Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 29 มิ.ย. 50 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 10.00 น. กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ ประมาณ 15 คน ในนามเครือข่ายองค์กรเยาวชนคนหนุ่มสาวและองค์กรสิทธิมนุษยชน 7 องค์กร ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD.), ชมรมนักกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง, กลุ่มสังคมวิจารณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.), Young Progressive Southeast Asia (YPSEA), กลุ่มนักศึกษานิด้าเพื่อประชาธิปไตย และ แนวร่วมประชาชนสายที่สาม ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกการพิจารณาพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พร้อมกับรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนในข้อเรียกร้อง และทำการเผาพรบ.จำลอง บริเวณประตูด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล 



ร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา เพื่อเตรียมเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นั้นได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมอย่างมากว่า มีลักษณะที่ให้อำนาจกับทหารมากเกินไป จนหวั่นว่าจะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร  


ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นิสิตภาคบัณทิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นที่มาทำกิจกรรมในวันนี้ว่า "รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลเผด็จการ ตามหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐ ไม่มีสิทธิในการตัดสินใจในนโยบายระดับชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่แทนส.ส. ส.ว. ก็เป็นสภาโจร ไม่สามารถมีอำนาจผ่านกฎหมายได้" ทั้งนี้ ปกป้องยังกล่าวว่า พรบ.ฉบับนี้ขัดกับหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ เช่น ปฎิญญาสากว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้เซ็นสัญญาในข้อตกลงดังกล่าวอันมีผลบังคับให้รัฐบาลไทยต้องเคารพและปฎิบัติตาม  


วรรษมน อุณอนันต์ จากชมรมนักกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง เสริมความเห็นของปกป้อง ว่า "สนช. ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่มีสิทธิใดๆที่จะมาตัดสินหรือพิจารณาข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิของประชาชน เพราะฉะนั้น พรบ.ฉบับนี้จึงไม่ควรที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาโจรแห่งนี้ด้วยซ้ำ" นอกจากนั้น วรรษมน ยังให้ข้อสังเกตุอีกว่า กลุ่มบุคคลที่พยายามผลักดันพรบ.ฉบับนี้ มีความเข้าใจคำว่า "ความมั่นคง" ว่า คือ "ความมั่นคงของพวกตน (ทหาร/กองทัพ) ไม่ใช่ความมั่นคงประชาชน"  


เมธา มาสขาว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) กล่าวว่า "เข้าใจว่ารัฐมนตรีบางคนไม่ได้อ่านเนื้อหาใน พ.ร.บ.ด้วยซ้ำ และมติที่ออกมาก็มาจากการกดดันของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ปรานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับกรณีเขื่อนปากมูล ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้พล.อ.สนธิ หยุดการเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีต่อจากนี้ไป เพื่อไม่ให้มีการแทรกแซงจากทหารอีก


ทางเครือข่ายฯ ได้แสดงจุดยืนด้วยการเผา พ.ร.บ.จำลองที่บรรจุข้อความแสดงการให้อำนาจแก่ทหารทิ้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า พ.ร.บ.ควรฉบับนี้จะถูกฉีกทิ้งและยกเลิกในที่สุด  


ทางเครือข่ายได้ร่วมตะโกนว่า "เราไม่เอา พ.ร.บ. เราไม่เอาเผด็จการ พ.ร.บ. เผด็จการ เราไม่เอา เราไม่เอา" ก่อนสลายตัวไปอย่างสงบ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net