Skip to main content
sharethis


 



ดร.เชษฐ์ ติงสัญลี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


 


สัมภาษณ์โดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 


 


บนโลกใบนี้ ประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อมากที่สุดประเทศหนึ่งคงหนีไม่พ้นประเทศอินเดีย และบนความแตกต่างมากมายนี้ก็ไม่เคยประกาศยกให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ แม้ว่าจะมีพลเมืองมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาฮินดู อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ประเทศอินเดียก่อตั้งเป็นประเทศและมีรัฐธรรมนูญหลังจากการได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ คนในประเทศอินเดียกลับไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญเลยสักครั้ง แม้จะมีความแตกต่างกันมากมายและแตกตัวออกไปเป็นรัฐต่างๆ กว่า 20 รัฐ


 


ในโลกใบนี้เช่นกัน ประเทศที่มีความคล้ายคลึงอินเดียมากที่สุดประเทศหนึ่งก็คือ "ประเทศไทย" โดยเฉพาะด้านที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อมากมายมาอยู่ร่วมกัน อีกทั้งลัทธิความเชื่อ ศาสนา รูปแบบการเมืองการปกครองต่างๆ ตั้งแต่สมัยอดีตกาลมาก็ล้วนรับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียไม่มากหรือน้อยเกินไป ผสมผสานกลมกลืนกันมาจนกลายมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ทว่าในเวลานี้กลับเลือกมองข้ามแนวทางจัดการความแตกต่างแบบอินเดียอย่างไม่คิดจะเหลือบแลแม้จะแค่ให้เป็นกรณีศึกษา


 


ทำไมดินแดนแรกจึงดำรงเอกภาพบนความแตกต่างไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์และมั่นคงสถาพร ในขณะที่อีกประเทศหนึ่งกลับพยายามเชิดชูศาสนาหนึ่งขึ้นมาบนกฎหมายสูงสุดของประเทศและฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วไม่รู้ต่อกี่ครั้ง


 


บางทีเราอาจต้องย้อนทางกลับไปสู่เส้นทางที่เดินมาบ้าง เพื่อทบทวนอะไรบางอย่างที่อาจสูญหายไประหว่างทาง


 


"ประชาไท" ขอนำผู้อ่านกลับไปสู่รากเหง้าทางความเชื่อและศาสนา จากประเทศอินเดียสู่ประเทศไทย ผ่านคำสัมภาษณ์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เดินทางกลับมาจากอินเดียดินแดนหลากอารยธรรมหมาดๆ หลังเก็บความรู้ ความคิดและความหลังในดินแดนภารตะมาถึง  4 ปีเต็ม  


 


โปรดพิจารณาความเหมือนบนความต่าง....แล้วโปรดกลับมาพิจารณาทบทวนกันอีกทีว่าศาสนาประจำชาติ คือคำตอบของการรักษาศาสนาจริงหรือ


 


000


 


ฐานความเชื่อทางศาสนาของชาวอินเดียในปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร


ปัจจุบันคนอินเดียนับถือศาสนาฮินดูประมาณ 80 เปอร์เซ็น นับถือศาสนาอิสลาม 10 เปอร์เซ็น นอกนั้นเป็นศาสนาอื่น เช่น ซิกส์ พุทธ เชน หรือที่มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น คริสต์ และโซโลฮัสเตอร์


 


ทุกศาสนามารวมกันที่อินเดียมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างศาสนาคริสต์ไม่ใช่เพิ่งเข้ามาตอนในอินเดียช่วงตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ แต่เชื่อว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยเซนต์โธมัสหรือหลังจากที่พระเยซูโดนตรึงกางเขน อย่างไรก็ตาม ตรงนี้อาจจะบอกเล่ากันเกินจริงไป แต่อย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจฬะ(พุทธศตวรรษที่ 15 - 19) ศาสนาคริสต์เข้ามาแล้ว หลักฐานจะมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า แต่สำหรับหลักฐานที่เป็นจารึกไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ ศาสนาคริสต์ยุคเก่าๆ เช่น คริสต์จากซีเรียหรือเปอร์เซียที่ภายหลังได้รับการกดดันจากศาสนาอิสลามก็ย้ายมายังอินเดียด้วย


 


สรุปแล้วศาสนาไหนก็ตามแม้แต่จากเอเชียตะวันตกก็จะมายังอินเดียทั้งหมดจนคล้ายเป็นแอ่งรองรับความเชื่ออย่างพวกโซโลฮัสเตรียนหรือศาสนาดั้งเดิมตามแถวเปอร์เซียที่นิยมบูชาไฟก็ย้ายมาแถวๆ รัฐคุชราต แต่ในขณะเดียวกันภายในอินเดียเองก็มีความเชื่อตัวเองอยู่ก่อนด้วย


 


ความเชื่อตั้งแต่ดั้งเดิมในอินเดียที่ว่าเป็นอย่างไร


รากฐานความเชื่อดั้งเดิมในอินเดียมาจากศาสนาพระเวท เป็นศาสนาแรกที่มาจากตะวันตกนอกอินเดีย(เอเชียกลาง) แล้วเข้ามาเจอกับศาสนาพื้นเมืองที่โมเหนโช-ดาโร ของอินเดีย (อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ราว 2,000 ปีก่อนพุทธกาล )


 


ศาสนาพื้นเมืองของอินเดียนับถือเทพธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ เพราะโมเหนโช-ดาโรเป็นอารธรรมเกษตรกรรมจึงจะนับถือดินหรือสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ได้แก่ สัญลักษณ์อวัยวะเพศหญิง สัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย เช่น ศิวลึงค์ โยนี หรือพระแม่ธรณี


 


ส่วนศาสนาพระเวทที่เข้ามาผสมโดยพวกอารยันในเวลาต่อมานั้นแม้จะเชื่อเทพธรรมชาติเช่นกัน แต่เป็นเทพธรรมชาติตามอารยธรรมที่เป็นสังคมเร่ร่อน การเร่ร่อนไปมาจึงต้องสู้รบไปด้วยจึงนิยมนับถือพระอินทร์เพราะเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เวลากลางคืนพวกเร่ร่อนจะตั้งเตนท์แล้วก็ก่อกองไฟตรงกลางเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายก็จะนิยมนับถือพระอัคนีด้วย ลักษณะความเชื่อจะเป็นอะไรแบบนี้


 


ทั้ง 2 อารยธรรมแม้จะนับถือเทพธรรมชาติเหมือนกันแต่ตั้งอยู่บนวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ต่างกัน พอมาเจอกันก็ดูดกลืนความเชื่อกันไป โดยเฉพาะการทำให้คนนอกศาสนาพระเวทเข้ามาเชื่อศาสนาพระเวท ดังนั้นพอศาสนาพระเวทเข้ามาอินเดีย พวกเทพสูงสุดดั้งเดิมเช่น พระสุริยะ พระอินทร์ ก็ตกยุค แต่เกิดตรีมูรติหรือเทพสูงสุด 3 องค์ขึ้นมาแทนได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม


 


ประเด็นคือ หลังการผสมผสานทางความเชื่อครั้งนี้ทำให้เกิดความเชื่อว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีต้องบูชาเทพ บูชาแล้วจะได้ชีวิตที่ดีทั้งโลกนี้และโลกหน้า ต่อมาภายหลังเกิดการคลี่คลายทางความคิดเป็นความคิดใหม่ว่า น่าจะหลีกหนีสังคมไปอยู่ป่าแล้วติดต่อกับพระเจ้า การหลุดพ้นไม่ใช่การอยู่ในสังคม เมื่อมาวิเคราะห์ผนวกไปกับกับลักษณะฤดูในอินเดีย ฤดูในอินเดียมันรุนแรงมาก ฤดูหนาวก็ติดลบไปเลย แต่พอฤดูร้อนก็ขึ้นสูงไปถึง 50 องศา แล้วก็กลับมาหนาวอีกมันคล้ายเป็นวงกลม ความคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดจึงเกิดขึ้นมา ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนั้นไม่มีในความเชื่อของชาวอารยันดั้งเดิม ไม่มีบ่งบอกในพระเวท


 


นั่นคือรากกำเนิดของศาสนาฮินดูหรือศาสนาหลักในอินเดียที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน แล้วศาสนาพุทธเกิดขึ้นมาได้อย่างไร


พอคนเริ่มเปลี่ยนความคิดว่า หากอยากได้อะไรให้ก่อไฟบูชายัญเป็นหลีกลี้สังคมไปบำเพ็ญตบะหรือบำเพ็ญจิตใจให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าไปรวมกับพระเจ้า แนวคิดนี้ปูพื้นฐานให้ศาสนาพุทธ


 


การเข้าไปรวมกับพระเจ้าของฮินดูคือตัวตน เรียกว่า อาตมันหรือพรหมมัน  คือเรามีตัวตนของเราเป็นวิญญาณเรียกว่าอัตตา ในภาษาสันสกฤตเรียกว่าอาตมัน แล้วก็มีวิญาณอันใหญ่อาจเรียกว่าอัตตาอันยิ่งใหญ่ที่สร้างโลกหรืออะไรก็ตามในโลกเรียกว่า "ปรมาตมัน" รากศัพท์มาจากคำว่า "บรม" บวกกับ "อาตมัน" ดังนั้น ถ้าตายแล้วจิตใจยังไม่บริสุทธิ์มันก็เวียนว่ายตายเกิด จนจิตใจหมดสิ้นจากกิเลสแล้วค่อยไปรวมกับปรมาตมัน


 


คงจำได้ ก่อนเกิดศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าไปเรียนกับอาจารย์พราหมณ์ในป่ามาก่อน แม้จะได้พื้นฐานแต่พระพุทธเจ้าต่อยอดออกไป เช่น ในขณะที่พราหมณ์ไปบำเพ็ญตบะในป่าแต่ก็ยังฆ่าสัตว์บูชายัญ แนวทางพระพุทธเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับตรงนี้  นอกจากนี้เวลานั้นแนวคิดการนับถือพระเจ้าได้พัฒนาไปสู่การนับถือพระเจ้าสูงสุดแล้วคือการไปรวมกับพรหมมัน แต่พระพุทธเจ้าเห็นว่าทุกอย่างมันไม่มีตัวตน มันตรงข้ามกัน


 


แล้วทั้ง 2 ศาสนาอธิบายสังคมต่างกันหรือไม่


ในศาสนาฮินดูมีเรื่องวรรณะ ทฤษฎีเดิมเชื่อว่าแยกกันด้วยเรื่องสีผิว คือแบ่งแยกสีผิวคนอารยันกับฑราวิกหรือคนพื้นเมือง แต่ภายหลังมีอีกทฤษฎีที่มาอธิบายว่าวรรณะแบ่งกันตามอาชีพที่ประมาณว่ามาจากการหวงวิชา แล้วถ่ายทอดกันไปเฉพาะกลุ่ม


 


อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเก่าที่ว่าแยกตามสีผิวต้นทฤษฎีมาจากความหมายของคำว่า "วรรณะ" ที่แปลว่า "สี" กลายเป็นทฤษฎีที่แบ่งแยกระหว่างชาวอารยันกับฑราวิก ส่วนทฤษฎีการแบ่งตามอาชีพนั้นอธิบายต่อว่าเมื่อแบ่งหน้าที่ทางสังคมแล้ว พื้นฐานของสังคมทั่วไปคือการเหยียดกันระหว่างอาชีพกับอาชีพด้วย แนวคิดนี้ทำให้ตกต่ำลงจนทำให้ศาสนาพุทธถีบตัวขึ้นมาจากการปฏิเสธแนวคิดนี้


 


กฎทางสังคมถ้าไม่เอาไปผูกกับแนวคิดทางศาสนามันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่ศักดิ์สิทธิ์คนก็แก้ไขได้จริงหรือไม่ เหมือนรัฐธรรมนูญถ้าเป็นแค่กฎหมายเป็น  Secular (เรื่องทางโลก) มันไม่ศักดิ์สิทธิ์คนแก้ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่บอกว่า กฎหมายนี้มาจากพระเจ้า ดังเช่น กฎในไบเบิ้ล บัญญัติ 10 ประการที่มาจากพระเจ้า ถามว่าแก้ได้หรือ


 


ความต่างระหว่าง Holy Law (กฎหมายศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับศาสนา) กับ Secular Law (กฎหมายทางโลก


) คือการบวกความศักดิ์สิทธ์เข้าไป ดังนั้น เรื่องวรรณะถ้าจะให้คนเชื่อก็เอาไปบวกกับศาสนา เมื่อมันศักดิ์สิทธิ์คนก็ไม่สามารถแก้ได้จึงต้องเอาศาสนาอีกศาสนาหนึ่งมาแก้ ดังนั้น อยู่ดีๆถ้าใครจะมาบอกว่าล้มระบบวรรณะนั้นทำไม่ได้


 


ในช่วงเวลาหนึ่งศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูเจริญแข่งกันมาในอินเดีย แล้วทำไมศาสนาพุทธจึงเสื่อมสลายไปจากอินเดียในปัจจุบัน


อาจเพราะศาสนาพุทธพัฒนาตัวเองเข้าไปใกล้ศาสนาฮินดูทุกทีๆ  มันคล้ายกับการขายสินค้า พอขายสินค้ามันก็ต้องเลียนแบบกัน พอเลียนแบบมากๆเข้าแบบพอซื้ออันนี้จากแหล่งนี้ อีกแหล่งก็บอกว่ามีเหมือนกัน มันปรับตัวลดแลกแจกแถมกันไปให้คนซื้อรู้สึกว่าได้เลือกสิ่งที่ดีกว่า


 


ในสมัยก่อนศาสนาฮินดูกับศาสนาพุทธต่างกัน แต่ศาสนาพุทธเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เราไม่สามารถขออะไรจากพระพุทธเจ้าได้ เพราะถือว่าหายไปแล้ว ส่วนศาสนาฮินดูบอกว่ามีพระเจ้า มีความทุกข์ร้อนอะไรก็ขอจากพระเจ้าได้ ดังนั้น หากไม่ได้เรียนรู้ทางปรัชญามาก็จะเข้าไปขอ เขาก็จะบอกว่าแบบนี้ฮินดูก็ดีกว่าสิ พุทธก็เลยสร้างพระโพธิสัตว์ขึ้นมาแข่ง แตกออกมาเป็นมหายานเลย ใช้ทำหน้าที่แทนพระเจ้า


 


ทางฮินดูพอเห็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้มีอิทธิฤทธ์มากมายขึ้น พุทธก็ทำบ้างมีหลายมือหลายตา พอฮินดูบอกมีศักติ พุทธก็บอกว่ามีนางปรัชญา ก็แข่งกันไป


 


แนวคิดนี้นำมาสู่กับนับถือพุทธศาสนานิกายตันตระที่สูงมากขึ้นในอินเดีย เพราะการแข่งขันทำตลาดความเชื่อใช่หรือไม่


ใช่ แต่มันมีสองแนวคิดเกี่ยวกับการสลายของศาสนาพุทธในอินเดีย คือ ศาสนาพุทธเสื่อมลงจนกระทั่งไปคล้ายฮินดูมากขึ้นทุกที จนถูกมองว่าแม้จะไม่มีสงครามกับศาสนาอิสลามในอินเดีย  คนก็จะทิ้งศาสนาพุทธไปเอง แต่ในอีกมุมหนึ่งบอกว่าถ้าเสื่อมจริงทำไมทิเบตจึงรับศาสนาพุทธแบบมีพระโพธิสัตว์ไปแล้วยังสืบต่อศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองได้ ประเด็นคือแม้ศาสนาอิสลามจะเข้ามาพัฒนาการของศาสนาพุทธก็ไม่จบไปแต่กลับเข้าไปในทิเบตแล้วพัฒนาต่อ


 


แต่หากมองพัฒนาการพุทธศาสนาในอินเดียจะเห็นว่าต่างจากนิกายเถรวาทในประเทศไทย


เป็นความต่างในการใช้เครื่องมือ พุทธตันตระมีหลักคิดเกี่ยวกับเครื่องมือในการทำสมาธิ เช่น ภาพมณฑล(ที่อยู่ของเทพ) ประติมากรรมที่อาจเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วใช้เทพองค์นั้นเป็นเครื่องมือในการทำสมาธิ แต่เมื่อถึงขั้นสุดท้ายก็ปฏิเสธว่าแม้แต่เทพองค์นั้นก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นมายา


 


เทพเป็นเครื่องทำสมาธิที่เหมือนกับการจำลองรูปของสิ่งที่ไม่มีรูปหรือไม่มีตัวตัวตนออกมา พอเราเพ่งจนเป็นอารมณ์ ประติมากรรมหรือภาพมณฑลนั้นจะอยู่ในใจเรา จนเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเทพหรือมณฑลอันนั้น ในที่สุดเราก็จะรวมกับเทพองค์นั้น มันเหมือนกับเลียนแบบฮินดู แต่ท้ายสุดคือขอให้รู้ว่าแบบนั้นมันก็เป็นอนัตตา ขอให้รู้ว่าทุกอย่างที่ทำขึ้นมานั้นไม่มีจริง ให้สำนึกรู้เอาเองว่าคือมายา


 


แสดงว่าอินเดียมีความเชื่อที่หลากหลายจนเป็นพหุสังคม แล้ววิธีการจัดการความต่างทางความเชื่อไม่ให้มีความขัดแย้งเป็นอย่างไร


สมัยโบราณกษัตริย์จะเลือกนับถือศาสนาโดยเฉพาะศาสนาฮินดู เพราะเป็นฐานให้อำนาจกับกษัตริย์ได้ อาจสามารถอ้างตัวเองได้ว่าพระเจ้าเลือกมาบ้าง เป็นบุตรแห่งพระเจ้าบ้าง ก็ว่ากันไป ดังประติมากรรมกษัตริย์ในราชวงศ์กุษาณะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6- 9 ) ที่พิพิธภัณฑ์มถุรา ที่ฐานจะมีจารึกเขียนว่าฉันเป็นลูกแห่งเทวดา หรือเหรียญต่างๆในสมัยนั้นจะแสดงให้รู้ได้เลยว่ากษัตริย์นับถือศานาฮินดู เช่น กษัตริย์กุษาณะยืนแล้วมือหนึ่งเอาของโยนในกองไฟ คงเป็นเรื่องการบูชาเทพเจ้า หรือแม้แต่กษัตริย์ในราชวงศ์คุปตะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 -10 ) ก็พบหลักฐานลักษณะคล้ายกัน


 


แต่ขณะเดียวกันกลับปรากฏว่าในสมัยราชวงศ์คุปตะ ประติมากรรมในศาสนาพุทธกลับรุ่งเรืองและพบมากมาย อาจเพราะกษัตริย์ถือนโยบายอุปถัมป์ทุกศาสนา หรือแม้แต่ช่วงหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 11 -14 ) เมืองหลวงของราชวงศ์วกาฏกะสร้างแต่ศาสนสถานฮินดู แต่ช่วงนั้นกลับมีขุนนางคนหนึ่งจะสร้างถ้ำอชัญตา (ถ้ำที่เป็นสังฆารามทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในสมัยโบราณประกอบด้วย 28 ถ้ำ มีทั้งภาพจิตรกรรมและประติมากรรมในพุทธศาสนา - ประชาไท) กษัตริย์ก็เปิดทาง


 


แต่ก็เหมือนกันมีที่กษัตริย์บางพระองค์ถือนโยบายศาสนาประจำราชวงศ์ จนสั่งทำลายวัดอื่นอย่างราชวงศ์ปัลลวะหรือโจฬะ ศาสนาประจำราชวงศ์เป็นฮินดู ไศวะนิกาย กษัตริย์บางพระองค์จะสั่งทำลายไวษณพนิกาย ในจารึกหนึ่งบอกว่า จงเอานารายณ์บรรทมสินธุ์ไปทิ้งทะเล เพราะว่าทะเลเป็นที่อยู่นารายณ์บรรทมสินธุ์ให้ไปอยู่ในที่นั้นก็แล้วกัน ผู้นับถือไวษณพนิกายก็เลยต้องหนีไปที่อื่น


 


แต่ความขัดแย้งที่มารุนแรงจริงๆคือ เมื่อศาสนาอิสลามเข้ามาด้วยสงคราม แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปในระยะหลัง กษัตริย์อิสลามพระองค์หลังๆกลับเริ่มเข้าใจว่าไม่สามารถสร้างอิสลามบริสุทธิ์ในอินเดียได้ ตรงนี้แสดงความเข้มแข็งมากของวัฒนธรรมอินเดีย กษัตริย์อิสลามจึงต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข


 


ตัวอย่างสำคัญคือพระเจ้าอักบาร์ แห่งราชวงศ์โมกุล (พุทธศตวรรษที่ 21 -23 ) จะไม่มีการไปต่อต้านฮินดูอีก และคิดไปถึงขนาดที่จะเอาหลักดีๆของศาสนาอื่นมารวมกัน นอกจากนี้กษัตริย์แคว้นคุชราตบางคนแม้จะเป็นอิสลามก็แต่งงานกับมเหสีชาวคริสต์บ้าง ฮินดูบ้าง อย่างกษัตริย์พระองค์หนึ่งพอสวรรคต เจ้าหญิงฮินดูที่แต่งงานด้วยก็สร้างมัสยิดถวาย ตัวมัสยิดเองก็ใช้ชื่อภาษาสันสกฤตด้วย


 


แสดงว่าในวัฒนธรรมอินเดียในอดีตแม้จะมีความขัดแย้งเพราะความเชื่อใหม่หรือศาสนาเข้ามา แต่ก็ใช้ความหลากหลายเป็นรากฐานวัฒนธรรมทำให้มีความเข้มแข้ง และเกิดการประนีประนอมกันมากกว่าเกิดการประหัตถ์ประหารกัน  แล้วในปัจจุบันจัดการความแตกต่างต่างจากในอดีตหรือไม่


เมื่อเกิดประเทศอินเดียขึ้นก็ระบุเลยว่าอินเดียเป็น Secular State (ประเทศที่ไม่เน้นเรื่องศาสนาหรือมีศาสนามาครอบงำทางการเมือง) หรือประเทศที่ไม่ถือว่าศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยมีตัวตนขึ้นมา ถ้าเขียนว่าฮินดูเป็นศานาประจำชาติจะทำให้ทุกคนต้องนับถือฮินดู หรือกฎหมายทุกอันต้องออกมาสอดคล้องรองรับความเป็นฮินดู


 


ถ้าอินเดียยึดถือประชากร 80 เปอร์เซ็นแล้วประกาศศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ ระบบวรรณะก็จะยังคงอยู่ คนที่นับถือศาสนาอื่นอาจจะไม่มีสิทธิในสภาหรือไม่มีวันหยุดราชการเป็นของตนเอง ไม่สามารถใช้ภาษาตนเองเป็นภาษาราชการได้


 


ปัจจุบันภาษาราชการในอินเดียมี 15 ภาษา หนึ่งในภาษานั้นก็มีอูระดูซึ่งเขียนด้วยตัวอาหรับ ถ้าคนมุสลิมไม่สามารถเขียนอักษรเทวนาครีได้ก็สามารถใช้อักษรอาหรับเป็นภาษาติดต่อราชการได้ ภาษาทั้ง 15 ภาษาจะแบ่งตามเชื้อชาติ ทั้งนี้ ประเทศอินเดียแบ่งออกเป็น 20 รัฐที่ใช้ภาษาต่างกัน แต่ละรัฐจะภูมิใจในศาสนาของตัวเอง ดังนั้น เมื่อเข้าไปในแต่ละรัฐก็เหมือนเปลี่ยนประเทศใหม่ แต่ในธนบัตรเขาจะพิมพ์ภาษาทั้ง 15 ภาษาลงไป หรือวันหยุดราชการก็จะหยุดทุกศาสนาเพื่อให้ทุกศาสานาเท่าเทียมกัน ดังนั้นแม้เป็นชนกลุ่มน้อยก็สามารถประกอบพิธีของเขาได้


 


ประเทศอินเดียยอมรับกันในความต่างสูงมาก มิฉะนั้น อินเดียนยูเนี่ยนหรือสหพันธรัฐอินเดียตามศัพท์เดิมที่มหาตมะคานธีตั้งก็ไม่สามารถรวมกันได้ การเป็น Secular State แล้วก็ทำให้สังคมสมานฉันท์กัน


 


แล้วถ้าเปรียบเทียบลักษณะร่วมและลักษณะที่แตกต่างระหว่างอินเดียกับไทย


ลักษณะร่วมคือเป็นสังคมหลากหลายเหมือนกัน ประเทศไทยมีทั้งคนนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอื่นๆมาอยู่ร่วมกัน เพียงแต่เรากลับรู้สึกว่าแกนของเมืองไทยคือศาสนาพุทธและจะต้องหยุดที่ความสำคัญของศาสนาพุทธเท่านั้น ต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการเท่านั้น คนไทยชอบไปมองต่างประเทศที่คิดว่าเป็นอารยะแล้วแต่ไม่มองประเทศที่มีลักษณะพื้นฐานคล้ายๆกัน


 


ลักษณะสังคมไทยก่อนที่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจะเข้ามาก็เคยอยู่กันด้วยความหลากหลาย เช่น สมัยทวารวดี พุทธศาสนานิกายเถรวาทก็อยู่กับนิกายมหายานได้ ฮินดูก็อยู่ร่วมกันทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย และยังมีนับถือผีอีก แต่อยู่ร่วมกันได้


 


ในจารึกสุริยวรมันที่ 1 หรือจารึกศาลพระกาฬที่พบในจังหวัดลพบุรี กษัตริย์เหมือนเคยพูดว่าศาสนาทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ประกาศคุ้มครองทุกศาสนา แม้ว่ากษัตริย์จะเป็นฮินดูไศวนิกายก็ตาม นอกจากนี้ก็อนุญาตให้สร้างปราสาทเป็นศาสนสถานพุทธได้


 


(เนื้อความในจารึกศาลพระกาฬหรือจารึกหลักที่19  : (มหา) ศักราช 944 วันอาทิตย์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 พระบาทกัมรเดงกำตวน อัญศรีสูรยวรมทวะ มีพระบัณฑูรตรัส "พระนิยม" นี้ให้บุคคลทั้งหลายถือเป็น "สมาจาร" คือกฎที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามต่อไป


 


ในสถานที่อยู่ของดาบสทั้งหลาย หรือของผู้ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุมหายานก็ดี บวชเป็นสถวิระก็ดี ให้ท่านทั้งหลายที่บวชโดยจริงใจถวาย "ตบะ" แก่พระบาทกัมรเดงกำตวญอัญศรีสูรยวรมเทวะ


 


ถ้าผู้ใดมาทำทุราจารใน "ตโบวนาวาส" ต่างๆแลมารบกวนดาบสซึ่งถือโยคธรรม ไม่ให้สวดมนต์ถวายตบะแด่พระบาทกัมรเดงกำตวนอัญศรีสูรยวรมเทวะโปรดเกล้าฯให้จับผู้นั้นมาขึ้นศาลสภา เพื่อจะได้ฟังคดีที่ควรจะถูกตัดสินอย่างเคร่งที่สุด  : แปลโดยศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ - ประชาไท )


 


ศาสนาพุทธเนิกายเถรวาทเข้ามาในช่วงไหนและได้รับการยอมรับมากขนาดนี้ในประเทศไทยได้อย่างไร


เคยวิเคราะห์แบ่งช่วงประวัติศาสตร์ตรงที่พุทธศตวรรษที่ 19 เพราะเป็นช่วงที่ศาสนาพุทธและฮินดูในประเทศอินเดียเริ่มเสื่อมเนื่องมาจากศาสนาอิสลามกำลังรุกเข้าไปในช่วงนั้น ทำให้ภูมิภาคแถบเราคงติดต่อกับทางอินเดียได้ยาก จึงต้องไปติดต่อกับทางลังกาที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ความนิยมนิกายเถรวาทจึงเข้ามาในช่วงนี้


 


ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 โลกมันเปลี่ยนแปลง ทางจีนก็เปลี่ยนเป็นราชวงศ์หยวนหรือมองโกลที่พยายามรุกมาทางพม่าด้วย เรื่องเหล่านี้มันสั่นคลอนหมดทั้งภูมิภาคและโลก ส่วนมุสลิมในอินเดียก็มีอิทธิพลเช่นกัน ทำให้อินเดียที่เคยเป็นแกนให้ภูมิภาคนี้ตลอดเกือบพันปีหายไป พอภูมิภาคเคว้ง พูดง่ายๆก็ต้องช่วยกันเอง ถ่ายทอดความเชื่อกันเอง เริ่มแรกก็รับความเชื่อจากลังกา พอแต่ละรัฐเริ่มมั่นคงขึ้นก็แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อกันภายในภูมิภาคภายใต้พื้นฐานความเชื่อในนิกายเถรวาท


 


หลังการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดการจัดการทางความเชื่อที่ต่างกันอย่างไร


กรณีอินเดียที่เป็น Secular State ก็เปิดโอกาส แม้จะมีกฎหมายที่มีอิทธิพลของฮินดูแต่ก็มีกฎหมายที่มีอิทธิพลของอิสลามมาด้วย


 


สำหรับในประเทศไทยคิดว่าเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธแล้ว แต่ความจริงไม่ได้มองโลก ไม่ได้มองคนอื่นว่าเป็นอย่างไรและไม่ยอมรับความแตกต่าง แค่พุทธเองก็มีนิกายตันตระ มีพุทธแบบทิเบต เขาทำอะไรบ้างก็ไม่เคยรู้ เขามีวิธีคิดทางศาสนาที่ก็พัฒนาไปเรื่อยๆอย่างไร เราก็ไม่สนใจ มองว่าพุทธต้องเถรวาทเท่านั้นแล้วมองอีกว่ามุสลิมเป็นชนส่วนน้อย


 


หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ศาสนาพุทธมีความแตกต่างกันมากมายไปตามแต่ละนิกาย แสดงว่าศาสนาพุทธเองแนวคิดก็ไม่ตกผลึกเป็นหนึ่งเดียว ทำให้มีการเมืองของนักบวชใช่หรือไม่


ตอนนี้เด็กทุกคนในประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจของหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาหรือ มัธยมศึกษา ซึ่งจะปั้นเด็กอย่างไรก็ได้ หลักสูตรเหล่านั้นบอกว่าเราต้องรักชาติจนเป็นชาตินิยมไป ปั้นแบบนี้ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ การปั้นพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีคำนี้ในหนังสือเรียนซึ่งพอเด็กรับพื้นฐานนี้แล้วรู้ภายหลังว่าทำไมรัฐธรรมนูญจึงไม่มีระบุไว้ก็ช็อก นี่คือเด็กที่ได้รับการสร้างโมเดลเสร็จเรียบร้อย


 


คนไทยเวลาเรียนไม่ว่าอะไรก็ตามไม่ค้นคว้าต่อ สมมติผมสอนประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วอ้างคัมภีร์อะไรขึ้นมา มีนักศึกษาที่กลับไปค้นว่าที่สอนมันมีในคัมภีร์นั้นจริงหรือไม่สักกี่คน ขนาดนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นแบบนี้ แล้วเด็กประถมหรือมัธยมจะค้นหรือว่ารัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติตามที่บอกไว้ในแบบเรียนหรือที่อาจารย์สอน


 


แต่ไม่แน่ใจว่าคนที่ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นมีความคิดเรื่องนี้หรือไม่ การไม่เขียนระบุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นเพราะมีความรู้เรื่อง Secular State ตั้งแต่แรก ต้องไปศึกษาที่มาของรัฐธรรมนูญว่าทำไมทุกฉบับจึงไม่ระบุให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ


 


 






เกี่ยวกับ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี


 


หลังไปใช้ชีวิตในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย 4 ปี เพื่อศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากสถาบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะการอนุรักษ์พิพิธภัณฑสถานวิทยา (National Museum Institute of History of Art Conservation and Museology)


 


4 ปี ในประเทศอินเดีย นอกจากความรู้ภาษาอย่างอังกฤษและภาษาสันสกฤตที่ต้องเรียนแทบทุกวันแล้ว ยังต้องศึกษาวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะอินเดียโบราณ ศิลปะอินเดียเหนือและใต้สมัยกลาง ประติมานวิทยา พื้นฐานศาสนาต่างๆ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ภูมิศาสตร์ เพื่อปูพื้นสู่การทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "สัตตมหาสถาน"


 


ในช่วงเวลา 4 ปีนี้ ดร.เชษฐ์ไปสัมผัสพื้นที่อินเดียจนเรียกได้ว่าแทบทุกรัฐ ไม่ว่าจะจากคุชราตถึงเบงกอล หรือจากแคชเมียร์ถึงทมิฬนาดูเพื่อถ่ายรูปประติมากรรม สถาปัตยกรรม และเข้าพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และเดินทางต่อไปยังลังกา บางครั้งก็ไปถึงปากีสถานหรือเนปาล


 


ดร.เชษฐ์ เล่าว่าเริ่มต้นเดินทางแบบนี้ก็ด้วยการอ่านหนังสือท่องเที่ยวและหนัสือวิชาการบ้าง อินเตอร์เน็ตบ้าง ซื้อหนังสือที่มีรูปบ้าง คนอินเดียมักเดินทางโดยรถไฟเป็นหลักก็หาวิธีการจองตั๋วแล้วจัดสรรเส้นทางเดินทาง หากศาสนสถานใดอยู่ไกลหรือไม่รู้ว่าอยู่ที่ใดก็สื่อสารด้วยภาษาถิ่นตามด้วยการชี้รูปในหนังสือที่ซื้อมาให้คนพื้นถิ่นดู


 


พ.ศ.2550 ดร.เชษฐ์ กลับสู่ประเทศไทยและเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net