Skip to main content
sharethis

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


           สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มอบปริญญาศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอิสลามศึกษา แก่ ดร.โมฮาหมัด  ซาอิด  ตันตาวี (H.E.Prof.Dr. Muhammad Sayid Tantawy) แห่งมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ และผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลาม ของประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญด้านอิสลามศึกษาในระดับนานาชาติ โดยมี นายชวน หลีกภัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานมอบ


เมื่อเวลา 14.00 น. (26 มิ.ย.)  ที่ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์  อาคารเรียนรวมและหอสมุด คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำพิธีมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ฯ  แก่ ดร.โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวี ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลาม ของประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ สาธารณรัฐอียิปต์ ในฐานะนักปราชญ์ และผู้นำศาสนาอิสลามที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล (Grand Shoikh of Al Azhar) ในสังคมพหุวัฒนธรรมของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ และมีส่วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคและนานาชาติ


สำหรับ ดร.โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวี สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านการศึกษา และปริญญาเอกเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีในคณะอูศูลุดดีน และคณบดีคณะอิสลามและภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ และเคยเป็นอาจารย์รับเชิญจากมหาวิทยาลัยในหลายประเทศ เป็นนักวิชาการที่มีผลงานที่โดดเด่นหลายชิ้น เป็นผู้ที่ได้รับอุทิศตนเพื่อวงการการศึกษาอิสลามอย่างอุตสาหะและยาวนาน จนทำให้มีลูกศิษย์มากมายอยู่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักปราชญ์และผู้นำศาสนาอิสลามที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน


ดร.โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวี เป็นปราชญ์ที่สมถะเรียบง่าย สุภาพนุ่มนวล และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ใฝ่สันติ เป็นผู้สนับสนุนแนวคิดอิสลามสายกลาง ส่งเสริมการปรองดอง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมที่หลากหลาย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏเด่นชัดในงานเขียนและคำเทศนาของท่านในโอกาสต่างๆ เช่น คำกล่าวผ่านสื่อมวลชนถึงพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย เมื่อครั้งเดินทางเยือนอียิปต์ ของนายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2550 แสดงความสนับสนุนนโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลไทย และแสดงความปรารถนาอยากเห็นผู้คนต่างศาสนิกทั้งหลายอยู่ด้วยกันโดยสันติ ดังใจความตอนหนึ่งว่า


"สิ่งที่เราสั่งสอนให้แก่ลูกหลานของเราในอัล - อัซฮาร์ และอยากจะกล่าวในสิ่งเดียวกันแก่มนุษย์ทั้งมวล คือความเป็นภราดรภาพระหว่างมนุษยชาติ และความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อทางศาสนา ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางความร่วมมือระหว่างกันความเชื่อทางศาสนาไม่อาจบังคับได้ หากแต่มนุษย์ทุกคนมีอิสระในทางความคิด และความเชื่อในศาสนาของตน และเราควรให้ความเคารพแก่กันและกัน ควรต้องจงรักภักดีต่อแผ่นดินเกิดของเรา


"ดังนั้น ข้าพเจ้าขอฝากลูกหลานทุกคนในประเทศไทยว่า ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดจงเป็นพี่น้องที่มีความรักให้กันและกัน ไม่มีความแตกแยกระหว่างมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม แต่ตนควรจะมุ่งปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในการนำพาประเทศไทยสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า ทุกคนต้องทำงานด้วยใจอันสัตย์ซื่อ ตั้งใจแน่วแน่ ให้ความสามารถที่ตนมี ประชาชาติใดที่มีความร่วมมือในสังคมบนความหลากหลายของศาสนา ประชาชาตินั้นจะเปี่ยมไปด้วยความสุขความเจริญก้าวหน้า มั่งคั่ง และความสงบสุข"


ดร.โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวี แห่งมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษให้คณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับความเป็นมาของมหาวิยาลัยอัล - อัซฮาร์  ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี และมีชื่อเสียงมากที่สุดในอียิปต์ ได้รับการยอมรับและจัดอันดับในระดับนานาชาติ เป็นสถาบันอิสลามศึกษาที่ได้รับมาตรฐานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีชาวมุสลิมทั่วโลกนิยมส่งบุตรหลานไปเล่าเรียน รวมทั้งจากประเทศไทยด้วย โดยปัจจุบันมีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ 1,500 คนโดยเปิดสอนทั้งสายศาสนาและสามัญควบคู่กันไป


ดร.โมฮาหมัด ซาอิด ตันตาวี กล่าวในตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์  ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญและสอนนักศึกษาทั่วโลกโดยระบุว่า ตามบทบัญญัติของคัมภีร์อัล - กุรอาน นั้นหากผู้หนึ่งทำลายชีวิตผู้หนึ่งอย่างไร้ความผิดไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ก็ไม่ต่างจากการทำลายมนุษยชาติทั้งมวล และในทางกลับกันหากผู้ใดช่วยชีวิตหนึ่งก็เท่ากับช่วยมนุษย์ทั้งโลก ทางมหาวิทยาลัยจึงสอนให้นักศึกษาเคารพในสิทธิของความเป็นมนุษย์ซึ่งเท่าเทียมกัน และชี้ให้เห็นว่า การฆ่า การขับไล่ออกจากถิ่นฐาน หรือเหยียดสีผิว หรือลิดรอนสิทธิ์เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ความหายนะ ดังนั้นจึงได้พยายามสอนให้นักศึกษาเห็นถึงความสันติในการอยู่ร่วมกัน


"ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยยังได้ชี้ให้นักศึกษาทั่วโลกเห็นว่า ความรู้ทั้งศาสนาและสามัญนั้นเป็นประโยชน์ และเราจำเป็นต้องเรียนรู้และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ ซึ่งที่ใดที่รู้จักใช้วิทยาการหรือเทคโนโลยี ที่นั่นก็จะเจริญ แต่ความรู้ที่สมบูรณ์ตามหลักการอิสลามต้องคู่กับคุณธรรมและอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องตามศาสนา แต่ในทางกลับกัน ความรู้ที่มุ่งสร้างความแตกแยกหรือความขัดแย้ง นั้นไม่ใช่หลักของอิสลาม ซึ่งความรู้แบบนี้ความโง่เขลายังประเสริฐกว่า ตามหลักการอิสลามจึงไม่อนุญาตให้ใช้ความรู้ไปในเรื่องไม่สร้างสรรค์ สร้างความขัดแย้งอคติ และบ่อนทำลายสังคม และในกรณีที่เกิดความแปลกแยกกันทางความคิด แต่ละฝ่ายจะต้องรอมชอมกัน เนื่องจากทุกชุมชนย่อมมีความแตกต่างแต่ความแตกต่างไม่ได้หมายถึงความแตกแยก อิสลามจึงได้เรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนทำความเข้าใจและเปิดรับฟังเรื่องราวของกันและกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net