คปส.กดดันยุติลิดรอนสิทธิ กป.อพช.ขยับ ชุมนุมหน้าทำเนียบเลิก กม.ความมั่นคง

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.50 มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ( มอส.) รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ( คปส.), น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการ คปส., นายต่อพงษ์ เสลานนท์ รองเลขาธิการ คปส., ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล และนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) และ น.ส.พิมพกา โตวิระ เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านรัฐบาลผ่านกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 , ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ..., ร่างพระราชบัญญัติจดแจงการพิมพ์ พ.ศ..., ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ...., ร่างพระราชบัญญัติการแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ พ.ศ... , ร่างพระราชบัญญัติองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.... ถึง ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....ซึ่งมาจากการผลักดันของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช.) รัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.)


 

โดย น.ส.สุภิญญา เลขาธิการ คปส. อ่านแถลงการณ์คัดค้านรัฐบาลผ่านกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า คปส. มีจุดยืนที่ต้องการให้สังคมไทยออกมายืนยันให้มีการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เช่นเดิมแต่เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขภายหลังที่มีรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และขอให้รัฐบาล - สนช. ซึ่งขาดชอบธรรมยุติการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล รัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการผลักดันกฎหมายด้านสื่อต่างๆ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ต่อไป

 

นอกจากนี้ คปส., เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) และ เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ จะรวมตัวกันเป็น " เครือข่ายเพื่ออิสรภาพสื่อไทย" ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบผู้มีอำนาจและการออกกติกาที่จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปด้วย

 

น.ส.สุภิญญา ระบุด้วยว่า ในเวลา 10 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลและ สนช. ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คมช.ซึ่งทำการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ที่ผ่านมา ได้ผลักดันร่างกฎหมายหลายฉบับ โดยกฎหมายนั้นมีเนื้อหาที่ลดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่สำคัญคือสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร และการแสดงออกของพลเมือง ภายใต้การอ้างเหตุผลของรัฐบาลเรื่องความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดี ตัวอย่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ถูกดันเข้า สนช. โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่เป็นผู้เสนอเข้าครม. จนผ่าน สนช. ให้ได้ออกกฎหมายฉบับสมบูรณ์มาประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.50ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวเป็นการเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทได้อย่างเต็มที่ในการดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกที่อาจตีความได้ว่าขัดต่อความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดีผ่านสื่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะส่งผลให้กฎหมายนี้กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์ หรืออินเตอร์เนท

 

เลขาธิการ คปส. กล่าวต่อว่า แม้ คปส. จะเห็นว่าสังคมไทยจำเป็นต้องมีกติกากลางในการส่งเสริมสิทธิการสื่อสาร แต่ คปส. ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะให้มาตรการทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อคอมพิวเตอร์ในลักษณะนี้ เนื่องจากการตีความว่าการกระทำใดขัดต่อความมั่นคงของรัฐนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สามารถเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ซึ่งนอกจาก พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ แล้วรัฐบาล ยังพยายามจะผลักดันกฎหมายสำคัญหลายฉบับให้เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งด้วย ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... ,ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ... , ร่าง พ.ร.บ.จดแจงการพิมพ์ พ.ศ..., ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ...., ร่าง พ.ร.บ.การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ พ.ศ... , ทั้งที่กฎหมายนั้นไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วม รับรู้ ตัดสินใจ หรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่ายอย่างรอบด้านทั้งที่กฎหมายนั้นจะมีผลผูกพันกับประชาชนระยะยาว โดยเนื้อหาของกฎหมายต่างๆ ล้วนแต่ให้อำนาจรัฐปิดกั้น ตัดตอน และควบคุม เนื้อหาสาระต่างๆ ผ่านสื่อสารมวลชน

 

"ตัวอย่างสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... เห็นได้ชัดว่า เป็นกฎหมายล้าหลังที่ให้อำนาจฝ่ายทหารในการควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง ภายใต้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ ซึ่งหากจะให้ผ่านกฎหมายเหล่านี้ไปก่อนแล้วจะรอเวลาให้นำกฎหมายมาแก้ไขใหม่นั้น เป็นไปได้ยากเพราะโอกาสจะนำกฎหมายมาแก้ไขใหม่คงมีเพียง 1 % เท่านั้น ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้นานเป็นหลายสิบปี ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ สนช.สายสื่อมวลชน สายองค์กรภาคปะชาชน และสายนักวิชาการ ที่ขณะนี้ดูว่าจะมีเสียงและพลัง ช่วยกันทบทวนและพิจารณาการออกกฎหมายเหล่านั้น เพื่อไม่ให้กฎหมายที่ออกมากลายเป็นกับดักควบคุมสิทธิเสรีภาพประชาชน " เลขาธิการ คปส. กล่าว เลขาธิการ คปส. กล่าวว่า การเร่งรีบผลักดันกฎหมายที่มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อสิทธิเสรีภาพขอปงระชาชนในบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน จะก่อให้เกิดผลเสียหายมากกว่าผลเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่สามารถติดตาม ตรวจสอบ มีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ เพราะสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติทางการเมือง ที่ประชาชนยังมีความสับสน หวาดหวั่น และขาดความเชื่อมั่นในสถาบันต่างๆ ในสังคม

 

ขณะที่ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธาน คปส. กล่าวว่า ความพยายามที่ รัฐบาล และ คมช. ซึ่งมีสนช. เป็นอุปกรณ์ทางกฎหมาย จะผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่ลิดรอนสิทธิประชาชนออกว่า ถือได้ว่าเป็นการประหารสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งวันนี้ต้องตั้งคำถามว่า รัฐไทยกลัวอะไร ทุกวันนี้รัฐไทยกลัวอำนาจความจริง ที่มาจากสื่อหนังสือพิมพ์หรืออย่างไร หรือการติดต่อสื่อสารในอินเตอร์เนท ซึ่งรัฐที่กลัวตัวเองจะว่าเป็นรัฐแบบใด โดยการออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิจะต้องไม่มีและไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย

 

ด้านนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุลเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) กล่าวตั้งข้อสังเกตการออกพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ ว่า เป็นการออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลทั้งโดยผ่านทางศาล และอำนาจโดยตรงของ เจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายยังกำหนดด้วยว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทจะต้องเก็บข้อมูลย้อนหลังไว้นานถึง 90วันด้วย ดังนั้นหากเปรียบก็เหมือนเราจะถูกค้นบ้านได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล และนอกจากจะถูกค้นได้ภายในวันนี้แล้ว ยังสามารถถูกย้อนหลังตรวจได้อีก 90 วันด้วย ซึ่งนอกจากจะถูกริดลอนสิทธิการตรวจสอบข้อมูลที่ถือได้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารแล้ว ขณะนี้ยังมีประเด็นที่เป็นข้อกังวลถึงความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายด้วยว่า เมื่อมีกฎหมายมาแล้ว แต่ในกฎหมายกลับยังไม่มีการระบุคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้นว่าจะได้มาอย่าง ใครจะเป็นผู้แต่งตั้งมา ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการระบุกติกาที่มาของเจ้าหน้าที่อย่างไร ซึ่งเดิมเคยระบุว่าจะเขียนไว้ในกฎกระทรวง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีกติกาใด ๆเขียนไว้ ทั้งสิ้น

 

ขณะที่ ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ฯ กล่าวด้วยว่า การออกกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดคอมพิวเตอร์ เป็นการออกกฎหมายตามที่เคยต้องการให้มีกฎหมายควบคุมสื่ออิเล็กทรอนิคส์ ที่เดิมออกแบบกฎหมายไว้ 6 เรื่องซึ่งจะมีทั้งการป้องกันปราบปราม และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล แต่ปรากฏว่าในการออกกฎหมายครั้งนี้รัฐบาล ตั้งใจเลือกจะออกแต่เฉพาะกฎหมายที่เป็นการปราบปราม ซึ่งกระทบและลิดรอนสิทธิประชาชนผู้สื่อสาร โดยรัฐบาลไม่คิดที่จะยกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาใช้บังคับร่วมกันเลย ซึ่งหากจะออกฎหมายที่มีให้ผลตรวจสอบข้อมูลการสื่อสารของบุคคลย้อนหลังได้ถึง 90 วัน รัฐก็ควรผลักดันให้ออกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นำโดยจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.  ร่วมกับ คปส., เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) และ เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ยังได้ออกประกาศนัดชุมนุมทีทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 3 ก.ค.นี้เวลา 8.30 น.เป็นต้นไป เพื่อร่วมกันแถลงเจตจำนงคัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 , ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ... , ร่างพระราชบัญญัติจดแจงการพิมพ์ พ.ศ..., ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ...., ร่างพระราชบัญญัติการแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ พ.ศ... และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....

 

 

........................................

ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท