Skip to main content
sharethis

กรณีคดีฝุ่นฝ้ายซึ่งคนงาน 38 คนร่วมกันฟ้องนายจ้าง เรียกค่าเสียหายฐานทำให้เป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ที่ยืดเยื้อนานถึง 12 ปี ล่าสุด ศาลได้พิพากษาให้คนงานชนะคดี แต่ปรากฎว่ายังไม่จบ เพราะนายจ้างขอยืดเวลาอุทธรณ์ออกไปอีกถึงวันที่ 27 ก.ค. รอลุ้นอุทธรณ์ต่อหรือไม่
 

ประชาไท - (28 มิ.ย. 50) สืบเนื่องจากคดีที่นางสมบุญ สีคำดอกแค ร่วมกับผู้เสียหายอีก 37 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ กรณีที่ลูกจ้างได้รับฝุ่นฝ้ายจากการทำงานจนเป็นโรคบิสซิโนซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ตั้งแต่ปี 2538 โดยเรียกค่าเสียหายรายละ 1-2 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ศาลได้วินิจฉัยตัดสินให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 6 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อราย อย่างไรก็ตาม จำเลยได้ขอยืดระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ออกไป ซึ่งหากมีการอุทธรณ์ คดีก็จะยังไม่สิ้นสุด

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เวลา 10.00น. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มูลนิธิเพื่อนหญิง กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กลุ่มผู้ใช้แรงงานสหภาพแรงงานย่านต่างๆ สมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จัดการเสวนาเรื่อง 12 ปีชัยชนะจริงหรือ คดีผู้ป่วยโรคฝุ่นฝ้ายจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม ที่ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีนายจะเด็จ เชาวน์วิไล มูลนิธิเพื่อนหญิง ดำเนินรายการ

"ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมก็คือความไม่ยุติธรรมดีๆ นี่เอง"
นายธีรศักดิ์ ชึขุนทด ทนายความจากสมาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ในฐานะทนายโจทก์ กล่าวว่า คดีนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 สาเหตุที่คดีล่าช้า อาจเพราะมีการสืบพยาน ซึ่งมีพยานโจทก์กว่า 30 คน พยานจำเลยอีกประมาณ 10 คนใช้เวลาสืบพยานครั้งละ 2-3 ปาก ศาลนัดทุกเดือนหรือเดือนครึ่ง ทำให้กว่าจะสืบครบทุกคนก็ใช้เวลาเป็นปี นอกจากนี้ เมื่อศาลตัดสินว่าป่วยจริง ให้โจทก์ชนะ จำเลยได้ขออุทธรณ์ โดยในกรณีศาลแรงงานจะต่างกับคดีทั่วไป เนื่องจากต้องการให้คดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงมีเพียง 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลฎีกา รวมทั้งให้อุทธรณ์ได้เฉพาะประเด็นข้อกฎหมายเท่านั้น ต่างจากคดีทั่วไปที่สามารถอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทำให้เรื่องไปที่ศาลฎีกา แต่เมื่อไปที่ศาลฎีกา แทนที่จะพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้น มาสืบพยานเพิ่ม ว่าผ้าปิดจมูกมีมาตรฐานหรือไม่ ได้ออกระเบียบควบคุมการใช้ผ้าปิดจมูกหรือไม่ ทำให้คดีย้อนไปมา

"ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมก็คือความไม่ยุติธรรมดีๆ นี่เอง" นายธีรศักดิ์ กล่าวและว่า ไม่เห็นด้วยกับศาลฎีกาที่ให้กลับมาสืบพยานเพิ่มที่ศาลชั้นต้นเพราะได้สืบพยานไปหมดแล้ว การกลับมาสืบใหม่ทำให้ใช้เวลา

ต่อมา ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเมื่อเดือนที่ผ่านมาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ 15 วัน แต่ฝ่ายนายจ้างได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 27 ก.ค. โดยอ้างเหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ศาลยังพิมพ์คำพิพากษาไม่เสร็จ ศาลจึงให้ขยายเวลา ซึ่งก็ต้องรอดูว่า จะมีการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ส่วนตัวเขาคิดว่าไม่น่าจะมีการอุทธรณ์อีก เพราะประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ ได้ถูกอุทธรณ์ไปหมดแล้ว

สำหรับเงินชดเชยนั้น นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า จากที่ฟ้องไปคนละ 1-2 ล้านบาท ศาลแรงงานกลางตัดสินให้ได้เงินสินไหมคนละ 1-2 แสนบาท ด้วยเหตุผลว่า คนงานรู้ว่าฝุ่นฝ้ายอันตราย แต่ก็ยังสมัครใจเข้าไปทำงาน เท่ากับทำให้ตัวเองป่วย โดยเข้าไปเสี่ยงเอง

ต่อมา เขาในฐานะทนายโจทก์จึงได้เบิกความว่า คนงานไม่รู้ว่าจะมีอันตรายเพราะถ้ารู้คงไม่มีใครเข้าไปทำงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำตัดสินออกมาเมื่อเดือน พ.ค. ปรากฎว่าศาลได้ลดค่าเสียหายที่จำเลยต้องจ่ายลงเหลือเพียง 6 หมื่นถึง 1 แสนบาท โดยให้เหตุผลว่า คนงานได้เงินจากกองทุนเงินทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ นายธีรศักดิ์ แสดงความเห็นว่า แนวคิดเรื่องค่าเสียหายจากการเจ็บป่วยของไทยค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เขาเสนอว่า เมื่อสืบพยานอาจต้องให้นักเศรษฐศาสตร์มาคำนวณให้เห็นว่า เงินที่ได้ไม่คุ้มกับชีวิตที่ต้องเจ็บป่วย เพื่อให้ศาลเปลี่ยนแนวความคิดมาให้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เขาเล่าถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งพบว่า ผู้ป่วยที่มาต่อสู้คดีมักต้องฝ่าค่านิยมที่ถูกหาว่า "มาค้าความ" ทั้งที่แต่ละคนก็มีศักดิ์ศรีของตัวเอง นายธีรศักดิ์จึงได้เสนอว่า น่าจะมีการชดเชยด้านจิตใจ รวมทั้งคำนวณถึงมิติด้านหน้าที่การงานด้วย

นายธีรศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า จริงๆ หากแรงงานได้เงินจากประกันสังคมเรื่องก็จบตั้งแต่ต้น เมื่อเจตนารมณ์ของการมีกองทุนเงินทดแทนก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างโดยจ่ายเงินให้รักษาตัว น่าจะสันนิษฐานว่าแรงงานเจ็บป่วยจากการทำงานไม่ใช่มองว่าไม่ได้ป่วยจริง ต้องให้แพทย์ของกองทุนวินิจฉัยอีก ซึ่งอาจทำให้ยืดเยื้อไปถึงศาล ทั้งที่ ถ้ามีใบรับรองแพทย์ก็คือป่วยจริง ไม่ควรต้องวินิจฉัยซ้ำซ้อนกัน หมอเองก็คงไม่มีใครออกใบรับรองเท็จ เพราะแพทยสภาก็มีโทษกำหนดอยู่แล้ว มีโทษถึงติดคุกและอาจโดนเพิกถอนใบอนุญาตได้

"ทำไมกระทรวงแรงงานไม่คิดแก้ปัญหาตรงนี้ ยกเลิกกรรมการแพทย์กองทุน ให้มีแค่แพทย์ผู้รักษาก็พอ" นายธีรศักดิ์กล่าว


12 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผลกับตัวเอง แต่หวังคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น

นางเตือนใจ บุญที่สุด หนึ่งในโจทก์ 37 คนที่ร่วมฟ้องคดีฝุ่นฝ้าย กล่าวว่า ก่อนจะสู้คดีในฐานะเป็นโจทก์ พวกเธอเคยเป็นจำเลยของนายจ้างมาก่อน โดยตอนที่ป่วยจนต้องหยุดงานรักษาตัว และมีการไปเรียกร้องสิทธิ ก็ถูกนายจ้างฟ้องเมื่อปี 2535 โดยที่พวกเธอไม่มีอะไรไปสู้กับนายจ้าง ซึ่งชีวิตในตอนนั้นกดดันมาก เงินและงานก็ไม่มี สภาพจิตใจย่ำแย่ ชีวิตครอบครัวก็แทบแตกแยก อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะบอกว่า พวกเธอเป็นไม้ซีก จะไม่มีวันชนะไม้ซุง แต่ด้วยใจที่อยากจะสู้เพื่อความจริงทำให้สู้คดีต่อ

จากเวลา 12 ปี เมื่อคำพิพากษาปรากฎ ถามว่าชนะจริงหรือ ให้คิดดูว่า พวกเธอมีสิ่งที่ต้องสูญเสียไปมากมาย บางคนก็เสียชีวิตไป ไม่ได้อยู่ฟังคำตัดสิน เช่น สามีของเธอเอง 12 ปีต้องใช้อะไรมากมาย ลองคำนวณว่า เดือนหนึ่งๆ ต้องซื้อยาพ่นขยายปอด พันกว่าบาท รวมทั้งยาอื่นๆ อีก ถึงได้เงินชดเชยตรงนี้มา ที่จากแสนสองแสนเหลือไม่กี่หมื่นจะใช้ได้กี่วัน อนาคตของตนเองเธอไม่ห่วง แต่กับภาระเลี้ยงดูลูกๆ ก็นึกไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร

ครั้งหนึ่ง เคยไปติดต่อเจ้าหน้าที่กองทุนเพื่อเรียกร้องสิทธิ เขากลับชี้หน้าและบอกว่า นายจ้างเคยมีบุญคุณ เลี้ยงมาเป็น 10 กว่าปี ยังจะทำให้เขาเดือดร้อนอีกหรือ ซึ่งทำให้เธอเสียใจ เพราะเขามองไม่เห็นในสิ่งที่เธอรู้สึก เขาไม่ได้สัมผัสอย่างที่เธอรู้สึก

"12 ปีที่ผ่านมา อาจไม่มีผลอะไรกับพวกเรามาก แต่หวังว่า สภาพจิตใจ สภาพสังคมและความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานคนอื่นๆ จะได้รับดีกว่าพวกเรา" นางเตือนใจกล่าว

เสนอแยกอำนาจวินิจฉัย-ให้สิทธิประโยชน์ ออกจากกัน
ด้านนายวรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งใช้แรงงานราคาถูก เพราะฉะนั้นชีวิตก็เลยราคาถูกตามไปด้วย เราไม่มุ่งพัฒนาทักษะหรือคุณภาพชีวิตจะเห็นว่าคนที่เจ็บป่วยจากการทำงาน รายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกัน เมื่อมาต่อสู้คดีก็ถูกเลิกจ้าง ซ้ำยังทำงานได้น้อยลงเพราะอาการป่วย ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง ค่าไปศาล ค่าเสียเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้คนจนลง ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร เช่น หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเฉพาะตัวแต่เป็นการโยงใยถึงครอบครัว เมื่อครอบครัวยากจน เด็กก็ขาดการศึกษา ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำความจน

รัฐไม่ยอมรับเรื่องการเจ็บป่วยจากอาชีวอนามัย ตัวเลขความเจ็บป่วยจากการทำงานในแต่ละปีพบว่า กรณีเจ็บป่วย ป่วยจากปวดกล้ามเนื้อมีปีละ 1-2 พันคน ป่วยจากกรณีฝุ่นฝ้ายไม่เกิน 10 คนต่อปี ซึ่งนับว่าน้อยมากหากเปรียบเทียบกับจำนวนคดีฟ้องร้องที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เขาแสดงความเห็นว่า เมื่อกองทุนเงินทดแทนเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการแพทย์ และเป็นผู้ประเมินความสูญเสียทางสุขภาพ ทั้งยังมีอำนาจให้ประโยชน์และสิทธิ เมื่อ 2 อำนาจรวมตัวอยู่ในองค์กรเดียวกัน ทำให้มีการปกป้องกองทุน เข้าข้างนายจ้าง มากกว่าให้เงินชดเชย เพราะเขาก็ถูกตรวจสอบว่าทำไมเงินถูกหักไป เพราะฉะนั้น 2 อำนาจนี้ไม่ควรอยู่ในองค์กรเดียวกัน อำนาจในการวินิจฉัยโรคควรจะมาจากคณะกรรมการแพทย์ที่เป็นกลาง โดยคนงานมีส่วนร่วมในการเสนอตัวแทนเข้าไป ส่วนกองทุนเงินทดแทนให้สิทธิประโยชน์ โดยตรวจสอบป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน

เสนอเปลี่ยนโครงสร้างการพิจารณาคดี แก้ปัญหาคดีล่าช้าไม่ทันการ
ในช่วงบ่าย มีการเสวนาวิเคราะห์ ผลจากคำพิพากษากับแนวทางการต่อสู้ในอนาคต โดยนายไพศิษฐ์ พานิชกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวว่า การใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดี เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ที่น่าสนใจคือจะทำอย่างไรให้ผลของคำตัดสินก่อให้เกิดการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เป็นเพียงการสู้ในระดับปัจเจกซึ่งจบลงที่นายจ้างคนหนึ่งและลูกจ้างคนหนึ่ง จะต้องใช้ช่องทางศาลเพื่อทำให้เห็นว่านี่เป็นปัญหาใหญ่

ทั้งนี้ คดีในเมื่องไทยมีปัญหาหลายอย่าง ได้แก่ หนึ่ง ในการฟ้องคดี ขณะที่ศาลในระบบลูกขุน ใช้ชื่อผู้ที่ฟ้องร้องเป็นชื่อคดี ทำให้มีชื่อปรากฎอยู่ในหลักของกฎหมาย แต่ในประเทศไทย คดีที่มีการฟ้องจะเรียกเป็นคดีดำที่เท่าไหร่ๆ โดยจะแบ่งเป็นคดีหมายเลขดำ และแดง โดยหมายเลขดำคือยังไม่มีการตัดสิน ส่วนแดงคือคดีที่ตัดสินแล้ว ทำให้ไม่เห็นตัวคนหรือการเคลื่อนไหวของแรงงาน กลายเป็นเรื่องสามัญทั่วไป ขณะที่การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนั้นต้องทำให้ดึงดูด ให้มีชื่อคนงานปรากฎ เพื่อให้เกิดพลัง เกิดเครือข่าย

สอง มีโครงสร้างในรื่องกระบวนการสู้คดี ขั้นตอนต่างๆ ในการฟ้อง เป็นระบบที่ทำให้ต้องสู้ในระบบ เมื่อเทียบกับการต่อสู้ในรูปแบบม็อบ จะไม่มีระบบครอบ อาจทำโดยเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน หรือรัฐบาล อยู่ที่เราจะคิดวางแผน ขณะที่การใช้ช่องทางของการสู้คดี จะต้องอยู่ภายใต้กระบวนการ ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าที่วิธีพิจารณาความกำหนด ทำให้คดีเป็นไปอย่างเงียบๆ

โดยนายไพศิษฐ์ได้ยกตัวอย่างกรณีของนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ที่ถูกฟ้องเรื่องหมิ่นประมาท ว่าแม้สื่อจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่ศาลก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ เขาตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้ช่องทางฟ้องคดีเปิดมากขึ้นให้คนงานเข้าไปเรียนรู้ ตรวจสอบการทำงานของศาล ระบบวิธีพิจารณาแบบไหนที่ทำให้เข้าถึงความจริง เราจะเอาอะไรเป็นตัวตั้งระหว่างคุณค่าความเป็นคนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

"ถ้าตั้งคำถามบ่อยๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้าง"

เขาได้เสนอด้วยว่า สำหรับแรงงงานในระบบ ให้เตรียมการรู้เท่าทันสถานการณ์ในโรงงานอยู่เสมอ โดยสร้างเครือข่ายในโรงงาน เก็บหลักฐานต่างๆ เอาไว้ เช่น ใบรับรองแพทย์

ด้วยเหตุที่สภาพของกระบวนยุติธรรมที่มีอยู่ปัจจุบันขัดกับเจตนารมณ์ของการตั้งศาลแรงงานที่ว่าให้มี 2 ชั้น (ศาลชั้นต้นและศาลฎีกา -- ประชาไท) เพื่อให้การดำเนินคดีไปอย่างรวดเร็ว บนสภาพที่ไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจ จึงต้องเยียวยาทางกฎหมายทันทีทันใดอย่างเพียงพอ แต่คดีนี้ ศาลตัดสินให้ชนะหลังจากผ่านไป 12 ปี ทั้งที่กระบวนยุติธรรมน่าจะเท่าทัน กลับไม่ได้ทำ และเมื่อเทียบกับคดีทางการค้าจะพบว่าคดีเร็วมาก ขณะที่ศาลชาวบ้านแรงงานล่าช้า ต้องไปดูว่าใน 12 ปีมีการประวิงคดีกันหรือไม่ และเกิดผลอย่างไร

สอง ผู้ที่เรียกค่าชดเชย ค่าสินไหมทดแทนอยู่ในระยะ "เขาควาย" คือ เมื่อเรียกค่าเสียหายสูงก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลสูงตามไปด้วย ทั้งนี้ศาลอาจจะหมั่นไส้ มองว่า ค้าความ ใช้ช่องทางคดีเรียกร้องเงิน ศาลเองก็ไม่อยากตกเป็นเครืองมือค้าความของคนที่มาฟ้อง นอกจากนี้ ถ้าคนงานชนะ ก็ไม่รู้จะคิดคำนวณค่าชดเชยอย่างไร ศาลจึงคิดจากค่าแรงขั้นต่ำและอายุงานที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า สภาพเศรษฐกิจที่ค่าเงินแพงขึ้นทำให้การให้เงินไม่พอดำรงชีวิตต่อ การเยียวยาค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กลับสู่สถานะเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ควรจะศึกษาจากนักเศรษฐศาสตร์ด้วย

คดีนี้ถ้าไม่ฟ้องเป็นกลุ่มยากมากที่จะสู้ได้เต็มที่ เพราะพยานต้องยันกัน ลูกจ้างคนเดียว พยานอาจตีตกหมด แต่เกิดปัญหาว่า ยิ่งฟ้องสืบพยานหลายคน ความล่าช้าในการดำเนินคดีก็ตามมา สู้เดี่ยวโอกาสแพ้สูง แต่สู้กลุ่มก็ล่าช้า

ทั้งนี้ แทนที่จะพิสูจน์ด้านวิทยาศาสตร์ เป็นหลักเป๊ะๆ ที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์แล้วชาวบ้านจะได้รับผลกระทบ เปลี่ยนเป็นหลักความน่าจะเป็น โดยเป็นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เครื่องจักรกลต้องรับผิดชอบ โรงงานที่เครื่องจักรตรวจแล้วไม่ทำตามคำสั่ง ให้บอกว่าผิด โรงงานผิดก็ต้องจ่าย อย่างไรก็ตาม บ้านเราไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ มักพูดกันแต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า

เขาเสนอให้รื้อวิธีพิจารณาความใหม่ เพราะการนำสืบยังใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะฉะนั้นหากนายจ้างหรือฝ่ายจำเลยที่ถูกฟ้อง ประวิงคดี ศาลก็ต้องตัดสินให้เร็ว อีกข้อคือ บทบาทของผู้พิพากษา ต้องลงไปดูที่เกิดเหตุ ถ้าผู้พิพากษาลงไปดู ความคิดจะเปลี่ยน ถ้าศาลลงไปสัมผัสภาวะจะเห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้น ได้เห็นสภาพจริงๆ ของแรงงาน

…………………………

อ่านข่าวย้อนหลัง

 

ผู้ป่วยโรคฝุ่นฝ้ายชี้ 11 ปีผ่านไปยังไม่ได้รับการคุ้มครองสุขภาพ 1 พ.ย.49

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ร้องรมว.ยุติธรรม-แรงงาน ยื่นมือช่วยคดีฝุ่นฝ้ายที่ยืดเยื้อนาน 11 ปี 10 พ.ย. 49

อดีตคนงาน "ฝุ่นฝ้าย" ปัดคำท้านายจ้างให้ตรวจใหม่ เผยหมอยันเป็นโรค แต่กลัวขึ้นศาล 18 พ.ย. 49

โจทก์คดี "ฝุ่นฝ้าย" กล่าวชัด ถ้าไม่เรียกร้อง นายจ้างก็ไม่เคยเหลียวแล 19 เม.ย. 50

แรงงานคดีฝุ่นฝ้ายชนะแล้ว หลังสู้คดีร่วม 11 ปี !! 30 พ.ค. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net