Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รุสนีเป็นเด็กหญิงตาคมผมยาว วัย 12 ปี ที่สวมผ้าคลุมฮิญาบทุกครั้งที่เธอก้าวพ้นจากประตูบ้าน


 


ส่วนยะยาห์เป็นเด็กหนุ่มวัย 16 ปีที่มักจะมีรอยยิ้มหวานส่งให้เด็กหญิงคนแรกเสมอๆ


 


ทั้งสองใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในหมู่บ้านเล็กๆ ตีนเขาบูโด จังหวัดปัตตานี


 


จนกระทั่งวันหนึ่งที่เสียงปืนดังขึ้น และชนวนระเบิดทำงานของมันอย่างมีประสิทธิภาพ


 


ผู้เป็นที่รักของพวกเขาจากไปพร้อมกับโศกนาฏกรรมครั้งนั้น...


 



 


 ภาพโดย เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ


 


เรื่องสั้น "รุสนี" คือผลงานของ มนตรี ศรียงค์ กวีและนักเขียนชาวสงขลา และเป็นเรื่องราวที่มีคำบรรยายต่อท้ายว่า "การแสวงหาคำตอบของเด็กหญิงจากเทือกเขาบูโด"


 


คงไม่ผิดไปนักถ้าจะบอกว่า ในบรรดาเรื่องสั้นของนักเขียนไทย เรื่องราวที่จะบอกเล่าหรือสะท้อนความเป็นไปในจังหวัดชายแดนใต้-มีน้อยมาก


 


อาจเพราะไม่มีใครอยากแตะประเด็นร้อน หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะความคลุมเครือไม่มีที่สิ้นสุดของสาเหตุและปัจจัยแห่งความไม่สงบ ทำให้บรรดานักเขียนต้องไตร่ตรองและกลั่นกรองมากกว่าเดิม จนไม่มีผลงานที่พูดถึงประเด็นเหล่านี้ออกสู่สายตานักอ่านมากนัก


 


หากผลงานของ มนตรี ศรียงค์ ชิ้นนี้ ได้พูดถึงชะตากรรมของรุสนีที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และถูกปล่อยให้เคว้งคว้างท่ามกลางปรากฏการณ์ที่เหมือนจะไม่ได้ให้ข้อพิสูจน์อะไรแก่ใครนัก


 


การแสวงหา "คำตอบ" ของเด็กหญิงรุสนี จึงเกิดขึ้นพร้อมกับหนังสือชุดที่มีชื่อว่า Deepsouth Bookazine ซึ่งอยู่ในการดูแลของ "ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้" หรือ IDSW: Intellectual Deep South Watch อันเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของสื่อมวลชน นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และเครือข่ายชุมชนในจังหวัดชายแดนใต้...


 


จุดเริ่มต้นของศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ แตกหน่อออกมาจาก "สถาบันข่าวอิศรา" ภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยการขับเคลื่อนจากนักข่าวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งมาจากหลากหลายสังกัดที่ลงไปคลุกคลีทำข่าวในจังหวัดชายแดนใต้ นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็น "ศูนย์กลาง" รวบรวมข้อมูลข่าวสารและงานวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ เพื่อให้ใครๆ ที่สนใจนำไปอ้างอิงหรือศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อยอด


 


ผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนชาวใต้อย่าง "มนตรี ศรียงค์" เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มแรกในโครงการ "เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้" แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า "มิติทางวัฒนธรรม" และมุมมองของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องซึ่งถูกมองข้ามไปจากสายตาคณะทำงานของศูนย์เฝ้าระวังฯ


 


การบรรยายชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ด้วยถ้อยคำง่ายๆ ทำให้เห็นภาพชัดเจน เช่นเดียวกับที่เราจะรู้สึกเยียบเย็นกับคำถามและคำตอบอันแสนสับสนที่วิ่งวนอยู่ในความคิดของเด็กหญิงรุสนี เมื่อเหตุการณ์ที่เราได้ยินซ้ำซากในข่าวรายวันอุบัติขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว...


 


อาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่รายงานการศึกษาสถานการณ์ "พื้นที่สีแดง" ของภาครัฐ เต็มไปด้วยความแห้งแล้งของตัวเลขและข้อมูล โครงการของศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้ผลักดันให้เกิดหนังสือ Deepsouth Bookazine ขึ้นมา เพื่อสื่อภาพของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมี "เลือดเนื้อ" และ "ชีวิตจิตใจ"


 


เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของคณะทำงาน ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ณ ห้วงเวลาที่ข่าวสารถูกนำเสนอเพียง "บางด้าน" ไม่ได้ช่วยให้เราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากกันและกันได้เลย


 


ถ้าเพียงแต่เราจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ศึกษาความเป็นมาของปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตและเวลาปัจจุบัน รวมทั้งพยายามสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน...ปัญหาที่ค้างคามาตลอดอาจบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง


 


ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนั้นต้องอาศัยการเปิดใจกว้างๆ จาก "ทุกฝ่าย" ด้วย


 



 


นอกเหนือจากประเด็นทางวัฒนธรรม เช่น เรื่องสั้นและบทความเกี่ยวกับ "การแกะสลักไม้" ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบทอดกันมายาวนาน เรื่องราวโดดเด่นที่สุดในฉบับเปิดตัวของ Deepsouth Bookazine ก็คือ การจับตามองและเฝ้าระวังสัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ "สงครามกลางเมือง"


 


จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานฯ ทำให้เราได้เห็นอีกด้านของชาวบ้านใน Cover Story ที่บอกเล่าเรื่องราวของชาว "ไทยพุทธ" ในอำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งประกาศชัดเจนว่า


 


"ถ้ารัฐไม่ทำอะไร พวกเราจะทำเอง!"


 


และการทำอะไรที่พูดมา คงหนีไม่พ้นการจับอาวุธเท่าที่มีขึ้นต่อสู้...


 


ประโยคดังกล่าว ไม่เพียงสะท้อนความล้มเหลวของรัฐที่ไม่สามารถปกป้องคุ้มครอง และรักษา "ประชาชน" ของตัวเองได้ หากยังสะท้อนถึง "สายสัมพันธ์" ที่สั่นคลอนระหว่างเพื่อนพ้องร่วมแผ่นดิน ซึ่งเคยอยู่ร่วมกันมาได้ และกลับกลายเป็นอื่นในปัจจุบัน...


 


ประเด็นที่หยิบยกมาเสนอ ไม่ใช่เพราะต้องการจะปลุกปั่นยุยงหรือสร้างกระแส "อาณาจักรแห่งความกลัว" แต่สงครามกลางเมืองน่าจะเป็นสถานการณ์จำลองประเภท Worst Case Scenario ซึ่งประเมินถึงเรื่องที่ร้ายแรงที่สุด เพื่อนำไปสู่การค้นหามาตรการรับมือและป้องกันอย่างทันการณ์และรอบคอบรัดกุม ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามไปสู่ "สงครามกลางเมือง" และสายจนเกินแก้


 


อีกหนึ่งเรื่องเด่น คือบทสัมภาษณ์พิเศษ "พล.ต.ต.จรูญ เด่นอุดม" ซึ่งเคยทำงานคลุกคลีในพื้นที่สีแดงมาอย่างโชกโชน คงช่วยบรรเทาอุณหภูมิร้อนแรงของเรื่องจากปกลงไปได้บ้าง เพราะนี่คือการ "มองต่างมุม" ผ่านสายตา "เจ้าหน้าที่รัฐ" ซึ่งเปิดใจบอกเล่าถึง "ความผิดพลาดของนโยบายการปราบปรามด้วยความรุนแรง" ทั้งในอดีตและปัจจุบัน บทสัมภาษณ์นี้จึงเป็นดังการสะท้อนเสียงที่ไม่เลือกข้างให้คนอีกมากได้ฉุกใจคิดทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้น


 


เพราะถึงที่สุดแล้วก็คงจะเป็นเหมือนอย่างวาทะของ ไดโอนิเซียส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ที่คณะทำงานของหนังสือเล่มนี้หยิบยกมาเน้นให้เห็นชัดเจน...คงไม่มีสิ่งใดที่จะเลวร้ายยิ่งไปกว่า สงครามกลางเมือง...


 


เพราะ "ไม่มีความสุขสำหรับผู้แพ้ที่ต้องถูกเพื่อนของตัวเองทำลาย


และก็ไม่มีความสุขสำหรับผู้ชนะที่จะต้องทำลายเพื่อนของเขาเอง"


 


ไม่ว่าจะอย่างไร...เราทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมโลกใบเดียวกัน


 


นอกจากนี้ ยังมีการส่องกระจกนอกพื้นที่ เช่น คอลัมน์ "ถอดบทเรียนโลก" ซึ่งฉบับนี้เป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในโลกกว้าง จะสามารถนำมาเทียบเคียงเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความไม่สงบในบ้านเรา ไม่มากก็น้อย


 


น้ำหนักในการนำเสนอข้อมูลของ Deepsouth Bookazine Vol.1 จึงไม่ใช่การ "เลือกข้าง" และเสนอเพียงบางมุมเท่านั้น แต่หมายถึงการมองทุกมุมอย่างรอบคอบ และความพยายามของ Deepsouth Bookazine ยิ่งไม่ใช่เรื่องของการแย่งชิงพื้นที่จากสื่อกระแสหลัก แต่เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้สื่อได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มความสามารถ…


 


และถ้าหากใครมองว่านี่คือหนังสือที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ "โจร" ในภาคใต้ ก็ยิ่งสมควรจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านและทำความเข้าใจในแต่ละตัวอักษรให้มากๆ


 


โดยมีข้อแม้ว่าก่อนอ่าน...คงต้องละวาง "อคติ" ลงไปบ้าง...


 


 


..........................................................


 


Deepsouth Bookazine เป็นโครงการจัดทำหนังสือชุด "เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้"


ตามแผนงานของ ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้


กำหนดจัดพิมพ์เป็นวาระ รวมทั้งหมด 6 เล่ม


 



สนใจสอบถามเพื่อบอกรับได้ที่:


 


โทรศัพท์ 02-511-4962-3, โทรสาร 02-511-4962, อีเมล์ idsw@deepsouthwatch.org


หรือส่งจดหมายไปที่ กองบรรณาธิการดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน  ตู้ ปณ.160 ปณจ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net