Skip to main content
sharethis


 


การเจรจาระหวางเจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนเครือข่ายผู้ชุมนุมฯ


(ภาพจาก - สำนักข่าวชาวบ้าน)


 


ประชาไท - 3 มิ.ย.2550 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2550 ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี สถานการณ์ชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนกว่า 1,500 ที่ปักหลักอยู่ที่มัสยิดมาเป็นวันที่ 3 ได้คลีคลายลงแล้ว เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นนักศึกษาจากหลายสถาบัน เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้ทยอยเดินทางกลับทันทีหลังการเจรจาแล้วเสร็จ


 


ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเจรจาฝ่ายรัฐนำโดยนายวินัย คุรุวรรณพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พ.อ.ทักษภณ ศิริรักษ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 23 นางโซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ส่วนฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมประกอบด้วย นายต่วนดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ เลขานุการเครือข่าย นายบาซิ นาแว รองเลขานุการเครือข่าย โดยมีนายนิรามาน สุไลมาน อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นตัวกลางในการเจรจา


 


 


นายต่วนดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน


(ภาพจาก - สำนักข่าวชาวบ้าน)


 


นายต่วนดานียา กล่าวถึงที่มาของการชุมนุมว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาและร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมาย 2 อย่าง คือ จะจัดเสวนาพูดคุยถึงปัญหาในพื้นที่ และการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา, อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และที่บ้านบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีการประสานกับโต๊ะอิหม่าม ประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อขอใช้สถานที่ แต่เมื่อเดินทางมาถึงในวันแรก ปรากฏว่ามีประชาชนในที่พื้นที่ที่ทราบข่าวมาร่วมชุมนุมที่มัสยิดเป็นจำนวนมาก


 


สาเหตุที่ชาวบ้านเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากต้องการชี้แจงถึงความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าเหน้าที่รัฐ โดยตั้งความหวังว่า นักศึกษาจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้  เพราะที่ผ่านมาคนเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่รทราบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทางเครือข่ายจึงมีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ตามที่ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว จากนั้นนายตูแวดานียา ได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ


 


ด้านนางโซรยา ได้เล่าเหตุการณ์ซึ่งเชื่อว่าเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดการชุมนุมขึ้น คือ กรณีชาวบ้านตำบลปะแตถูกฆ่า 4 ศพ และมีการข่มขืน โดยระบุว่าได้รับการยืนยันจากญาติผู้ตาย ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์แต่หนีรอดจากการยิงถล่มของคนร้าย ซึ่งมีประมาณ 10 คน โดยกระโดดลงในลำธารว่า หลังการยิงถล่มได้หนีออกมาอยู่ที่บ้านอีกหลัง ขณะนั้นเห็นคนร้ายลงมือข่มขืนเด็กสาวอายุ 21 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บก่อนจะถูกฆ่า


 


นางโซรยา ยังได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และชาวบ้านเชื่อว่าคนร้ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในวงเจรจาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว


 


ทางนายวินัย รับที่จะทำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนในเรื่องดังกล่าวทันที และยังต่อรองด้วยว่าหากเลิกชุมนุม ทางรัฐก็จะเปิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือทันทีเช่นกัน ขณะที่ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมได้ร้องขอไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมด และขอให้รัฐรับข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ไปพิจารณา ซึ่งฝ่ายรัฐรับปากจะดำเนินการให้ โดยทางแกนนำผู้ชุมนุมรับจะไปหารือกับผู้มาชุมนุมให้ยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด


 


พ.อ.ทักษภณ กล่าวว่า ทหารที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการสร้างความสงบสุขในพื้นที่ โดยมีประชาชนเป็นหัวใจหลักของการทำงาน มีการปฏิบัติที่เข้มงวด โดยเฉพาะสิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นไม่น่าเชื่อเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นคนก่อเหตุ


 


นายแวดือราแม เปิดเผยว่า ตนไม่เคยพูดว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ส่วนที่มีข่าวออกไปนั้น เชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิดของสื่อมวลชน


 


ขณะที่มีการเจรจาอยู่นั้น ยังคงมีชาวบ้านนำข้าวสาร น้ำดื่มบรรจุขวด และไม้ฟืนมามอบให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่เป็นระยะ


 


สำหรับการชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518 สืบเนื่องจากกรณีการฆาตกรรมชาวบ้านแล้วทิ้งศพไว้ที่สะพานกอตอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีผู้นำนักศึกษาจากหลายสถาบันเป็นแกนนำ เช่น นายมุข สุไลมาน นายสุธรรม แสงประทุม เป็นต้น


 


ส่วนที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายอับดุลเราะหมาน มูเก็ม นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ่านแถลงการณ์ในนาม องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีความว่า เนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุม บริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีที่ผ่านมาแล้วเป็นเวลา 3 วัน จากเหตุการณ์การชุมนุมได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง และไม่สามารถทราบได้ว่า จะจบลงในรูปแบบใด ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงและกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางองค์การบริหาร องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา องค์การนักศึกษาจึงขอแถลงการณ์ดังต่อไปนี้


 


1. การชุมนุมเรียกร้องอย่างสันติวิธีเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สามารถกระทำได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม


 


2. ในนามนักศึกษาขอเรียกร้องให้ภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบในประเด็นที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


3. ขอเรียกร้องให้ภาครัฐนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหลายๆ กรณีที่สร้างความสับสนและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริงในพื้นที่


 


4. ขอให้ทางภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวและแสดงความจริงใจในการคลี่คลายสถานการณ์ของผู้ชุมนุมบริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี รวมไปถึงการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ


 


5.ทางองค์การบริหารองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา องค์การนักศึกษา ขอประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะสังเกตการณ์และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อลดความรุนแรงและนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม


 


นายอับดุลเราะหมาน กล่าวหลังจากอ่านแถลงการณ์ว่า สิ่งที่กังวลที่สุดคือความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือจากฝ่ายผู้ชุมนุม ในนามองค์การบริหารองค์การนักศึกษา เห็นด้วยกับการต่อสู้ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นประชาชน และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของนักศึกษา มอ.ปัตตานีบางคนที่เข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากเป็นปัจเจกชน


 


"เราเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย แต่เห็นว่าควรหาทางออกที่ไม่เป็นการเพิ่มเหตุความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นจังหวัดชายแดนใต้ องค์การนักศึกษาจะทำหน้าที่สื่อและเป็นศูนย์เฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ด้วย" นายอับดุลเราะหมาน กล่าว


 


ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ได้กลุ่มชาวบ้านได้พยามชุมนุมปิดถนนในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี อีก 3 จุด ซึ่งสืบเนื่องจากไม่สามารถเข้าไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีได้ แยกเป็น ถนนสาย 42 ปัตตานี - นราธิวาส บริเวณบ้านเจาะกือแย ตำบลตะปิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน ที่ถนนสาย 410 ปัตตานี - ยะลา บริเวณบ้านต้นมะขาม ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน และหน้ามัสยิดบ้านดอนยาง ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน


 


 






 


10 ข้อเรียกร้องจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน


 


1. ถอนกำลังทหารและอาสาสมัครทหารพรานออกจากพื้นที่ให้หมด


 


2. ประกาศยกเลิกกฎหมายเคอร์ฟิวส์


 


3. ประกาศยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.)ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา


 


4. รัฐบาลต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดอย่างเด็ดขาดและเที่ยงธรรม


 


5. รัฐบาลต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและเที่ยงตรง


 


6. รัฐบาลต้องไม่ครอบงำสื่อทุกชนิด


 


7. สื่อทุกชนิดต้องรายงานความเป็นจริงที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา


 


8. รัฐบาลต้องปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์โดยเร็วและไม่มีเงื่อนไขใดๆ


 


9. รัฐบาลต้องไม่จับตัวผู้บริสุทธิ์อีก


 


10. รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย


 


จุดยืน


 


1. เราจะยืนอยู่เคียงข้างประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ


 


2. เราจะให้ความช่วยเหลือ ดูแลและให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ


 


3. เราจะร่วมเคลื่อนไหวรวมกับประชาชนเพือเรียกร้องความถูกต้องและความยุติธรรมให้เกิดขึ้น


 


4. เราจะร่วมกันยืนหยัดต่อต้านนโยบายของรัฐบาลและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net