คดียุบพรรค : ประวัติ "9 ตุลาการรัฐธรรมนูญ" - ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27

         1.นายปัญญา ถนอมรอด

          (ประธานศาลฎีกา) ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

          เกิด : 1 ก.ค. 2490

          คุณวุฒิ :

          - พ.ศ.2513 นิติศาสตร์ เกียรตินิยมดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ประสบการณ์ :

          - พ.ศ.2516 ผู้ช่วยผู้พิพากษา

          - ผู้พิพากษา ศาลจังหวัดเชียงใหม่

          - หัวหน้าศาล ศาลจังหวัดน่าน

          - รองอธิบดีศาลแพ่ง

          - ประธานแผนกคดีพาณิชย์ในศาลฎีกา

          - รองประธานศาลฎีกา

          นายปัญญาเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมตัดสินงานคดีเป็นหลัก เติบโตในหน้าที่การงานจนมีอาวุโสสูงสุดได้ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 สืบต่อจากนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ นอกเหนือจากการก้าวขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดในสายอาชีพแล้วล่าสุดนายปัญญายังได้รับรางวัล "สัญญา ธรรมศักดิ์" ปี 2550 สำหรับผลงานในทางคดีนายปัญญาได้ตัดสินวางบรรทัดฐานคดีศาลฎีกาไว้ 33 ฎีกา ผ่านประสบการณ์พิพากษาคดี "หินๆ" มามากมาย ล่าสุดเป็นผู้อนุมัติให้ "องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา" เปิดซองพิพากษาคดี "ค่าโง่ทางด่วน 6 พันล้าน" ที่มีปัญหาเนื่องจากเจ้าของสำนวนคือ "วิชัย วิวิตเสวี" ออกไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งผลสรุปก็คือสามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติได้กว่า 6,200 ล้านบาท

       

          2.นายอักขราทร จุฬารัตน

          (ประธานศาลปกครองสูงสุด) รองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

          เกิด : 1 เมษายน 2483

          คุณวุฒิ :

          - นิติศาสตรบัณฑิต (มธ.)

          - เนติบัณฑิต

          - ปริญญาเอกกฎหมาย มหาวิทยาลัยโรม (อิตาลี)

          - ศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ (มธ.)

          - ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (มธ.)

          ประสบการณ์ :

          - เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย

          - ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

          - รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

          - เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

          - ประธานสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ

          ราชการพิเศษในอดีต :

          - กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517

          - กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521

          - สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2520 - 2522

          - ที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2514 - 2524

          - สมาชิกวุฒิสภา

          นักกฎหมายดีเด่นรางวัล "สัญญา ธรรมศักดิ์" ประจำปี 2549 นอกจากผลงานในฐานะผู้พิพากษาแล้วยังเขียนตำรากฎหมายมหาชนและหลักสัญญาทางปกครอง มีผลงานคดีสำคัญจำนวนมาก เช่น กรณีเพิกถอนการกระจายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ไอทีวี ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เคยผ่านสายตาบุคคลผู้นี้มาแล้วทั้งสิ้น

 

          3.หม่อมหลวง ไกรฤกษ์ เกษมสันต์

          ตุลาการรัฐธรรมนูญ

          เกิด : 1 พฤศจิกายน 2486

          คุณวุฒิ :

          - นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          - เนติบัณฑิตไทย

          ประวัติการรับราชการ :

          - อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแม่สะเรียง, ศาลจังหวัดลำปาง

          - อธิบดีกรมคุมประพฤติ

          - รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

          - ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

          - ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6

          - ผู้พิพากษาศาลฎีกา

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

          - คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)

          ม.ล.ไกรฤกษ์ หรือที่ลูกศิษย์ผู้พิพากษาเรียกว่า "อาจารย์หม่อม" มีผลงานคดีที่วางบรรทัดฐานให้กับศาลฎีกามากมาย ได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาทั่วประเทศว่าใจซื่อมือสะอาด ตรงไปตรงมา และมีความกล้าหาญในการตัดสินคดี

 

          4.นายสมชาย พงษธา

          ตุลาการรัฐธรรมนูญ

          ประวัติการรับราชการ :

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี, ศาลจังหวัดทุ่งสง, ศาลจังหวัด สมุทรปราการ

          - รองอธิบดีกรมบังคับคดี

          - รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1

          - ผู้พิพากษาศาลฎีกา

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

 

          5.นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์

          ตุลาการรัฐธรรมนูญ

          ประวัติการรับราชการ :

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา, ศาลแขวงสงขลา

          - รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

          - ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

          - ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์

          - รองประธานศาลอุทธรณ์

          - ผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

          6.นายธานิศ เกศวพิทักษ์

          ตุลาการรัฐธรรมนูญ

          ประวัติการรับราชการ :

          - อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          - อัยการผู้ช่วย

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลภาษีอากรกลาง

          - ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

          - เลขานุการศาลฎีกา

          - รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์

          มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้พิพากษา ถือเป็นปรมาจารย์ทางประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผู้แต่งตำรา ป.วิอาญาและเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เนติบัณฑิตยสภา เขียนคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานไว้ 86 คดี นอกจากนี้ยังเคยเป็นเลขานุการศาลฎีกาในยุคนายศักดา โมกขมรรคกุล อดีตประธานศาลฎีกาและอดีตองคมนตรี

 

          7.นายนุรักษ์ มาประณีต

          ตุลาการรัฐธรรมนูญ

          ประวัติการรับราชการ :

          - อัยการผู้ช่วย

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดไชยา, ศาลจังหวัดภูเก็ต

          - รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 8

          - ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 7

          ผู้พิพากษาที่เคยเป็นอัยการ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรกับ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งยังเป็นผู้เสนอแนวคิดแหวกแนว เช่น ลงมติสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากคนนอกได้

 

          8.นายจรัญ หัตถกรรม

          ตุลาการรัฐธรรมนูญ

          เกิด : 10 มกราคม 2481

          คุณวุฒิ :

          - พ.ศ.2506 นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          - พ.ศ.2507 เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

          - พ.ศ.2534 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 33

          ประวัติการรับราชการ :

          - ผู้ช่วยผู้พิพากษา (18 ธันวาคม 2510 ถึง 18 ธันวาคม 2511)

          - ผู้พิพากษาประจำกระทรวง

          - ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปราจีนบุรี

          - ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยราชการศาลอุทธรณ์

          - ผู้พิพากษาศาลแขวงธนบุรี (19 ธันวาคม 2511 ถึง 30 กันยายน 2519)

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดไชยา

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปทุมธานี (1 ตุลาคม 2519 ถึง 31 มีนาคม 2526)

          - ผู้พิพากษาศาลแพ่งและผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง (1 เมษายน 2526 ถึง 30 เมษายน 2530)

          - รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 และภาค 6 (1 ตุลาคม 2530 ถึง 16 เมษายน 25 32)

          - รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (17 เมษายน 2532 ถึง 17 พฤศจิกายน 2535)

          - รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรมและเป็นคณะกรรมการตุลาการโดยตำแหน่ง (2 ตุลาคม 2534 ถึง 6 ธันวาคม 2534) (7 ตุลาคม 2535 ถึง 17 พฤศจิกายน 2535)

          - รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง (18 พฤศจิกายน 2535 ถึง 3 ตุลาคม 2536)

          - ผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (4 ตุลาคม 2536 ถึง 30 กันยายน 2542)

          - ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา (1 ตุลาคม 2542 ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2543)

          - ตุลาการศาลปกครองสูงสุด(27 มีนาคม 2543 ถึง ปัจจุบัน)

          นายจรัญ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ย้ายมาศาลปกครองสูงสุด ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พิพากษาสุดเฮี้ยบ มีผลงานโด่งดังนั่นคือ เพิกถอนการกระจายหุ้นกฟผ. ตามพระราชกฤษฎีกาการแปรรูปกฟผ.ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งยังเป็นหนึ่งในตุลาการผู้ตัดสิน คดีเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการกรณีสัมปทานไอทีวี ซึ่งส่งผลให้บริษัทไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานและค่าปรับมูลค่ากว่าแสนล้านบาทให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเคยปะทะคารมกับนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความของพรรคไทยรักไทยในศาลระหว่างการพิจารณาคดียุบพรรคด้วย

 

          9.นายวิชัย ชื่นชมพูนุท

          ตุลาการรัฐธรรมนูญ

          เกิด : 1 พฤศจิกายน 2486

          คุณวุฒิ :

          - นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          - เนติบัณฑิตไทย

          ประวัติการรับราชการ :

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์

          - ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลฎีกา

          - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ศาลฎีกา

          - ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา

 

จาก www.manager.co.th

 

 

 

 

 

 

 

ประกาศ คปค.ฉบับ ที่ 27

 

          ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2549

          ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งกำหนดเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำการต้องห้ามตามกฎหมายนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

          ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 1 ของประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้ "ข้อ 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิให้กระทบกระเทือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541ด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ยังคงบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก"

          ข้อ 2 การห้ามพรรคการเมืองดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง ตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2549 ให้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเป็นอย่างอื่น

          ข้อ 3 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค

          ข้อ 4 ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำสั่งของศาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นยังคงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งของศาลต่อไป

          ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549

          พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

          หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท