Skip to main content
sharethis

อรรถพงศ์ ศักดิ์สงวนมนูญ   เรียบเรียง


 


 


 


เมื่อ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ วิพากษ์ตุลาการรัฐธรรมนูญ ...."พอมีคำพิพากษาออกมาสิ่งที่เราวิจารณ์ในตอนนี้เป็นเหตุผลในคำพิพากษา ซึ่งถ้าถามผม ผมว่าอันนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และไม่เฉพาะในเรื่องนี้แต่รวมไปถึงข้อกฎหมายด้วย ประเด็นข้อกฎหมายน่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปวิจารณ์ได้ นักกฎหมายอาจจะเถียงกันในประเด็นความคิดทางกฎหมาย แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะบอกว่ามันเหมาะสมหรือเปล่าที่จะมีการใช้กฎหมายย้อนหลังได้..."


 


000


 


 


คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญออกมาเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว หลายคนมองดูเหมือนว่าเป็นการเช็คบิลกับพรรคไทยรักไทย เมื่อมองจากองค์ประกอบทางนิติศาสตร์แล้วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสำนวนก็ดีหรืออื่นๆ ก็ดี อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร


            ในตอนนี้มีบุคคลหลายท่านออกมาวิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญเยอะมาก ซึ่งหลังจากที่มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยสิ่งที่ตามมาก็คือมีเลขาธิการศาล หรือตุลาการบางท่านได้ออกมาเตือนว่าเวลาวิจารณ์ให้ระวังคำพูด เพราะจะเป็นการหมิ่นประมาทตุลาการรัฐธรรมนูญอะไรทำนองนี้ ผมอยากจะย้ำว่าการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ าพูดในภาษาชาวบ้านก็คือว่าเราไม่ได้ไปด่าพ่อล่อแม่ตุลาการรัฐธรรมนูญว่าบรรพบุรุษเลวทรามต่ำช้า แต่เราวิจารณ์ในคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้น คือคนที่ออกมาปรามมักจะบอกว่า ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการก็สามารถทำได้ ซึ่งตรงนี้ผมเห็นแย้ง


 


ผมว่าการแสดงความคิดเห็นที่มีต่อคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นวิชาการก็ได้ แต่เป็นการแสดงความรู้สึกอย่างเช่นที่คุณจาตุรนต์ ฉายแสง แสดงความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพียงแต่ต้องไม่เป็นการแสดงความเห็นที่เป็นการใส่ร้ายป้ายสี ผมคิดว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง ถ้าหากมีคนบอกว่าการแสดงความคิดเห็นต้องเป็นในทางวิชาการ ตรงนี้จะเป็นการจำกัดกลุ่มคนวิจารณ์ให้มีจำนวนน้อยลง เช่น อาจจะเป็นนักกฎหมายด้วยกันเอง นักวิชาการ มันไม่ถูกต้อง เหตุผลก็คือประเด็นคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการยุบพรรคไทยรักไทย มี 2 ส่วนด้วยกัน


 


อันแรก เป็นส่วนของข้อกฎหมายว่ามีผลย้อนหลังได้หรือไม่ ประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 มีผลย้อนหลังหรือไม่ แต่นอกจากข้อกฎหมายแล้วมันยังมีปัญหาเรื่องของข้อเท็จจริง เช่น สมาชิกพรรคไทยรักไทยได้กระทำความผิดโดยการใช้เงินว่าจ้างให้เกิดการทุจริตขึ้นจริงหรือเปล่า หรือในกรณีที่ว่าถ้าหากผู้บริหารพรรคไทยรักไทยได้กระทำความผิดแล้วสมาชิกที่เหลือต้องรับผิดด้วยหรือเปล่า หรือผู้บริหารพรรคไทยรักไทยบางคนทำผิดกรรมการบริหารพรรคคนอื่นรู้หรือเปล่า ซึ่งการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผมคิดว่าเราก็สามารถทำได้  สมมติคำวินิจฉัยบอกว่ากรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทำผิดแล้วก็บอกว่ากรรมการพรรคไทยรักไทยน่าจะรู้ ผมอ่านเสร็จผมก็บอกว่าไม่น่าจะรู้นะ


 


เมื่อดูจากข้อมูล หรือสิ่งที่เกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคท่านอื่นอาจจะไม่รู้ก็ได้ในเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคได้กระทำความผิด


            พอมีคำพิพากษาออกมาสิ่งที่เราวิจารณ์ในตอนนี้เป็นเหตุผลในคำพิพากษา ผมว่าอันนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และไม่เฉพาะในเรื่องนี้แต่รวมไปถึงข้อกฎหมายด้วย ประเด็นข้อกฎหมายน่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปวิจารณ์ได้ เช่น ในเรื่องของกฎหมายมีผลย้อนหลังได้หรือไม่ นักกฎหมายอาจจะเถียงกันในประเด็นความคิดทางกฎหมาย แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะบอกว่ามันเหมาะสมหรือเปล่าที่จะมีการใช้กฎหมายย้อนหลังได้ อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนคนไทยมีสิทธิที่จะกระทำได้ในการวิจารณ์คำพิพากษาของศาล อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องย้ำ เพราะว่าดูเหมือนที่ผ่านมาหลายๆ ครั้งสังคมไทยกลัวที่จะวิจารณ์คำพิพากษาของศาลว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทศาล หรือละเมิดอำนาจศาล ซึ่งผมขอยืนยันว่าอันนี้เป็นสิทธิที่ทำได้


 


กรณีที่กระแสสังคมหรือกลุ่มต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ มูลเหตุสำคัญในคำวินิจฉัยคืออะไร


            ผมคิดว่ามันมี 2 ส่วนด้วยกัน ประเด็นแรกคิดว่าอาจจะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกล่าวหาว่ากรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พล.อ.ธรรมรักษ์ ไปกระทำให้เกิดการทุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้งขึ้น แล้วตุลาการรัฐธรรมนูญก็มีการวินิจฉัยว่าตรงนี้ว่าน่าจะเป็นการกระทำที่กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยคนอื่นรับรู้ด้วย ตรงนี้บางคนอาจจะโต้แย้งก็ได้ โดยที่อาจรวมถึงผมด้วย  การเชื่อมโยงความผิดส่วนบุคคลระหว่าง พล.อ.ธรรมรักษ์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ได้กระทำ กับความรับผิดของพรรคการเมือง อันนี้ยังไม่ชัดเจน 100% เป็นเพียงการอาศัยปัจจัยแวดล้อมมาวินิจฉัย  คือตุลาการรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าน่าจะรู้


 


การปกครองในระบอบรัฐสภาพรรคการเมืองมีความสำคัญ ในกรณีที่จะลงโทษพรรคการเมือง การจะยุบพรรคการเมืองต้องมีเหตุผลที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการกระทำอันนั้นเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองเห็นด้วย คืออาจจะไม่ต้องถึงกับขนาดที่ว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นมีมติให้กระทำความผิด ในรูปแบบนี้มันคงไม่เกิดขึ้น แต่หมายความว่ามันควรมีการกระทำหรือพยานหลักฐานประกอบที่มากกว่านี้ ผมเป็นห่วงว่าถ้าจะมีการนำเอาคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญชิ้นนี้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีอื่นอาจจะมีปัญหาในอนาคต คือถ้าเมื่อไรมีกรรมการบริหารพรรคการเมืองพรรคใดไปกระทำอะไรบางอย่างที่เป็นการผิดกฎหมายแล้วพรรคการเมืองนั้นนิ่งดูดายไม่ทำอะไร ถ้าเอาบรรทัดฐานของตุลาการรัฐธรรมนูญส่วนนี้ไปใช้พรรคการเมืองนั้นก็จะต้องถูกยุบด้วย


 


หมายความว่าบรรทัดฐานในการตัดสินของตุลาการลักษณะนี้จะมีผลต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย


            ผมคิดว่าในระบบรัฐสภาพรรคการเมืองมีความสำคัญ แต่สิ่งที่คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญได้ทำให้เกิดขึ้นก็คือทำให้พรรคการเมืองถูกยุบได้ง่ายมาก ซึ่งแบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถพัฒนาต่อไปเป็นสถาบันการเมืองได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ผมคิดว่าประเด็นแรกที่อาจจะทำให้คุณจาตุรนต์ ที่อยู่ในกลุ่มไทยรักไทย อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยออกมาบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมผมคิดว่าก็เป็นสิทธิที่สามารถคิดได้ เป็นสิทธิที่ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทศาล อันนี้เป็นส่วนในข้อเท็จจริง


 


ในส่วนข้อกฎหมาย ผมคิดว่าเกิดประเด็นถกเถียงกันว่าคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 27 จะมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้หรือไม่ อาจจะต้องเรียนซ้ำให้เข้าใจว่า ประกาศฉบับนี้มันจะมีผลอันหนึ่งก็คือว่าจะเป็นการลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบหนักกว่ากฎหมายพรรคการเมืองที่เคยมีอยู่ เป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ซึ่งการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็จะส่งผลว่าใครที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็จะไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. ต่อไป ซึ่งเดิมพรรคใดที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคจะไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คือจะไม่ถูกลงโทษแบบนี้ แต่ว่าครั้งนี้มันถูกลงโทษแบบนี้ แล้วประกาศอันนี้มันมาออกภายหลังการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว อันนี้มีปัญหาว่าประกาศแบบนี้เมันเป็นผลย้อนหลังไปถึงการกระทำความผิดที่มีขึ้นก่อนหน้านี้หรือเปล่า ผมคิดว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นปัญหาข้อถกเถียงที่สำคัญ มีคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าคนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น


 


อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่


            ตรงไปตรงมาที่สุดคือ ผมไม่เห็นด้วยที่กฎหมายจะมีผลย้อนหลัง คิดว่าข้อที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ มีนักกฎหมายส่วนหนึ่งออกมาบอกว่าถ้าเป็นการลงโทษบุคคลทางอาญานั้นห้ามมีผลย้อนหลัง ซึ่งโทษทางอาญาก็มีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน มีประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ถ้านอกเหนือจากโทษ 5 อย่างนี้แล้วบังคับย้อนหลังได้ ข้อที่เถียงก็คือว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 จะใช้ได้หรือไม่


 


โทษตรงนี้ไม่ใช่โทษอาญา


            ก็ไม่ใช่ แต่ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญคือว่าในปัจจุบันมีโทษที่รัฐกำหนดเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นโทษทางอาญา 5 เรื่อง มันมีโทษที่หนักกว่านี้และมันเป็นโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ผมคิดว่าสิทธิเลือกตั้งเป็นอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นโดยหลักที่กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ควรที่จะต้องใช้กับโทษทุกประเภท ไม่ใช่เฉพาะแต่โทษทางอาญา เพราะว่ามนุษย์เราอยู่ในรัฐ สิ่งที่เรามั่นใจได้อย่างหนึ่งก็คือว่า เรารู้ว่าการกระทำอะไรของเรามันจะมีผลอย่างไร ถ้ามันเป็นการกระทำผิดจะมีบทลงโทษอะไร ในสังคมปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ยึดหลักแบบนี้ คือวันนี้เรารู้ว่าถ้าเราทุจริตการเลือกตั้งโทษของมันก็แค่ยุบพรรคเราก็สามารถเป็นสมาชิกพรรคใหม่ได้ แต่พอต่อมาอีกวันหนึ่งข้างหน้าก็มีโทษย้อนหลังแบบนี้ ผมคิดว่ามันทำให้ความมั่นคงในชีวิตของเราสูญเสียไปเพราะเราจะไม่รู้ได้เลยว่าโทษที่เราทำวันนี้ตกลงมันจะมีผลเป็นอย่างไรกันแน่


 


แบบนี้ต่อไปมันจะเป็นบรรทัดฐาน


            ปัจจุบันมีโทษของรัฐเป็นจำนวนมากที่ไม่ใช่โทษทางอาญาออกมา เช่น สิ่งที่เรียกว่ามาตรการทางปกครอง สมมติว่าคุณปลูกบ้าน 3 -4 ชั้น ผลปรากฏว่าปลูกไป 1 ปีมีคำสั่งออกมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบอกให้ยุบเหลือชั้นเดียว เป็นโทษทางอาญาหรือเปล่า ไม่ใช่เลยเป็นโทษจำคุกหรือเปล่า ประหารชีวิตหรือเปล่ามันก็ไม่ใช่ แต่คุณรู้สึกว่าเสียหายหรือเปล่า เราอาจจะรู้สึกว่าพื้นที่ของบ้านเรามีแค่นี้ เราก็ตัดสินใจภายใต้เหตุผลที่เราคิด แต่ผลปรากฏว่าวันหนึ่งมีกฎหมายออกมาให้เลิกไปให้หมด


 


ทั่วโลกไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้มีผลย้อนหลังแบบนี้


            สำหรับหลักการอันหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกก็คือว่าโทษทางอาญาห้ามมีผลย้อนหลัง แต่ว่าโทษอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางอาญาอาจจะมีผลย้อนหลังได้ แต่ต้องเป็นไปโดยจำกัดที่สุดและต้องมีการเยียวยาในกรณีที่มีการใช้โทษ การใช้โทษอื่น ๆ ย้อนหลังต้องเป็นข้อยกเว้นที่ควรถูกนำมาใช้ในกรณีที่เป็นเรื่องเฉพาะ เรื่องที่เห็นได้ชัดว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะฉะนั้นต้องจำกัด ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศเวลาออกกฎหมายส่วนใหญ่เขาใช้บังคับไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้คนใหญ่ ๆ ในสังคมสูญเสียความมั่นคง


 


เมื่อสถานการณ์ตอนนั้นยังไม่มีกติกาที่ออกมา พอออกกติกาขึ้นมาบังคับใช้ทีหลังมันดูเป็นการที่ไม่เป็นธรรม


            ใช่ ! คือหมายความว่าเราก็ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ตอนนี้มันจะถูกลงโทษหนักกว่าที่กฎหมายมีอยู่หรือเปล่า อาจจะบอกว่าใครที่เคยเมาแล้วขับเมื่อ 2 เดือนที่แล้วให้เพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีพ สมมติว่าตอนที่เราดื่มแล้วขับตอนนั้นเราอาจจะรู้ว่ามันมีโทษเพียงแค่ปรับหรือจำคุกแต่ผลปรากฏว่ามีการออกกฎหมายมาให้เพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีวิต อันนี้ก็ไม่ใช่โทษทางอาญาคือถ้ายึดถือกันแบบนี้ มันจะปั่นป่วนไปทั้งสังคม


 


ถามว่าประชาชนมีสิทธิวิจารณ์หรือเปล่า จำเป็นที่จะต้องกระทำได้เฉพาะนักวิชาการไหม ก็ไม่จำเป็น ในเรื่องนี้มันกระทบถึงคนทุกคนในสังคม เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่าการวิจารณ์จะต้องเป็นการวิจารณ์ในทางวิชาการซึ่งพอเป็นในเรื่องของทางวิชาการก็จะเหลือแค่นักวิชาการ ข้าราชการเกษียณ อาจารย์มหาวิทยาลัย อันนี้ไม่ใช่ อย่าลืมนะครับว่าในเรื่องนี้กระทั่งในหมู่ตุลาการก็ยังมีความเห็นที่ต่างกัน เห็นด้วย 6 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง ซึ่งหมายความว่ามันไม่ได้เป็นเอกฉันท์ ทำไมตุลาการแสดงความเห็นต่างได้ แต่ประชาชนจะแสดงความเห็นต่างไม่ได้


 


การแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้ และโดยทั่วไปเวลาที่มีการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังตัวกฎหมายจะต้องมีการเขียนชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังไปถึงการกระทำความผิดก่อนที่กฎหมายฉบับนั้นจะมีผลบังคับใช้ เช่น ในประกาศ คปค. ถ้าประสงค์จะให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังจะต้องมีการระบุชัดเจนว่า ให้มีผลย้อนหลังไปถึงการกระทำที่ได้เกิดขึ้นก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับ แต่ว่าประกาศ คปค.ไม่ได้เขียนไว้ ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของวงการนิติศาสตร์ไทยว่าการตีความกฎหมายย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องตีความอย่างเคร่งครัด ยิ่งถ้าเป็นกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด


 


ในกรณีนี้ผมคิดว่าใกล้เคียงกันเพราะมันมีผลเสียต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในตัวประกาศ คปค. ไม่ได้เขียนระบุไว้ เป็นการตีความ ของตุลาการรัฐธรรมนูญอย่างเดียว


 


แล้วกรณีกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาชุมนุมคัดค้านคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ


            ถ้าเราสังเกตจากข่าวสารจะเห็นได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหาร รัฐบาล หรือ คมช.มีการเพิ่มจำนวนอย่างคึกคักภายหลังที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย น่าสนใจว่าทำไมเพิ่งมาเกิดขึ้นภายหลังกรณีที่มีการยุบพรรค อาจจะบอกได้ว่าสมาชิกของพรรคไทยรักไทยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับมากเท่าไร เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วพรรคไทยรักไทยคงต้องถูกยุบ แต่คำถามก็คือว่าคำวินิจฉัยที่ออกมามันได้เข้าไปทำให้บุคคลอื่นๆ ในสังคม เชื่อในเหตุผลที่ออกมามากแค่ไหน


 


ผมคิดว่าตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ไปกระตุ้น ถ้าเราสังเกตบรรยากาศทางสังคม การไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะกลุ่ม เช่น PTV กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการเท่านั้น แต่มีคนเป็นจำนวนมากออกมาแสดงความเห็นคัดค้านคำวินิจฉัย เมื่อไม่นานมานี้คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย อย่างนี้คงเป็นแบบที่หลายๆ คนพูดกันว่าสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ คนที่มาชุมนุมกันจุดไฟติดแล้ว คือจำนวนผู้ที่มาชุมนุมกันมากขึ้นจากร้อยคน ตอนนี้ขึ้นเป็นหลายพัน.


 


 


---------------------------


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net