Skip to main content
sharethis

ประชาไท -  9 ก.ค.50   ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเวทีวิชาการเรื่อง การบังคับใช้สิทธิ กับ ปัญหาการเข้าถึงยา : มุมมองด้านกฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศ โดยมี รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวูลองกอง ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิบัตรไม่กี่คนในเมืองไทยมาบรรยายพื้นฐานความรู้เรื่องนี้ หลังจากกระทรวงสาธารณสุขไทยเพิ่งประกาศใช้ซีแอลกับยาต้านไวรัส 2 ตัว ยาโรคหัวใจ 1 ตัว ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตัวเดียวคือ ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวแลนซ์


 


ซีแอล ใช้ได้หลายรูปแบบ


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า การบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) เป็นมาตรการที่มีอยู่ในข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ทริปส์) ขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) หมายถึง การอนุญาตให้ใช้สิทธินำเข้าหรือผลิตยาโดยอำนาจรัฐ โดยไม่ต้องมีความยินยอมของผู้ทรงสิทธิ แลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทนการใช้


 


ซีแอล มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ การขอใช้โดยเอกชนและการบังคับใช้โดยรัฐ  โดยเหตุผลของการใช้มาตรการนี้มีได้หลายประการ เช่น บังคับใช้งานในประเทศ คือ การบังคับให้บริษัทเข้ามาผลิตสินค้าในประเทศด้วยไม่ใช่เพียงนำเข้า, การใช้โดยรัฐบาล แบบที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ขณะนี้ ซึ่งเข้าเงื่อนไขตรงที่ไม่ได้ทำไปเพื่อการค้า, การปฏิเสธการอนุญาตให้ใช้สิทธิ กรณีนี้ทำกันมากในประเทศพัฒนาแล้วเช่น เยอรมนี ที่มีศักยภาพในการต่อยอดสิ่งที่คิดค้น ซึ่งสามารถนำมาจดสิทธิบัตรได้แต่จะขายไม่ได้, เยียวยาการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขัน ฯ


 


สหรัฐใช้ซีแอลมากที่สุดในโลก


"จริงๆ สหรัฐเป็นประเทศที่ใช้ซีแอลมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ซีแอลของสหรัฐซ่อนอยู่ในกฎหมายอื่นๆ เช่นในกฎหมายพลังงาน กฎหมายปิโตรเลียม และไม่ได้เรียกชื่อย่างที่คนอื่นเรียก"


 


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ในกรณีของไทยนั้นเป็นการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ Government Use ซึ่งตามกติกาแล้วไม่จำเป็นต้องเจรจากับบริษัทก่อน แต่ประเด็นการเจรจากลับเป็นประเด็นที่โดนบริษัทยาโจมตีมาก ในประเทศไทยเคยมีตัวอย่างที่ให้น้ำหนักกับการเจรจามากแบบที่บริษัทยาต้องการเมื่อครั้งที่พยายามจะทำซีแอลกับยาต้านไวรัสดีดีไอเมื่อปี 2544 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นให้มีการเจรจากับบริษัทยาก่อน ผลปรากฏว่า 3 เดือนผ่านไปยังหาวันประชุมที่ลงตัวไม่ได้ และช่องว่างราคายาที่ต่างฝ่ายต่างต้องการก็ห่างกันมากจนไม่รู้จะต่อรองอย่างไร


 


ส่วนกรณีการประกาศซีแอลที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ เห็นว่า รัฐบาลไทยค่อนข้างเตรียมตัวมาดี ความเห็นจากฝ่ายรัฐเข้าเป้าพอสมควร จึงเชื่อได้ว่ามีการเตรียมตัวไม่ต่ำว่าปีสองปี โดยบุคคลหลักที่เห็นได้ว่ามีความพยายามศึกษาและผลักดันซีแอลมาในรัฐบาลหลายสมัยคือ นพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ


 


กระบวนการเชือดไทยให้ประเทศอื่นดู


สำหรับแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากสหรัฐโดยเฉพาะการขู่จะจัดอันดับประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับไทยใหม่ให้ไปอยู่ในระดับต้องจับตามมองเป็นพิเศษนั้น  รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ใช้ซีแอลไม่ว่าจะเป็นซิมบับเว มาเลเซีย อินโดนีเซีย กระทั่งบราซิล ซึ่งโดนสหรัฐฟ้องใน WTO กรณีใช้ซีแอลกับยาต้านไวรัส แต่สุดท้ายสหรัฐต้องยอมถอนคดีเพราะโดนกดดันจากนานาประเทศ แต่ท้ายที่สุดบราซิลก็ไม่ได้ใช้ซีแอล เพราะบริษัทยายอมลดราคา


 


"ในกรณีเหล่านี้ไม่เป็นข่าวมากนัก แต่พอเป็นไทยกลับเป็นข่าวโด่งดัง นั่นเพราะเป็นประเทศเสรีนิยม และจะเป็นต้นแบบให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเสรีนิยมทั้งหลายทำตาม นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรกที่ใช้ซีแอลกับยาที่ไม่ใช่ยาเอดส์ บริษัทจึงกลัวว่าซีแอลจะขยายไปสู่ยาหลากหลาย"


 


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ยังกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริษัทยาว่า ตั้งแต่ปี 2536-2550 บริษัทใช้งบประมาณในการทำการวิจัยและพัฒนายาเพิ่มขึ้น 147% แต่กลับมีคำขออนุมัติยาใหม่ต่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐเพียง  7% เพราะคำขอส่วนใหญ่เป็นคำขอสิทธิบัตรในยาตัวเดิมที่ปรับเปลี่ยนใหม่เพียงนิดหน่อย และหมดงบไปกับการโฆษณา นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ายาที่บริษัทสนใจผลิตนั้นเป็นยาที่แก้ปัญหาสาธารณสุขกับประเทศอุตสาหกรรมทั้งสิ้น โดยยาที่อนุมัติในรอบ 25 ปีมีจำนวน 1,393 ตัว แต่มีเพียง 13 ตัวที่เป็นยาเกี่ยวกับโรคในประเทศเขตร้อน


 


"เราคุ้มครองสิทธิบัตรเขาเพื่อให้เขาได้กำไรไปพัฒนายารักษาคนในแถบประเทศอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ มีแค่ 13 ตัวที่เป็นโรคเขตร้อน และใช่ว่าเราจะเข้าถึงมันได้ง่าย ยังต้องขึ้นกับกำลังซื้อเราด้วย แล้วเราได้อะไรในการคุ้มครองสิทธิบัตรให้บริษัทได้ผูกขาด"


 


คุ้มครองสิทธิบัตรยาให้เหมาะกับ "ตัวเอง"


รศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าวว่า ถ้าจะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาก็ควรเป็นการวิจัยที่เราได้ประโยชน์ การมีสิทธิบัตรช่วยให้บริษัทใหญ่เติบโตแต่ขณะเดียวกันก็ทำลายบริษัทขนาดเล็ก สิทธิบัตรที่จะมีในประเทศกำลังพัฒนาแบบไทยจึงควรมีในระดับไม่สูงเกินไป ทำให้บริษัทขนาดเล็กวิจัยและพัฒนาได้ สามารถใช้ซีแอลเพื่อจำกัดการผูกขาดได้ สำหรับกรณีของยายิ่งควรลดลงมา โดยการใช้ความยืดหยุ่นที่มีอยู่ในทริปส์


 


"สำหรับแรงกดดันต่อไทย ผมนั่งดูด้วยความเศร้าใจว่า จีเอสพี (สิทธิประโยชน์ทางการค้า) ก็ยังเป็นประเด็นอีก จริงๆ เราน่าจะทบทวนกันใหม่ว่าควรพึ่งจีเอสพีหรือเปล่า" รศ.ดร.จักกฤษณ์กล่าวและว่า เรื่องการจัดอันดับประเทศที่ต้องจับตาเรื่องละเมิดสิทธิบัตรนั้นสหรัฐทำได้ แต่สหรัฐจะไม่กล้าจับใครขึ้นชั้นที่ต้องตอบโต้ทางการค้าทันที (พีเอฟซี) และไม่กล้าลงโทษ เพราะขัดกับดับบลิวทีโอ หากจะลงโทษประเทศอื่นด้วยกฎหมายภายในโดยไม่ผ่านกระบวนการระงับข้อพิพาทของดับบลิวทีโอเท่ากับละเมิดพันธกรณี และถ้าสหรัฐทำเช่นนั้นไทยก็ควรฟ้องดับบลิวทีโอ


 


"ฉะนั้น อย่าไปเต้น ควรเดินหน้าซีแอลต่อไปสำหรับยาจำเป็นอีกบางตัวที่อาจจำเป็นต้องประกาศเพิ่ม ที่เราทำมันถูกเงื่อนไขระหว่างประเทศทุกประการ เขาไม่สามารถลงโทษเราได้ ยกเว้นจีเอสพี ซึ่งเราควรเลิกรับบริจาคได้แล้ว มิติปัญหาการเข้าถึงยามันใหญ่กว่าเรื่องสิทธิบัตร"


 


อินเดีย-อนาคตของประเทศยากจนกำลังถูกท้าทาย


นอกจากนี้เขายังระบุถึงปัญหาในภาพรวมของโลกว่า ขณะนี้อินเดียซึ่งผลิตยาสูตรสามัญราคาถูกซึ่งมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของตลาดโลกกำลังจะต้องปรับกฎหมายให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดตามเกณฑ์ของดับบลิวทีโอ หากอินเดียสนับสนุนวัตถุดิบไม่ได้ ไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะมีปัญหามาก นอกจากนี้ยังมี patent ever-greening หรือสิทธิบัตรไม่มีวันตายซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ว่าจะจัดการอย่างไร ในขณะที่เรื่องทริปส์ผนวกนั้นน่าจะชะงักไปนานเนื่องจากยังไม่มีการรื้อฟื้นเอฟทีเอกับสหรัฐและการเมืองของสหรัฐก็เริ่มเปลี่ยน


 


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ นำเสนอทางออกว่า หากยาจากอินเดียที่ไทยต้องการเกิดติดสิทธิบัตร ทางแก้ก็คืออินเดียต้องใช้ซีแอลด้วยกับยาตัวนั้น โดยในกฎหมายใหม่ของอินเดียเขาสามารถใช้ซีแอลและส่งออกยาไปยังประเทศที่ไม่มีศักยภาพด้านยาได้ และประเทศที่จะนำเข้าก็ต้องออกซีแอลเพื่อนำเข้ายาตัวนั้นด้วย


 


"สิ่งเหล่านี้ต้องมองเป็นหนึ่งเดียว ต้องมองว่าจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างไร ต้องร้องเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการอะไร ใช้ซีแอลพร้อมๆ กัน แล้วไม่กลัวแรงกดดัน"  


 


ซีแอลไม่ใช่มาตรการที่ยั่งยืน


"โดยสรุป ซีแอลเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ยากที่จะใช้ และจะยากยิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากตัวยาจะไม่มี เงื่อนไขทางการเมืองก็จะยากขึ้น โดยเฉพาะในเงื่อนไขแบบประชาธิปไตย ตัวแปรจะมาก เราจึงต้องมองไกลกว่ากฎหมาย ยกตัวอย่างออสเตรเลียที่มีราคายาถูกที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีระบบพีบีเอส ซึ่งเราควรดูตัวอย่าง"


 


จัดระบบสาธารณสุขและกฎหมายป้องกันการผูกขาดคือความหวัง


เขาขยายความว่า โครงการสิทธิประโยชน์ด้านเวชภัณฑ์ หรือพีบีเอส นั้น  บริษัทยาที่จะขายยาให้กับรัฐต้องเสนอราคาผ่านคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลที่จะทำการเปรียบเทียบกับราคาที่ขายในประเทศต่างๆ แล้วเลือกสินค้าที่ถูกและดี โดยที่ออสเตรเลียมีองค์การอาหารและยาที่แข็งแกร่ง และยังบังคับให้บริษัทยาที่เสนอราคาเข้ามาต้องเปิดเผยโครงสร้างราคายาด้วย"


 


นอกจากนี้ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ยังเสนอว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายที่ป้องกันการผูกขาดต้องนำมาปรับแก้และใช้ให้ครอบคลุมถึงยาและอาหารด้วย ซึ่งกฎหมายป้องกันการผูกขาดน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าซีแอล หรือหากจะต้องใช้ซีแอลก็ควรผลักดันให้เป็นแบบบังคับให้มีการผลิตในประเทศมากกว่า


 


อย่างไรก็ตาม ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในตอนท้ายว่า จะฝากความหวังไว้ที่กฎหมายแข่งขันทางการค้าได้อย่างไร ในเมื่อกระทรวงที่ดูแลด้านนี้ ไม่เคยมีพฤติกรรมต่อต้านการผูกขาดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีแต่จะเข้าข้างกลุ่มทุนขนาดใหญ่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net