Skip to main content
sharethis


การชุมนุมหน้ามัสยิดกลาง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา (ที่มา : ประชาไท/แฟ้มภาพ)


 


การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในนาม "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน" ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อช่วงวันที่ 30 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2550 เกิดขึ้นท่ามกลาง 2 สถานการณ์ร้อน นั่นคือ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานการณ์ยุบพรรคการเมืองใหญ่


 


การชุมนุมยึดมัสยิดกลางปัตตานี ที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำ จึงถูกครหาว่า ถ้าไม่ใช่กลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นการจัดตั้งของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ต่อไปนี้ เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ "ตูแวดานียา ตูแวแมแง" ประธานเครือข่ายพลังนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ในฐานะแกนนำการชุมนุม ที่จะไข 2 ข้อครหาดังกล่าว





00000


 


ที่มาของการชุมนุมเป็นอย่างไร มีเหตุผลอะไร


ต้องกลับไปดูเจตนารมณ์และความตั้งใจแรกๆ ของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน แรกๆ เลยเราไม่ได้ตั้งใจจะมาชุมนุมเหมือนที่เกิดขึ้น คือ ทางเครือข่ายนักศึกษาฯ ซึ่งมีแนวร่วมอยู่กันต่างสถาบัน ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมกันหารือเพื่อหาทางออกจากความรุนแรง เพราะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนใน 4 - 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงตกลงจะทำโครงการศึกษาและแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน


 


ความตั้งใจแรก จะลงมาทำกิจกรรมในรูปแบบการเสวนา โดยเชิญตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ที่รับรู้ปัญหาในพื้นที่ ไม่ว่าสภาทนายความ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย นักเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ นักสันติวิธี มาหารือกัน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และอีกลักษณะหนึ่ง เราจะออกไปเยี่ยมเยียน หาข้อมูลหาข้อเท็จจริงจากชาวบ้าน ที่ประสบปัญหาด้วยตัวเอง


 


เมื่อเราลงมาถึง ตัวแทนชาวบ้านที่เราลงมาสำรวจพื้นที่ล่วงหน้าหลายพื้นที่ด้วยกัน ต่างมารวมตัวกันที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมจัดโครงการนี้ด้วย ถึงตอนนี้มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม ตอนแรกผมเข้าใจว่า ผู้เข้าร่วมน่าจะเป็นชาวบ้าน ที่เราเคยไปเยี่ยมเยือน ช่วงนั้น มีการบล็อกจากทหารและตำรวจ เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้ามาที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดโครงการ


 


ประชาชนเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าทราบข่าวกันเร็วได้อย่างไร หลังจากนั้น ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ที่บาซาลาแป ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ชาวบ้านที่ปอเนาะควนหรัน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ชาวบ้านที่บ้านบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี


 


สำหรับความรู้สึกที่ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ นั่นเป็นความเข้าใจของชาวบ้าน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ค่อยว่ากันอีกที


 


พอชาวบ้านมาอยู่ในมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีกันจำนวนมาก วันแรกเกือบ 4 - 5 พันคน ทางผมจึงหารือกันว่า จะดำเนินโครงการฯ ตามที่ตั้งไว้ต่อไปหรือเปล่า หรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หลังจากนั้น ตัวแทนของประชาชนแต่ละพื้นที่ ที่ประสบปัญหาได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมมานำเสนอ พร้อมกับขอให้ช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้ด้วย


 


เรื่องนี้ไม่ได้เตรียมมาก่อนเลย เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจึงเปลี่ยนจากการจัดโครงการศึกษาและแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน นั่นคือ เหตุผล


 


ที่มีการระบุองค์กรร่วมจัดที่ประกอบด้วยองค์การนักศึกษา 9 แห่ง แต่มีบางองค์กรออกมาปฏิเสธ ตรงนี้จะชี้แจงอย่างไร


องค์กรที่มีการปฏิเสธอย่างชัดเจนคือ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ข้อเท็จจริงที่เขาออกมาปฏิเสธเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักกับนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะเคยทำงานร่วมกันในองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2549 ซึ่งตอนนั้นนายกองค์การนักศึกษาฯ คนปัจจุบัน มีตำแหน่งเป็นเหรัญญิก ส่วนผมเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาฯ คนที่หนึ่ง


 


ตอนที่ผมจะลงมาทำโครงการได้คุยกับเขาเป็นการส่วนตัวแล้วว่า จะลงมาสัมผัส และมาดูสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในพื้นที่ เพื่อหาข้อเท็จจริงและใช้เป็นบรรทัดฐานในการหาทางแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต


 


ผมเข้าใจว่าที่เขาปฏิเสธ เพราะตอนแรกรูปแบบของการทำกิจกรรม อยู่ในโครงการเสวนากับการเยี่ยมเยือน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการชุมนุม ทำให้กระแสที่ออกมาระบุว่าไปเกี่ยวโยงกับกลุ่มต่างๆ ส่งผลผลกระทบหลายส่วน โดยเฉพาะกระทบต่อความความมั่นคงของชาติ เขาก็เลยปฏิเสธ


 


เพราะตอนแรกมีข่าวออกมาว่า นักศึกษาที่เป็นแกนนำการชุมนุม ไม่ได้เป็นนักศึกษาตัวจริง ถูกหลอกมา ถูกจัดตั้งมา โดยขบวนการก่อความไม่สงบ ส่งผลให้เขาต้องปฏิเสธ เพราะต้องรักษาภาพของมหาวิทยาลัยไว้ องค์การนักศึกษาเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย แต่ถ้ารูปแบบโครงการยังเหมือนเดิม คิดว่าเขาคงลงมาแน่นอน เพราะวันที่จะเดินทางลงมา เขายังอยู่กับเพื่อนผม


 


แสดงว่าตอนนั้นเขาเองก็ไม่ทราบว่าจะมีการชุมนุม


ครับ ตอนนั้นมีม็อบพีทีวีด้วย เขาต้องไปจัดเตรียมนำสมาชิกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพีทีวี เขาบอกว่าลงมาด้วยกันไม่ได้ แต่จะตามลงมาสมทบทีหลังในวันรุ่งขึ้น พอเขาจะลงมาก็มีข่าวว่า ผู้ชุมนุมเกี่ยวข้องกับนักการเมืองบ้าง ขบวนการก่อความไม่สงบบ้าง เขาเลยออกมาปฏิเสธ


 


แถลงการณ์ฉบับแรกที่ออกมา ระบุว่าการเรียกร้องขอความเป็นธรรม และขอให้รัฐทบทวนการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่ของมนุษย์ มีการหารือกันอย่างไร


ที่มาที่ไปของแถลงการณ์ฉบับแรกในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน เริ่มต้นจากการหารือ ถึงบทบาทหน้าที่ของนักศึกษาที่มีต่อสังคม วันนี้ ปัญหาของสังคมเกิดขึ้นมากมาย ไม่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เกิดในทุกภาคของประเทศไทย เรากำลังประสบปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันและกัน


 


ตัวแปรสำคัญที่จะเป็นกระบอกเสียงแทนชาวบ้าน ทำให้รัฐรับรู้ว่าชาวบ้านกำลังเดือดร้อนอย่างไร ชาวบ้านต้องการอะไร ตอนนี้มันร่อยหรอไม่มีกำลัง ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมว่ามาจาก ช่วงหลังๆ มานี้รัฐไม่ค่อยสนับสนุนให้นักศึกษาออกมาแสดงบทบาทเพื่อสังคม รัฐไม่สนับสนุนความคิดที่เป็นอิสระของนักศึกษา ประกอบกับระบบทุนนิยมเข้ามา ทำให้นักศึกษาต้องแข่งขันกัน ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องส่วนรวม นั่นคือ ปัญหาของสังคม


 


ผมเลยหารือกับเพื่อนๆ นักศึกษาในเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนว่า ปัญหาที่เกิดในสังคมตอนนี้ ถ้าเราปล่อยปละละเลย เราไม่ให้ความสนใจ แน่นอนมันจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ยาก เราหารือจนได้ข้อสรุปว่า ถึงเวลาที่พลังนักศึกษาต้องมารับใช้สังคม เราเลยเลือกเหตุการณ์ที่รุนแรงและร้ายแรงที่สุด นั่นคือ เหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ที่บอกว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องมีสำนึกตรงนี้ เพราะในการเรียกร้องหาความเป็นธรรม มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ที่ใครจะละเมิดมิได้ แต่วันนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็เลยต้องออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้


 


แล้วเรื่องที่เรียกร้องให้ทบทวนเรื่องการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร


ที่เราบอกภาครัฐให้ทบทวนการปกครองใน 3 - 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียใหม่ เพราะเราหาสาเหตุที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ ประชาชนเล่ามาว่า ปัญหามาจากฝีมือทหาร เป็นผู้สร้างสถานการณ์เสียเอง ทหารจึงเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง ถ้าจะแก้ปัญหาจริงต้องแก้กันในระดับนโยบาย คือ แก้ตรงผู้มีอำนาจในการปรับเปลี่ยนนโยบาย ผู้มีอำนาจสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี ตรงนี้มันเกี่ยวข้องกับนโยบายการปกครองที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งผูกโยงกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น


 


วันนี้ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากมายในพื้นที่ ทางเครือข่ายฯ จึงอยากให้ผู้มีอำนาจ หรือใครก็แล้วแต่ ไม่ว่านายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารบก ปรับแผนและนโยบายในการแก้ปัญหา ลองไปทบทวนดู พิจารณาดูว่ามีตรงไหนที่มันไม่สมบูรณ์ ที่ยังไม่ถูกต้อง ข้อเรียกร้องตรงนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปกครองแบบพิเศษ วัฒนธรรมพิเศษ หรือการแบ่งแยกดินแดนเลย


 


นี่คือจุดยืนของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน


 


การชุมนุมครั้งมันเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์สองอย่าง หนึ่ง ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเกิดคำถามม็อบนี้เป็นม็อบจัดตั้งของขบวนการก่อความไม่สงบหรือไม่ สอง สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนแรงจากกรณียุบพรรคการเมือง จึงเกิดคำถามว่า การเมืองอยู่เบื้องหลังม็อบนี้หรือไม่


เราออกมาเพราะต้องการให้รัฐลงมาแก้ปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ หลักการและเหตุผลของเครือข่ายนักศึกษา มีเจตนารมณ์ต้องการรับใช้สังคมจริงๆ ทุกอย่างเราได้เตรียมการไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางของกฎหมายบ้านเมือง เรามีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ในการชุมนุมเรียกร้องปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยสันติวิธี


 


เราเน้นตรงนี้ เพื่อไม่ให้มีการเบี่ยงเบนประเด็น เบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของเรา แต่ผลที่ออกมา กระแสสังคมบอกว่า การเคลื่อนไหวของเราเกี่ยวโยงกับการเมือง เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะวิเคราะห์วิจารณ์กันได้


 


ช่วงก่อนหน้านี้มีการชุมนุมปิดถนนของชาวบ้านหลายครั้ง ถูกกล่าวหาว่าเป็นการจัดตั้งของขบวนการก่อความไม่สงบ แต่การชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีครั้งนี้ มีนักศึกษามาจัดกระบวนให้ ก็ยังมีการข้อหาว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง


ที่ผ่านมาที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามความเข้าใจของประชาชน ผมยังไม่กล้าฟันธง เพราะเรื่องนี้ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน


 


เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านไม่ได้นิ่งเฉย เพราะชาวบ้านก็ให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ จึงมีการลุกขึ้นสู้เรียกร้องตามกำลังที่มีอยู่ แต่กลับโดนยัดเยียดข้อหาว่า เป็นแนวร่วม หรือถูกจัดตั้งขากขบวนการก่อความไม่สงบ


 


นักศึกษาสงสารประชาชน เพราะประชาชนมีความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม แต่กลับถูกตั้งข้อกล่าวหา เลยคิดว่าประชาชนกำลังเจอทางตัน เราเป็นห่วงว่าจะมีการใช้ความรุนแรงตามมา เพราะหาทางออกแบบสันติวิธีไม่ได้ มันทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ได้ ผมก็เลยพูดคุยกับเพื่อนนักศึกษาที่มีเจตนารมณ์อยากรับใช้สังคมว่า ถ้าเราปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ช่วยประชาชน เราจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการสูญเสีย หรือเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ได้


 


มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ชาวมุสลิมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในการก่อเหตุรุนแรง 21 กรณี ในขณะที่คนได้รับความเดือดร้อนมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ มีชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิม ทำไมถึงเรียกร้องให้ตรวจสอบเฉพาะกรณีที่เกิดกับมุสลิมเท่านั้น


ตามเจตนารมณ์ของเรา ไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าจะให้ความเป็นธรรมกับคนในพื้นที่ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ คือ คนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ข้อมูลที่เราได้รับ ในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน นำเสนอให้ภาครัฐนำไปหาข้อเท็จจริง และแก้ปัญหา มาจากประชาชนเป็นผู้เสนอให้เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนเข้าไปช่วยเหลือ


 


ถ้าประประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิม หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มาเสนอผ่านเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน เราก็พร้อมที่จะนำข้อมูลข้อเท็จจริงตรงนั้น นำเสนอให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจริงๆ เข้ามาให้ความเป็นธรรม เราไม่มีเจตนาที่อยากจะเลือกปฏิบัติใดๆ


 


คาดหวังกับคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง 21 กรณีอย่างไร แค่นัดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 ก็มีคนลาออกแล้ว ขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐก็ไม่มาร่วมประชุม


ความหวังของผม จะว่าเต็มร้อยก็ไม่เชิง หรือไม่หวังเลยก็ไม่ใช่เหมือนกัน ผมยังมั่นใจว่าในบ้านเมืองของเรา ยังมีคนที่คุณธรรม มีศีลธรรม มีอุดมการณ์อยากรับใช้สังคม ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ที่ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามข้อตกลงจากการเจรจาระหว่างเครือข่ายนักศึกษาฯ กับเจ้าหน้าที่รัฐ ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีความหวาดระแวง ยังไม่เชื่อใจในพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชน


 


ขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนในอำนาจ จากคำสั่งแต่งตั้งของแม่ทัพภาคที่ 4 เลยส่งส่งผลให้การทำงานของคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่


 


ความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผลมีมากน้อยแค่ไหน


ตรงนี้คิดว่าการทำงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ประเด็นหลักอยู่ที่ความจริงใจในการแก้ปัญหามากกว่า ต้องปราศจากความหวาดระแวง ถ้าในคณะกรรมการฯ เอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐเอง ยังหวาดระแวงว่า มีใครอยู่เบื้องหลัง มีใครถูกจัดตั้งมา ผมว่าโอกาสที่จะทำงานให้เกิดความเป็นธรรมจริงๆ ต่อประชาชน คงเป็นไปได้ยาก


 


มันต้องทำลายความหวาดระแวงก่อนถึงจะทำงานกันได้


ครับ จากที่ข่าวที่ออกมา ทางภาครัฐ ทางตำรวจออกมาแถลงว่า นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวโยงพัวพันกับนักการเมือง มันไม่ใช่เลย นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ สามารถออกมาเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้สันติวิธีได้ เรามีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว


 


ที่มีการระบุว่าการเลือกชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เพราะเป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ เคยผ่านการชุมนุมของประชาชนมาก่อน เมื่อปี 2518 กรณีชาวบ้านถูกทหารฆ่าตายแล้วทิ้งศพที่สะพานกอตอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี


มันไม่ใช่การชุมนุม เราต้องกลับไปที่ความตั้งใจแรกของเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน เราต้องการจัดโครงการศึกษาและร่วมกันแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุผลที่เลือกมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ไม่ได้คิดอะไรสลับซับซ้อนเลย คิดง่ายๆ คือ จะหาสถานที่ตรงไหนที่สมาชิกสามารถเดินทางมาร่วมโครงการนี้ได้สะดวกที่สุด เป็นสถานที่ที่นักศึกษาที่เป็นมุสลิมสามารถประกอบศาสนกิจได้สะดวก ถ้าเป็นที่อื่นนักศึกษาที่มาจากส่วนกลางอาจไม่รู้จัก เราเลือกเพราะความสะดวก ส่วนใครจะวิเคราะห์อย่างไรก็แล้วแต่


 


รูปแบบการจัดชุมนุมเป็นระบบมาก ชาวบ้านเองยังชม ขณะเดียวกันก็มีคนไม่พอใจ เพราะสร้างความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่ จากการปิดถนน


ในส่วนระบบการจัดการ เพื่อนที่อยู่หรือเคนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะไม่แปลกใจเลย เพราะโดยประสบการณ์พวกผมจะทำกิจกรรมที่คลุกคลีอยู่กับคนจำนวนมาก เรามีระบบการจัดการที่บ่มเพาะมาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา การช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ พวกผมต่างเคยมีประสบการณ์การทำงานแบบนี้มา ไม่แปลกเลยที่พวกเราสามารถควบคุมมวลชนเป็นหลักพันได้


 


ผมถามประชาชนว่า ทำไมต้องปิดหน้า เพราะผมเองยังไม่ปิดเลย เขาบอกว่า เพราะไม่ไว้ใจว่าหลังจากชุมนุมเสร็จแล้ว จะมีใครตามเช็คบิลเขาหรือเปล่า เขาต้องระวังตัวไม่ให้เกิดอันตรายกับเขา เพราะบทเรียนที่ผ่านมาของประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐ ถ้าไม่ปิดหน้าแล้วจะถูกตามไปเช็คบิล มีการอุ้ม มีการฆ่า มีการติดตามตัว


 


ส่วนพ่อค้าแม่ค้าที่เดือดร้อนนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า เป็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพค้าขายจริงหรือเปล่า หรือเป็นคำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ เพื่อดิสเครดิตพวกผม


 


คงต้องปล่อยให้สังคมพิจารณาเอาเองว่า ใครกันแน่ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน


 


มีการกีดกันคนภายนอกไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมหรือไม่


ไม่ได้กีดกัน เพียงแต่ต้องตรวจสอบ เพราะกลัวจะมีการสวมรอย การจัดการชุมนุมจะดูว่าดีหรือไม่ดี หรือจัดการกับคนจำนวนมากได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลักการและวัตถุประสงค์เป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้


 


หลักการ คือ การชุมนุมครั้งนี้ เรายึดสันติวิธี ยึดสันติประชาธรรม การจะทำให้ถึงเป้าหมายของสันติประชาธรรม เราก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน เพราะประชาชนมาเรียกร้องให้เราเป็นระบอกเสียง เรียกร้องความเป็นธรรมให้เขา เพราะฉะนั้น ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ เราไม่อยากให้เกิดการนองเลือด ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แสดงว่าการชุมนุมที่ผ่านมา เราสามารถประสานความร่วมมือ ระหว่างนักศึกษากับประชาชนได้


 


แล้วคิดว่าต่อไปมันจะมีผลอะไรต่อตัวเราบ้าง


อย่างน้อย การที่พวกผมออกมารับใช้สังคม ผ่านการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นการจุดประกายให้เพื่อนๆ นักศึกษาทั้งหลาย ที่ไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ตรงนี้ ได้ทบทวนดูว่าตัวเองรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน ถ้านักศึกษาไม่รับเอาปัญหาสังคมมาเป็นภาระหน้าที่ของตัวเองแล้ว ผมคิดว่าในอนาคตนักศึกษาก็ไม่สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้


 


มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับกลุ่ม P.N.Y.S (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล) ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง


เราเป็นสมาชิกกลุ่ม P.N.Y.S โดยปริยาย สมาชิกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท หนึ่ง สมาชิกประเภทโครงสร้าง สอง สมาชิกร่วมโครงการ สาม สมาชิกทั่วไปเปิดกว้างไม่จำกัดว่าต้องมีภูมิลำเนาอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ผมมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ก็ต้องเป็นสมาชิกโดยปริยาย โดยปกติถ้ามีกิจกรรมอะไร เราก็ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอยู่แล้ว


 


คิดว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรเป็นอย่างไร


ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน ที่ผู้คนเห็นกันชัดเจนก็ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาจริงๆ มันเกิดขึ้นมานานหลายต่อหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายของผมก็มีปัญหาแล้ว เท่าที่ผมศึกษาดู เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ระหว่างความต้องการของประชาชนในพื้นที่กับนโยบายภาครัฐ ยังมีความขัดแย้งกันอยู่


 


ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชนอยากจะมีทางออก เพื่อแก้ปัญหากันจริงๆ ก็น่าจะแสวงหาจุดร่วมของความต้องการร่วมกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริงใจว่า ต้องการแก้ปัญหาจริงๆ หรือเปล่า ตราบใดความจริงใจไม่มี ความหวาดระแวงมันก็จะตามมา


 


เมื่อเกิดความหวาดระแวง การหารือกัน การแสวงหาจุดร่วม ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนจะคิดว่า เมื่อตัวเองพูดความจริงแล้ว อาจจะไม่ปลอดภัย ตรงนี้จะมีอะไรมารับประกันความปลอดภัยให้เขาได้บ้าง นี่คือ ปัญหาที่ในขณะนี้นี้ ปัญหาชายแดนภาคใต้ แก้ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงใจ


 


 


..................................


หมายเหตุ:


ปัจจุบัน ตูแวดานียา ตูแวแมแง เรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์ วิชาเอกเคมี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมัธยมสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และจบชั้นประถมที่โรงเรียนเทศบาล 4 อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นคนอำเภอสุไหงโก-ลก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net