ชาวบ้านแม่แรมร้องถูกเวนคืนที่ให้ราชพัสดุ

พื้นที่พิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านหมู่ 5 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กับ กรมรบพิเศษที่ 5 จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ หลังจากเงียบหายมานานนั้น ขณะนี้ชาวบ้านได้รับประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ย้ายออกจากพื้นที่แล้ว 3 ราย

นายเมฆ ทิศเหนือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 .แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ชี้ให้ดูประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกจากที่ดินที่ราชพัสดุ

 

ประชาไท - 1 ก.ค.2550 พื้นที่ พิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านหมู่ 5 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กับ กรมรบพิเศษที่ 5 จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ หลังจากเงียบหายมานานนั้น ขณะนี้ชาวบ้านได้รับประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ย้ายออกจากพื้นที่แล้ว 3 ราย

 

 

ชาวบ้าน หมู่ 5 .แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีกรณีพิพาทเวนคืนที่ดินที่ราชพัสดุ ซึ่งกรมรบพิเศษที่ 5 จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินมาหลายสิบปีนั้น

 

ล่า ชุดชาวบ้านหมู่ 5 จำนวน 3 ราย ได้รับประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2550 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1076/2545 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างกระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ และจำเลยเป็นชาวบ้านหมู่ 5 จำนวน 3 ราย ให้จำเลยและบริวารรื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกจากที่ดินที่ราชพัสดุ

 

โดยชาวบ้านกล่าวว่าเรื่องนี้เงียบมานานหลายปี ตั้งแต่การเคลื่อนไหวเมื่อปี 2534-2536 โดย ชาวบ้านยกเหตุที่ชุมชนอยู่อาศัยกันมานาน อย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 โดยมีหลักฐานเป็นวัดอัมพวันในหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ.2473 และชาวบ้านในหมู่บ้านบางรายมีเอกสารใบเหยียบย่ำ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 6 พ.ศ.2479 และ สค.1 ที่ราษฎรรายหนึ่งแจ้งการครอบครองต่อทางอำเภอแม่ริมใน พ.ศ.2473 ก่อนที่จะมีการเวนคืนไปเป็นที่ทหารตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2483 (ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 วันที่ 16 กรกฎาคม 2483 หน้า 233-235) ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

 

และ หลังจากทำข้อตกลงร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2536 ชาวบ้านคิดว่าเรื่องจะเงียบไปแล้ว แต่รู้สึกแปลกใจเมื่อจู่ๆ ก็โดนหมายศาลมาติดที่ประตูบ้าน ให้ออกไปจากพื้นที่

 

โดยผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ราย แรกที่โดนหมายศาลนั้นได้ออกมากล่าวว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นฉุกละหุกและ ไม่ได้เตรียมตัวที่จะย้าย และได้ไปคุยกับฝ่ายทหารแล้วในเบื้องต้นจะมีการจัดการให้อยู่ในพื้นที่ต่อไป และต้องเป็นผู้เช่ากับราชพัสดุ

 

โดย ในเบื้องต้นก็ยินยอมที่จะเป็นผู้เช่าแต่เมื่อมาอ่านในรายละเอียดข้อตกลง สัญญาการเช่าที่ดินราชพัสดุที่ได้รับมานั้น ดูเหมือนจะไม่เป็นธรรม และยอมรับไม่ได้ในหลายข้อ

 

นายเมฆ ทิศเหนือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 .แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ถูกให้ออกจากพื้นที่เป็นชุดแรกกล่าวว่า

 

"มี จดหมายจากกรมบังคับคดี ฟ้องว่าให้ผมออกจากพื้นที่ ให้ออกภายในแปดวัน พร้อมบริวารคือทุกคนในบ้าน ก็ตกใจไม่รู้จะทำอย่างไร ในด้านกฎหมายผมไม่รู้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร กับคนยากคนจนอย่างในหมู่บ้านเรา ก็ไปทำนากัน เราก็มาคิดกันว่าจะไปพึ่งใครได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยขอเรียกชาวบ้านมาประชุมหารือกัน ก็เกรงว่าชาวบ้านจะแตกตื่น ชาวบ้านเขาก็กลัวว่าจะโดนด้วย เป็นไปได้ว่าจะถูกฟ้องอีกสองร้อยกว่าครัวเรือน ที่จะโดนฟ้องนี้ก็ต้องออกกันหมดในอนาคตข้างหน้า เดี๋ยวผมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเนี่ยก็ต้องออกไปแล้ว ต้องออกตามกรมบังคับคดี"

 

"แต่ กับกรมบังคับคดีวันนั้นก็ไม่ได้ไปติดต่อ ไปรายงานตัววันนั้นทหารเขาก็เรียกไป เข้าไปในกรมรบฯ (กรมรบพิเศษที่ 5 จังหวัดทหารบกเชียงใหม่) ไปรายงานตัวกรมรบฯ แต่ไม่ได้เข้าไปในกรมบังคับคดี ก็บันทึกว่าได้ไปรายงานตัวตามนี้"

 

ส่วนกรณีที่ที่ดินจะกลายเป็นที่ให้เช่าไปแล้วนั้น คิดว่าจะมีผลอย่างไร นายเมฆกล่าวว่า

 

"ที แรกมาพูดเรื่องเช่า ทางภาคอำเภอก็เรียกไปประชุม ได้รับหมายศาล เขาก็เรียกไปประชุม พอเราประชุมชาวบ้านก็ตกลงเช่า แต่พอได้สัญญาเช่าที่ดินมาดูแล้ว ก็รับกับข้อตกลงไม่ได้ คือเขาบีบเราเกินไป สัญญาเช่ามันบังคับเราเกินไป อย่างหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่มีบ้านอยู่แล้ว แต่ถ้าเอาตามที่เขาว่ามาให้กลายเป็นที่เช่าแล้ว จะกลายเป็นที่ดินว่างเปล่า บ้านที่เราสร้างกันมาก่อนมันก็จะกลายเป็นไม่ใช่ของเรา แต่เรามาเช่าเขา"

 

"เรา เองโดนตรงนี้ จะไปสู้ทางกฎหมายมันก็ยากนะ เพราะว่าศาลเขาก็ตัดสินออกมาแล้ว แต่ว่าตอนแรกที่เขาโดนกันผมก็ชวนเขาเช่า แต่พอเจอเรื่องสัญญาเช่าแบบนี้แล้ว ก็คงต้องรวบรวมชาวบ้านมาประชุมหาทางออก" เมฆกล่าวปิดท้าย

 

ส่วนนายอุทัย ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ที่โดนคำสั่งศาลให้ออกจากพื้นที่เช่นกัน กล่าวว่า

 

"ประมาณ 2-3 ปีก่อนไปขึ้นศาล แล้วเรื่องก็เงียบไปซึ่งคิดว่ามันคงไม่มีปัญหา แต่พอวันที่ 18 ที่ผ่านมา กรมบังคับคดี ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองก็เอาหมายศาลมาติดหน้าบ้าน ให้ออกจากพื้นที่ภายใน 8 วัน พอดีวันนั้นไปทำงานเหลือแต่ลูกเมียและแม่อยู่บ้าน ทุกคนตกใจมาก แม่ก็แทบช็อก"

 

"ชาวบ้านก็กลัวกันมาก ส่วนเราเมื่อโดนแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่กันที่ไหน"

 

ด้านนายสุทิน ใหแก้ว ชาวบ้านหมู่ที่ 5 .แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ยังไม่โดนสั่งฟ้อง ได้กล่าวถึงความเห็นว่า ในขณะเมื่อชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวประเด็นนี้เมื่อปี 2536 นั้น ตัวเองยังเด็กและไปเรียนอยู่ไม่ค่อยได้ติดตามอะไรมากนัก ตอนนี้ทำงานแล้วและได้มารับรู้เรื่องราวจากการประชุมและได้ดูข้อมูลเก่าๆ พบว่าชาวบ้านกำลังสู้กับความไม่เป็นธรรม มาถึงตอนนี้เมื่อเห็นผู้นำชุมชนยังโดน ก็คิดว่าลูกบ้านที่เหลือก็อาจมีสิทธิโดนเหมือนกัน

 

"เราคนหาเช้ากินค่ำ ไม่รู้จะเอายังไง ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน" นายสุทินกล่าว

 

ทั้งนี้ทางชาวบ้านคาดการกันว่าจะมีอีกหลายรายที่ต้องโดนแบบเดียวกัน และชาวบ้านกำลังจะหารือปรึกษาว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับกรณีพิพาทนี้

 

อนึ่ง พื้นที่ความขัดแย้งใน ต.แม่ แรม กับกรมรบทหารพิเศษที่ 5 จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ นั้นมีมานานร่วมหลายสิบปี แต่เรื่องเงียบหายไปในระยะหลัง แต่พอหลังจากการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว เรื่องการเวนคืนนี้ดูเหมือนจะถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

 

โดยเมื่อปี 2536 ชาวบ้านได้รณรงค์ประท้วงขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ โดยขณะนั้นนายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้ลงมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวมีการปักปันแนวเขตแดน และชาวบ้านได้ยึดถือข้อตกลงนั้นมาตลอด (อ่านล้อมกรอบ หรือ เอกสารประกอบ)

 

สำหรับความคืบหน้าประชาไทจะได้นำเสนอต่อไป

 

 

 

บันทึกข้อตกลง (สำเนา)

 

 

เขียนที่วัดอัมพวัน ม.5 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

                                                           

วันที่ 1 มิถุนายน 2536

           

            บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ทำขึ้นไว้ระหว่าง ตัวแทนราษฎร หมู่ที่ 5 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กับ ทางราชการ โดยมี นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ พลตรี ยุทธนา เมืองมั่งคั่ง ผบ.มทบ.33 เพื่อเป็นหลักฐาน ดังนี้

 

1.     การ ปักปันแนวเขตในครั้งนี้ ต้องการทำขึ้นอย่างเป็นทางการ และต้องมีการทำหนังสือลงนามยินยอมโดยตัวแทนอย่างเป็นทางการของแต่ละฝ่าย พร้อมทั้งให้มีการแถลงต่อสื่อมวลชน ภายหลังการลงนามเป็นที่เรียบร้อย

 

2.    ผู้ที่ลงนามในสัญญาข้อตกลงต้องเป็นตัวแทนที่น่าเชื่อถืออย่างเป็นทางการดังต่อไปนี้ คือ

2.1   ตัวแทนชาวบ้านคือ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5

2.2   ตัวแทนทหาร คือ ผบ.มทบ.33 หรือผู้แทน

2.3   ตัวแทนฝ่ายปกครองคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

 

3.    ในการลงนามจะต้องมีบุคคลกลางที่ไม่ใช่ข้าราชการ เป็นสักขีพยานในการลงนาม ไม่น้อยกว่า 2 คน

 

4.    เมื่อ ได้ทำการปักปันเขตอย่างถูกต้องและลงนามในหนังสือสัญญาพร้อมทั้งแถลงต่อสื่อ มวลชนอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ต้องให้ทหารที่อยู่อาศัยในเขตบ้านหมู่ที่ 5 ย้ายออกไป ภายในไม่เกินวันที่ 1 มิ.ย. 2536

 

 

5.     ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนฝ่ายทหารตามข้อ 2.2 รับรองว่า ชาวบ้านแม่ในมีสิทธิ์ ได้รับการติดตั้งไฟฟ้า เช่นเดียวกับบ้านป่าม่วงและบ้านทุ่งห้า โดยไม่มีการขัดขวางหรือห้ามจาก มทบ.33

 

6.    ทหารรับรองว่าจะไม่คุกคาม ทำลายขวัญ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุที่ให้ชาวบ้านหวาดกลัวอีกอย่างเด็ดขาด

 

7.     ทางราชการตำรวจต้องรับรองว่า การชุมนุมของชาวบ้าน หมู่ที่ 5 ที่ผ่านมาหรืออาจจะมีในอนาคต หากการปักปันเขตไม่สามารถกระทำได้สำเร็จ ในวันที่ 1 มิ.ย. 2536 หรือแม้ว่าจะมีการลงนามปักปันเขตแล้วแต่ทหารไม่เคารพสัญญาเดิมที่เคยเป็นมา ชาวบ้านมีสิทธิ์ ชุมนุมโดยสงบได้

 

8.     ถ้าฝ่ายราษฎร ยอมรับว่า บริเวณหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ต. แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นที่ดินของรัฐที่มีปัญหาพิพาท ระกว่างราษฎรกับกองทัพบกอยู่ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รับจะนำเรื่องที่ดิน หมู่บ้านหมู่ที่ 5 แห่ง นี้ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด เชียงใหม่ (กปร. ส่วนจังหวัดเชียงใหม่) เพื่อเสนอขอให้กองทัพบกยกเลิกการใช้ประโยชน์บริเวณที่ดินดังกล่าว แล้วเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กปร.) ต่อไป

 

9.    เมื่อ กองทัพบกยินยอมบอกเลิกการใช้ประโยชน์ในบริเวณที่ดินหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว ทางราชการจะดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 ต่อไป

 

อ่านแล้ว รับว่าถูกต้อง จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

 

(ลงชื่อ) พระครูวรธรรมพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดอันพวัน

(ลงชื่อ) นายจรัส สุขเรือน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.แม่แรม

(ลงชื่อ) พล.ต.ยุทธนา เมืองมั่งคั่ง ผบ.มทบ.33

(ลงชื่อ) นายประชา เชาวศิลป์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

(ลงชื่อ) นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

(ลงชื่อ) นายดวงจันทร์ นาคง กำนันตำบลแม่แรม

(ลงชื่อ) นายธงชัย เชื้อพูล ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไชยปราการ

(ลงชื่อ) พ.อ.อมรฤทธิ์ แพทย์เจริญ ผบ.รพศ.5

 

เอกสารประกอบ

บันทึกข้อตกลงระหว่างชาวบ้านและราชการ 1 มิถุนายน 2536

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท