Skip to main content
sharethis

ประชาไท, 5 มิ.ย. 50 - วานนี้ (4 มิ.ย.50) กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจอมบึง ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า


"ตามที่นายกันจร เอี่ยมชื่น รองนายก อบต.ปากช่อง และนายธวัชชัย พลจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ในฐานะตัวแทนชาวบ้านที่ได้รวมตัวกันไปยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 50 ขอแถลงในนามตัวแทนชาวบ้าน 15 หมู่ของ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี"


"ขอแถลงผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ในโอกาสที่วันที่ 4 มิ.ย. 50 เป็นวันประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีรองนายก โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัฐ เป็นประธานเพื่ออนุมัติข้อกำหนดต่างๆ เพื่อเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่หรือไอพีพีว่า ชาวบ้านใน ต.ปากช่องทั้ง 15 หมู่ และพี่น้องตำบลใกล้เคียงรวมทั้งพี่น้องชาว จ.ราชบุรีไม่เห็นด้วยกับการเปิดประมูลไอพีพีเพราะเป็นการเปิดประมูลโดยที่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยตั้งแต่มีการอนุมุติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2550-2564 ซึ่งแผนสร้างโรงไฟฟ้าหรือเรียกว่าแผน พีดีพี เป็นต้นเหตุในให้เกิดการประมูลไอพีพี เราขอคัดค้านและไม่ยอมรับแผน พีดีพี และการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี ในวันนี้"


"เราได้ส่งจดหมายถึงนายกฯ และชี้แจงเหตุผลในจดหมายอย่างละเอียดแล้วว่า จังหวัดราชบุรีในปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าแล้วถึง 5,580 เมกกะวัตต์ มากที่สุดในประเทศไทยซึ่งได้ก่อให้เกิดก๊าซพิษชนิดหนึ่งรอบโรงไฟฟ้าเกินมาตรฐาน ซึ้งพวกท่านก็ได้มีคำสั่งให้สำรวจก๊าซพิษนี้ แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีสิทธิ์รู้ข้อมูลนี้ ชาวบ้านที่ ต.พิกุลทอง อ.เมือง อ.ดำเนินสะดวก และอีกหลายตำบลที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าของ บริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง ไตรเอนเนอยี และบริษัทราชบุรีพาวเวอร์ ได้พูดกันว่าไม่กล้ากินน้ำฝน อากาศร้อนขึ้น ผลผลิตการเกษตรลดลง ซึ่งพวกบริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้า และฝ่ายราชการบอกว่าเป็นความรู้สึกไม่เป็นวิชาการ พวกบริษัทและราชการไม่ยอมรับว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าก่อปัญหาดังกล่าวแต่ชาวบ้านใน ต.ปากช่อง อ.จอมบึงทั้ง 15 หมู่บ้านไม่ต้องการเป็นหนูลองยาโรงไฟฟ้าอีกต่อไป สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมก็อนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ บริษัทราชบุรีโฮลดิ้งที่กำลังจะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าใหม่รวมทั้งของอีกหลายบริษัทที่ทำอีไอเอและหาซื้อที่ดินไว้เพื่อส่งเข้าประมูล เมื่อผ่านการประมูลจะได้ไปขอใบอนุญาตก่อสร้างจากกรมโรงงาน อีไอเอของทุกบริษัทก็จะโกหกเหมือนกันหมดว่าได้ผ่านการทำประชาคมกับชาวบ้านแล้วทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง ใน ต.ปากช่อง เมื่อมีกลุ่มคัดค้านเกิดขึ้นพวกทำอีไอเอของ บริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด ไม่เห็นโผล่หน้ามาหาพวกเราสักครั้งเดียวแล้วจะบอกว่าผ่านการทำประชาคมได้อย่างไร คิดเองทำเอง สรุปกันเอง นี้หรือครับรัฐบาลไทย พวกเราตัวแทนชาวบ้านที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าขอยืนยันว่าเราเข้าใจดีว่าโรงไฟฟ้าก๊าซเป็นอย่างไร แต่เราตัดสินใจว่าไม่ควรมีการสร้างเพิ่มที่จังหวัดราชบุรี รัฐบาลพยายามบอกให้บริษัทที่จะสร้างมาทำความเข้าใจกับเราซึ่งมันไม่มีทางสำเร็จเพราะเราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าและเราเข้าใจแล้วว่าโรงไฟฟ้าเป็นอย่างไร แต่พวกท่านต้องการให้เรายอมรับโรงไฟฟ้าซึ่งมันสวนทางกับความต้องการของชาวบ้าน การคิดเอาเงินซื้อชาวบ้าน ตั้งกองทุนไว้ล่อใจ อย่างที่พวกท่านเสนอ ตามสื่อต่างๆ ขอถามว่าพวกท่านเห็นพี่น้องประชาชนเป็นตัวอะไร คิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างหรือ"


ในตอนท้ายของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "การต่อสู้ของเราไม่มีใครปลุกปั่น ไม่มีใครจ้างเรา เราควักเงินของเราเองห่อข้าวไปกินเอง เมื่อต้องไปกทม.และทุกที่ เราขอให้ท่านหยุดการประมูลไว้เสียแต่วันนี้ หยุดการประมูลที่เป็นต้นตอความขัดแย้ง เพราะถ้าบริษัทต่างๆ จะมาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ใน จ.ราชบุรี เราจะต่อต้านอย่างถึงที่สุด รองนายกโฆษิต ประธาน กพช. และ รมต.พลังงานปิยสวัสดิ์ ถ้าท่านอนุมัติให้มีการเปิดประมูลในวันนี้ท่านทั้ง 2 คือผู้จุดชนวนให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างบริษัทเอกชนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าและชาวบ้านในพื้นที่ ท่านต้องรับผิดชอบ เพราะเราขอต่อสู้ด้วยชีวิตเป็นเดิมพัน เราสัญญาว่าการคัดค้านของเราจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาวประจวบ ฯ คัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก - หินกรูด และสุดท้ายขอให้ทางรัฐบาลตอบพวกเราว่า เมื่อถึงเวลาปะทะอย่างรุนแรงเกิดการนองเลือด รัฐบาลจะอยู่ข้างบริษัทผลิตไฟฟ้าหรืออยู่ข้างประชาชน"







ข้อมูลพื้นฐานโรงไฟฟ้าใน จ.ราชบุรี
ปัจจุบัน จ.ราชบุรี มีโรงไฟฟ้ารวมกันทั้งหมด 5,581 เมกกะวัตต์ (เกิน 2 เท่า ของ แม่เมาะ ) ประกอบด้วย












โรงไฟฟ้า จังหวัดราชบุรี


 


โรงไฟฟ้า
แม่เมาะ


กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ


•     พลังความร้อนราชบุรี (บ.ราชบุรีโฮลดิ้ง) 1,440 MW


•     พลังความร้อนร่วมราชบุรี ชุดที่ 1 685 MW


•     พลังความร้อนร่วมราชบุรี ชุดที่ 2 675 MW


•     พลังความร้อนร่วมราชบุรี ชุดที่ 3 681 MW


•     บริษัท ไตรเอนเนอยี 700 MW


•     บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์    (กำลังก่อสร้าง) 1,400 MW


รวมกำลังผลิตใน จ. ราชบุรี 5,581MW


2,400 MW


27,788.5 MW
(ณ วันที่ 28 มี.ค. 2550)


1. พลังความร้อนร่วมราชบุรี ชุดที่ 1-3 เป็นของ บ.ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมเป็นของ กฟผ. และถูกแปรรูปเป็น บริษัทเอกชน


2. บ.ราชบุรี เพาเวอร์ กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 1,400 เมกกะวัตต์ ปัจจุบันก่อสร้างไปได้ประมาณ 50% โรงไฟฟ้านี้เดิมเป็นของ บ.ยูเนี่ยนเพาเวอร์จะก่อสร้างที่บ้านกรูด ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบ ฯ แต่ถูกต่อต้านจากชาวประจวบฯ อย่างหนักจึงถูกย้ายมาที่ จ.ราชบุรี โดยอ้างว่าเซ็นต์สัญญาไปแล้ว


บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัดได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าได้ จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าจอมบึง ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ส่งไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และทาง สผ. กำลังพิจารณาอยู่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ในขณะนี้ บ.ผลิตไฟฟ้าต้องเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อยื่นเรื่องประมูลโรงไฟฟ้า ซึ่ง กระทรวงพลังงาน จะเปิดประมูลประมาณ เดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. นี้


เมื่อ บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด ผ่านการประมูลได้รับคัดเลือกก็จะต้องเซ็นสัญญาขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำหรับการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ เป็นส่วนสำคัญที่จะใช้นำไปขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม








ความเป็นมาของ การต่อต้านแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซของ บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด (เอ็กโก)
โดย กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
       


2548 เริ่มมีการซื้อที่ดินในหมู่ 4 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ทีละแปลง จนได้ทั้งหมด เกือบ 700 ไร่ ในช่วงที่มีการซื้อที่ดินชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นการซื้อที่ดินเพื่อจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ


2549 ตลอดปี นี้ บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด จัดพาผู้นำท้องถิ่นเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และชาวบ้านบางส่วนไปดูงานเป็นชุด ๆ ตลอดทั้งปี ที่โรงไฟฟ้าของ บ.ผลิตไฟฟ้าที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ระยอง ทำให้ชาวบ้านบางส่วนเริ่มสนใจว่าที่ดินที่ซื้อไว้น่าจะนำไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าจริง


2550 เดือนมีนาคม มีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของบ.ผลิตไฟฟ้าจำกัดเข้าไปให้ข้อมูลในสภา อ.บ.ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และเข้าไปให้ข้อมูลกับมูลนิธิวัดสวนแก้ว ซึ่งที่ตั้งวัดอยู่ติดกับที่ดินของบ.ผลิตไฟฟ้าที่ซื้อไว้


22 มีนาคม 2550 ชาวบ้านใน ต.ปากช่อง ประมาณ 300 คน ไปรวมตัวกันที่ที่ทำว่าการอำเภอปากช่องเพื่อขอพบนายอำเภอ นายครรลอง ยุทธชัย ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายอำเภอชี้แจงว่าแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีจริงหรือไม่อย่างไร แต่นายอำเภอไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ชาวบ้านจึงนัดกันว่าครบ 30 วัน จะมาฟังข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง


23 เมษายน 2550 ชาวบ้านใน อ.จอมบึง ประมาณกว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี เพื่อขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดร.วงศ์สวัสดิ์ สวัสดิ์พาณิช ขอให้ชี้แจงว่าจะมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน จ.ราชบุรีอย่างไร แต่ผู้ว่าชี้แจงว่าไม่รู้เรื่องการจะสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 2. ไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มใน จ.ราชบุรี 3.ไม่ให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใน จ.ราชบุรี


28 เมษายน 2550 ชาวบ้าน 500 คน ไปรวมกันที่วัดสูงเนิน ม. 4 ต.ปากช่อง เพื่อติดตามฟังการประชุมสภา อ.บ.ต.ปากช่องซึ่งสภา อ.บ.ต.ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน ต.ปากช่อง


3 พฤษภาคม 2550 ที่ประชุมกำนัน,ผู้ใหญ่บ้านใน ต.ปากช่อง มีมติไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี


กลุ่มชาวบ้านใน อ.จอมบึงต้องการให้หยุดการประมูลโรงไฟฟ้าเสียแต่วันนี้เพราะการดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ดำเนินการไปโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมรับรู้หรือแสดงความคิดเห็นใดใด ต่อแผนการก่อสร้างดังกล่าว จังหวัดราชบุรีมีโรงไฟฟ้ามากพอแล้วชาวสวนราชบุรีที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องตลอดวันตลอดคืนมา 4-5 ปี มีความเสียหายจากอากาศที่ร้อนขึ้น มลพิษทั้งทางอากาศและน้ำทำให้ชาวสวนที่เป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนของเราบอกพวกเราว่าอย่าให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกเลย


คนใน อ.จอมบึงเป็นเกษตรกรปลูกข่าว เพราะเห็ด ทำสวน เลี้ยงวัว เราไม่ต้องการเจอมลพิษมากกว่านี้เมื่อเกิดความเสียหายท่านก็ไม่เคยยอมรับ ชาวจอมบึงไม่ต้องการเหมือนชาวพิกุลทอง,ดำเนินสะดวก หรือหลาย ๆ บ้านที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าราชบุรีทั้งของบ.ราชบุรีโฮลดิ้ง ทั้งของบ.ไตรเอนเนอยี่ ที่เจ้าของโรงไฟฟ้าไม่มีใครยอมรับความเสียหายที่ตนก่อขึ้น เมื่อมีการร้องเรียนก็ไปจ้างนักวิชาการทำรายงานสรุปว่าไม่มีมลพิษเกินมาตรฐาน เพื่อให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกชาวสวนต้องแก้ปัญหาของตัวเองเพราะผลผลิตลดน้อยลงหลังจากมีโรงไฟฟ้ารวมกันถึง 5,581 เมกกะวัตต์


รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานปล่อยให้บริษัทเอกชนดำเนินการในพื้นที่ด้วยตนเองอ้างว่าเป็นธุรกิจเสรีประชาธิปไตย แต่ชาวบ้านเหมารถบัสเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านในกรุงเทพ ฯ กลับถูกผู้ว่าขู่ว่าจะสั่งยกเลิกใบอนุญาตขนส่งของรถบัสที่มารับจ้างชาวบ้านเข้ากรุงเทพ ฯ จำกัดสิทธิชาวบ้านทุกอย่าง ระบบราชการเอื้อต่อบริษัทเอกชนที่มาประมูลสร้างโรงไฟฟ้าอย่างมาก ส่วนชาวบ้านถามนายอำเภอจอมบึงและผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ตอบว่าไม่รู้เรื่องอย่างเดียว      ชาวจอมบึงเราไม่ยอมอีกต่อไปแล้ว


บ.ผลิตไฟฟ้าจำกัด มีต่างชาติถือหุ้นเกินครึ่ง กำไรเขาก็ได้ไปแบ่งกันสบายมลพิษทิ้งให้เราชาวบ้าน เราขอบอกคำเดียวว่าไม่เอา เราขอเตือน ก.ฟ.ผ.ว่าอย่าเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้ากับ บ.เอ็กโก เพราะท่านจะมาอ้างทีหลังว่ายกเลิกไม่ได้เหมือนตอนที่ชาวบ่อนอก-บ้านกรูด จ.ประจวบค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินพวก ก.ฟ.ผ.นี่แหละเป็นคนเซ็นสัญญาแล้วบอกว่ายกเลิกไม่ได้จึงต้องย้ายโรงไฟฟ้าที่บ้านกรูดมาราชบุรีส่วนโรงไฟฟ้าบ่อนอกย้ายไปแก่งคอยสระบุรี พอกันเสียทีสัญญาเสียเปรียบที่ประชาชนไม่เคยรู้เห็นด้วย


หยุดโรงไฟฟ้าจอมบึง      หยุดโรงไฟฟ้าใหม่ใน จ.ราชบุรี
หยุดโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
หยุดสัญญาเสียเปรียบมัดมือชกชาวบ้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net