ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของอูโก ชาเวซ (ตอนที่ 1)

บรรดาผู้สนับสนุนชาเวซ ประธานาธิบดีแห่งเวเนซุเอลา แท้จริงแล้วสนับสนุน "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" สักแค่ไหน? หรือส่วนหนึ่งเกิดมาจากดัชนีผู้บริโภคที่สูงเป็นประวัติการณ์ในประเทศนี้ อันเนื่องมาจากราคาน้ำมัน ภัควดี วีระภาสพงษ์ นำโฟกัสแห่งทศวรรษของลาตินอเมริกามาเสนอ

อูโก ชาเวซได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน ด้วยคะแนนเสียงล้นหลามถึง 7,161,637 คะแนน หรือ 62.89% ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับสองจากพรรคฝ่ายค้าน นายมานูเอล โรซาเลส ผู้ว่าการรัฐซูเลียที่ประกาศจุดยืนสนับสนุนการค้าเสรีเต็มตัว ซึ่งได้คะแนนเพียง 36.85% การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือมากกว่า 11 ล้านคน หรือ 74.87% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 

แม้จะได้ไม่ถึง 10 ล้านเสียง อย่างที่เหล่าชาวิซตา (Chavista—ผู้สนับสนุนชาเวซ) ตั้งเป้าไว้ลมๆ แล้งๆ แต่คะแนนเสียงที่ชาเวซได้รับครั้งนี้ก็ยังมากกว่าครั้งที่มีการลงประชามติถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งตอนนั้นได้เกือบ 6 ล้านเสียง กระนั้นก็ตาม ฝ่ายที่ควรเป็นกังวลมากกว่าคือกลุ่มพรรคฝ่ายค้านที่ได้สัดส่วนคะแนนเสียงลดลงเล็กน้อย นั่นหมายความว่า ในทางการเมือง กลุ่มพรรคฝ่ายค้านมีผู้สนับสนุนที่เหนียวแน่นจำนวนไม่แตกต่างจากเมื่อสองปีก่อนมากนัก กลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนใจไปไหน ฝ่ายชาเวซเองก็เจาะเข้าไปไม่ได้ แต่กลุ่มเสมอนอกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่ได้รับอานิสงส์จากความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ได้หันไปปันใจให้ชาเวซเสียแล้ว นอกจากนี้ คะแนนเสียงของชาเวซยังชนะหมดทั้ง 24 รัฐของประเทศ แม้แต่ในรัฐรวยน้ำมันอย่างซูเลีย ซึ่งเคยขู่จะแยกตัวออกมาเป็นอิสระ ถึงจะเป็นแค่การชนะอย่างฉิวเฉียดก็ตามที ทั้งๆ ที่ในรัฐซูเลียและอีกหลายๆ รัฐมีผู้ว่าการเป็นคนของพรรคฝ่ายค้านด้วย

ชัยชนะครั้งนี้ยังเป็นชัยชนะในเชิงนโยบายที่น่าสนใจ ชาเวซเดินหน้าหาเสียงด้วยนโยบาย "การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์" ที่นำเสนอโครงการทางสังคมต่างๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา การเคหะและสหกรณ์ รวมทั้งต่อต้านการแปรรูป การเปิดเสรีและสนับสนุนการโอนกิจการพลังงานกลับมาเป็นของชาติ ในฝั่งตรงข้าม นายมานูเอล โรซาเลสเสนอแนวคิดบัตรเดบิต "Mi Negra" (My Black One—ตั้งชื่อเช่นนี้เพื่อหาเสียงสนับสนุนจากชาวเวเนซุเอลาเชื้อสายแอฟริกันที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ) นโยบายประชานิยมผ่านบัตรเดบิตนี้เสนอว่า หากนายโรซาเลสได้เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลของเขาจะดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เน้นการแปรรูปและเปิดเสรี เพียงแต่เขาจะดำเนินนโยบายประชานิยมควบคู่ไปด้วย กล่าวคือเขาจะเปิดโอกาสให้ชาวเวเนซุเอลายากจนมีโอกาสเข้าถึงรายได้จากน้ำมันของรัฐบาลโดยตรง บัตรเดบิตนี้เป็นเสมือนสัญญาการซื้อเสียงแบบหนึ่ง ประชาชนจำนวนหนึ่ง (ซึ่งยังไม่ได้ระบุวิธีการคัดเลือก) จะได้รับบัตรที่จัดสรรเงินให้ราว 350 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 12,000 บาท) โดยที่ 40% ของเงินจัดสรรนี้ต้องนำไปใช้ซื้อหาอาหาร นโยบาย "Mi Negra" ก็เช่นเดียวกับนโยบายขจัดความยากจนในเปรู, เม็กซิโกและบราซิล ที่มองปัญหาความยากจนเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่าโครงสร้าง

ยังไม่ทันถึงวันเดินเข้าคูหา การสำรวจความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเวเนซุเอลาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนถึง 59% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนโยบาย "Mi Negra"นี้ นโยบายแบบประชานิยมใหม่ (neopopulism ดังที่เรียกกันในละตินอเมริกา) ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ประชาชนต้องการให้รัฐบาลนำเงินไปใช้ให้เกิดการจ้างงาน, ระบบสาธารณสุข, สวัสดิการและการศึกษามากกว่า นายโรซาเลสจึงพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แม้แต่ในรัฐซูเลียของตนเอง

หลังประกาศผลการนับคะแนน ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันและผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติจำนวนมาก สิ่งที่แตกต่างจากการเลือกตั้งและการลงประชามติที่ผ่านๆ มาก็คือ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งนายมานูเอล โรซาเลส ออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ แม้ไม่วายตั้งข้อสงสัยว่า คะแนนไม่น่าทิ้งห่างกันมากขนาดนั้น จะอย่างไรก็แล้วแต่ นี่เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตรงข้ามของชาเวซยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

 

 

ปริศนาของอูโก ชาเวซ (ภาค 3)
(ภาค 1 และ ภาค 2 ของปริศนาชุดนี้ โปรดอ่านใน ฟ้าเดียวกัน, กรกฎาคม-กันยายน, 2548)

 

อูโก ชาเวซคือปริศนาเสมอมา แม้กระทั่งแนวคิดสังคมนิยมของเขา เราก็อาจสงสัยได้ว่า มันเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากเขาชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาประกาศ "ลัทธิสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" ก็ต่อเมื่อดำรงตำแหน่งมาแล้วหลายปี และยังไม่มีใครยืนยันได้แน่ชัดว่า "ลัทธิสังคมนิยม" ของเขามีขอบเขตและขีดจำกัดอยู่ตรงไหน 

ความเป็นนักการเมืองที่รู้จังหวะจะโคนและลำหักลำโค่นของชาเวซเป็นที่ทราบกันดี เขามักใช้ช่วงจังหวะที่ได้เปรียบที่สุดประกาศหรือกระทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมายเสมอ ชาเวซกล้าที่จะไม่เดินย่ำรอยทางเดิมที่คนอื่นเดินมาก่อน หรือกระทั่งบางครั้งก็ไม่ใช้เส้นทางเดิมที่ตัวเองเป็นคนบุกเบิกด้วยซ้ำ ความสำเร็จทางการเมืองส่วนหนึ่งของเขาเกิดมาจากการที่เขากล้าสร้างเส้นทางใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา รวมทั้งเดินหน้ารุกและตั้งรับในจังหวะที่เหมาะสม

ชัยชนะของชาเวซในการเลือกตั้งสมัยที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ สร้างความประหวั่นพรั่นใจให้คนจำนวนมาก ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน กลุ่มพรรคฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาก้าวพลาดไปตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. 2005 โดยคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนั้น ทำให้สมัชชาแห่งชาติที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของเวเนซุเอลาถูกครอบครองโดยกลุ่มชาวิซตาเพียงฝ่ายเดียว อันนำไปสู่ข้อกล่าวหาโจมตีถึงการเป็น "เผด็จการรัฐสภา" มิหนำซ้ำ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อูโก ชาเวซ แสดงจุดยืนชัดเจนว่า เขาจะเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้เพียงสองสมัย แม้ชาเวซยืนยันชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น จะต้องผ่านการลงประชามติก็ตาม แต่ประเด็นนี้ก็นำไปสู่ข้อกล่าวหาโจมตีถึงความต้องการเป็น "ประธานาธิบดีตลอดชีพ"

แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ เหล่าชาวิซตาได้ยินมาจนชินสองหูแล้ว ปริศนาที่สร้างความสั่นสะเทือนมากกว่ามาจากคำปราศรัยของชาเวซเอง ในงานเลี้ยงฉลองชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ท่ามกลางเสียงโห่ร้องกึกก้องของพลพรรคเสื้อแดงแถวหลังในโรงละครที่เป็นสถานที่จัดการประชุมฉลองชัย บรรดาชาวิซตาวีไอพีที่นั่งแถวด้านหน้ากลับรู้สึกเก้าอี้ร้อนไปตามๆ กัน

ความกระสับกระส่ายของพวกเขาคงไม่เกี่ยวกับคำขอร้องของชาเวซให้รัฐมนตรีทั้งหมดลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเวเนซุเอลาอยู่แล้ว รัฐมนตรีหน้าเดิมๆ บางคนจะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามา ส่วนคนที่เสียเก้าอี้ก็มักได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ เป็นเครื่องปลอบใจ และคงไม่ใช่คำพูดของชาเวซที่ตำหนิเรื่องการคอร์รัปชั่น ประเด็นนี้เคยพูดกันมาก่อนหน้าแล้ว แต่ประเด็นใหม่ที่สั่นสะเทือนโรงละครก็คือ การที่ชาเวซประกาศว่า ค.ศ. 2007 คือปีของการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่จะมาแทนพรรค "ขบวนการเพื่อสาธารณรัฐที่ห้า" หรือพรรค MVR เดิมที่เขาก่อตั้งมากับมือ

 

พรรคการเมืองใหม่ : ทางออกของปัญหาเดิมหรือจุดเริ่มต้นสู่ปัญหาใหม่?

ความจริง ชาเวซชิมลางด้วยการเสนอให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้คำคลุมเครือว่าเป็นการ "รวมพรรค" หรือ "การผนึกกำลังของพรรคต่างๆ" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ว่า MVR จะเป็นพรรคใหญ่ แต่ก็มีพรรคเล็กพรรคน้อยที่เป็นแนวร่วมอีกถึง 23 พรรคด้วยกัน ทุกคนรวมทั้งตัวชาเวซเองรู้ดีว่า แม้ภายนอกดูเหมือนมีการผนึกกำลังกันดี แต่ภายในนั้นมีการต่อสู้กันระหว่างก๊กต่างๆ ภายใน MVR เอง และระหว่าง MVR กับพรรคเล็กๆ อื่นๆ จนทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน และตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในการเมืองเวเนซุเอลา

แต่ที่ผ่านมา ชาเวซไม่เคยพูดอย่างชัดเจนว่า การรวมพรรคจะเป็นไปในลักษณะไหน เนื่องจาก MVR เป็นพรรคใหญ่และครอบงำแนวร่วมที่ทำหน้าที่รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง นักการเมืองในค่าย MVR จึงคาดหวังว่า ชาเวซคงจะเรียกร้องให้พรรคการเมืองเล็กๆ อื่นๆ ทั้งหมด ยุบพรรครวมเข้ามาอยู่ใน MVR

แต่ชาเวซกลับสร้างความประหลาดใจและอาการหนาวๆ ร้อนๆ ให้ลูกพรรคทั้งหลาย ด้วยการประกาศว่า "MVR เป็นอดีตไปแล้ว" เขาบอกว่า พรรคการเมืองใหม่ ที่ตั้งชื่อชั่วคราวว่า "พรรคสหสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา" (United Socialist Party of Venezuela) จะไม่ใช่พรรคการเมืองที่รวมพรรคเดิมๆ ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน แต่พรรคการเมืองใหม่นี้จะเป็นพรรคการเมืองที่สร้างขึ้นมาจากฐานล่าง เขาต้องการให้ฐานการเมืองระดับล่างในชุมชนสร้างพรรคการเมืองใหม่จากเบื้องล่างขึ้นมา พรรคการเมืองที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะชนะการเลือกตั้ง แต่เป็นพรรคการเมืองที่จะต่อสู้ทางอุดมการณ์ ต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ของสังคมนิยม และเป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา

ชาเวซกล่าวว่า "จงเลือกผู้นำที่แท้จริงของท่าน....เลือกคนที่ท่านศรัทธา คนที่ท่านรู้จัก อย่าไปเลือกพวกหัวขโมย พวกฉ้อฉล พวกไร้ความรับผิดชอบ พวกขี้เมา คนไม่ดีก็กันออกไปห่างๆ เราต้องยึดมั่นในศีลธรรมแบบสังคมนิยม จริยธรรมแบบสังคมนิยม" ชาเวซสรุปแนวคิดของตนด้วยประโยคสั้นๆ ที่เจ็บแสบว่า "พรรคการเมืองใหม่ต้องไม่ใช่ที่รวมของคนหน้าเดิมๆ ถ้าทำอย่างนั้นมันคือการหลอกลวง" เขายังสำทับใส่บรรดาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองเก่าด้วยว่า ไม่มีเวลาวิวาทะเรื่องนี้อีกแล้ว "เราต้องสร้างพรรคใหม่จากเบื้องล่างขึ้นมาเดี๋ยวนี้"

หมากตานี้ของชาเวซนับเป็นหมัดเด็ดที่ปล่อยใส่ลูกพรรคที่ไม่เอาไหนของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็นหนทางที่จะพาตัวเขาออกจากแรงกดดันบางอย่างด้วย ดังที่มาร์การิตา โลเปซ นักประวัติศาสตร์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคารากัสเชื่อเช่นนั้น

โลเปซกล่าวว่า "เรื่องหนึ่งที่การเลือกตั้งเผยให้เห็นก็คือ มีการแตกแยกเกิดขึ้นระหว่างบรรดาชาวิซตาด้วยกันเอง" ฝ่ายหนึ่งคือ "กลุ่มที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการปฏิวัติคิวบาและต้องการระบบแบบคิวบา" กลุ่มนี้เรียกร้องให้ยกเลิกระบบทรัพย์สินเอกชน แกนนำของกลุ่มนี้คือ ราฟาเอล รามิเรซ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและประธานบริษัทน้ำมันของรัฐ (PDVSA) กับ ฮวน บาร์เรโต นายกเทศมนตรีเมืองคารากัส

คู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มสายกลาง ซึ่งเรียกร้องให้ "ใช้ระบบสังคมนิยมอย่างจำกัด และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" โลเปซกล่าวว่า "ก๊กนี้มีรองประธานาธิบดีโฮเซ วิเซนเต รางเฮล และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เฮสเซ ชาคอน พวกเขาอยากให้ขยายโครงการทางสังคมและเปลี่ยนแปลงกฎหมายทรัพย์สินเอกชนบ้าง แต่ส่วนใหญ่อยากให้ระบบทุนนิยมดำเนินไปเหมือนเดิม เศรษฐกิจในเวเนซุเอลากำลังเฟื่องฟู และบรรดาชาวิซตากลุ่มนี้กำลังซื้อรถซื้อบ้านและย้ายไปอาศัยในย่าน [หรูหรา] ของคารากัส"

ส่วนจุดยืนของชาเวซอยู่ตรงไหน? ในทัศนะของศาสตราจารย์โลเปซ นี่คือปริศนาประการหนึ่งที่ไม่มีใครตอบได้แน่ชัด ดูเหมือนชาเวซกำลังรอดูท่าทีและจังหวะที่เหมาะสม กระนั้น ก็มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า ชาเวซอาจเอียงไปทางกลุ่มสายกลางมากกว่า

ในตอนต้นปี ค.ศ. 2006 นายฮวน บาร์เรโต นายกเทศมนตรีของคารากัส ขู่จะยึดสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในย่านคนรวยของเมืองหลวง บาร์เรโตกล่าวว่า สนามกอล์ฟกินพื้นที่ที่น่าจะนำมาใช้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักมากกว่า เรื่องนี้ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งกับข้าราชการในท้องที่ขึ้น แต่แล้วชาเวซก็ก้าวเข้ามาขวางและตำหนิบาร์เรโตต่อหน้าสาธารณชน

แต่คนอย่างอูโก ชาเวซไม่ใช่ปริศนาที่ไขกันง่ายๆ ในอีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เขาแต่งตั้งขึ้นมาแทนชุดเก่าที่ต้องลาออกไปตามธรรมเนียม ราฟาเอล รามิเรซ ยังคงยึดตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่รองประธานาธิบดีโฮเซ วิเซนเต รางเฮลหลุดจากตำแหน่ง ส่วนเฮสเซ ชาคอนย้ายไปประจำกระทรวงโทรคมนาคมที่ตั้งขึ้นใหม่แทน

หัวใจของความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายนี้วนเวียนอยู่รอบๆ ความหมายของคำว่า "การปฏิวัติ" การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์หมายถึงการปฏิรูปสถาบันที่มีอยู่เดิมเพียงบางแง่มุม? หรือหมายถึงการสร้างสถาบันคู่ขนานที่มีโครงสร้างแตกต่างออกไปจากเดิมขึ้นมาใหม่? นโยบายของชาเวซนับแต่เป็นประธานาธิบดี สามารถเปิดพื้นที่ให้ยุทธศาสตร์ทั้งสองแบบดำเนินควบคู่กันไปได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนแค่การปฏิรูปกับฝ่ายที่ต้องการปฏิวัติสังคมและรัฐให้แตกต่างไปจากเดิม

แม้ว่าบรรดาลูกพรรค MVR จะสนับสนุนโวหาร "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" และ "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" ของชาเวซกันอย่างครึกครื้น แต่ในทางปฏิบัติ ชาเวซย่อมรู้ดีกว่าใครว่า นักการเมือง "ชาวิซตา" พวกนี้ห่างไกลจากวิสัยทัศน์ทั้งสองประการขนาดไหน บางครั้งถึงขนาดขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวนโยบายบางอย่างที่ชาเวซกำลังผลักดันด้วยซ้ำ โดยเฉพาะถ้านโยบายนั้นอาจย้อนมาลดทอนอำนาจของพวกตนลงไป ความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องนี้กำลังคุกรุ่น โดยมีช่องระบายออกทางสื่อทางเลือกและวิทยุชุมชน ซึ่งผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดตาม barrio (ละแวกบ้าน) ต่างๆ ทั่วประเทศ ชาเวซรู้ดียิ่งกว่าใครด้วยว่า องค์กรจัดตั้งอิสระของชุมชนตามละแวกบ้านและสื่อทางเลือกเหล่านี้นี่เอง คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เขารอดจากการรัฐประหาร ค.ศ. 2002 การถูกลงประชามติถอดถอนใน ค.ศ. 2004 และชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายครั้งล่าสุด การดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่านักการเมืองลูกพรรคของเขาเป็นไหนๆ และหากเขาปล่อยให้ความไม่พอใจที่ประชาชนรากหญ้ามีต่อนักการเมืองชาวิซตาดำรงอยู่ต่อไป อีกไม่นานเท่าไร ความไม่พอใจอาจลามมาถึงตัวเขาเอง

ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว ภาคประชาชนส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงบทบาทของพรรคการเมืองทั้งหลายที่สนับสนุนชาเวซ หัวข้อที่วิจารณ์กันคือ พรรคการเมืองเหล่านี้บริหารงานแบบราชการ เล่นพรรคเล่นพวกและคอร์รัปชั่น ขาดกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรคและไม่สามารถประสานงานหรือร่วมมือกับฝ่ายอื่นๆ ได้ ตัวนักการเมืองเองก็ไม่สามารถพัฒนาสัมพันธภาพที่มีความหมายกับประชาชนสามัญ เพราะนักการเมืองไม่เคยลงไปทำงานชุมชน แม้กระทั่งการจัดประชุมก็ยังสะท้อนช่องว่างและความแตกต่าง พรรคชาวิซตาเหล่านี้จัดประชุมในโรงแรมหรูหรา ไม่เคยย่างกรายมาจัดประชุมในละแวกบ้าน, โรงงาน, หรือจัตุรัสสาธารณะเลย

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมายังคงคล้ายคลึงกับการลงประชามติเมื่อ ค.ศ. 2004 พรรค MVR ของชาเวซไม่สามารถจับมือกับประชาชนตามละแวกบ้าน พลังขับเคลื่อนที่แท้จริงเบื้องหลังการรณรงค์หาเสียงให้ชาเวซมาจากนักกิจกรรมของชุมชนที่จัดตั้งตัวเองต่างหาก ไม่ว่าสโลแกนหาเสียง การชักชวนประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิ์ การจัดชุมนุม ฯลฯ ทั้งหมดนี้มาจากองค์กรชุมชนและปฏิบัติการกันเองโดยไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองใดๆ นับวันประชาชนยิ่งแปลกแยกออกห่างจากพรรคการเมือง ชาเวซย่อมเป็นคนแรกๆ ที่มองเห็นความจริงข้อนี้

แน่นอน ข้อเสนอของชาเวซถูกฝ่ายตรงข้ามทั้งในและต่างประเทศโจมตี แต่ข้อกล่าวหาว่าชาเวซกำลังสร้างระบบพรรคเดียวขึ้นมาในเวเนซุเอลา เป็นข้อหาที่ไม่มีมูล เพราะไม่มีสัญญาณใดบ่งชี้เลยว่า เขาจะทำให้พรรคฝ่ายค้าน (ซึ่งความจริงมีมากถึง 43 พรรค) กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในการเมืองเวเนซุเอลา การสร้างพรรคใหม่ขึ้นมาจากฐานเสียงเบื้องล่าง มีข้อดีคือการมีสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่ง มีความโปร่งใส เป็นประชาธิปไตย และอาจทำให้ประชาชนก้าวพ้นจากระบบอุปถัมภ์ ทั้งยังอาจช่วยถ่วงน้ำหนักไม่ให้ฝ่ายซ้ายในเวเนซุเอลายึดติดอยู่กับตัวชาเวซมากเกินไป

แม้ว่ากระบวนการสร้างพรรคใหม่อาจดูเหมือนเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การลดความสำคัญของตัวบุคคล ทว่าข้อเสนอของชาเวซที่จะยกเลิกข้อจำกัดของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงสองสมัย กลับก้าวไปในทิศทางตรงกันข้าม จริงอยู่ มีประเทศประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้เช่นกัน แต่นี่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะอ้างความชอบธรรมต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้

นโยบายสองแนวที่สวนทางกัน คือเดิมพันสุ่มเสี่ยงอีกครั้งที่วางอยู่บนหนทางไปสู่ "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" หากแนวทางสู่ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองเติบโตได้ทันเวลา ประชาชนรากหญ้าสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง มีหรือไม่มีชาเวซก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป แต่หากขบวนการประชาชนไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง การยึดติดอยู่กับลัทธิเชิดชูตัวบุคคลก็จะคงอยู่ต่อไป และการเอียงซ้ายของเวเนซุเอลาก็พร้อมที่จะล่มสลายไปกับการพังทลายของคนๆ นั้น อนาคตที่แท้จริงของเวเนซุเอลาจึงไม่ได้อยู่ในกำมือของอูโก ชาเวซ แต่อยู่ที่ชาวชุมชนและแรงงานทั้งหลายต่างหาก พวกเขามุ่งมั่นเพียงพอที่จะคว้าอนาคตมาไว้ในกำมือของตนเองหรือไม่?

 

แต่พูดก็พูดเถอะ....ฉากหลังทางเศรษฐกิจนี่สิ?

เรื่องตลกร้ายก็คือ บรรดาผู้สนับสนุนชาเวซตั้งแต่ยอดลงมาจนถึงฐานปิรามิด แท้จริงแล้วสนับสนุน "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" สักแค่ไหน? อย่าลืมว่าความนิยมในตัวชาเวซที่ทะลักทลายอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากดัชนีผู้บริโภคที่สูงเป็นประวัติการณ์ในประเทศนี้ด้วย

เพราะราคาน้ำมันที่สูงลิบ เวเนซุเอลาจึงกลายเป็นประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในละตินอเมริกา จีดีพีขยายด้วยตัวเลขสองหลัก การบริโภคในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 32% จนมีคำพูดเปรียบเปรยว่า มีเงินอยู่ตามท้องถนนมากกว่าสินค้าและบริการให้ซื้อหา มีการทำนายว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 40% สินค้าด้านโทรคมนาคม (อินเทอร์เน็ต, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, ฯลฯ) จะเพิ่มขึ้น 36% สินค้าอุปโภคบริโภค 32% และการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 29% จำนวนคนจนในเวเนซุเอลาลดลงจาก 44% ใน ค.ศ.1998 เหลือ 34% ใน ค.ศ.2006

ในเมื่อมีสภาพคล่องทางการเงินขนาดนี้ การบริโภคเฟื่องฟูขนาดนี้ จะมีคนสนับสนุนให้ประเทศเปลี่ยนผ่านจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยมจริงๆ แค่ไหน? แม้แต่คนจนเองก็เถอะ หรือเราอาจต้องนิยามระบบสังคมนิยมกันใหม่ เหมือนดังที่ชาเวซเลือกใช้คำว่า "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21?

 

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

 

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

Sujatha Fernandes, "Savvy Marketing or Debating the Issues: Recent Elections in

Latin America," January 11, 2007, ZNet.

Sujatha Fernandes, "Political Parties and Social Change: Debates about a New Socialist Party in Venezuela," March 19, 2007, ZNet.

Niko Kyriakou (with Martin Markovits), "Hugo Chavez's Plans," IRC Americas Program Elections Report (Silver City, NM: International Relations Center, December 13, 2006).

http://americas.irc-online.org/am/3792

Michael A. Lebowitz, " "It's My Party, and I'll Cry If I Want to": Chavez Moves Forward," December 18, 2006, MR Zine (http://mrzine.monthlyreview.org/lebowitz171206.html).

José A. Laguarta Ramírez, "After the "Red Tide": New Challenges for Revolutionary Venezuela," December 09, 2006, ZNet. 

Gregory Wilpert, "Chavez Announces Nationalizations, Constitutional Reform for Socialism in Venezuela," January 10, 2007, Venezuelanalysis.com.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท