โปรดฟังอีกครั้งในรอบ 75 ปี เมื่อ "ลูกพระยาพหลฯ" อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

"ตอนพ่อทำ พ่อไม่มีอะไรในกำมือ มีแต่ความตั้งใจที่จะนำประชาธิปไตยมาให้คนในชาติ ถ้าไม่สำเร็จก็ 7 ชั่วโคตร ดังนั้น ทุกครั้งที่มีรัฐประหารขอบอกว่า เป็นการเปลี่ยนฝูงเหลือบที่จะมาสูบเลือดของชาติ แต่เจตนาบริสุทธิ์มีครั้งเดียวเท่านั้น คือ 24 มิ.ย. 2475"

 

 

 

เวทีเสวนา "เบื้องหลังการอภิวัฒน์ 24 มิ.ย. 2475"

 

ประชาไท - 25 มิ.ย. 50 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. คณะมนุษยศาสตร์และสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร, สโมสร 19 และบริษัท ชนนิยม จำกัด จัดงานเสวนาประวัติศาสตร์รำลึก 75 ปี ประชาธิปไตย "เบื้องหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475" ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยก่อนจะเริ่มการเสวนาได้กล่าวไว้อาลัยและสงบนิ่งถึงการจากไปของท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ภรรยานายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎรคนสำคัญ

 

นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสที่การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ครบรอบ 75 ปี พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ได้อ่านแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 (ตามล้อมกรอบ) ย้อนรอยเส้นทางที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาบิดาซึ่งเป็นผู้นำคณะราษฎรที่เคยประกาศไว้ต่อหน้าบรรดาทหารและผู้ร่วมอุดมการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เนื้อหาสำคัญของประกาศดังกล่าว คือ หลัก 6 ประการ ที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวพ้นจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

นายศุขปรีดา พนมยงค์

 

เมื่อการเสวนาเริ่มต้น นายศุขปรีดา พนมยงค์ ทายาทนายปรีดี พนมยงค์ เล่าถึงที่มาของการอภิวัฒน์ใน พ.ศ. 2475 ว่า แรงบันดาลใจของคณะราษฎรมาจากเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ซึ่งมีทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งต้องการประชาธิปไตย แต่บังเอิญเกิดมีผู้กลับใจไปเข้าข้างผู้มีอำนาจจึงไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ทางคณะราษฎรก็มีความรู้สึกถึงผู้ก่อการใน ร.ศ. 130 ว่าเป็นรุ่นพี่

 

ขณะนั้น นายปรีดี ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเห็นว่าคนยังได้รับความทุกข์ยาก ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมา พ.ศ.2468 - 69 จึงคิดเริ่มต้นกันที่เมืองปารีสโดยเริ่มแรกมี 7 คน (ประกอบด้วย ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6 ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ หลวงสิริราชไมตรี ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ นายปรีดี พนมยงค์ ดุษฎีบัณฑิตกฏหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส)

 

จากนั้นเมื่อกลับสู่ประเทศไทยจึงขยายวงด้วยการไปเชิญ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นรองจเรทหารบกซึ่งเห็นความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมอยู่แล้วมาร่วมด้วย โดยก่อนนี้ พ.อ.พระยาพหลฯ ได้เคยเสนอให้ปรับปรุงกองทัพ แต่ก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเรื่องความอ่อนอาวุโสกว่า

 

ในเวลาต่อมา ทางคณะราษฎร มี พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเณย์มาร่วมเพิ่ม เมื่อรวมกับ พ.อ. พระยาพหลฯ แล้วเรียกว่า 4 ทหารเสือ นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายทหารเรือมาร่วมอีกกลุ่มหนึ่ง

 

ที่สำคัญการก่อการ พ.ศ. 2475 ยังมีชาวไทยมุสลิม ได้แก่ นายบรรจง ศรีจรูญ นักศึกษาไทยที่เมืองไคโร ประเทศอียิปต์ และนายแช่ม พรหมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรี ด้วย ส่วนชาวคาธอลิกก็มาช่วยในด้านงานพิมพ์แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ที่โรงพิมพ์นิติสาส์น หลังพิมพ์เสร็จก็สั่งรื้อแท่นพิมพ์ทันที

 

นายศุขปรีดา บรรยายเบื้องหลังของแผนการว่า แผนการแรกคิดว่าจะลงมือตอนรัชกาลที่ 7 แปรพระราชฐานไปที่หัวหิน ซึ่งต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อยและต้องผ่านบริเวณตลิ่งชัน จะใช้กองเรือกลเข้าล้อมและถวายอารักขา อย่างไรก็ตาม เกิดการเกรงว่าหากมีการปะทะจะยุ่ง จึงวางแผนกันใหม่กำหนดเวลาที่แน่นอนคือ ช่วงที่รัชกาลที่ 7 จะแปรพระราชฐานไปพระราชวังไกลกังวล ในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 โดยนัดหมายเวลากันตอนย่ำรุ่งตามศัพท์เรียกโบราณ

 เมื่อถึงเวลาเช้ามืดตามนัดจึงไปกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เช้านั้นนอกจากทหารผู้ก่อการแล้ว มีทหารอื่นที่ไม่ทราบเรื่องประมาณหนึ่งกองพันใช้ลานพระรูปฝึกทหาร แต่เมื่อไปถึง พ.อ.พระยาพหลฯ กล่าวคำเดียวว่า "พร้อมตายกับทุกคน" จากนั้นจึงสั่งจัดแถวทหารใหม่แบบให้ทุกหน่วยปนกันหมด เพื่อไม่ให้ใครสั่งการได้

ส่วนทหารอื่นหนึ่งกองพันก็ได้ถามผู้คุมว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เขาก็เอาด้วย พ.อ.พระยาพหลฯ จึงไปอ่านแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ข้างบรมรูปทรงม้า หลังอ่านจบจึงเดินไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้ 2มือ ถือคีมตัดโซ่ที่คล้องประตูออก แล้วใช้พระที่อนันตสมาคมเป็นที่บัญชาการ หลังจากนั้นจึงเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่คนสำคัญ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์คนอื่นๆ มาควบคุมไว้ จึงไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

 

หลังก่อการจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเชิญรัชกาลที่ 7 กลับ พระองค์ทรงตกลงแล้วเสด็จกลับโดยทางรถไฟ เมื่อมาถึงทางคณะราษฎรก็เข้าไปในลักษณะเชิงขอขมาลาโทษ นายปรีดีเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นท่านรับสั่งกับพระยาศรีวิศาลวาจา ว่า "ฉันบอกแกแล้วใช่หรือไม่ ให้มีการปกครองแบบใหม่ขึ้น" ซึ่งคณะราษฎรก็ไม่ทราบมาก่อนว่าจะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่พระราชทานโดยพระเจ้าแผ่นดินหลายอย่างนั้นจะสงวนไว้สำหรับพระมหากษัตริย์อยู่ดี ปัจจุบันจึงถูกพูดว่าเป็นคุณหลวงห่ามๆ รีบทำกันเพราะในหลวงท่านพร้อมพระราชทานอยู่แล้ว แล้วมีความยายามลบความทรงจำตรงนี้ออกไป

 

ต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นกลุ่มที่สูญเสียอำนาจไป ได้ยกทัพมาแต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จกลายเป็นกบฎบวรเดชไป บริเวณที่พูดอยู่ตอนนี้คือทุ่งบางเขนเป็นจุดที่ยกทัพมาตรึงแนวกันไว้ แล้วก็ล้มตายกันไปที่นี่ คนที่ตายก็ไม่ใช่เจ้านายแต่เป็นทหารที่ถูกเกณฑ์มา ต่อมาจึงมีการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน หรือวัดประชาธิปไตยขึ้น เหตุผลหนึ่งของการสร้างวัดนี้ก็คือการขออหสิกรรมใน พ.ศ. 2476 อีกประการหนึ่งคืออยากให้สงฆ์ธรรมยุตินิกายและมหานิกายรวมกันได้ ส่วนพระภิกษุที่บวชรูปแรกของวัดก็คือ พ.อ.พระยาพหลฯ และแพทย์ประจำตัว

 

พ.ท.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา

 

ด้าน พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า พ่อไม่ค่อยเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟังแต่จะรู้จากแม่หรือคนรอบข้างบ้าง ที่รู้คือจมื่นสุรฤทธิไกรหรืออาเคยมาชวนพ่อ เมื่อครั้ง ร.ศ. 130 จากนั้นอาก็ถูกปลดจากทหารเพราะกรณีดังกล่าว พ่อเคยบอกว่า ถ้าไม่มี ร.ศ. 130 ก็ไม่มี 24 มิ.ย. 2475 พวกนี้เป็นรุ่นพี่ที่ทำให้น้องรุ่นหลังเห็นตามด้วย ในวันที่ก่อการนั้น พ่อสั่งเสียกับแม่ก่อนว่าจะไปทำอะไร ถ้าไม่สำเร็จให้อพยพอย่างไร เพราะถ้าไม่สำเร็จคงถูกประหาร 7 ชั่วโคตร

 

พ.ต.พุทธินาถ ยังกล่าวถึงประสบการณ์ของการเป็นทหารว่า เริ่มต้นจากการไปสมัครเป็นนายสิบ และเคยเป็นกำลังในกรณีกบฎเมษาฮาวาย ที่ พ.อ.มนูญ รูปขจร เป็นผู้ก่อการ ขอบอกว่าสิ่งที่ พ.อ.มนูญ ทำกับ กรณี 24 มิ.ย. 2475 ผิดกันมาก

 

"ตอนพ่อทำ พ่อไม่มีอะไรในกำมือ มีแต่ความตั้งใจที่จะนำประชาธิปไตยมาให้คนในชาติ ถ้าไม่สำเร็จก็ 7 ชั่วโคตร ดังนั้นทุกครั้งที่มีรัฐประหารขอบอกว่า เป็นการเปลี่ยนฝูงเหลือบที่จะมาสูบเลือดของชาติ แต่เจตนาบริสุทธิ์มีครั้งเดียวเท่านั้น คือ 24 มิ.ย. 2475"

พ.ท. พุทธินาถ กล่าว

 

ส่วนในช่วงท้าย ทายาทของ พ.อ.พระยาพหลฯ ได้พูดสรุปอีกครั้งว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การนำมาแต่ต้องได้รับการศึกษาด้วย สิ่งที่พ่อและนายปรีดีได้ทำก็คือการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเวลานี้สูญหายไปจากประเทศไทยแล้ว ชื่อที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ เพราะเขาไม่ได้สอนให้คนไทยรู้จักประชาธิปไตยอีกแล้ว

 

เขาเล่าว่า เคยได้คุยกับนักศึกษาที่บอกว่าตอนเรียนมีอุดมการณ์ต่างๆ มากมาย แต่พอไปเป็นข้าราชการแล้วก็ต้องทิ้งหมด เพราะถ้าถืออุดมการณ์ไว้ก็ไม่สามารถก้าวหน้าในราชการได้ อยากบอกว่าอุดมการณ์เป็นสิ่งสูงส่งของวัยรุ่น ถ้าไม่ใช้หรือใช้ไม่ได้ก็ควรเก็บใส่กระเป๋าไว้ แต่อย่าขว้างอุดมการณ์ทิ้ง เมื่อมีโอกาสก็เอามาดู ควักมันออกจากกระเป๋ามาดูว่าตรงไหนใช้ได้ ถ้าทุกคนที่จบมหาวิทยาลัยเก็บไว้ในกระเป๋า แล้วนำมาใช้เมื่อมีเวลาตามภาระหน้าที่ ประเทศไทยก็ไปข้างหน้าไม่รู้ถึงไหนแล้ว แต่ตอนนี้เล่นขว้างทิ้งกันตั้งแต่วัยรุ่นก็มีส่วนทำให้บ้านเมืองแย่ อุดมคติเป็นสิ่งบริสุทธิ์ เป็นความคิดบริสุทธิ์ที่วัยรุ่นมี อย่าทิ้ง เมื่อถึงวัยอันสมควรอาจจะได้ใช้ และป่านนี้ชาติคงไปไกลกว่านี้

 

พ.ต.พุทธินาถ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้ไม่ได้รบกับชาติอื่นด้วยอาวุธแต่รบด้วยปัญญาและศีลธรรมจึงจะสู้กับชาติอื่นได้ ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนมีปัญญานำไปใช้ให้แผ่นดินนี้อยู่รอดได้

 

นายชุมพล พรหมยงค์

 

ด้านนายชุมพล พรหมยงค์ ทายาทของนายแช่ม พรหมยงค์ คณะราษฎรสายมุสลิม กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แขกกับเจ๊กจะร่วมก่อการในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เพราะทั้งแขกและเจ๊กก็มีส่วนร่วมในกระบวนการปกครองของสยามมานาน

 

สมัยก่อน แขกจะส่งลูกไปเรียนนอกได้ก็ที่เดียวคือประเทศอียิปต์ นายบรรจงเป็นลูกคนมีเงิน แต่พอไปเรียนคงก็ไม่มีเงินติดกระเป๋ากลับบ้านก็คงไปอาศัยยืมเงินพรรคพวกคนไทยด้วยกันในปารีส อีกทั้งเป็นลูกเจ้าของร้านปืน เพื่อนๆ กันก็อยากช่วยกัน แล้วก็ไปชวนเพื่อนแขกคนอื่นมารวมทั้งพ่อด้วย จึงจะฝากให้คิดว่า วีรบุรุษกับผู้กล้าหาญนั้นมักจะเป็นเรื่องบังเอิญ

 

"พ่อผมเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ท้ายที่มารวมตัวกันสมบูรณ์พอดี เพราะมีหัวก็ต้องมีท้าย พอปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ก็ทำด้วยความรู้สึกที่ต้องการร่วมด้วย มาจากความรู้สึกที่ดีและอยากจะทำงานมากกว่าอย่างอื่น คนในบ้านเมืองเราก็มีคนแบบนี้อยู่มาก เพียงแต่ต้องหาโอกาสให้เขา"

 

นายสุพจน์ ด่านตระกูล

 

สุดท้าย นายสุพจน์ ด่านตระกูล นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 มาแล้ว อัครราชทูตไทยคนหนึ่งเคยมีหนังสือกราบเรียนให้เปลี่ยนการปกครองเพื่อต่อสู้กับอาณานิคมฝรั่ง ซึ่งรัชกาลที่ 5 มีหนังสือตอบไปว่าเห็นด้วยในหลักการแต่ต้องสำหรับประเทศอื่น ส่วนสยามควรปกครองกันแบบเดิม คือพระมหากษัตริย์มีอำนาจล้นพ้นไม่จำกัด

 

จากการที่กำลังศึกษาเรื่องประวัติรัฐธรรมนูญพบว่า หลัง 24 มิ.ย. 2545 กลุ่มพลังเก่าพยายามลบล้าง ประวัติศาสตร์ 24 มิ.ย. 2475 ออกไป ที่ชัดเจนคือการยกเลิกการให้วันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันชาติ ใน พ.ศ. 2503 ไทยจึงกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีวันชาติ และผู้พยายามยกเลิกก็คือ ตระกูล "ชุณหะวัณ" หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญหลังจากนั้นมา ก็พยายามยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิ.ย. 2475 ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าเป็นการทำสัญญาประชาคม หลังการยื่นคำขาดต่อในหลวง

 

รัชกาลที่ 7 กลับมาในวันที่ 25 มิ.ย. หลังรับคำขาดวันที่ 24 มิ.ย. และถึงกรุงเทพฯ วันที่ 26 มิ.ย.โดยได้สาส์น 2 ฉบับ คือ การขอออกกฎหมายนิรโทษกรรมคณะราษฎรกับรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ขอนิรโทษกรรมนั้นทรงอนุญาต แต่ส่วนรัฐธรรมนูญนั้นทรงขอพิจารณาหนึ่งคืนโดยไม่ลงพระนามในวันนั้น จากนั้นจึงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ลงไป

 

นายสุพจน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ มาตราที่ 1 บอกว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" และตอกย้ำด้วยมาตรา 7 ว่า การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

 

เหล่านี้ล้วนมีเพื่อตอกย้ำอำนาจที่เป็นโครงสร้างใหญ่ ถือว่าเป็นสัญญาประชาคมที่ รัชกาลที่ 7 ทรงลงนามในฐานะกษัตริย์ ดังนั้นใครที่กระทำรัฐประหารต่อมาจึงไม่มีสิทธิออกนิรโทษกรรมทั้งสิ้น

 

 

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑

 

ราษฎรทั้งหลาย

 

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

 

 รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคน

 

 ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง ! บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเท่าไหรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

 

 เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฏหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

 

 ๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

 ๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

 ๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎร อดอยาก

 ๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)

 ๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น

 ๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

 ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

 

 

คณะราษฎร

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

 

 

 

ข้อมูลประกอบ

รายชื่อสมาชิกคณะราษฎร

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท