ปฏิรูปการเมืองใหม่ให้สำเร็จ ปฏิรูปสื่อต้องเอาจริง

ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม

พูดกันมานานเป็นทศวรรษแล้วสำหรับการปฏิรูปสื่อของไทย เพื่อหวังให้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตยแบบเต็มหน่วย ประชาชนอยู่บนความเป็นธรรมและเท่าเทียม แต่ความพยายามในการปฏิรูปสื่อตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา 2540-2550 ว่ากันง่ายๆ ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเสียทีเดียว แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ออกมาเปิดพื้นที่การเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่การเซ็นเซอร์ และควบคุมสื่อในหลายๆ มิติที่รัฐพยายามจะทำ หรือเข้ามามีบทบาทในการกำกับทิศทางของสื่อ ทั้งการแทรกแซงกิจการสื่อผ่านทุนธุรกิจ การให้สัมปทานคลื่นวิทยุโทรทัศน์โดยระบบอุปถัมภ์ หรือช่องว่างทางกฎหมายที่รัฐงัดออกมาใช้เป็นไม้เด็ดควบคุมไม่ให้สื่อพูดมากเกินไป เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่ได้ต่างไปจากการล้มไม้ขวางทางให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการก้าวเดินของการปฏิรูปสื่อมาตลอดทาง

ยุคปฏิรูปสื่อใต้ท้อปบู๊ต

การทำงานของสื่อที่ผ่านมาอยู่ภายใต้เงาของรัฐ ผสมรวมกับทุนยักษ์ที่เข้ามามีอิทธิพลในการทำงานของสื่อ ทำให้การทำงานของสื่อไม่เป็นอิสระเท่าที่ควร และยังไม่สมตามเจตนารมณ์ในการเป็นสื่อเพื่อประชาชนได้อย่างแท้จริง แม้ว่าตัวสื่อเองจะพยายามผละตัวเองออกมาตลอด แต่ทุนสื่อที่เข้ามีมาบทบาทในการแทรกแซงการนำเสนอเนื้อหาของสื่อเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างคล่องตัว ถูกบีบรัดในหลายๆ กรณี โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก

ซ้ำร้าย ภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยาน 2549 ไม้กระบองอำนาจของรัฐบาลในการควบคุมสื่อถูกส่งทอดต่อ มีความพยายามปิดปาก ปิดหู ปิดตา ประชาชน ผ่านการทำงานของสื่อ การเข้ามาแทรกแซงสื่อ และกำกับควบคุมสื่อ โดยการสั่งปิดเวบไซต์ที่ออกมาวิพากษณ์วิจารณ์การก่อรัฐประหารในช่วงแรก รวมไปถึงการออกคำสั่งให้วิทยุชุมชนนำเสนอรายการตามที่รัฐบาล คมช. กำหนด ไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งปิด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนชัดอยู่แล้วว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการที่จะปฏิรูปการเมืองให้เป็นจริง การปฏิรูปสื่อซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการบวนการปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตยที่เป็นธรรม และเท่าเทียม จึงถูกวางกับดักอยู่เสมอ

แต่ท่ามกลางหลุมพรางและอุปสรรคขัดขวาง ภาคประชาชนก็ยังไม่ท้อถอยต่อการเดินหน้าปฏิรูปสื่อ โดยมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่คือ 1. การยึดหลัก ความเท่าเทียมเป็นธรรม และทั่วถึง 2. การสนับสนุนสื่อที่หลากหลาย เน้นประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ทางการค้า และ 3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทั้งกลุ่มเด็ก ผู้พิการ ชนกลุ่มน้อย รวมไปถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในการสื่อสารในสังคม โดยเจตนารมณ์หลักของการปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปการเมือง คือการสร้างสื่อสาธารณะภาคประชาชน ที่เป็นอิสระ มีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลภายใต้กรอบจรรยาบรรณของสื่อที่มีจริยธรรมและศีลธรรม ไม่ได้ทำงานเพื่อหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง แต่เน้นให้ความสำคัญกับการนำเสนอเนื้อหาสาระเพื่อการเรียนรู้ของภาคประชาชนอย่างสูงสุด

รัฐกับสื่อมวลชนไทยในภาวะ การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

รศ.ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ กล่าวว่า รัฐกับสื่อมวลชนไทยในภาวะการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงสื่อเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยกำลังจะสร้างวาทกรรมใหม่เพื่อถกเถียงในสังคม ซึ่งย้อนกลับไป 10 ปีก่อน คำว่าปฏิรูปถูกยึดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของการปฏิรูปสื่อที่ผ่านมาคือการทำสื่อให้เป็นประชาธิปไตย โดยเริ่มจากการมองที่โครงสร้างจะเห็นชัดว่ามีการต่อสู้ทั้งในพื้นที่ และการสู้กับโครงสร้าง สู้กับวิธีคิด สู้กับความเป็นเจ้าของที่รัฐไม่คลี่คลาย เพราะฉะนั้น ความพยายามของทุกๆ คนที่ผ่านมาคือการพยายามผลักจากข้างล่าง และเมื่อมองในแง่บวก ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น คือตัวอย่างของการมีวิทยุชุมชนที่มีคนดำเนินการอยู่จริง แม้ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญก็ตามที

อย่างไรก็ตาม ในกระแสการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้กับสื่อมากขึ้นภายหลังการมีรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อมองในภาพกว้างแม้ประชาชนจะมีสิทธิพูดมากขึ้น แต่ในทางกลับกันสื่อกระแสหลัก และสื่อของรัฐก็ก้าวไปสู่ลักษณะของทุนและการเมืองมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งในกระแสประวัติศาสตร์จะเห็นว่า เวลามีเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย สื่อมวลชนจะทำหน้าที่ทางการเมืองสูงอยู่แล้ว เมื่อเกิดภาวะวิกฤติทางการเมืองขึ้น สื่อก็อยู่ในสภาวะที่แบ่งว่าจะมีจุดยืนอยู่อย่างไร เช่น ช่วงรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมาก็มีการแบ่ง เชียร์ทักษิณ หรือไม่เชียร์ทักษิณ ซึ่งที่ผ่านมาสื่อส่วนใหญ่ก็ไม่สนับสนุนทักษิณ แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากระแสสื่อส่วนใหญ่กลับสนับสนุนการรัฐประหาร ตรงนี้ดูเหมือนกับว่า ต่อต้านทักษิณแต่เชียร์รัฐประหาร

"การเมืองของสื่อในระบอบอำมาตยาธิปไตย สื่อกระแสหลักบางที่ต้องรักษาสถานภาพความเป็นสื่อธุรกิจในระบบอุปถัมภ์ที่ได้รับสัมปทานอภิสิทธิ์มาตั้งแต่ พ.. 2510-2513 จึงต้องสงบปากสงบคำเอาไว้พอสมควร ส่วนหนังสือพิมพ์กระแสหลักส่วนใหญ่แม้จะวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณในช่วงปลาย แต่พอมีรัฐประหารก็หนุนการทำรัฐประหารไปเลย นอกจากนี้ หลายๆ สื่อ ก็มีการเซ็นเซอร์ตัวเอง ให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมตนเอง หรือบางแห่งต้องยอมอย่างสนิทใจ เช่น ไอทีวี ที่ถูกยึดมาเป็นของรัฐ ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ 1. คณะรัฐประหารเมื่อเข้ามาสู่อำนาจแล้วจะยึดสื่อตัวไหนก็ได้ 2. ไอทีวี มีปัญหาเรื่องการติดค้างสัญญาจ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐ ไม่สามารถขอยืดระยะเวลาจ่ายเงินสัมปทานให้กับรัฐบาลรัฐประหาร จึงเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลรัฐประหารเข้ามายึดเป็นของรัฐ เปลี่ยนชื่อใหม่ เปลี่ยนรูปแบบใหม่ และการบริหารแบบใหม่ และต้องยอมรัฐบาลไปเรื่อยๆ" รศ.ดร. อุบลรัตน์ กล่าว

ก้าวย่างขับเคลื่อนให้สื่อเป็นประชาธิปไตย

รศ.ดร. อุบลรัตน์ กล่าวต่อว่า ก้าวต่อไปของการเปลี่ยนแปลงสื่อให้เป็นประชาธิปไตย ภาคประชาชนต้องเป็นแกนนำในการปลดปล่อยสื่อให้เป็นอิสระ เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อมีอิสระแล้ว ก็ต้องถือกุญแจไปไขลูกกรงของคนอื่นให้คนอื่นมีอิสระด้วย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตรงนี้จะช่วยส่งเสริมคุ้มครองสิทธิทางการเมือง ชุมชน วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้รัฐเป็นปฏิปักษ์กับการปฏิรูปสื่อของภาคประชาชน แล้วยังจะขยายการครอบครองอาณาจักรสื่อของรัฐออกไปอีก โดยมีแผนแม่บทของกองทัพ ปี 2548-2550 ว่าขอโทรทัศน์เพิ่มอีก 3 ช่อง และมีคลื่นวิทยุอีก 40 คลื่น ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการพยามใช้สื่อของรัฐ โดยรัฐออกแบบรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 47 และ ออกกฎหมายอื่นๆ อีก หลายๆ ตัว มาควบคุมสิทธิและเสรีภาพ

"ที่ผ่านมาเราพูดถึงเรื่อง ร่าง พรบ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มาหลายปี และต้องการให้มีการบัญญัติ 1 หมวด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในวิทยุชุมชน และได้มีเวทีประชาพิจารณ์กับกฤษฎีกาเพื่อพูดคุยเรื่องนี้เรื่อยมา ในขณะที่ในช่วงนี้รัฐบาลชุดนี้ก็มีการเตรียมการนอกสภา เร่งจัดทำการยกร่าง พรบ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยใช้งบประมาณไปกับการออกกฎหมายตัวเดียวถึง 20 ล้านบาท ตรงนี้ประชาชนจะต้องช่วยกันเข้าไปผลักดันให้มีการเขียนคุ้มครองสิทธิของวิทยุชุมชนด้วย เพราะรัฐบาลใช้เงินภาษีประชาชนไปทำกฎหมายหลายสิบล้านบาท" รศ.ดร. อุบลรัตน์ กล่าว

จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต สว.กรุงเทพ กล่าวว่า สภาวะวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ตนเห็นว่าสื่อเป็นทางลัดในการเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยการใช้สื่อเพื่อให้การศึกษากับประชาชน ทำให้ประชาชนเป็นตัวของตัวเอง นำสื่อมาช่วยแก้วิกฤติทางการเมืองโดยการเปิดโปงความไม่ชอบธรรมของกลุ่มอำนาจทุกกลุ่มในสังคม หรือใช้สื่อเพื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจได้ เมื่อมองตรงนี้ สื่อจึงเป็นความหวังของการพัฒนาสังคมของเราโดยแท้จริง

"ในสายตาของผม วาระเร่งด่วนที่สุดของภาคประชาชนในขณะนี้คือการเปิดพื้นที่สื่อภาคประชาชนให้กว้างขวางมากที่สุด ทำให้มีคุณภาพมากที่สุด ทั้งในระบบอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ และสื่อในรูปแบบอื่นๆ แต่สื่อภาคประชาชนที่ดี ไม่ได้หมายความว่ามีประชาชนเป็นเจ้าของเพียงอย่างเดียว ต้องมีคุณภาพของรายการด้วย" จอน กล่าว

จอน กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องระวังในการเป็นสื่อภาคประชาชนคือ การไม่นำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว เพราะจะกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ แต่สื่อภาคประชาชนต้องเป็นสื่อที่มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ความคิดเห็นแตกต่างกันเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเหตุมีผล พร้อมที่จะมีมารยาทดีต่อคนอื่นที่มีความเห็นแตกต่างจากตน สามารถรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและหลากหลายได้ ไม่ปิดกั้นพื้นที่การสื่อสารของคนที่เห็นต่างกัน อีกทั้งสื่อต้องไม่สร้างความเกลียดชังให้กับคนในสังคม ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับพวกเรา

นอกจากนี้ สื่อภาคประชาชนต้องเป็นสื่อที่อำนวยต่อการเรียนรู้ของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ข้อมูลข่าวสาร เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ต้องเป็นตัวอย่างของประชาธิปไตยโดยไม่ถือความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และอำนาจเอาไว้อยู่คนเดียว การเป็นสื่อสาธารณะที่แท้จริงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ต้องสร้างความรู้สึกความมีส่วนร่วมของชุมชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการนำเอาสื่อมาเป็นเครื่องมือทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่สังคมที่สงบสุข เกิดการระบบการเมืองที่มีคุณภาพ ประชาชนไม่ต้องเกาะติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เดินหน้าตามวาระของประชาชนอย่างเป็นตัวของตัวเอง

"สิ่งที่สำคัญที่สุดของสื่อคือเนื้อหาการเรียนรู้ร่วมกันทางสังคม และรูปแบบความเป็น ประชาธิปไตย ซึ่งเนื้อหาต้องสร้างความเข้าใจต่อกันในสังคมไม่ใช่สร้างความเกลียดชัง เน้นการเคารพความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม นอกจากนี้ต้องต่อสู้เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสื่อสาธารณะที่มีความหมายแตกต่างออกไปจากสื่อสาธารณะในความหมายของรัฐ หรือกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสื่อของผู้มีอำนาจ นอกจากนี้หลักการที่สำคัญของสื่อสาธารณะคือ ประชาชนเป็นเจ้าของโดยตรง ไม่ใช่รัฐบาล ต้องปราศจากการก้าวก่ายแทรกแซงโดยรัฐและทุน คณะกรรมการของสื่อสาธารณะต้องมาจากทุกภาคส่วนของสังคม มีรายการที่ประชาชนหลากหลายทุกภาคส่วนเข้าถึงได้" จอน กล่าวย้ำ

การเดินหน้าปฏิรูปสื่อของประเทศไทยในวันนี้ ยังมีระยะทางอีกยาวไกลกว่าจะสำเร็จซึ่งไม่ได้ยากเกินกว่าจะฝัน สิ่งสำคัญของการปฏิรูปสื่อให้เป็นประชาธิปไตย คือพลังภายในของภาคประชาชนที่ต้องร่วมมือกันผลักดันอย่างไม่ย่นย่อ หรืออ่อนข้อให้แก่อิทธิพลจากรัฐและทุน เพื่อให้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกกลุ่ม


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท