Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 27 มิ.ย.50    องค์การฮิวแมนไรท์เฟิร์ส (Human Rights First) ออกใบแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ระบุว่า กฎหมายฉบับใหม่ที่มีการเสนอในประเทศไทย จะเพิ่มอำนาจให้แก่กองทัพให้มีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน  โดยให้บรรดาข้าราชการทั้งพลเรือนและทหารได้รับความคุ้มครองไม่ต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งองค์การฮิวแมนไรท์เฟิร์สซึ่งมีสำนักงานอยูที่นครนิวยอร์คเห็นว่านี่คือ "สูตรยาโด๊ปเพิ่มการละเมิดสิทธิมนุษยชน"


 


เนล ฮิคส์ (Neil Hicks)  ผู้อำนวยการโครงการนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ของอิวแมนไรท์เฟิร์สกล่าวว่า รัฐบาล ควรจะถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเสียและต้องสัญญาว่าหากจะมีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงใหม่ใดๆ จะต้องจัดทำขึ้นโดยกระบวนการประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.นี้ คณะรัฐมนตรีไทยที่แต่งตั้งโดยกองทัพได้อนุมัติร่างกฎหมายความมั่นคงที่จะขยายขอบเขตอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อย่างกว้างขวาง  กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานของกองทัพที่สร้างขึ้นในยุคของสงครามเย็นจะได้รับอำนาจให้จับกุม คุมขังและค้นผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อวินาศกรรม ก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ความรุนแรง การโฆษณาชวนเชื่อ  หรือการยั่วยุโดยมีความประสงค์ที่จะให้เกิดความไม่สงบ หรือ " เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ "


 


"หากรัฐบาลได้ตั้งใจจริงว่าจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว ทำไมจึงรีบร้อนที่จะออกกฎหมายความมั่นคงซึ่งเป็นภัยต่อสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างยิ่งเช่นนี้ " ฮิคส์กล่าวและว่า การเพิ่มอำนาจให้แก่กองทัพอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันก็ลดทอนอำนาจในการตรวจสอบเช่นนี้ แน่นอนว่านี้คือสูตรยาโด๊ปเพื่อเพิ่มพลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั่นเอง


 


ฮิวแมนไรท์เฟิร์สระบุว่า ร่างกฎหมายไม่ได้ระบุบทบาทที่ชัดเจนของรัฐบาลพลเรือนที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  แต่กลับเพิ่มอำนาจให้แก่ กอ.รมน. อย่างมากมายโดยใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือว่า  " เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" ยิ่งไปกว่านั้น ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจะเป็นผู้มีอำนาจ


" ในการบังคับบัญชาข้าราชการ "  ซึ่งจะเป็นการตัดทอนอำนาจรัฐบาลพลเรือนในการควบคุมทหาร


 


กอ.รมน. ถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2509  ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์  แต่กอ.รมน. ได้สูญเสียบทบาทและอิทธิพลไปหลังจากที่ได้มีการยกเลิกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในปีพ.ศ.2544 พล.เอก สนธิ บุญรัตกลิน ผอ.รมน. มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกด้วย และเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เรียกกันว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นผู้ที่ผลักดันให้มีกฎหมายฉบับนี้


 


กอ.รมน. จะมีอำนาจในการห้ามการชุมนุม ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถาน และสั่งการให้มีการใช้กำลังทหารได้  ร่างกฎหมายยังได้ให้อำนาจ ผอ.รมน. ตั้งเจ้าพนักงานให้มีอำนาจในการจับกุม คุมขัง บุคคลใดๆ ก็ได้ที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ  ค้นตัวบุคคล ยานพาหนะ หรือที่อยู่อาศัยและยึดสิ่งของไว้เป็นพยานหลักฐาน แม้การจับจะต้องใช้หมายศาลแต่บุคคลอาจถูกคุมขังนานถึง 30 วัน โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งปกติจะขังได้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น


 


ร่างกฎหมายจะเป็นการส่งเสริมการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องถูกลงโทษ โดยกฎหมายกำหนดให้  การกระทำใดๆ ตามกฎหมายความมั่นคงนี้ได้รับการยกเว้นจากการถูกดำเนินคดี ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย "หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และมีเหตุผลอันสมควร"


 


"กฎหมายจะทำให้เกิดระบบที่ซ้ำซ้อนในการสอบสวน การจับกุม และการคุมขังบุคคลใดๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยอย่างกว้างขวาง บั่นทอนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้เพียรสร้างสมมาเป็นเวลาหลายปี" ฮิคส์กล่าว 


 


"การที่จะผ่านกฎหมายเช่นนี้ออกมาในสภาวะที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเช่นนี้ นับว่าเป็นอันตรายร้ายแรงอย่างยิ่ง"เขากล่าว


 


ทั้งนี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.แล้ว ได้มีการส่งร่างกฎหมายไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาหลังจากการรัฐประหารให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ซึ่งจะกำหนดให้มีขึ้นในปลายปีนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net