Skip to main content
sharethis

กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวประชาธรรม


ระหว่างที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนญ (สสร.) กำลังแปรญัตติรัฐธรรมนูญฉบับปี 50  จวนเจียนจะเสร็จสิ้น  และเตรียมที่จะให้ประชาชนลงประชามติในเร็ววันนี้  ท่ามกลางกระแสประชาชนที่มีทั้งคัดค้านและตอบรับการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้   เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญ  รวมถึงความเห็นของประชาชนส่วนต่างๆ  ต่อรัฐธรรมนูญนับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับประชาชนที่จะใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  สำนักข่าวประชาธรรม   จึงได้ทำการเจาะลึกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550  พร้อมสัมภาษณ์ความเห็นของภาคประชาชนส่วนต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ  ในประเด็นต่างๆ  ที่มีความสำคัญ  เช่น ประเด็นเรื่องการเจรจาการค้า   สิทธิชุมชน  ระบบการเมือง  คนชายขอบ ฯลฯ     โดยจะนำเสนออย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์  โปรดติดตาม


สิทธิของคนชายขอบ


ท่ามกลางประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น ปี 2550 ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นอื่นๆ คือ การบรรจุคำว่า "ความหลากหลายทางเพศ - ความพิการ - ชนเผ่าพื้นเมือง" เข้าไว้ในมาตรา 30 ซึ่งว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคของบุคคล ที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และด้วยเหตุที่ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (กลุ่มรักคนเพศเดียวกัน) ผู้พิการ และกลุ่มชนชาติพันธุ์ มักถูกเลือกปฏิบัติด้วยกฎหมาย นโยบายของรัฐมาโดยตลอด องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจึงออกมาเคลื่อนไหวและผลักดันประเด็นดังกล่าวให้เข้าสู่รัฐธรรมนูญ


ด้วยเนื้อหาเดียวกันนี้เอง กลับมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในหลายประเทศ ซึ่งได้บรรจุไว้รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยให้บุคคลเหล่านี้มีสิทธิ และได้รับการรองรอง คุ้มครองจากกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศแอฟริกาใต้ เอกวาดอร์ สวิสเซอร์แลนด์ และสวีเดน เป็นต้น กอปรกับในระดับสากล ประเด็นเหล่านี้ล้วนได้รับการรับรองจากปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นข้อเสนอให้มีการแปรญัตติในหัวข้อข้างต้น ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง


ด้านข้อเสนอต่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับรับฟังความคิดเห็น ที่กำลังมีการยกร่างอยู่ในขณะนี้ อยู่ใน ส่วนที่ 2 ความเสมอภาค


มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน


ชายและหญิง และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (ซึ่งกำลังถกเถียงกัน เพราะอาจมีการเลือกเติมในวรรคนี้ หรือไม่เติมแต่จะต้องนำไปเติมที่วรรคสามเพียงแห่งเดียว) มีสิทธิเท่าเทียมกัน


การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชนเผ่าพื้นเมือง ภาษา เพศ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ  อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ ความพิการ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ (ตัวอักษรเข้ม และขีดเส้นใต้ หมายถึง เพิ่มข้อความใหม่)


"ความหลากหลายทางเพศ" - บรรทัดฐานสากล


ต่อเรื่องนี้ นางสาวอัญชนา สุวรรณานนท์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอัญจารี องค์กรด้านหญิงรักหญิงแห่งแรกในประเทศไทย และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวประเด็นด้านสิทธิสตรี กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา ก็ล้วนแต่เขียนไว้ว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" และแม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการเพิ่ม "ชายและหญิง" เข้าไว้ด้วย แต่ทั้งนี้ในสภาพความเป็นจริงในสังคมแล้ว พบว่าผู้หญิงก็มักจะถูกเลือกปฏิบัติเช่นกัน อาทิ ผู้พิพากษาต้องเป็นเพศชายเท่านั้น นายทหารระดับสูงก็ต้องเป็นผู้ชาย เป็นต้น ฉะนั้นนอกจากผู้หญิงที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมแล้ว กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สาวประเภทสอง หรือผู้ที่รักเพศเดียวกันก็ถูกเลือกปฏิบัติด้วย ไม่ว่าจะโดยกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐ


นางสาวอัญชนา กล่าวเสริมว่า ยังมีกฎหมายอีกมากมายหลายฉบับที่มีความลำเอียง แต่รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด หากมีการบรรจุคำนี้เข้าไปด้วย ก็จะเป็นตัวสะท้อนให้สังคม เพื่อให้เห็นถึงมาตรฐานใหม่ๆ ตลอดจนก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ว่าคนในสังคมย่อมมีความแตกต่างกันในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ควรจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเสมอภาคกัน และต้องปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยการบรรจุคำเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงถือได้ว่าเป็นการป้องกันไว้ และให้ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลาย


"ประเด็นที่เราพูดกันอยู่นี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมานานแล้ว และผลักดันขับเคลื่อนกันมานาน ไม่ใช่เพียงเฉพาะในปีนี้เท่านั้น แต่ก็ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือสิทธิที่เท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะเลย ยกตัวอย่างเช่น การขาดโอกาสในการศึกษา เพราะมีบางสถานการศึกษาไม่รับผู้ที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศเข้าเรียน การที่สาวประเภทสองได้รับใบ สด.43 ที่ระบุว่าพวกเธอเป็นโรคจิตถาวร ซึ่งมีผลในการสมัครเข้าทำงาน ฉะนั้นการเคลื่อนไหวเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลเรื่องสิทธิ และในหลายประเทศก็มีการบรรจุ "ความหลากหลายทางเพศ" ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย" นางสาวอัญชนากล่าว


นายมนตร์เทียน พรหมลัทธิศร กลุ่มเอ็มพลัส (M Plus) โครงการเพื่อชายรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งผลักดันประเด็นด้านการส่งเสริมการดูแลสุขภาพสำหรับกลุ่มชายรักชาย ทั้งเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาและรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชายรักชาย ให้ความเห็นต่อเรื่องเดียวกันนี้ว่า หากคำว่า "ความหลากหลายทางเพศ" ได้ปรากฏไว้ในรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจากชายและหญิงที่ถูกระบุไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนว่าจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ทั้งยังถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการบัญญัติ คำว่า ความหลากหลายทางเพศไว้รัฐธรรมนูญได้


ตัวแทนกลุ่มเอ็มพลัส กล่าวต่อว่า หากสามารถทำได้ จะทำให้มีผลต่อการออกกฎหมายลูก หรือนโยบาย ที่มาช่วยรองรับให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกละเมิดสิทธิได้รับความคุ้มครองด้านสิทธิดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สาวประเภทสองที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว อาจไม่ต้องการใช้คำนำหน้านามว่า "นาย" อีกต่อไป ซึ่งต่อไปอาจสามารถทำได้ หรือการระบุใน สด.43 ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นโรคจิตถาวะ จะต้องเปลี่ยนไปใช้คำอื่น ตลอดจนคู่กฎหมายพิเศษของคู่รับเพศเดียวกัน (Registered Partnership) ที่จะได้รับรองการอยู่ร่วมกัน รวมไปถึงเรื่องการจัดการด้านทรัพย์สินด้วย เป็นต้น


"ความพิการ" - รธน.ต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิ


ด้านการผลักดัน คำว่า "ความพิการ" ให้เข้าไปอยู่ใน มาตรา 30 วรรค 3 เกี่ยวกับเรื่องว่าด้วยการเลือกปฏิบัตินั้น นายมนเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และนักวิชาการอิสระ กล่าวต่อประเด็นนี้ว่า เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยตรงจึงเห็นว่าการให้มีคำว่า ความความพิการเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของรัฐ จะทำให้มีบทบัญญัติ หรือนโยบายที่ให้การปกป้องและคุ้มครองสิทธิ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการมากยิ่งขึ้นด้วย เช่น พ...ห้ามเลือกปฏิบัติ ซึ่งหมายรวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย ที่กำลังจะผลักดันเรื่องเข้าไปยังสภานิติบัญญัติด้วยเช่นกัน


นายมนเฑียร กล่าวเสริมว่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังมีการแปรญัตติต่างๆ อยู่ในขณะนี้ ในมาตรา 30 วรรค 3 ที่ระบุว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่าง..." นั้น ในเมื่อมีการระบุรายละเอียดเพิ่มเติมแล้ว ก็ไม่สามารถจะอ้างได้ว่าเกรงว่าจะยาวเกินไป แต่จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนทั้งหมด ทั้งถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์...ฯลฯ รวมถึงความพิการด้วย นอกจากนี้ เรื่องห้ามเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ เป็น 1 ใน 8 เรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติไว้แล้วด้วย


"ฉะนั้น การเลือกปฏิบัตินั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอย่างหนึ่ง อีกทั้งเมื่อประเทศไทยเคยลงนามไว้แล้วจึงไม่น่าจะตระบัดสัตย์ สสร.เองก็ไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่ให้บรรจุคำนี้ลงไว้ในรัฐธรรมนูญได้ แม้ว่าด้วยโครงสร้างทางสังคม หรือจารีตประเพณี กฎหมาย และนโยบายต่างๆ ในสังคมจะยังคงมีการกีดกัน เลือกปฏิบัติ และกดขี่ผู้พิการอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำรงชีวิตของกลุ่มผู้พิการ แต่เชื่อแน่ว่าการบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท เป็นการสร้างมาตรฐานในการรับรอง-คุ้มครองสิทธิแก่ผู้พิการได้ดียิ่งขึ้น และหาก สสร.ไม่รับก็จะออกไปเคลื่อนไหวคว่ำรัฐธรรมนูญแน่นอน" นายมนเฑียรกล่าวทิ้งท้าย


"ชนเผ่าพื้นเมือง" - ความมีตัวตนในรัฐธรรมนูญ


ประเด็นถัดมาในมาตราเดียวกัน คือการผลักดันให้ระบุวรรค 3 ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ด้วยการใส่คำว่า "ชนเผ่าพื้นเมือง" ซึ่ง นายนิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) กล่าวถึงความสำคัญต่อประเด็นนี้ว่า ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงกันบรรจุคำว่า "ชาติพันธุ์" แต่เนื่องจากทางเครือข่ายและผู้นำชนเผ่าต่างๆ ได้พูดคุยปรึกษากันแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า คำว่า "ชาติพันธุ์" เป็นศัพท์เชิงวิชาการ และมักจะใช้เพื่อสื่อความถึงกลุ่มชาติพันธุ์โดยทั่วไป เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ จึงเห็นควรให้ใช้คำว่า "ชนเผ่าพื้นเมือง" แทนซึ่งมีความชัดเจนกว่า


นายนิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ให้ความหมายที่แสดงถึงมิติของความเป็นชนชาติดั้งเดิมที่อยู่ในแผ่นดินไทยมานาน และไม่มีนัยยะของการแบ่งแยก และยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตัวตน และอัตลักษณ์ในการดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าคนในสังคมเองมักสับสน และใช้คำต่างๆ นานา ทั้งชาวเขา ชนกลุ่มน้อย ชนเผ่า คนชาติพันธุ์ ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าควรจะใช้คำใด ฉะนั้นด้วยเหตุผลในข้างต้น กอปรกับเพื่อให้ประเด็นที่ขับเคลื่อนอยู่นี้ สอดคล้องกับการกระแสในเวทีสากลด้วย ซึ่งขณะนี้สหประชาชาติก็ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ในอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนที่กำลังผลักดันกันอยู่ในระดับนานาชาติอีกด้วย


ต่อคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการบรรจุถ้อยคำนี้ลงไปในรัฐธรรมนูญนั้น นายนิวัฒน์ กล่าวว่า จะทำให้ชนเผ่าพื้นเมือง สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้มากขึ้น ทั้งการเข้าถึงทรัพยากร ที่ดินทำกิน ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองเองได้ดูแลรักษามาอย่างยาวนานแล้ว รวมไปถึงการเข้าถึง การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือในแง่ของแนวทางการพัฒนา


"ในร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกที่ออกมา ในหมวด 1 มาตรา 5 ระบุว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน" วรรคนี้คำว่าประชาชนชาวไทยมิได้สื่อถึงชนเผ่าพื้นเมือง หรือชนเผ่าต่างๆ เลย แต่หมายถึงเพียงชนชาวไทยที่ถือบัตรประชาชนเท่านั้นเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชนเผ่าที่ไร้สัญชาติ คือหากยังไม่มีการบรรจุลงไป ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เรื้อรังมานานก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป" นายนิวัฒน์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะไม่มีการบรรจุคำนี้ลงไป การต่อสู้เรื่องนี้ก็ยังคงทำอย่างต่อเนื่องต่อไปทั้งในระดับประเทศ และในระดับสากลด้วย ซึ่ง ณ ขณะนี้ สภาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติก็ได้อนุมัติรับรองไปแล้ว และกำลังจะนำเรื่องเข้าสมัชชาใหญ่ภายในเดือนกันยายนปีนี้ ในขณะที่รัฐไทยซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ขอนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาก่อน ยังไม่ลงนาม เหตุที่รัฐไทยไม่ยอมรับเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐไทยมองชนเผ่าพื้นเมืองเป็นปัญหาทางการเมือง ประเด็นด้านที่ดินถิ่นฐาน อีกทั้งไม่ว่าอนุสัญญาฉบับใดก็ตามที่รัฐไทยได้ลงนามไว้ ทั้งด้านสิทธิสตรี เด็กและเยาวชน รัฐไทยกลับตั้งข้อยกเว้นและสงวนไว้ในประเด็นเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองโดยตลอด


"หากชนเผ่าดั้งเดิมได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ก็จะทำให้ชนพื้นเมืองมีอำนาจการต่อรองทั้งในทางการเมืองและด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งชนเผ่าก็มีส่วนในการสร้างสรรค์ พัฒนาสังคมเช่นกัน จึงไม่ควรจะถูกแบ่งแยก หรือถูกเลือกปฏิบัติ สุดท้ายคือ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบันนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มีที่มาจากรัฐไทยที่ไม่ยอมรับ และมีอคติทางชาติพันธุ์ หากสังคมต้องการสร้างความเข้มแข็งก็ต้องเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ด้วย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net