เมื่อ "ผู้ชมทางบ้าน" โดนปั่นหัวด้วยตลกร้าย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

Big Donor Show เป็นเพียงรายการที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของเรียลลิตี้ทีวี โดยมีผู้กุมบังเหียนใหญ่คือ "สถานีโทรทัศน์บีเอ็นเอ็น" สัญชาติเนเธอแลนด์ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรไม่ได้มีบทบาทสำคัญในแวดวงธุรกิจบันเทิงหรือได้รับความสนใจจากนักดูทีวีทั่วโลกสักเท่าไหร่

 

แต่เพียงแค่ไม่กี่วันที่รายการ Big Donor หรือ "คนใจบุญ" ออกฉาย มันก็กลายเป็นประเด็นให้ใครต่อใครถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนทั่วโลก ในประเด็นที่ว่า "รายการแบบนี้สมควรถูกแบนหรือไม่"

 

เรื่องใหญ่ที่ทำให้คนจำนวนมากต่อต้าน เป็นเพราะผู้ผลิตรายการโปรโมทว่าผู้ที่เข้าแข่งขันในรายการนี้ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยโรคไต และอยู่ในข่ายผู้รอรับการเปลี่ยนไต

 

ผู้เข้าแข่งขันที่มีทั้งหมด 3 ราย จะต้องนำเสนอ "ชีวิตประจำวัน" รวมถึงชีวิตในอดีตที่ผ่านมาของตัวเอง (ผ่านรูปถ่ายหรือผลงานที่เคยทำ) ให้ผู้ชมได้รับรู้ เพื่อสร้างแฟนคลับมาโหวตคะแนนให้ตัวเอง ไม่ต่างจากรายการเรียลลิตี้โชว์ทั่วๆ ไป

 

ผิดกันแค่ว่าผู้แข่งขันในรายการนี้จะต้องพยายามทำให้คนดูรายการรู้สึกคล้อยตามให้ได้ว่าชีวิตของใครจะมี "คุณค่า" สมควรที่จะได้รับการเปลี่ยนไต หรือสมควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป มากที่สุด!

 

คนใจบุญคนแรกของรายการนี้คือ "ลิซ่า" หญิงสาววัยสามสิบที่ดูสงบนิ่ง ผู้ประกาศตัวว่าเธอจะบริจาคไตให้กับผู้เข้าแข่งขันที่ชนะเลิศรายการนี้ด้วยคะแนนโหวตสูงสุดจากผู้ชม

 


 

 


ผู้เข้าแข่งขันในรายการ Big Donor ทั้ง 3 ราย

 

ชาร์ลอตต์-ผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่ง บอกกับผู้ชมทางบ้านว่าเธอไม่สามารถดื่มน้ำได้มากกว่าวันละ 1 ไพท์ หรือประมาณนมกล่องขนาดเล็กสักกล่อง และความทุกข์ทรมานของเธอคงจะสะเทือนใจคนดูมากอยู่เหมือนกัน เพราะคะแนนที่โหวตให้กับเธอสูงถึงร้อยละ 38 ซึ่งสูงกว่าผู้เข้าแข่งขันรายอื่นๆ

 

แต่ "คุณค่า" ของชีวิตคนหนึ่งคน สามารถชี้วัดกันได้ด้วยความสงสารจริงหรือ?

 

คำกล่าวโจมตีผู้ผลิตรายการนี้ดังมาจากทั่วสารทิศเช่นกัน หลายคนตั้งคำถามถึง "จรรยาบรรณสื่อ" และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการนำชีวิตส่วนตัวของผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นแม้แต่บุคคลสาธารณะมาออกรายการ แถมยังเป็นรายการที่เกี่ยวพันกับความเป็นและความตายของผู้เข้าแข่งขันเสียด้วย

 

ในขณะที่แวดวงหมอผ่าตัดก็เล่าขานด้วยความสงสัยว่าหมอคนใดจะกล้ารับผ่าตัดไตให้กับผู้ชนะรายการนี้ ค่าที่มันดูจะผิดจรรยาบรรณแพทย์อย่างแรง...

 

ก่อนที่รายการจะเฉลยว่าใคร (ผู้ป่วยรายไหน) จะเป็นผู้ชนะ ทางสถานีบีเอ็นเอ็นได้รับโทรศัพท์จากคนจำนวนมากที่เรียกร้องให้รายการนี้ยกเลิกการออกอากาศไปเสีย เพราะหลายคนทนไม่ได้ที่จะเห็นว่ามีผู้แข่งขันเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะได้ "ชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น" ในขณะที่คนอื่นๆ อาจทำได้แค่รอวันตาย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนไตอย่างทันท่วงที...

 

ไม่ว่าจะมีคนเรียกร้องขนาดไหน สถานีก็ไม่ถอดรายการนี้ออกจากผัง และเจ้าหน้าที่รัฐก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดรู้ตัวดีว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

 

แต่แล้วความจริงก็คลี่คลาย เมื่อโฆษกของรายการประกาศในคืนตัดสินว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่ทำมานั้น เป็นเรื่อง "แหกตา" ทั้งเพ...

 

 

"ลอเรน ดริลลิช" หนึ่งในคณกรรมการผู้บริหารสถานีบีเอ็นเอ็น

 

แท้จริงแล้ว "ลิซ่า" คือ นางสาวไลโอเนล ซึ่งเป็นนักแสดงรับจ้าง (แน่นอนว่าเธอไม่ดัง ถึงไม่มีคนดูจำได้) แต่เธอก็ตีบทของตัวเองได้ดีจนแตกกระจุย

 

ส่วนผู้ผลิตรายการก็ออกมาประกาศว่านี่คือ "คำแถลงการณ์" ของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด...

 

สิ่งที่เป็นของจริงเพียงอย่างเดียวในรายการนี้คือผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 คน ล้วนเป็นผู้ป่วยโรคไต พวกเขาคือผู้ประสบความทุกข์ทรมานในการดำรงชีวิต และเป็นผู้รอคอยความหวังว่าจะมีคนใจบุญมาบริจาคไตให้จริงๆ

 

น่าเสียดายที่ความหวังของพวกเขาไม่เคยเป็นจริง...เพราะระบบการจัดการอวัยวะบริจาคของเนเธอแลนด์ ถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพ รัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างทันเวลา และไม่มีการรณรงค์ให้ความเข้าใจเพื่อจูงใจผู้บริจาคเท่าที่ควร

 

ในเมื่อความหวังของพวกเขาต้องอาศัยแรงจูงใจในตัวผู้อื่น พวกเขาจึงเลือกที่จะใช้สื่อในรูปแบบของ "รายการเพื่อความบันเทิง" มาเป็นเครื่องมือเรียกร้องความสนใจ

 

คงต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยอย่างสถานีโทรทัศน์บีเอ็นเอ็นและผู้ผลิตรายการดังกล่าวไป เพราะก่อนที่พวกเขาจะตีแสกหน้าคนจำนวนมากด้วยตลกร้ายเช่นนี้ ภาพลักษณ์ของสถานีบีเอ็นเอ็นไม่ใช่แค่สถานีที่มุ่งหน้าหาผลประโยชน์จากสปอนเซอร์เหมือนสถานีเพื่อความบันเทิงอื่นๆ แต่บีเอ็นเอ็นเป็นสถานีที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตรายการดีๆ มากมายที่ชวนให้สังคมรู้จักตั้งคำถามกับสถานการณ์รอบตัว

 

ลอเรน ดริลลิช หนึ่งในคณะกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์ให้สัมภาษณ์ว่า "อย่างน้อยที่สุด เราก็ทำให้คนในสังคมหันมาถกเถียงอภิปรายเรื่องนี้กันอย่างจริงจังได้"

 

อย่างไรก็ตาม...แม้ว่ารายการของบีเอ็นเอ็นจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม ผู้เข้าแข่งขันทั้งสามรายก็ยังต้องรอคอยไตบริจาคต่อไป

 

ในขณะเดียวกัน คำถามเรื่องการให้ค่ากับ "วิธีการ" และ "เป้าหมาย" ของบีเอ็นเอ็นก็ยังมีคนสงสัยอยู่อีกมาก

 

เพราะในเมื่อไม่สนใจซึ่งวิธีการที่เหมาะสมเสียแล้ว ผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ได้มา จะเบี่ยงเบนไปจากความตั้งใจดีๆ แต่ดั้งเดิมหรือไม่?

 

และราคาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องจ่ายไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ไม่ใส่ใจวิธีการนั้น...มันคุ้มกันหรือเปล่า?

 

...............................................

 

หมายเหตุ: ภาพทั้งหมดมาจาก AFP และ BBC

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท