นานาทัศนะ : มองนักศึกษามุสลิมผ่านม็อบยึดมัสยิด

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีกว่า 8,000 คนช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาถูกกล่าวถึงอย่างมาก โดยที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเคยมีประวัติศาสตร์การชุมนุมของประชาชนนับแสนเมื่อปี 2518 จากกรณีทหารนาวิกโยธินฆาตกรรมชาวบ้าน 4 ศพ แกนนำการชุมนุมครั้งเป็นนักศึกษาจากส่วนกลาง 1 ในนั้นคือ "มุข สุไลมาน" เขาจะมาชี้ความเหมือน-ต่าง พร้อมมุมมองจากอีกหลายคน

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีกว่า 8,000 คน ในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างมาก

ด้วยเพราะการชุมนุมเกิดขึ้นท่ามกลาง 2 สถานการณ์สำคัญ นั่นคือ สถานการณ์ความไม่สงบที่กระจายและรุนแรงขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา กับสถานการณ์ร้อนแรงทางการเมืองของไทย

ตลอด 5 วันของการชุมนุม ที่ผู้ชุมนุมใช้มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเป็นทั้งที่พักหลับนอนและจัดกิจกรรม รวมทั้งการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมบางส่วนไปนอนพักที่มัสยิดอีก 3 แห่งทีอยู่ใกล้เคียง ก่อนที่จะมาร่วมกิจกรรมต่อที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เช่น ฟังการปราศรัย การร้องเพลงปลุกใจ ทั้งหมดดูเป็นระบบ เรียบร้อยและพร้อมเพรียงกันอย่างน่าทึ่ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมที่ใช้มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยมีประวัติศาสตร์การชุมนุมของประชาชนนับแสน เมื่อปลายปี 2518 จากกรณีทหารนาวิกโยธินฆาตกรรมชาวบ้าน 4 ศพ แล้วนำไปทิ้งที่สะพานกอตอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้รอดชีวิต คือ เด็กชายสือแม บราเซะ

สำหรับการชุมนุมครั้งล่าสุดนี้ นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำในการชุมนุม ระบุว่า ต้นเหตุของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มาจากได้รับข้อมูลการสังหารชาวบ้านที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน โดยเชื่อว่าหนึ่งในนั้นคือหญิงสาววัย 21 ปี ถูกฆ่าข่มขืน ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นตัวจุดประกายให้เพื่อนๆ นักศึกษามีความรู้สึกว่าอยากจะช่วยชาวบ้านเรียกร้องความเป็นธรรม

ตูแวดานียา บอกว่า การจัดโครงการต้องปรับมาเป็นการชุมนุม เนื่องจากมีชาวบ้านมากันมากจนคาดไม่ถึง

หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ชุมนุมของชาวบ้านเมื่อปี 2518 จะพบว่า มีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างกัน โดยการชุมนุม เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2518โดยเป็นชุมนุมต่อเนื่องนานถึง 45 วัน ที่สำคัญแกนนำการชุมนุมครั้งนั้นหลายคนเป็นนักศึกษาจากส่วนกลางแต่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในนั้นคือ "มุข สุไลมาน"

หากพูดถึงทัศนะของ มุข ต่อการชุมนุมครั้งนี้ มุขมองว่า มีทั้งเหมือนและไม่เหมือนกับการชุมนุมเมื่อปี 2518 ที่เหมือนคือ ประชาชนต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม แต่การเรียกร้องความเป็นธรรมขณะนั้นจะมีอยู่ทั่วประเทศ จะต่างกันก็ตรงที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีความรู้สึกต่อต้านรัฐอยู่ แต่ก็แตกต่างกันออกไป เช่น ยุคหนึ่งประชาชนต่อสู้กับเผด็จการเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยคนที่เรียกร้องความเป็นธรรมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกล่าวหาเป็นโจรแบ่งแยกดินแดน

มุข บอกว่า ปัจจุบันการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมได้คลายลงมาก โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพราะมีการเลือกตั้ง และอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย ประชาชนมีความหวังกับตัวแทน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คลายลงเช่นเดียวกัน แม้ความรู้สึกต่อต้านอำนาจรัฐยังมีอยู่ แต่ก็น้อยกว่าการแสดงออก

"ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างกับภาคอื่นของประเทศ ทั้งศาสนาและวัฒนธรรม รวมทั้งการปฏิบัติ ดังนั้น จึงยังมีการเรียกร้องในสิ่งต่างๆ อยู่ เช่น การคลุมศีรษะในสถาบันการศึกษา เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายอย่างที่ถูกปฏิเสธ เพราะความความรู้สึกที่แตกต่างกัน หรือการมีอคติ ทำให้กลายเป็นปัญหาสะสม"

ประกอบกับในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะกับเหตุการณ์ตากใบขึ้น ทำให้ความรู้สึกของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนกับผีโลงแตก โดยเฉพาะวัยรุ่นที่รู้สึกว่ารัฐรังแก การแสดงต่อต้านรัฐจึงมีมากขึ้นทันที จนกระทั่งปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เขาก็ปฏิเสธว่า การชุมนุมครั้งนี้เขาไม่รู้เรื่องเลย แต่เข้าใจและเชื่อในความต้องการของกลุ่มนักศึกษา โดยเชื่อว่า พวกเขาเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ที่เชื่ออย่างนั้น เพราะตนเองก็มีประสบการณ์ในสมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งขณะนั้นจะไม่สนใจนักการเมืองเลย เพราะกลัวว่าจะถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือ

"เมื่อปี 2518 ผมเรียนอยู่ปีที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีกลุ่มของนักศึกษาที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาเรียนในกรุงเทพ คือ กลุ่มสลาตัน ส่วนใหญ่คือคนได้รับทุนของกระทรวงมหาดไทย มีทุกมหาวิทยาลัย จะมีการจัดกิจกรรมทุกปีโดยเฉพาะช่วงปิดเทอม เช่น กิจกรรมให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ชาวบ้าน กิจกรรม 3 ศาสนา เป็นต้น และมีการลงพื้นที่ไปพบชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ด้วย ทำให้ได้รับข้อมูลความเดือนร้อนของเขา จากนั้นเราก็เอาไปร้องเรียนกับรัฐบาล จนได้รับการแก้ไขในเวลาต่อมา"

เขาได้ยกตัวอย่าง กรณีชาวบ้านถูกขังลืมที่อำเภอลาดบัวขาว จังหวัดพิษณุโลก ข้อหาอันธพาล ในยุครัฐสัญญา ธรรมศักดิ์ จนมีคำสั่งให้ปล่อยตัว ซึ่งนายสัญญาเองก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น การทำกิจกรรมอย่างนี้บางครั้งก็ถูกเพ่งเล็งจากทางราชการ

มุขได้เล่าถึง กรณีการชุมนุมเมื่อปี 2518 โดยมีสาเหตุมาจากกรณีสะพานกอตอว่า เริ่มจากชาวบ้านมาเล่าให้ฟังตอนกลับไปเยี่ยมบ้าน จึงปรึกษากันว่า ถ้าแจ้งความอย่างเดียวน่าจะไม่มีผล จึงคิดจะประท้วง ซึ่งน่าจะทำได้ง่ายเพราะเรามีเครือข่ายอยู่แล้ว เราไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ รวมทั้งในโรงเรียนด้วย ทำให้มีคนมาร่วมประท้วงกันมาก กลุ่มที่ช่วยเราได้มากคือ สมาคมนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) เพราะมีประสบการณ์ ขณะเดียวกันประชาชนทั่วประเทศมีความรู้สึกร่วมอยู่แล้ว จึงให้การสนับสนุน เช่น ส่งสิ่งของมาช่วยเหลือ

การประท้วงเริ่มต้นที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี แต่เนื่องจากตอนนั้นเป็นหน้าฝน ฝนตกหนักจนน้ำขัง ชาวบ้านยืนแช่ในน้ำ แต่ไม่หนีไปไหน อยู่กันทั้งวันทั้งคืน ปราศรัยกันทั้งวันทั้งคืนด้วย กลุ่มผมซึ่งเป็นแกนนำเลยคิดที่ชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แต่ขณะที่แกนนำนักศึกษาจึงพากันไปประชุมที่บาลาเซาะห์ริมน้ำ ซึ่งอยู่อีกที่หนึ่งนั้น ปรากฏว่ามีการโยนระเบิดจากหน้าต่างศาลากลางใส่ที่ชุมนุมมีคนตายสี่คน

แกนนำนักศึกษาที่ประชุมอยู่เมื่อทราบข่าวก็เลยพากันหนีกันกระจัดกระจายไป ผมหนีไปอยู่มาเลเซีย ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้ไปชุมนุมกันที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีแล้ว การชุมนุมที่นี่มีคนสนับสนุนกันทั้งประเทศ มีการส่งสิ่งของมาช่วยเหลือ ขณะที่ชาวบ้านที่มาชุมนุมเองก็มีวินัยมาก

เมื่อการชุมนุมดำเนินไปจนกระทั่ง 45 วัน ทางรัฐบาลได้ส่งตัวแทนมาเจรจาคือนาย

ปรีดา รัตนฐาบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนายตำรวจผู้ติดตามชื่อทักษิณ ชินวัตร ร่วมอยู่ด้วย จากนั้นจึงมีการเจรจากัน จึงนำมาสู่การเลิกชุมนุมกันในที่สุด โดยทางรัฐบาลรับข้อเสนอของผู้ชุมนุมไปทั้งหมด คือ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีฆาตกรรมที่สะพานกอตอ ให้ลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ให้ชดใช้กรณีฆาตกรรมที่สะพานกอตอและกรณีโยนระเบิดใส่ผู้ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งรัฐบาลรับไปทั้งหมด

มุข บอกด้วยว่า เหตุที่การชุมนุมครั้งนั้นยืดเยื้อยาวนาน โดยที่รัฐไมยอมลงมาเจรจาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นเพราะรัฐบาลได้รับข้อมูลที่ผิด จึงนำมาสู่การตัดสินใจที่ผิด เช่น มีผู้ชุมนุมจำนวนมาก แต่ได้นับรายงานว่าน้อย ซึ่งปัญหานี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนที่มีคนมักเชื่อว่า การชุมนุมมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่เบื้องหลังนั้น มุข มองว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะในสมัยก่อนแกนนำผู้ชุมนุมก็มักถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ จนผ่านมา 30 ปี สถานการณ์ก็ไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมในพื้นที่ มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้สังคมมีความสับสน เพราะสื่อมีส่วนทำให้สังคมมีความเข้าใจถูกบ้างและเข้าใจผิดบ้าง

ก่อนที่เขาจะทิ้งท้ายด้วยว่า "เมื่อ 30 ปีก่อน การชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี คนทั้งประเทศที่มีความรู้สึกร่วมกับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว"

ในขณะที่มุมมองนักวิชาการอย่าง อับดุลเลาะ อับรู อาจารย์ประจำภาควิชา อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่า การชุมนุมของประชาชนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2518 ที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปเรียนในส่วนกลางนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการได้รับอิทธิพลจากการชุมนุมของนักศึกษาในเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้นักศึกษาที่ได้รับประสบการณ์ตรงและได้เรียนรู้จากการชุมนุมครั้งนั้น แล้วมาปรับใช้กับการชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 2518

"ในเมื่อมีต้นแบบอยู่แล้ว จึงทำให้นักศึกษามีความกล้าและมั่นใจมากขึ้นในการเรียกร้องความเป็นธรรม ขณะเดียวกันประชาชนที่มองดูอยู่ เห็นว่านักศึกษามีความกล้า ชาวบ้านก็เลยกล้าตาม แต่ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน แม้จะห่างมาก แต่มีอิทธิพลที่น่าจะเป็นผลกระทบโดยตรงต่อนักศึกษามุสลิมในปัจจุบัน มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ มาจากต่างสงประเทศ เช่น เหตุการณ์ 9/11 รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดกับชาวมุสลิมทั่วโลก เช่น ที่บอสเนีย แคชเมียร์ โรฮิงญา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้มุสลิมซึมซับเข้ามาตลอดและได้ปลุกใจมุสลิมทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งมุสลิมในจังวัดชายแดนภาคใต้ด้วย"

อับดุลเลาะ มองด้วยว่า ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบสงบ และมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่จริง ถ้ามีเหตุการณ์มีความชัดเจนระดับหนึ่งอย่างเหตุฆาตกรรมที่บ้านศาลาแปด ตำบลปะแต อำเภยะหา จังหวัด ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่สะพานกอตอ มีการเอาพยานมามาพูดที่กรุงเทพด้วย เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้คนมาชุมนุมกันมาก แต่สำหรับกรณีที่ปะแตนั้นมีความชัดเจนหลายเรื่องและไม่ชัดเจนหลายเรื่องเหมือนกัน แต่แม้จะเป็นเรื่องนามธรรมอยู่ก็ตาม แต่การที่ประชาชนในพื้นที่พิพากษาแล้ว ก็นำมาสู่การชุมนุมด้วยเช่นกัน

การที่สังคมในกรุงเทพมหานครเป็นสังคมที่กว้าง ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆอย่ากว้างขวาง และได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวรัฐไทยด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำพวกเขามาสู้การเคลื่อนไหวด้วย ต่างกับสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นสังคมทีแคบ ที่เรียนอยู่ในกรุงเทพจึงเรียนรู้ในตัวรับไทย ต่อมาพวกเขาจึงเคลื่อนไหว เพราะการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่อยู่ในสามัญสำนึกของปัญญาชน ดังนั้นถ้าไปประณามก็จะเป็นการผลักให้ไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่งทันที

อับดุลเลาะ บอกอีกว่า ในขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีเฉพาะมุสลิมอย่างเดียวเท่านั้น การแก้ปัญหาจะทำอย่างไร เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการซ้อนทับอยู่ ไม่ว่าวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา รวมทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นในเมื่อประชาชนในพื้นที่พิพากษาแล้ว หากรัฐไม่มีการพิสูจน์ตามข้อสงสัยดังกล่าวด้วยความจริงใจ การชุมนุมลักษณะนี้ก็จะกลับมาอีก

"ม็อบนี้น่ากลัว เพราะเป็นปัญญาชน เป็นกลุ่มคนหนุ่ม และมีความคิดสดใส หากรัฐไม่สามารถปรับจูนความคิดกับพวกเขาได้ เราก็จะเสียเขาไปได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เป็นคนดีแต่มีจุดที่พวกเขาระแวงอยู่ก็คือ เขาเป็นผู้ใช้อำนาจ เช่น หากไม่ทำตามคำสั่งจะมีปัญหา ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้ ไม่ทำผิดสัญญาเลย เช่น พวกเขาขอเดินไปแจกแถลงการณ์ แจเสร็จก็กลับ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ดังนั้นการตัดสินใจไม่ขวางม็อบกลุ่มนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดมาก เพราะถ้าไปห้ามขัดขวาง ก็อาจมีการปะทะ ประชาชนก็กำลังเฝ้าดู สื่อก็ออกข่าวไปทั่วโลก กลายเป็นเรื่องใหญ่"

สำหรับบทบาทของนักศึกษาในพื้นที่นั้น อับดุลเลาะ ระบุว่า ก็มีอยู่เช่นกัน โดยมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องพบกับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ  ซึ่งเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ดี เป็นจังหวะการศึกษาตามสถานการณ์ แต่การที่มีนักศึกษาจากส่วนกลางลงมานั้น จะมีความคลาสสิกมากว่า

ส่วนนักธุรกิจในพื้นที่อย่าง "อาลี ยาลาลุดดีน" เจ้าของบริษัท เลเนียร์ เพเนต จำกัด ซึ่งเป็นเอเย่นต์ส่งออกหมากแห้ง มองถึงบทบาทของนักศึกษาว่า นักศึกษาจำเป็านต้องมีส่วนในการช่วยเหลือสังคมด้วย เพราะต่อไปพวกเขาจะเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ ดังนั้นการออกมาทำกิจกรรมเช่นนี้ น่าจะมีประโยชน์ต่อตัวเขาเองในการฝึกการช่วยเหลือสังคมต่อไป ดังนี้จึงเห็นด้วยกับการที่นักศึกษามีบทบาทเป็นแกนนำในการชุมนุม อย่างสงบ

"พวกเขากล้าที่จะยืนยันความจริงที่เกิดขึ้น เอาความทุกข์ของชาวบ้านมาเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อให้เห็นว่ายังมีคนที่ได้รับความเดือดร้อนอีกมาก ซึ่งสิ่งที่พวกเขายืนยันนั้น จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องต้องทำการพิสูจน์กันต่อไป เพื่อให้ความจริงได้ปรากฏ

ขณะเดียวกันการชุมนุมเรียกร้องในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้ความจริงปรากฏ อีกทั้งรัฐไทยก็ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งไม่ได้ปิดกั้นในทางศาสนาด้วย ซึ่งทั่วโลกยอมรับ และประเทศมุสลิมเองก็ยอมรับว่าประเทศไทยให้เสรีภาพทางศาสนาทุกศาสนา

อย่างไรก็ตาม อาลี ยังได้ให้แง่คิดด้วยว่า ช่วงเช้าๆ เขาจะฟังวิทยุภาษาต่างประเทศ เพื่อฟังทัศนะของคนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย เช่น ประเทศอินเดีย ก็ได้ยินว่าประเทศไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่เคยได้ยินการรายงานข่าวว่า รัฐบาลไทยกดขี่ข่มหงศาสนาอิสลาม ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าไทยพุทธหรือมุสลิม

"ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะฝากกับกลุ่มนักศึกษาก็คือ ต้องแยกแยะให้ชัดว่า การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเพื่อศาสนาอิสลาม หรือเพื่อความเป็นมลายูกันแน่"

ส่วนในมุมมองของชาวไทยพุทธในพื้นที่อย่าง "สมนึก ระฆัง" ประธานเครือข่ายพลังแผ่นดินเพื่อขจัดภัยก่อการร้าย เขาเป็นทนายความมาหลายสิบปี มีลูกความเป็นมุสลิมมากมาย โดยเฉพาะในคดีความมั่นคง มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดยะลา

เขาแสดงความเห็นด้วยกับการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของกลุ่มนักศึกษาที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพราะการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านเป็นสิทธิที่สามารถทำได้และควรทำ

"ยิ่งถ้าความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐไปยิงชาวบ้าน ก็ต้องเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งที่จริงเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว แต่การชุมนุมก็เพื่อขอให้รัฐให้ความเป็นธรรมมากที่สุด"

ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำร้ายชาวบ้าน ก็ยิ่งต้องสอบสวนให้ชัด เพราะไม่อย่างนั้นความเสียหายจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ทหารเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็จริง แต่ถ้าไปยิงชาวบ้านที่มีแต่มือเปล่าก็เท่ากับเป็นโจรเสียเอง

ขณะเดียวกัน สมนึก ก็ยืนยันว่า จำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องหาตัวโจรที่ก่อเหตุรายรายวันให้ได้ด้วยและต้องจัดการกับคนไม่ดี จึงจะทำให้แก้ปัญหาอื่นๆได้ด้วย ไม่อย่างนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจะสะสมกลายเป็นเรื่องใหญ่โต จนกระทั่งรัฐไม่สามารถเข้าถึงหัวใจของประชาชนในพื้นที่ได้ และอาจทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ได้ ซึ่งไม่มีใครอยากเห็น

ตอนนี้สังคมต้องการพลังมวลชนที่สามารถแสดงเป็นตัวอย่างเพื่อให้รัฐหันมามองได้ ซึ่งนักศึกษาพวกนี้ได้ทำให้เราดูแล้ว เสียงของพวกเขามีพลังมาก แต่ไม่รู้ว่าพวกเราเองจะทำอย่างนั้นได้หรือเปล่า แต่เป็นสิ่งที่น่าทำมากกว่าเพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่ปราศจากอาวุธ เป็นการเคลื่อนไหวด้วยมือเปล่าที่มีพลัง

"ผมคิดว่าการปะทะจะเกิดขึ้นได้ระหว่างประชาชนกับประชาชน หากรัฐดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เราเห็นด้วยกับนโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งก็ต้องอดทนกับเสียงด่าของคน โดยเฉพาะจากข้าราชการด้วยกันที่ไม่ค่อยชอบนโยบายอย่างนี้ ซึ่งก็มีอยู่ ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วย คนที่ทำผิดก็ต้องเอามาลงโทษให้ได้ ไม่ใช่สนับสนุนให้ตั้งกองกำลังขึ้นมาตอบโต้ ตามที่บางกลุ่มต้องการ"

เขามองว่า การเรียกร้องความไม่เป็นธรรมยังมีอยู่ เพราะหลายเรื่องเราเองก็เห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมจริงๆ เช่น กรณีการจับกุมคนร้าย โดยไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ปรากฏว่ามีหลายคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่งนี่ก็คือความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับทุกกลุ่ม การเรียกร้องความเป็นธรรมก็เช่นกัน ไม่ควรเรียกร้องความเป็นธรรมให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ถ้าจะเรียกร้องก็ควรต้องเรียกร้องให้กับทุกกลุ่ม ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความไม่เป็นธรรมไปพร้อมๆ กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท