Skip to main content
sharethis

นายธีรภัทร์  เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าครม.มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์


 


โดยมีวัตถุประสงค์ที่ สำคัญคือ 1. เป็นการจัดระบบและระเบียบให้กับสื่อสารมวลชน ซึ่งปัจจุบันกฎหมายเดิมออกมาตั้งแต่ปี 2498 แม้มีการปรับปรุง เมื่อปี 2530 ก็ยังเป็นกฎหมายที่ล่าสมัย ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและพัฒนาการในอนาคตข้างหน้า จึงต้องออกกฎหมายที่รองรับเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันที่ไม่มีกฎหมายรอง รับ เช่น วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี และ


 


2.เป็นส่วนในเรื่องปฏิรูปสื่อสารมวลชนทั้งระบบที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองและสังคมในอนาคตข้างหน้า


 


สาระสำคัญแบ่งการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ออกเป็น 2 ประเภท คือ การประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรทัศน์ผ่านดาว เทียม และกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เช่น สื่อตามสาย เคเบิลทีวี


 


โดยมีการออกใบอนุญาติ 3 ประเภทคือ


 


1. ใบอนุญาติประกอบกิจการสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความรู้ให้กับสาธารณะ การส่งเสริมวัฒนธรรม ศิลปะ ศาสนา สุขภาพ กีฬา และความ มั่นคงของรัฐ ทั้งนี้ผู้ขอใบอนุญาติต้องเป็นหน่วยงานเช่น องค์กรของรัฐ หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมหาชน สมาคมมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผล กำไร สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หรือมีความจำเป็นในการดำเนินกิจการกระจาย เสียงหรือโทรทัศน์


 


2.ใบอนุญาตให้กับการประกอบกิจการบริการชุมชน โดยให้กับผู้ประกอบการที่สร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น เป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่ รับบริการ ผู้ขอรับใบอนุญาติต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือกลุ่มคนในท้องถิ่นที่ทำประโยชน์เพื่อชุมชน


 


3. ใบอนุญาติเพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชาติสำหรับกิจการกระจายเสียงวิทยุหรือโทรทัศน์ที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทุกภาคของประเทศและระดับภูมิภาพใน กิจการที่มีพื้นที่ไม่เกิน 3 จังหวัด ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาติต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย


 


"เพราะปัจจุบันมีกิจการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาก เราต้องการจัดระบบให้ถูกต้อง โดยยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะสำเร็จออกมาได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย สู่การพัฒนาการทั้งคุณภาพและเนื้อหาสาระและเพื่อจะได้นำไปสู่การจัดระบบและยกระดับของสื่อสารมวลชน ในด้านการกระจายเสียงและโทรทัศน์ต่อไป รวมทั้งหากมีการองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ก็จะนำไปสู่การป้องกันการผูกขาดต่อไปได้ในอนาคต" นายธีรภัทร์ กล่าว


 


ในร่าง พ.ร.บ.ยังกำหนดคณะกรรมการผู้ออกใบอนุญาติ คุณสมบัติกรรมการผู้บริหาร ผู้มีอำนาจนิติบุคคล การขอใบอนุญาติ กำหนดอายุใบอนุญาติ กำหนดค่าธรรมเนียม การตั้งคณะ อนุกรรมการด้านจริยธรรม ด้านส่งเสริมและพัฒนาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์


 


นายธีรภัทร์ กล่าวว่า  เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินกิจการวิทยุหรือโทรทัศน์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น ASTV หรือ PTV จะต้องมายื่นหนังสือเพื่อขอรับใบอนุญาติ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาว่ากิจการนั้น ๆ เข้าข่ายกิจการประเภทใด ส่วนกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ต่อไปได้ จนกว่าอายุสัมปทานจะสิ้นสุดลง แต่เมื่ออายุสัมปทานสิ้นสุดลง ผู้ประกอบการก็ต้องมาขอรับใบอนุญาติเช่นกัน โดยกิจการกระจายเสียงมีอายุ 7 ปี ส่วนโทรทัศน์มีอายุ 15 ปี สำหรับสัดส่วนรายการจะจำแนกตามประเภทคือ ประเภทสาธารณะ ชุมชนและ ธุรกิจเอกชน จะต้องมีเนื้อหาสาระไม่น้อยกว่า 70% 70% และ 20% ตาม ลำดับ


 


ทั้งนี้สำหรับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) นั้น จำเป็นต้องให้รัฐธรรมนูญฉบับยกร่างในปัจจุบันผ่านการลงประชามติก่อน ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีเพียงองค์กรเดียวในการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งอาจจะยุบรวมกทช.และกสช.ไว้ด้วยกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนของการรับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์สามารถดำเนินการต่อเนื่องไปในช่วงที่ยังไม่มี กสช.ได้ โดยตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนและการประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (กวช.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการชั่วคราวมาดำเนินการใน ช่วงสั้น ๆ นี้


 


ในที่ประชุมครม.นั้น รัฐมนตรีหลายคนท้วงติงในรายละเอียดของร่างกฎหมายบางมาตรา  โดยเฉพาะมาตรา 25 เรื่องการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ซึ่งไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต และหลักเกณฑ์ และวิธีการในการยื่นขอรับใบอนุญาต เมื่อผู้ประสงค์จะประกอบกิจการได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดในวรรคที่หนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการได้ โดยรัฐมนตรีท้วงติงว่า "การเขียนกฎหมายในลักษณะอย่างนี้ เท่ากับเป็นการเอื้อให้กับเคเบิ้ลทีวีสถานีหนึ่ง ซึ่งมีข่าวว่า มีความใกล้ชิดกับรัฐมนตรีหรือเปล่า"


 


ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ ต่างท้วงติงในเรื่องของความมั่นคง โดยเฉพาะพล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ถึงกับกล่าวว่า "ร่างกฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้น ไม่ได้คิดถึงความมั่นคงของชาติ อยากให้นึกถึงความมั่นคงของชาติบ้าง"


 


ขณะที่นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า "หากร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไป จะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะอาจจะมีการใช้สื่อไปใช้ในการปลุกระดม"


 


รศ.วิทยาธร ท่อแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  แสดงความเห็นว่า ภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว รัฐบาลนี้น่าจะผลักดันให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อกฏหมายนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในภาวะการเมืองปกติได้ เนื่องจากมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะส่งผลให้สถานีวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี รวมทั้งสถานีวิทยุเอกชน สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายด้วย



 


 


ข้อมูลส่วนหนึ่งจาด สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net