Skip to main content
sharethis


"มีความเป็นไปได้ที่ภาคใต้ของไทย จะกลายเป็นฐานปฏิวัติของการก่อการร้ายมุสลิม เมื่อชาวมุสลิมรู้สึกไม่แฮปปี้กับรัฐบาลไทย และประชาชนท้องถิ่นในภาคใต้ของไทย เกิดความรู้สึกรังเกียจรัฐบาลไทย กลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของไทยจะใช้เหตุการณ์ความไม่สงบที่กำลังเป็นอยู่ ในการขอการสนับสนุนและความเห็นใจ เพื่อที่จะต่อสู้กับรัฐบาลไทย ผมเชื่อว่ารัฐบาลไทยเข้าใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคใต้ และได้มีความพยายามแก้ปัญหาในหลายวิธีทาง"

 


เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ "พล.อ.มูฮัมหมัด อิสมาอิล จามาลัดดิน" ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ของประเทศมาเลเซีย ต่อสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550


 


อันตามมาด้วยคำเตือนที่ว่า สถานการณ์ที่นับวันแย่ลงในภาคใต้ของไทย จะทำให้มีกลุ่มผู้อพยพหนีเข้ามาเลเซียมากขึ้น


 


"ทหารมาเลเซียยังไม่พบกลุ่มติดอาวุธจากไทยหนีเข้าไปในมาเลเซีย และยังไม่พบค่ายฝึกซ้อมของกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดนระหว่างมาเลเซียและไทยที่มีความยาวถึง 647 กิโลเมตร เช่นเดียวกับที่ยังไม่พบหลักฐานร้านอาหารต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ที่มีเจ้าของเป็นชาวมุสลิมชายแดนภาคใต้ของไทย ถูกใช้เป็นช่องทางในการช่วยเหลือด้านการเงินแก่กลุ่มติดอาวุธ ตามที่เจ้าหน้าที่ไทยตั้งข้อสังเกต" พล.อ.มูฮัมหมัด อิสมาอิล กล่าว


 


คำเตือนจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งมาเลเซีย สอดรับกับความเห็นของนักวิเคราะห์สถานการณ์ก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ที่ระบุมาก่อนหน้านี้แล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มมุสลิมเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือเจไอ. ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายก่อการร้ายอัลเคด้า จะหันมาใช้ภาคใต้ของไทยเป็นฐานปฏิบัติการ โดยถือโอกาสใช้สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปแล้วราว 2,000 คน เป็นเงื่อนไข


 


อันที่จริงคำเตือนและข้อวิเคราะห์ข้างต้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ด้วยเพราะก่อนหน้านี้ นักวิชาการไทยอย่าง "ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" ผู้อำนวยการดุษฎีบัณฑิตศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เป็นผู้หนึ่งที่ติดตามความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด


 


"ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" เคยระบุไว้ในบทความเรื่อง "ปรากฏการณ์ภาคใต้ในบริบทแวดล้อมจากภูมิภาครายรอบ" ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ "ทักษิณศึกษา: กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ว่า


 


....จากข้อมูลและเอกสารสำคัญหลายชิ้น ได้บ่งชี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนเกี่ยวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการก่อการร้าย ไม่ว่าเหตุการณ์ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ สหรัฐอเมริกา ที่ผู้ต้องหาใช้ไทยเป็นทางผ่าน และสถานที่พบปะวางแผน


 


รวมถึงการวางระเบิดบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้วิธีประสานงานจากไทย เชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งมอบเงินกันที่จังหวัดยะลา เพื่อใช้ในการก่อเหตุร้ายมูลค่า 15,000 เหรียญสหรัฐฯ


 


นอกจากนี้ ยังมีความพยายามชักชวนขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งชักจูงให้เครือข่ายของชุมชนอิสลามบางองค์กรเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วย…


 


อันเป็นการตอกย้ำให้ "ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" เชื่อว่า...


 


...การเพ่งเล็งปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นเรื่องภายในประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว จึงเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการประเมินสถานการณ์แท้จริง โดยทิ้งประเด็นความผูกพันทางวัฒนธรรมฉันญาติมิตร ในหมู่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ชาวบรูไน ชาวชวา ชาวอาเจะห์ ชาวสุมาตรา ชาวโมโร ชาวสิงคโปร์ ชาวมาเลเซียไปอย่างน่าเสียดาย...


 


เนื่องเพราะ ....การทำความเข้าใจสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มิอาจหลีกเลี่ยงปัจจัยพื้นฐานด้านอารยธรรม "มลายู" และ "อิสลาม" ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประชากรส่วนใหญ่ ในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 1 ล้านกว่าคน ผู้มีสัญชาติไทย แต่สืบเชื้อสายชาติพันธุ์มลายู และรู้จักตนเองว่า เป็นชาวมุสลิม...


 


ประเด็นที่ "ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" ให้ความสำคัญ จึงอยู่ที่...


 


...พัฒนาการในปัจจุบัน ได้ส่อเค้าให้เห็นถึงการแทรกซึมเข้ามาของลัทธิก่อการร้าย และการใช้ความรุนแรง โดยแฝงอยู่ในรูปแบบแนวความคิดและการให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุน การฝึกอาวุธ ฯลฯ เพื่อเป้าหมายทางอุดมการณ์ร่วมกันของขบวนการภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มก่อการร้ายสากลจากภายนอก...


 


ถึงแม้ ....ความเป็นมุสลิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกจัดอยู่ในระดับชั้นชายขอบรอบนอก หรือกลุ่มบริวารที่อยู่ไกลห่างออกมาจากศูนย์กลาง คือดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งคาบสมุทรอาระเบียมากพอสมควร....


 


ทว่า ยังมี ....ค่านิยมที่สอดรับกับโครงสร้างทางอารยธรรมชุมชนตะวันออกอีกประการหนึ่ง คือการเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนสอนศาสนาและมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเป็นฝ่ายไปร่ำเรียนมาจากประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย หรือปากีสถาน ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล...


 


"ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" ตอกย้ำซ้ำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า...


 


….ความน่าวิตกกังวลของประเด็นดังกล่าว อยู่ที่ว่าโรงเรียนสอนศาสนาบางแห่ง มีแนวทางส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาหันมานิยมความรุนแรง ตลอดจนยุยงปลุกปั่นให้สร้างความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา โดยหยิบยกเอาพลังศรัทธาต่อพระเจ้ามาใช้เป็นอุดมการณ์


 


ดังเช่น โรงเรียนสอนศาสนาหลายแห่งในปากีสถานและบังกลาเทศ มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มก่อการร้าย อาทิ ลาสกา จางวี (LEJ) ฮารกัต อัล - ญิฮาด อัล - อิสลามี (HUJI) ลาสกา ทาบา (LET) ฮารกัต อัลมูจาฮิดีน (HUM) ฯลฯ


 


เครือข่ายเหล่านี้เคยมีนักเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เดินทางไปศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก...


 


นอกจากการบ่มเพาะผ่านสถาบันการศึกษาแล้ว "ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" ยังมองว่า...


 


...การสื่อสารสมัยใหม่ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและเวบไซต์ ตลอดจนการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม การใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมือถือ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นเร้าความรู้สึกในเบื้องลึกของจิตใจให้ยิ่งตระหนักถึง "อัตลักษณ์" ความเป็นพี่น้องมุสลิมร่วมกันทั่วทั้งโลก...


 


อันตอกย้ำยืนยันเป็นรูปธรรม ผ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันยากที่จะปฏิเสธได้


 


...นับตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เหตุวินาศกรรมหลายต่อหลายครั้งมีทั้งพยานและหลักฐาน ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า กลุ่มผู้ก่อการได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุดมการณ์ศาสนาอันบิดเบือน โดยเลือกย้ำเตือนแต่เฉพาะประเด็นเรื่องความอยุติธรรม และการกดขี่ข่มเหงจากบุคคลนอกศาสนา อันหมายถึงชาวไทยพุทธและกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองและครู รวมทั้งบรรดาผู้ทรยศชาวมุสลิมด้วยกัน ที่หันเหออกไปจากแนวทางของศาสนา ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการมักอ้างว่าเป็น "อิสลามบริสุทธิ์" ดุจดั่งสมัยขององค์พระศาสดา เมื่อครั้งอดีตกาล...


 


"ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" เชื่อว่า สถานการณ์สำคัญที่พลิกผันให้ชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือกว่าอย่างสหรัฐอเมริกา หรือผู้ปกครองประเทศต่างๆ คือกระแสการฟื้นฟูศาสนาหลังสงครามเย็นยุติลง โดยมีตัวอย่างการปฏิวัติอิหร่าน และการก้าวขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มตาลีบัน ในอัฟกานิสถาน เป็นต้นแบบ อันเห็นได้จากตอนหนึ่งในข้อเขียนชิ้นนี้


 


.....เมื่อสงครามเย็นยุติลง ในช่วงปี พ.ศ. 2532 - 2534 เหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น คือกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะตัวอย่างจากประเทศอิหร่าน ซึ่งผ่านการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์และพลเรือนไปสู่กลุ่มผู้นำศาสนา


 


การก้าวขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน คือ จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของโลกยุคหลังสงครามเย็น เนื่องจากเป็นสาเหตุประการสำคัญ อันนำไปสู่การโจมตีสหรัฐอเมริกา ในเหตุการณ์วินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 ด้วยฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายที่เรียกชื่อตนเองว่า อัลกออิดะห์ หรืออัลเคด้า ซึ่งแปลว่า "ฐาน" ภายใต้การนำของนายโอซามา บินลาเดน ชาวซาอุดิอาระเบีย เชื้อสายเยเมน และนายอัยมาน อัลซาวาฮิรี ชาวอียิปต์...


 


ถึงแม้วันนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าขบวนการกลุ่มต่างๆ มีแนวทางและเป้าหมายในการเคลื่อนไหวเป็นอิสระจากกัน แต่ "ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว" ยังคงมองว่าจุดร่วมประการสำคัญของเครือข่ายเหล่านี้ ยังคงมีอยู่


 


นั่นคือ ...การเลือกตีความหลักคำสอนศาสนาอิสลาม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการฆ่าฟันศัตรู โดยชูประเด็นเป็นภารกิจการต่อสู้เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net