Skip to main content
sharethis

ณรรธราวุธ เมืองสุข


สำนักข่าวชาวบ้าน


 


การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ที่ใช้ชื่อว่า เครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน พร้อมประชาชนกว่า 3,000 คนที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา กำลังถูกจับตามองว่า "นักศึกษา" ดังกล่าวเป็นกลุ่มไหน คือใคร และเหตุผลใดที่พวกเขาไปเคลื่อนไหวต่อกรณีปัญหาภาคใต้ ซึ่งกำลังร้อนระอุ


 


การออกมายอมรับของ ประธานองค์การนักศึกษาม.รามคำแหง (อศ.มร) ว่ามีนักศึกษาจากม.รามคำแหงเดินทางลงไป จ.ปัตตานีประมาณ 2 คันรถบัสเพื่อไปร่วมชุมนุมดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มนักศึกษาจากส่วนกลางเดินทางลงไปเพื่อเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาภาคใต้ที่ปัตตานี แต่ในใบแถลงการณ์ที่แจกในที่ชุมนุม ได้ปรากฏชื่อขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) รวมอยู่ด้วย


 


"หมาน" หรือ "อับดุลเราะหมาน มูเก็ม" ประธานองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษ ถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาชุมนุมร่วมกับชาวบ้านกว่า 3,000 คนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีว่า "ไม่ได้มีแต่องค์กรนักศึกษาอย่างเดียว แต่สภานักศึกษา มอ.ปัตตานีก็ร่วมด้วย ที่มอ.ปัตตานีมีนักศึกษาหลายกลุ่มที่ทำงานเรื่องภาคใต้มานาน การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงต้องออกมาร่วมด้วย"  


 


อับดุลเราะหมาน เพิ่งเดินทางกลับจ.สงขลาเพื่อมาทำธุระ จึงทำให้สามารถติดต่อพูดคุยกับเขาได้ เพราะในพื้นที่จ.ปัตตานีถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ทำให้ช่องทางติดต่อสื่อสารถูกตัดขาดมาเกิน 48 ชั่วโมงแล้ว


 


อับดุลเราะหมานอธิบายว่า เหตุผลของการออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวขององค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี ร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษาจากหลายเครือข่าย มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ให้เจ้าหน้าที่ทหารถอนกองกำลังออกไปจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีข้อเท็จจริงว่า ทหารไปข่มขืนชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง รวมทั้งเคยเกิดเหตุลักษณะดังกล่าวขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมา พื้นที่ข่าวสารของเรื่องดังกล่าวไม่เคยปรากฏในพื้นที่ของสื่อมวลชนเลย กลุ่มนักศึกษาจึงจำเป็นต้องการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ร่วมกับชาวบ้าน เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะสื่อสารให้สังคมไทยได้รับรู้ และถึงเวลาที่ทหารต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ เพราะเชื่อว่าสามารถยุติความรุนแรงในพื้นที่ทั้งหมดได้


 


"เราไม่เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ แต่ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่มีการนำเสนอออกทางสื่อมวลชน มีการปิดสื่อไม่ให้รายงาน นี่คือประเด็นที่เราเป็นห่วง และคิดว่าจะเป็นเงื่อนไขในการสร้างความรุนแรงในพื้นที่ต่อไป" 


 


ประธานองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า ข้อกังวลใจในขณะนี้ คือ หลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้นลงแล้ว เกรงว่านักศึกษาจาก มอ.ปัตตานีหลายคนจะมีชื่อในบัญชีดำของฝ่ายความมั่นคง พร้อมกับแสดงความหนักใจว่า เหล่านักศึกษาและชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัด ถูกมองว่าเป็นม็อบจัดตั้งและเป็นฝ่ายแนวร่วมในทันทีที่ออกมาแสดงพลัง


 


"สิ่งที่เราจะทำต่อไปหลังจากนี้ จะต้องประสานไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกที เพื่อให้เข้ามาดูแลกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหว ไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงนำวิธีการที่ไม่เป็นธรรมมาปฏิบัติกับกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุม" อับดุลเราะหมานกล่าวและว่า


 


"เราไม่อยากให้มองกันที่ประเด็นว่า การออกมาชุมนุมครั้งนี้ เป็นการจัดตั้งจากกลุ่มไหน แต่ให้มองว่าเราออกมาเรียกร้องความถูกต้อง เรียกร้องในประเด็นที่ไม่ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน"


 


เขายอมรับว่า แกนนำในการชุมนุมครั้งนี้ คือกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนมุสลิมจาก 3 จังหวัด แต่ก็มีนักศึกษาชาวพุทธเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวด้วย นอกจากนี้ ในการประสานกับทางชาวบ้านที่มาร่วมการชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เป็นการ "ต่อสาย" กับกลุ่มคณะทำงานต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งพบเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน ทำให้การชุมนุมครั้งนี้สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ จะมีการประชุมแกนนำก่อนจะไปกระจายงานตามกลุ่มของตนเอง ทำให้สามารถควบคุมม็อบได้ และลดอัตราเสี่ยงในการก่อเหตุรุนแรง หรือการเข้ามาป่วนของมือที่ 3


 


ประธานองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานียังเปิดเผยว่า กรณีที่องค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานีไม่ออกมาเป็นแนวหน้าในการเคลื่อนไหว เพราะสาเหตุที่เขาบอกว่า "รู้สึกบอบช้ำกับม็อบมามากแล้ว เราไปเคลื่อนไหวอะไรก็ถูกจับตามองว่าเป็นฝ่ายขบวนการ เพื่อนบางคนถูกอุ้ม บางคนถูกแบล็คลิสต์ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็จะถูกโจมตีอีกว่าเป็นนักศึกษาในพื้นที่เสียเปล่า แต่ไม่ทำอะไรเลย ตรงนี้ทำให้นักศึกษาใน มอ.ปัตตานีอยู่ลำบาก"


 


ประเด็นสำคัญของของการอออกมาชุมนุม หากคัดกรองเนื้อหาแล้ว พบว่ามีการชูประเด็นกรณี "ทหารพรานข่มขืนผู้หญิงมุสลิม" เป็นประเด็นใหญ่ อับดุลเราะหมานบอกว่า มีการก่อเหตุในลักษณะนี้ ล่าสุดในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ที่คนที่รอดชีวิตบอกว่าทหารได้ข่มขืนลูกสาวของเธอแล้วลงมือฆ่าอย่างเลือดเย็น แต่ข่าวนี้กลับไม่ปรากฏในสื่อมวลชนเลย เขาเชื่อว่ามีการปิดข่าวดังกล่าว เช่นเดียวกับข่าวก่อนหน้านี้ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา แต่ข่าวกลับถูกนำเสนออีกทางที่ไม่ได้พูดถึงการทำผิดของทหาร เขาบอกว่ากลุ่มนักศึกษาและผู้ทำงานเครือข่ายในพื้นที่รู้ข่าวนี้จากปากคำของชาวบ้านจากการลงพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการประชุมเพื่อหาข้อสรุป และพบว่าแนวทางของการชุมนุมเพื่อเรียกร้องเป็นข้อเสนอ น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะให้ผู้มีอำนาจในกองทัพสนใจ


 


เกิดคำถามว่า เหตุใดจึงมาชุมนุมกันหลังจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศยุบพรรคไทยรักไทย ประธานองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานีปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เรื่องนี้ไม่มีแนวคิดเรื่องการเมือง มีการประชุมกันตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.เพื่อเตรียมงาน และนักศึกษาทุกคนคิดเพียงอย่างเดียวว่า จะทำอย่างไรให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบสนองอย่างดีที่สุดจากรัฐบาล


 


"การออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ เราต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจากฝ่ายไหน แต่ในฐานะของฝ่ายรัฐที่มีอำนาจอยู่ในมือ ต้องดำเนินการอะไรบางอย่างเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้ง"


 


เป็นคำพูดทิ้งท้ายที่โยนไปให้กับฝ่ายความมั่นคงโดยตรง...        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net