Skip to main content
sharethis


(ที่มาของภาพ : สำนักข่าวชาวบ้าน)


 


ประชาไท - 8 ก.ค. 50 ตามที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ถูกทหารควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึก ขณะปราศรัยที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงราย เมื่อคืนวันที่ 6 ก.ค. และนำไปควบคุมที่ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. วานนี้ (7 ก.ค.) นั้น ได้มีนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรภาคประชาชนในภาคเหนือแสดงทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทหารดังกล่าว


 


ชี้เป็นบทเรียนสังคมไทยที่ปล่อยทหารครองอำนาจ


โดย ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นบทเรียนสังคมไทยว่าการให้อำนาจทหารที่มากเกินไป จะคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลายกรณีมีการใช้กฎอัยการศึกอย่างเลอะเทอะ มีการหยิบมาใช้ตลอดกับชาวบ้าน เช่น ปิดกั้นการชุมนุมของชาวบ้านปากมูนด้วยกฎอัยการศึก นี่จึงเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับสังคมไทย ที่ชอบเห็นทหารเป็นฮีโร่และเป็นบทเรียนในอนาคตสำหรับการออกกฎหมายความมั่นคงภายในที่จะเพิ่มอำนาจให้กับทหาร


 


"และสะท้อนให้เห็นว่าถ้าทหารเข้ามาในการเมืองไทยเมื่อไหร่ บุคลิกของทหารที่เราจะเห็นคืออำนาจนิยม" ผศ.สมชายกล่าว


 


เรียกร้องภาคประชาชนไปอยู่กินกับทหารพึงสำเหนียก


คณบดีคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีเหตุการณ์รูปธรรม ที่มีการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน คนทั้งหมดที่เคยเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพต้องออกมาปกป้องให้ความเห็นต่างต้องได้รับการปกป้อง คนเห็นต่างจากเราต้องมีสิทธิพูดได้


 


"คนที่เคยทำงานภาคประชาชนแล้วไปอยู่กินกับทหารต้องสำเหนียกให้ดีว่า ครั้งหนึ่งตัวเขาเคยเป็นเสียงข้างน้อยพูดอะไรไม่ได้ พอได้เป็นเสียงข้างมากแล้วพูดเสียงดังแต่มองไม่เห็นคนคิดต่าง ก็ไม่ต่างไปจากเผด็จการนั่นเอง" ผศ.สมชายกล่าวในที่สุด


 


สุริยันต์เชื่อทุกคนมีสิทธิคัดค้านเผด็จการ-ทหารไม่ควรใช้กฎอัยการศึก


ขณะที่ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP) และกองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวว่า ตนไม่รู้รายละเอียดว่านายสมบัติ บุญงามอนงค์ รณรงค์เรื่องอะไรจึงถูกจับ แต่โดยหลักการ ตัวเขาเข้าใจเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในสิ่งที่นายสมบัติเชื่อคือ เรียกร้องประชาธิปไตย คัดค้านเผด็จการรัฐประหาร ซึ่งตนเห็นว่าหลักยึดมั่นคัดค้านเผด็จการก็เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ แม้ว่าทหารจะอ้างเหตุรัฐประหารว่าจะมาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แต่ทหารก็ต้องพิสูจน์ให้คนเห็นว่าทำดีจริงๆ ไม่ใช่ทำรัฐประหารแล้วมาอ้างว่าทำความดี


 


กองเลขานุการ สกน.กล่าวว่า ถ้ามีการปราศรัยพาดพิงสุรยุทธ์ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) หรือสนธิ (พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน) จริง ในทางกฎหมายคนเหล่านี้ก็มีสิทธิปกป้องตัวเอง สามารถแจ้งความหมิ่นประมาท เพื่อดำเนินคดีได้อยู่แล้ว การใช้กฎอัยการศึกกับเรื่องที่ไม่เข้าข่าย จึงเหมือนใช้เป็นเกราะกำบังปกป้องตัวเองมากกว่า ซึ่งแบบนี้เท่ากับละเมิดสิทธิของประชาชน กฎอัยการศึกน่าจะใช้ในกรณีความมั่นคง ไม่ควรนำมาใช้กับสิทธิเบื้องต้นเรื่องการแสดงความเห็นทางการเมือง


 


คนจะไม่เชื่อมั่นถ้าหัวแถวอ้างประชาธิปไตย แล้วหางแถวไม่ทำตาม


คณะผู้ยึดอำนาจรัฐปัจจุบันอ้างประชาธิปไตย อ้างเสรีภาพ ดูจากที่นายกรัฐมนตรี หรือประธาน คมช. บอกว่าสถานการณ์ตอนนี้ดีกว่ารัฐบาลที่แล้ว สิทธิเสรีภาพจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นการที่หัวแถวพูดเรื่องครรลองของประชาธิปไตย การใช้เสรีภาพของประชาชน แล้วหางแถวไม่ปฏิบัติตาม อาจทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการใช้อำนาจของรัฐบาลปัจจุบันได้


 


นอกจากนี้นายสุริยันต์ ยังกล่าวอีกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนสามารถจะวิจารณ์และแลกเปลี่ยนกันทางสังคมได้ ถ้า คมช.ทนฟังไม่ได้มันก็เข้าข่ายเหมือนรัฐบาลชุดที่แล้วที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน


 


"รัฐบาลหรือผู้ถือกุมอำนาจรัฐปัจจุบัน ไม่ควรสร้างภาวะวิกฤติศรัทธาที่อาจนำไปสู่การไม่ไว้วางใจของประชาชนมากกว่านี้ ยิ่งในช่วงใกล้เข้าสู่เงื่อนไขระยะเวลาคืนอำนาจก็ควรจะใช้วิธีคืนอำนาจสู่ประชาชนอย่างสันติวิธี และทหารควรหาวิธีกับกรมกองที่สันติวิธีด้วยเช่นกัน" นายสุริยันต์กล่าวในที่สุด


 


ผู้นำเกษตรกรหวั่นใช้กฎอัยการศึกเหวี่ยงแหกลายเป็นเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสี


นายสมศักดิ์ โยอินชัย แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) กล่าวถึงสถานการณ์คงกฎอัยการศึกในภาคเหนือเอาไว้ว่าที่ผ่านมา พี่น้องชาวบ้านที่เคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาของเขา เช่น เรื่องหนี้สินเกษตรกร หรือที่ทำกิน จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพอสมควร แต่ชาวบ้านไม่วิตกอะไรมาก


 


การที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ถูกจับเพราะปราศรัยกระทบต่อ คมช. หรือคณะทำการรัฐประหาร ซึ่งในเชียงใหม่ก็เคยมีหลายกรณีที่ถูกจับไป ซึ่งถือเป็นความไม่เป็นธรรมที่ออกมากักตัวคน เหมือนไม่ให้สิทธิเสรีภาพ ไม่ให้ชาวบ้านได้พูดได้จา ซึ่งการไม่ให้เสรีภาพ ไม่ยอมความเห็นที่แตกต่าง เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ภายใต้ระบบประชาธิปไตย ตอนนี้ภายใต้กฎอัยการศึก อาจมีการเหวี่ยงแห ทำให้คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ได้รับเคราะห์ไปด้วย ซึ่งต่อไปในอนาคตก็ไม่แน่ว่าอาจมีการใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสีกัน นายสมศักดิ์กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net