บทความ: พรมแดนความรู้ สะท้อนคติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดพระแก้วและวัดหาดไคร้ที่ฝั่งโขง

 

อรรคพล สาตุ้ม


 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นตอนที่ 3 ของบทความชุด "การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมและระบบนิเวศของวัด" ซึ่งปรับปรุงเพิ่มเติม และตัด เชิงอรรถกับบรรณานุกรมบางส่วนออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอในเวบไซต์ประชาไท โปรดดูเพิ่มเติมในผลงานชื่อหัวข้อเดิม คือ การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง ในวารสารชุดภูมิภาคศึกษา สำหรับรวมบทคัดย่อและข้อเขียน อาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท ภูมิภาคศึกษา ปีที่1 ฉบับที่1 ,2549: 90-103 และ บทความนำเสนอ ใน การประชุมทางวิชาการระดับชาติ สาขาสังคมวิทยา ครั้งที่ 3 เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาภูมิภาคนานาชาติ 15-16 ธันวาคม 2549 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

 

อ่านตอนที่ 1      บทความ - การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม ของวัดสองฝั่งโขง

อ่านตอนที่ 2      บทความ - ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรต่อแม่น้ำโขง และการช่วงชิงอาณานิคมของตะวันตกกับสยาม

 

0 0 0

 

พรมแดนความรู้ สะท้อนคติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง

เมื่อทั้งสองชุมชนตกอยู่ภายใต้การปกครองที่แตกต่างกัน จากเดิมที่เคยเป็นประเทศราชของไทย ชุมชนในอาณาจักรลาวล้วนเป็นเมืองชายแดน ที่ฝรั่งเศสได้ขยายอิทธิพลเข้ามาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองต่างๆของลาวและกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นกับฝรั่งเศสนี้ มีผลทำให้ไทยต้องเสียดินแดนบางส่วนในลาวให้ฝรั่งเศสและเมื่อฝรั่งเศสยึดครองลาวได้ทั้งหมดแล้ว ความสัมพันธ์ไทย-ลาวจึงชะงักลงช่วงหนึ่ง กระนั้นในรัชกาลที่ 5 ได้สร้างความเป็นรัฐชาติ มีพรมแดนสยามแทน ซึ่งแนวคิดต่างจากระบบนิเวศทางจักรวาลวิทยาเดิมได้เปลี่ยนแปลง ทั้งการปฏิรูปที่ดินต่างๆ สยามถูกดึงเข้ากระแสพัฒนาแนวตะวันตกอย่างไม่อาจหลีกได้ เมื่อพิจารณาในเชิงการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแล้ว สะท้อนวิธีคิด หรือโลกทัศน์การจัดการทรัพยากรใหม่ตามระบบตะวันตก และปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล ระบบเจ้านายฝ่ายเหนือสิ้นสุดลง ท้ายที่สุดดังที่กล่าวไปว่าภายใต้ชุมชนจินตนาการเปลี่ยนไป ตามการพัฒนารัฐชาติแบ่งอุดมการณ์ของสองชุมชน ที่เป็นประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

อย่างไรก็ดี ชุมชนเชียงของ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากโลกทัศน์คติจักรวาลวิทยาตามระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมแบบเก่า เพราะอิทธิพลการนิยาม "พรมแดนความรู้" คือแผนที่สยามเกิดพรมแดนขึ้นมา ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงในยุครัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยความคิดวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ คือความรู้จักรวาลแบบดาราศาสตร์แทน มิติกฎแห่งกรรม และจักรวาลแบบไตรภูมิที่เป็นนามธรรม และการเข้ามายึดครองอำนาจของรัฐสยามได้สร้างกรรม หรือเป็นผู้กระทำ ในมิติเปลี่ยนวิธีคิดของชุมชน และระบบเจ้านายฝ่ายเหนือลง และชุมชนได้อยู่ในขอบเขตของจังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงของแทน (เมื่อก่อนเขตเชียงของอยู่ภายใต้น่าน)

 

โดยการบริหารของรัฐสยาม ทำให้เชียงของรอดพ้นจากอิทธิพลของฝรั่งเศส แต่ว่าแม่น้ำโขงตามธรรมชาติก็กลายเป็น "พรมแดนสองฝั่งโขง" ทำให้ชุมชนเชียงของซึ่งตั้งขนาบแม่น้ำโขง โดยเจ้าเมืองมีอำนาจปกครองทั้งสองฝั่ง ครั้นเมื่อฝรั่งเศสเข้าปกครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมืองเชียงของ จึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ฝั่งซ้ายอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสตามสัญญา ส่วนฝั่งขวาเจ้าเมืองเชียงของยังมีอำนาจเหมือนเดิม แต่ว่าฝรั่งเศสพยายามเข้ามาปกครองทางฝั่งขวาด้วย สภาพเช่นนี้ จึงทำให้เมืองเชียงของ มีโอกาสตกไปเป็นของฝรั่งเศสได้อย่างง่ายดาย โดยพยายามแยกเชียงของและเมืองน่านออกจากสยาม ซึ่งกล่าวว่าสยามกำลังจะทำให้ประเทศราชกลายเป็นของสยาม (สมศักดิ์ ลือราช 2529:114-116)

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เชียงของรอดพ้นจากการแทรกแซงของฝรั่งเศส ภายหลังเจรจาปักปันเขตแดน ก็กลายเป็นแบ่งแยกชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยเชียงของ ก็มาขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย และส่วนเชียงของ อีกฝั่งกลายเป็นห้วยทราย ของประเทศ สปป.ลาว ซึ่งมีผลทำให้เกิดอิทธิผลต่อศิลปวัฒนธรรมล้านนา จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลง "ความหลากหลายของชาติพันธุ์ของช่าง"แล้ว โดยผู้สร้างงานศิลปกรรม ก็เลือกสรรรับอิทธิพลศิลปะแบบสยาม หรือศิลปะไทยภาคกลาง ผสมผสานเข้ามาด้วย ซึ่งผู้เขียนได้นำรูปภาพประกอบบทความ "วัดพระแก้ว และวัดหาดไคร้" เป็นตัวอย่าง สภาพสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม คือสถาปัตยกรรมที่ปรากฏหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

 

สถาปัตยกรรมในวัดพระแก้ว

 

 

วิหารของวัดพระแก้ว

 

 

 

วัดพระแก้วและวัดหาดไคร้

วัดพระแก้ว "ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" มีบริบททางประวัติศาสตร์ว่า ช่วงพ..2463 วิหารวัดพระแก้ว ได้รับการบูรณะจากเจ้าคำชั่ง บุตรของเจ้าจิตวงษ์ ได้ออกเงินส่วนตัวร่วมมือกับศรัทธาวัด (แปลว่า ชาวบ้านผู้บริจาคให้วัด-ประชาไท) ว่าจ้างช่างนายกาวิน ชาติญวน ซึ่งพระครูโสภณ จริยะกิจก็เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุน และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อ พ.. 2467 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่วัดหลวงได้จ้างช่างจากเชียงราย คือหนานแก้ว จันเทพ โดยขุนภูนพิเลขกิจ เป็นบุตรเจ้าจิตวงษ์ ได้ว่าจ้างช่างร่วมกับนายเล่าต๋า ชาติฮ่อ ซึ่งทำงานเป็นพ่อค้า และพระอินปั๋น เจ้าอธิการวัดหลวง ที่มีชาวบ้านศรัทธาวัดร่วมกัน บูรณะวิหารของวัดหลวงด้วยกัน ต่อมามีการบูรณะวัดหลวงกันอีกในช่วง พ..2485 โดยนายเกษม จิตตางกูร บุตรของเจ้าจิตวงษ์ ซึ่งเอกสารนี้ เป็นหลักฐาน ที่รวบรวมและเรียบเรียงโดยขุนภูนพิเลขกิจ หรือเจ้าหนานบุษรศ จิตตางกูร ใน พ.. 2488 ก็สะท้อนเรื่องราวอิทธิพลเกี่ยวกับช่าง การก่อสร้างใช้แรงงาน แรงศรัทธาจากชาวบ้าน พระ บูรณะวัดพระแก้ว กับวัดหลวง ในสายสัมพันธ์ของลูกหลานเจ้าจิตวงษ์ อันเป็นตัวแทนเชื้อสายเจ้านายเก่า ดังเช่น พระครูโสภณ จริยะกิจ (ถุงแก้ว จิตตางกูร มีนามสกุลเดียวกับลูกหลานเจ้าจิตวงษ์) ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอ ชักชวนและขอความร่วมมือจากประชาชนชาวเชียงของ ออกแบบจนสร้างวิหารและกุฏิในอำเภอเชียงของได้ทั้งหมดรวม 31 วัด ในนั้นมีวัด อย่างเช่น "วัดหาดไคร้" และวัดศรีดอนชัย (วัดนี้เดิมชื่อวัดไชย สร้าง พ..2488 โดยเจ้าอนุเรศเจ้าเมืองเชียงของคนที่ 5) วัดสบสม วัดหลวง วัดพระแก้ว แต่ในหลักฐานนี้ไม่มีรายละเอียดบ่งบอกชี้ชัดว่าสร้างวิหาร หรือแค่กุฏิทุกวัดเป็นการกล่าวโดยรวม

                                                                                                              

กระนั้น "ด้านรูปแบบศิลปะท้องถิ่น" วิหารในวัดพระแก้ว หน้าบันวิหารเขียนสีแดงชาด รูปเทพพนม พร้อมทั้งลายกนกแบบไทยภาคกลาง ฝีมือช่างแบบพื้นบ้าน และเจดีย์องค์ระฆัง มีฐานคติโดยดูจากรูปภาพประกอบ ว่า สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ในวัด ในกระบวนการเลือกสรรของช่าง ที่ประดิษฐ์วิหารวางตำแหน่งแห่งที่ของพื้นที่ มีการจัดวางติดแม่น้ำในการสร้างวิหาร วัดพระแก้วสะท้อนคติออกมาเป็นตัวแทนระบบนิเวศในคติจักรวาล ที่แม่น้ำโขงนั่นเอง

 

วัดพระแก้วและวัดหาดไคร้ เป็นสองชุมชนติดฝั่งแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทย มีองค์ประกอบ "ด้านคติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม" โดยมีภูมิศาสตร์ธรรมชาติติดแม่น้ำ คือ พื้นที่วัดใกล้ริมน้ำโขง เช่นที่ห้วยทราย ฝั่งประเทศ สปป.ลาว เป็นวัดเขาจอมมณีรัตน์ ตั้งอยู่บนเนินเขามีจิตรกรรม และบันไดนาคทางขึ้นวัด ดั่งทำตามสัญลักษณ์ของคติจักรวาลอยู่ตรงข้ามวัดหัวเวียง ใกล้วัดหลวง และวัดพระแก้ว มีกล่าวถึงตำนานพุทธเจ้าและรอยพระพุทธบาท ที่มีชื่อว่าผาช้าง อยู่ด้านหน้าของวัดพระแก้ว และเช่นเดียวกันมีวัดสบสม วัดศรีดอนชัย และวัดหลวง ก็มีตำนานพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่นี่

 

วัดหาดไคร้อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง และหมู่บ้านหาดไคร้ ซึ่งอยู่ตรงข้ามเป็นวัดธาตุสุวรรณผาคำ (ตีนธาตุ) ฝั่งบ้านตีนธาตุ ตั้งอยู่บนภูเขาใกล้บ้านป่าอ้อย มีตำนานพระพุทธเจ้าเคยเสด็จวัดนี้ และมีสัญลักษณ์นาค คือธาตุน้ำ องค์ประกอบศิลป์ พระธาตุเจดีย์ต่างๆ ที่มีตำนานพระพุทธเจ้าเคยเสด็จเช่นกัน นอกจากนั้นวัดยังเป็นที่รวมของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าว มีตำนานเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนา อันสะท้อนภูมิปัญญาในการตั้งวัดริมแม่น้ำ และสร้างมรดกวัฒนธรรมอันสะท้อนความสัมพันธ์ของวัดในชุมชน ที่มีหน้าที่ประโยชน์ใช้สอยของชุมชนย่อมมีจิตสำนึกหรือจิตวิญญาณของผู้กำหนดให้สร้าง ตัวช่าง และอายุของการสร้างวัดจากปัจจัยทางประวัติศาสตร์ได้กำหนดให้ช่างมีความแตกต่างจากช่างหลวงเป็นช่างราษฎร์ ที่มีฝีมือออกทางพื้นบ้านก็ตาม แต่เป็นภาพแสดงแทนพรมแดนทางวัฒนธรรมของประชาชน หรือความหลากหลายของชุมชนทางชาติพันธุ์ด้วยกันเอง ดังที่มีการเสนอว่าอาณาจักรล้านนานั้นหลากหลาย หรือเป็นสากล เพราะรวมคนหลายเชื้อชาติในความเป็นพุทธศาสนา ทั้งที่พุทธศาสนา มีความเป็นมาจากอินเดีย เมื่อแนวคิดนี้ได้เชื่อมโยงมีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งพุทธศาสนิกชนนี้ ซึ่งตำนานเรียกว่า "ชมพูทวีป" ถือว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา และเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิม (อานันท์ กาญจนพันธ์ 2535:12) เพราะในฐานะมนุษย์ในชมพูทวีป ที่มีโอกาสทำความดี มีความเชื่อ ในเรื่องสร้างโบสถ์ และวิหารร่วมกัน

 

 

ภาพจากประตูวิหาร และวัดหาดไคร้ ติดกับริมน้ำโขง ในปัจจุบันใกล้พื้นที่จับปลาบึก

 และพิธีจับปลาบึก

 

ดังนั้น จากลักษณะนามธรรมมาเป็นรูปธรรม คือ องค์ประกอบศิลปะ สถาปัตยกรรม และการวางผังวัดหันหน้าเข้าหาแม่น้ำ มีข้อกล่าวถึงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจการวางผังวัดหันหน้าเข้าหาน้ำ อาทิ ในด้านสถาปัตยกรรมกล่าวคือในการวางผังบริเวณวัดมีกฎว่าจะหันหน้าวัดไปทางทิศใดก็ได้ แต่โบสถ์หรือวิหาร จะต้องหันหน้าเข้าหาน้ำเสมอ เพราะขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้มหาโพธิ์พระองค์หันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ (สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา2529:127-130)

 

 

.....................

อ้างอิงบางส่วน

 

กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ 5 .20/12 เรื่องเจ้าเมืองเชียงของขัดขืนราชการ สำเนาพระราชหัตถ์ ที่ 33/434 (7 มิ..123).

 

กลุ่มนักวิจัยท้องถิ่นเชียงของ เวียงแก่น. 2548. "เชียงของ เวียงแก่น:พัฒนาการของสังคมชายขอบจากอดีตสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง." เสนอหัวหน้าและที่ปรึกษาโบราณคดีและชาติพันธุ์ โดยกลุ่มนักวิจัยท้องถิ่นเชียงของ เวียงแก่น. (อัดสำเนา).

 

สมศักดิ์ ลือราช 2529. ความสำคัญของเมืองแพร่และน่านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(.. 2411-2452) กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน ประสานมิตร.

 

สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา 2529. น้ำ : บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

 

อานันท์ กาญจนพันธ์ 2535. "ความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา:การศึกษาจากตำนานและพิธีกรรม ในสัมมนาทางวิชาการพุทธศาสนากับสังคมล้านนา ณ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ พุทธนิคมเชียงใหม่ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่.

 

Akkaphon Satum. "Impact of Development and Globalization on Natural Resources in the Upper Mekong River : The Decline of Fish."นำเสนอในงาน First ASEAN Graduate Scholars Workshop Organised By Asia Research Institute, National University of Singapore, Singapore 28- 29 July 2006.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท