บทความสมชาย ปรีชาศิลปกุล : ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม คือ "ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม (Justice delayed, justice denied)"

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

            สมบุญ สีคำดอกแค อดีตคนงานแผนกปั่นฝ้ายของโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ได้เข้าทำงานในโรงงานแห่งนี้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2519 ขณะนั้นเธออายุ19ปี

หลังจากทำงานมาเป็นเวลา 10 ปี สมบุญเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับการหายใจ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก เป็นลมบ่อย ไม่เพียงเธอคนเดียวเท่านั้นแต่เพื่อนคนงานอีกหลายคนก็เกิดอาการป่วยในลักษณะคล้ายคลึงกัน

ในระยะแรก สมบุญและเพื่อนได้ไปหาหมอที่ประจำอยู่ที่ห้องพยาบาลของโรงงานแต่ก็ยังไม่หายจากอาการ จึงได้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐและคลีนิคเอกชน ส่วนใหญ่หมอจะวินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากการเป็นไข้หวัด ภูมิแพ้หรือหลอดลมอักเสบ และทำการรักษาไปตามโรคที่ได้วินิจฉัย แต่สมบุญกับเพื่อนก็ยังไม่มีอาการที่ดีขึ้น นอกจากนี้อาการก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น คือมีอาการเสียดแน่นหน้าอก นอนไม่ได้

ช่วง พ.ศ. 2534-2535 สมบุญกับเพื่อนคนงาน7คนได้ไปทำการตรวจรักษาที่ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐเพียงแห่งเดียวในขณะนั้นที่มีหมอซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการเจ็บป่วยจากการทำงาน หลังจากตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ หมอผู้ตรวจได้วินิจฉัยว่าสมบุญและเพื่อนเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย (byssisnosis) อันเป็นผลให้ปอดของผู้เป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพไปตลอดชีวิต

9 พฤษภาคม 2538 สมบุญกับเพื่อนคนงานรวม 38 คน ยื่นฟ้องโรงงานทอผ้ากรุงเทพเป็นจำเลยใน ความผิดฐานกระทำละเมิดต่อศาลแรงงานโดยในการยื่นฟ้องคดีได้มีคำขอดังต่อไปนี้

"1. ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ (เฉพาะในส่วนของสมบุญ) เป็นเงิน 2,485,952 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ฟ้องไปจนถึงชำระเสร็จ

2. เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงานขอให้ศาลได้มีคำพิพากษาดังนี้คือ

2.1 ให้จำเลยปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้อยู่ในสภาพปลอดจากมลภาวะโดยจะต้องดำเนินให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แล้วให้จำเลยรายงานสภาพมลภาวะของโรงงานต่อศาลเป็นระยะๆพร้อมคำรับรองของเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่103 ลงวันที่12 มีนาคม 2535 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

2.2 ให้จำเลยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีอยู่ในโรงงานของจำเลย พร้อมทั้งมาตรการในการป้องกันโดยให้เปิดเผยเป็นระยะๆ ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด"

(สรุปจากคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 4812/2538)

30 กันยายน 2536 หลังจากใช้เวลาในการพิจารณาคดีเป็นเวลา 8 ปีกับ 4 เดือน ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้โรงงานทอผ้ากรุงเทพมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อปล่อยให้มีมลพิษฝุ่นฝ้ายเป็นอันตรายต่อคนงานจนเกิดโรคปอดอักเสบเสื่อมสมรรถภาพร่างกาย และให้โรงงานทอผ้ากรุงเทพชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องเป็นรายๆ ตามที่ศาลกำหนด

ตามคำฟ้อง สมบุญได้เรียกค่าเสียหายจากการเป็นโรคปอดฝุ่นฝ้ายจำนวน 2,485,952 บาท ซึ่งศาลได้กำหนดค่าเสียหายให้จำนวน 200,000 บาท และคนงานอื่นๆ ในจำนวนใกล้เคียงกัน

แต่โรงงานทอผ้ากรุงเทพได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน ทำให้ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้คนงานทั้ง 38 ราย เพราะถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุดและยังต้องมีการพิจารณาคดีต่อนี้ไป

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานได้ใช้เวลาในการพิจารณาอีกประมาณ 2 ปี 5 เดือน และมีคำพิพากษาฎีกาเมือวันที่15 พฤษภาคม 2549 และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549 มีประเด็นสำคัญดังนี้

"สำหรับประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่าคดีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ดังกล่าวป่วยเป็นโรคบิสสิโนซิสเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ดังกล่าวหรือไม่เพียงใด เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวข้างต้น อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 จึงให้ศาลแรงงานพิจารณาคดีนี้ใหม่แต่บางส่วน โดยให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผ้าปิดจมูกที่จำเลยที่ 1 จัดให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ใช้ในโรงงานของจำเลยที่ 1 ได้มาตรฐานตามที่ทางราชการกำหนดหรือไม่ จำเลยที่ 1 ออกระเบียบให้พนักงานสวมใส่ผ้าปิดจมูกในขณะทำงานหรือไม่ และคอยควบคุมดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด และหากจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าว การละเมิดได้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด สิ้นสุดลงเมื่อใด โจทก์ดังกล่าวได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เมื่อใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป........."

ผลของคำพิพากษาที่สำคัญก็คือ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานมีความเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมา ยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทจึงส่งให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีนี้ใหม่บางส่วน

ตามคำสั่งของศาลฎีกา คดีระหว่างสมบุญกับเพื่อนและโรงงานทอผ้ากรุงเทพจึงยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ซึ่งในคำวินิจฉัยที่ได้เกิดขึ้นมีหลายประเด็นที่เป็นข้อสงสัยถึงเหตุผลและการให้เหตุผลในทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุดการจะวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางและศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานยังไม่สามารถกระทำได้อย่างมีอิสระเนื่องจากมีกฎหมายให้อำนาจศาลที่จะสั่งลงโทษผู้ที่ทำการวิจารณ์ได้ สำหรับในขณะนี้เพียงต้องการตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ ว่าการใช้ระยะเวลาที่แสนยาวนานในการพิจารณาคดีนั้นจะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความได้จริงหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อพิพาทด้านแรงงาน คู่ความฝ่ายหนึ่งเป็นแรงงานที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าคู่กรณี และระหว่างที่ฟ้องคดีก็ไม่ได้ทำงานอันเนื่องมาจากผลพวงของโรคจากการทำงาน แต่กลับมาต้องใช้เวลาอย่างยาวนานในกระบวนการยุติธรรม

ทั้งที่ในการจัดตั้งศาลแรงงานก็ได้มีการตระหนักถึงความจำเป็นว่าต้องทำให้กระบวนในศาลนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและฉับไว  ดังที่ปรากฏในเวบไซต์ของศาลแรงงานกลาง www.centrallabourcourt.org ถึงคำขวัญของศาลแรงงานว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ด้วยการตระหนักว่าหากการดำเนินคดีในข้อพิพาทด้านแรงงานเป็นไปอย่างเชื่องช้าอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ความยุติธรรมจึงมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลาง สามารถตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลาอย่างยาวนานเพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเรียกร้องโดยกระบวนการยุติธรรม สอดคล้องกับสุภาษิตทางกฎหมายที่กล่าวว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม" (Justice delayed, justice denied)

เมื่อนับรวมระยะเวลาตั้งแต่สมบุญยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 มาจนถึงวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานได้อ่านคำพิพากษารวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 11 ปี 25 วันแม้จะยาวนานเกินทศวรรษแต่คดีนี้ก็ยังไม่ยุติ ตามคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน มีผลให้ศาลแรงงานกลางต้องไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง

สมมุติว่าในท้ายที่สุด ศาลมีคำตัดสินให้โรงงานทอผ้ากรุงเทพต้องรับผิดชอบในโรคปอดฝุ่นฝ้ายที่เกิดขึ้นกับสมบุญและเพื่อนคนงาน แต่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำหรือไม่ว่าผู้เสียหายได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว

 

…………………………………………

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารกฎหมายใหม่ ปีที่ ฉบับที่ 80  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท