลงประชามติ


 


"แต่ถ้าแก้อย่างไรก็ไม่เอาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อยากเรียกร้องให้ดูในส่วนที่ดี ซึ่งมีมากมาย โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจารย์หลายท่านบอกว่าแย่กว่าเดิม ซึ่งผมว่าไม่จริง ฉบับนี้ดีกว่าฉบับปี 2540 หรือระบบคุณธรรม จริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" นายสมคิดกล่าว


 


 


"วุฒิสาร" บอก ม.เที่ยงคืน อยากให้แก้ประเด็นไหนช่วยบอกด้วย


นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ว่า ที่มีการวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้สังคมไทยถอยหลังเข้าคลอง หรือทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพนั้น จริงๆ แล้วไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะออกแบบการเลือกตั้งแบบรวมเขตแล้วการเมืองจะอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพ หรือเลือกแบบเขตเดียวเบอร์เดียวแล้วจะทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะไปลงประชามติ ดังนั้นควรจะดูฉบับที่จะใช้ลงประชามติก่อนจึงรณรงค์ว่าจะรับหรือไม่รับ


 


นายวุฒิสารกล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้นำฉบับปี 2540 กลับมาใช้ แล้วจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าจะทำเช่นนั้นต้องคว่ำรัฐธรรมนูญในชั้น ส.ส.ร. หรือต้องไม่ผ่านประชามติ คมช.จึงจะนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้ได้ หรือไม่ก็ให้มีการปฏิวัติรัฐประหารกันอีกรอบ ซึ่งคาดว่าสังคมไม่ต้องการแบบนั้น ดังนั้นทุกอย่างมีกติกา ทุกคนควรจะเดินตามกติกา


 


"การวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ถอยหลังเข้าคลอง หรือเป็นอำมาตย์ เป็นขุนนางนั้น ขอให้นักวิชาการทั้งหลาย บอกด้วยว่าประเด็นไหน ขณะนี้เรายังแก้ไขได้ ไม่อยากให้มองเป็นปฏิปักษ์ เพราะหลายมาตราเมื่อมีเสียงคัดค้าน เราก็พร้อมจะแก้ไข เช่น มาตรา 68 วรรค 2 แต่ถ้าไม่บอกแต่ไม่รับ เราก็จนใจ อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดเพื่อหาทางออก อย่าใช้อคติตัดสิน แล้วบอกจะไม่รับตั้งแต่แรก แบบนี้ผมก็คิดว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยเหมือนกัน"


 


 


เจิมศักดิ์บอกสะเทือนใจ คนเคยร่วมอุดมการณ์ออกมาต้าน รธน.50


นอกจากนี้ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยังกล่าวในรายการรู้ทันประเทศไทยคืนวันที่ 24 พ.ค. ออกอากาศทาง เอเอสทีวีดำเนินรายการโดยนายสันติสุข มะโรงศรี ถึงกรณี 76 นักวิชาการลงชื่อในแถลงการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า รู้สึกสะเทือนใจ ถ้าเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐธรรมนูญของพวกคลื่นใต้น้ำ ก็จะไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่ว่าจะดีไม่ดีอย่างไร คนพวกนี้ก็คงจะไม่รับอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้


 


แต่เมื่อเป็นการเคลื่อนไหวของนักวิชาการที่ตนให้ความเคารพ หลายคนก็เคยสอนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แม้ว่าในระยะหลังตนจะออกมาทำงานการเมืองในฐานะเป็นสมาชิกวุฒิสภาแต่ก็ยังติดต่อกับนักวิชาการแต่ละคนอยู่ ดังนั้น จึงรู้สึกสะเทือนใจ เมื่อมีการออกมาต่อต้านของคนที่เคยร่วมอุดมการณ์กันมา


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดูเหตุผลของการคัดค้าน ตามที่ปรากฏในแถลงการณ์นั้น ยิ่งรู้สึกสะเทือนใจ เพราะคนที่ออกมาพูด หลายคนเป็นคนที่ตนให้ความเคารพ เช่น นายนิธิ เอี่ยมศรีวงศ์ นายรังสรรค์ ธนะพรพันธ์ นายเกษียร เตชะพีระ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมา หลังจากที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นส.ส.ร.แล้ว ได้มีการประชุมร่วมกับนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน ที่โรงแรมย่านสุขุมวิท มี ส.ส.ร.ไปร่วมอีกคนคือนายสวิง ตันอุด ซึ่งเป็นการพูดคุยกันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญ


 


 


ยันทำตามแนวทาง "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" ที่นิธิเสนอแล้ว


นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนั้น นายนิธิ ได้เสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งตนก็เห็นด้วยและรีบจดไว้ทันที เมื่อมีการประชุม ส.ส.ร.ในเวลาต่อมา ก็พยายามพูดในที่ประชุม เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเนื้อหาออกมาในแนวทางนี้ ซึ่งในที่สุด ส.ส.ร. ก็รับเอา เพียงแต่ขอว่า การใช้คำว่าลดอำนาจรัฐอาจจะรุนแรงไป และขอเปลี่ยนไปเป็นตรวจสอบอำนาจรัฐแทน


 


"ในช่วงนั้นผมทำงานหนักมาก หนักที่สุดในชีวิต เพื่อเดินสายพูดคุย วางรูปแบบกับประชาชนในหลายจังหวัด ผมต้องเดินทางตลอด พอมาได้ยินอย่างนี้ ผมก็กลับไปตรวจสอบร่างธรรมนูญดู ก็พบว่าอำนาจประชาชนมันเพิ่มจริงๆ เช่น จากเดิมการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องใช้ 50,000 ชื่อ ซึ่งหลายคนก็คงรู้ว่ามันยากลำบากมากในการตรวจสอบ ก็ลดลงมาเหลือ 20,000 ชื่อ"นายเจิมศักดิ์กล่าว


 


นอกจากนี้ ชุมชนและประชาชน ก็มีสิทธิในการยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้มากขึ้น ถ้าพบว่ามีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่เดิม ก็ยังคงมีการคุ้มครองทั้งหมด เรื่องเสรีภาพของสื่อก็มีการห้ามนักการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ให้ประชาชนเป็นฝ่ายนั่งดูอีกต่อไป แต่จะให้มีส่วนสำคัญในการปกครองบ้านเมืองมากขึ้น


 


 


ถ้าเห็น รธน.แค่ตัวหนังสือในกระดาษ ก็อย่ามี รธน.เสียเลย!


ถ้ากลุ่ม 76 นักวิชาการจะบอกว่าบทบัญญัติเรื่องสิทธิภาพก็จะเหมือนกับในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นเพียงตัวหนังสือในกระดาษแล้ว ก็ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญเสียเลย รัฐธรรมนูญปี 2540 มีข้อดีหลายเรื่อง แต่รัฐบาลในยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ทำตาม เช่น การตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค การตั้งองค์กรดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้พยายามแก้ไข


 


"เพราะฉะนั้น ถ้าจะอ้างว่า เป็นแค่ตัวหนังสือในกระดาษ ผมรับไม่ได้ เพราะเรามีวิธีการตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งก็คือนักการเมืองกับข้าราชการที่ใช้อำนาจ เรากำลังออกแบบกันอยู่ว่าจะใช้รูปแบบไหน ในการเลือกตัวแทนประชาชนที่จะโกงน้อยลง ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น บางคนก็บอกว่าต้องมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มีส.ส.แบบสัดส่วน บางคนก็เสนอให้มีเขตใหญ่ เขตเล็ก เรื่องที่มาของ ส.ว.ก็เช่นเดียวกัน"


 


นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ถกเถียงกันมากในเวลานี้ ยังมีแต่การเมืองภาคตัวแทน เรื่องที่มาของ ส.ส. ส.ว. ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ ตนกำลังตั้งทีมแปรญัตติ ให้สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐได้มากขึ้น


 


 


ไม่รับ รธน.เพราะมีที่มาจาก คมช. แล้วจะเอาอย่างไร เพราะถอยหลังไม่ได้


"ถ้าจะไม่รับทั้งร่างเลย ก็จะมีปัญหา ถ้าจะมองแค่ว่าไม่รับเพราะที่มาของ ส.ส.ร.มาจาก คมช. ก็จะมีคำถามต่อว่า แล้วจะเอาอย่างไร เพราะกระบวนการถอยหลังไม่ได้ ย้อนเวลากลับไปไม่ได้


 


"และขณะเดียวกันก็ต้องมาดูว่า คนยกร่างพอดูได้ไหม หน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ หรือว่ามีวาระแอบแฝงหรือไม่ คนอย่างผม คนอย่างอาจารย์สมคิด เลิศไพทูรย์ คุณประสงค์ สุ่นศิริ มีวาระแอบแฝงหรือไม่ ถ้าดูให้ละเอียดแล้ว มาบอกว่าไม่รับ ผมจะได้สบายใจ ใครที่ขายตัวผมจะได้รู้ เพราะฉะนั้นถ้าจะมองแค่ที่มาแล้วบอกว่าไม่รับ ผมคิดว่า คนที่เซ็นชื่อคัดค้านอาจจะคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่า หลายๆ คน เช่น อาจารย์นิธิคงไม่บ้องตื้นที่จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร"นายเจิมศักดิ์กล่าว


 


นายเจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอที่จะให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เป็นความคิดเห็นได้ ถ้าอยากจะถอยหลังกลับไปก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคนที่เป็นนักวิชาการคิดอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ ตนเข้ามาทำหน้าที่ครั้งนี้ ไม่ได้อะไรเลย และถ้าจะนั่งเฉยๆ อยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วคิดว่าตัวเองเป็นคนสะอาด ก็คงไม่มีใครว่าอะไร


 


 


ชี้ไม่รับ รธน.50 เพราะมาจากรัฐประหาร เหมือนไม่ยอมรับเด็กที่เกิดจากการข่มขืนเป็นมนุษย์


อย่างไรก็ตาม ถ้าจะล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอ้างว่ามีที่มาโดยไม่ชอบ ก็ไม่เป็นไร แต่อยากจะบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 กับ 2550 เนื้อหาเหมือนกันถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้พยายามแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น นายกฯไม่ยอมไปสภา นายกฯ เขาไปแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซง ส.ว. เป็นต้น


 


ถ้าจะบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีที่มาจาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ดูน่าเชื่อถือกว่า ก็ไม่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงบางประเด็นก็มีบริษัทมือถือส่งคนเข้ามาเป็น ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ เพราะฉะนั้น อยากให้นักวิชาการมาคุยกันดีกว่า เพราะตนมีข้อมูลที่อยากจะบอกเช่นกัน


 


"การที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยข้ออ้างที่ว่า มีที่มาจากการรัฐประหาร มันก็เหมือนกับว่า มีผู้หญิงถูกข่มขืน มีลูกออกมา แล้วเราไม่ยอมรับว่าเด็กคนนั้นเป็นคนเหมือนเรา" นายเจิมศักดิ์ กล่าว


 


 


ไม่เอา รธน.50 วิชาย้อนถามอยากให้นองเลือดก่อนแล้วค่อยร่าง รธน.หรือ


ล่าสุด วานนี้ (25 พ.ค.) ในรายการรู้ทันประเทศไทยคืนวันที่ 25 พ.ค. ออกอากาศทางเอเอสทีวี ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้สนทนากับ นายวิชา มหาคุณ และ นายปกรณ์ ปรียากร กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)


      


โดยในช่วงแรกของรายการ ดร.เจิมศักดิ์ ได้อันเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานต่อตุลาการศาลปกครองเมื่อเดือนเมษายน 2549 และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมานำเสนออีกครั้ง โดย ดร.เจิมศักดิ์ ระบุว่า กระแสพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่พระราชทานต่อตุลาการศาลปกครอง แสดงให้เห็นความเป็นห่วงวิกฤติของบ้านเมือง ซึ่งพระองค์ท่านต้องการให้ตุลาการศาลปกครองทำหน้าที่อย่างถูกต้อง และตรงไปตรงมา


 


ในช่วงของรายการ นายวิชา มหาคุณ ยังกล่าวถึงกรณี 76 นักวิชาการลงชื่อในแถลงการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า หากบอกว่าการเขียนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นเป็นสิ่งที่มิชอบ เราก็ต้องล้มล้างสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นยึดอำนาจในอดีต ไม่มีกระบวนการอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างขนานใหญ่ หรือว่าท่านอยากให้นองเลือดแบบนั้นก่อนหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราถามตัวเองอยู่เสมอ หรือต้องการเขียนรัฐธรรมนูญบนซากศพของประชาชน


 


นายวิชา กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ที่ผ่านมาเราเห็นมาแล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นดี แต่กลับกันมันยังมีช่องเปิดโอกาสให้โกงกินกันอย่างมโหฬารมากที่สุด องค์กรอิสระถูกแทรกแซง เกิดสภาผัว-เมีย เราอยากเห็นภาพเช่นนั้นกลับมาใหม่หรือไม่ หรือรอเวลาให้ประชาชนคิดและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงก่อนจึงจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากรอให้ประชาชนคิดและริเริ่มการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ประชาธิปไตยก็จะเดินไปอย่างช้าๆ


 


 


ปกรณ์ยัน ส.ส.ร.ทำเพื่อชาติ ไม่มาแสวงหาประโยชน์เพื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด


ขณะที่นายปกรณ์ ปรียากร บอกว่า มันไม่ใช่ประเด็นและมีเหตุผลเพียงพอที่นักวิชาการเหล่านั้นจะออกมาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในเวลานี้ ทำไมเราจะต้องมาเสียเวลากับการย้อนหลังสู่การเริ่มต้นใหม่ การเข้ามาของ สสร.ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งนี้อยากให้นักวิชาการเหล่านี้ไปอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้ดี ซึ่งก็จะรู้และทราบถึงความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเฉพาะเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ ที่ถูกเขียนลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างชัดเจน


       


"ผมมีโอกาสไปร่วมรับฟังในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้ผมรู้ว่า การมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญในฉบับนี้มีความชัดเจนมาก โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เขียนและกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็ชัดเจนจนกระทั้งบางคนมองว่า หากกฎหมายฉบับนี้ออกมา พรรคการเมืองแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เป็นความคิดที่เข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนอย่างมาก เนื่องจากเวลานี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเท่ากันหมดแล้ว ผมอยากให้นักวิชาการ และสื่อมวลชนเดินทางเหมือนพวกเรา ต้องรับรู้และเข้าใจรัฐธรรมนูญให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้" นายปกรณ์ กล่าว


 


ที่มาของข่าว : เรียบเรียงจากเว็บไซต์ไทยโพสต์ และผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net