Skip to main content
sharethis

ตอนที่แล้วได้พูดถึงความหลากหลายของกลุ่มมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสองกลุ่มใหญ่เป็นหลัก คือกลุ่มผู้ที่ยึดแนวทางของสำนักคิด หรือ มัซฮับชาฟีอีย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่มุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่ยึดถือมาตั้งการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาค กับกลุ่มวะฮาบีย์ ซึ่งเป็นขบวนการฟื้นฟูอิสลามในประเทศซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองกลุ่มเคยมีความขัดแย้งกันมาก่อน


 


ดังนั้นการเดินทางมาของ 2 ผู้นำศาสนาอิสลามระดับโลก คือ ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี (Dr. Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดของมหาวิทยาลัย อัล - อัซฮาร์ และผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ หรือ Grand Imam of Al Azhar กับศาสตราจารย์ ดร.อับดุลลอฮ อับดุลมุหซิน อัตตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม หรือ รอบีเตาะห์ ซึ่งมีนำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย น่าจะส่งผลดีต่อทั้งสองกลุ่มดังกล่าว


 


เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งสององค์กรมีบทบาทสำคัญทางด้านการศึกษาและการพัฒนาของมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ กับนักศึกษามุสลิมไทย


หากพูดถึงมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ แล้วชาวมุสลิมส่วนจะรู้จักกันดี เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษาทางศาสนาอิสลามเก่าแก่ มีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ไปศึกษาที่นั่น รวมทั้งจากประเทศไทยด้วย


 


มหาวิทยาลัย อัล - อัซฮาร์ แห่งนี้ ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกด้วย ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว โดยนักปราชญ์ชาวยิวที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เพื่อจะสอนศาสนาอิสลามตามแนวทางนิกายชีอะห์ แต่ต่อมาเมื่อผู้ปกครองอียิปต์เปลี่ยนมาเป็นผู้ที่ถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี่ย์ การจัดการเรียนการจึงเปลี่ยนมาตามแนวทางซุนนี่ย์ด้วย


 


(อ่านประวัติของมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ได้ที่..http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8615&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai บทความจากอับดุชชะกูร์ : ความสำคัญของ "อัลอัซฮาร์" ต่อมุสลิมและรัฐบาลไทย)


 


ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม ให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย


 


นายบรอเฮง ปายอดือราแม โต๊ะครูโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นคนหนึ่งที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย บอกว่า คนมุสลิมในชายแดนภาคใต้เริ่มเดินทางไปเรียนศาสนาที่นั่น เมื่อประมาณ 50 ที่แล้ว เป็นชาวอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส แต่ไปเสียชีวิตที่นั่นก่อนที่จะเรียนจบ คนต่อมากก็คือนายอูมาร์ ตอยิบ เจ้าของโรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามียะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดัง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส


 


หลังจากนั้นเป็นต้นมา จึงมีมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรียนที่นั่นจำนวนมากขึ้น ส่วนใหญ่เรียนจบระดับปริญญาตรี ส่วนระดับปริญญาโทก็มีบ้าง


 


แต่ในระดับปริญญาเอกนั้น โต๊ะครู บรอเฮง บอกว่า เท่าที่ทราบมีคนเดียวเป็นคนจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยในมาเลเซีย นอกจากนี้ก็ยังมีคนที่เรียนไม่จบกลับมาก็มีด้วย


 


ส่วนใหญ่คนที่เรียนจบวิชาศาสนาในประเทศแถบตะวันกลางนั้น จะกลับมาเป็นครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งต่างกับมุสลิมในภาคกลางที่จบมาแล้วจะทำงานในบริษัทเอกชน


 


แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีบริษัทเอกชนมากนัก คนที่จบกลับมาจึงต้องสอนหนังสือเท่านั้น ถ้าหากไม่มีตำแหน่งว่างก็จะไปสอนหนังสือในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะคนที่จบการศึกษาสูงๆ ซึ่งมีหลายคนที่ไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มาเลเซีย คนที่กลับมาเปิดปอเนาะหรือมาบริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็มี


 


ในช่วงหลังๆ มีนักศึกษาที่ไปเรียนในสาขาอื่นๆ ด้วย เช่น เรียนแพทย์ แต่มักจะเป็นมหาวิทยาลัยอื่น เช่น มหาวิทยาลัยอเล็กซานเดรีย เป็นต้น ถ้าจะเรียนสายศาสนาที่อียิปต์ ก็ต้องมาเรียนที่มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์


 


โต๊ะครูบรอเฮง บอกด้วยว่า เหตุที่มีมุสลิมเดินทางไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์จำนวนมาก เพราะเข้าเรียนง่ายไม่ต้องสอบชิงทุนให้ได้ก่อน เข้าเรียนก่อนแล้วค่อยสมัครขอทุนได้ ต่างกับของประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องสอบชิงทุนให้ได้ก่อนจึงจะไปเรียนได้


 


ที่มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ นักศึกษาจากประเทศไทยเกือบทั้งหมดจะได้รับทุนการศึกษาซึ่งมีทั้งค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียนและค่าที่พัก เพราะแต่ละปีมีคนบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ยิ่งช่วงหลังๆ รัฐบาลอียิปต์ได้ขุดพบก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจดี ก็ยิ่งทำให้ยอดบริจาคเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าครองชีพที่นั่นต่ำด้วย


 


ปัจจุบันมีการคาดการณ์กันว่า น่าจะมีนักศึกษามุสลิมจากประเทศไทยไปเรียนที่นั่นกว่า 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงไปเรียนทางด้านศาสนาอิสลามเป็นหลัก


 


บรอเฮง บอกว่า ก่อนที่จะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ ในหลักสูตรปริญญาตรีอิสลามศึกษานั้น ก่อนหน้านั้นได้เรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว ซึ่งเป็นคนแรกที่สอบชิงทุนจนได้ไปเรียนที่นั่นเมื่อปี 2508 โดยสละสิทธิ์ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ที่เคยสอบได้ เพราะไม่ต้องการเดินทางไปด้วยเรือซึ่งใช้เวลาหลายวัน ซึ่งในปีต่อมามีรุ่นน้องตามไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมาดีนะห์อีกหลายคน รวมทั้งนายสะแปอิง บาซอ เจ้าของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ที่จังหวัดยะลา


 


จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ ของอียิปต์มีบทบาทสำคัญต่อมุสลิมในประเทศไทยมาอย่างยาวนานและเป็นที่ยอมรับของประชาชนมุสลิมโดยเฉพาะในด้านวิชาการอิสลาม


 


แม้ว่าผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวมทั้งแห่งอื่นในประเทศตะวันออกกลาง หรือกลุ่มประเทศมุสลิม จะกลับมามีบทบาทสำคัญในสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังมีบางส่วนที่ถูกจับตามองจากฝ่ายรัฐ ว่าอาจนำแนวคิดที่รุนแรงกลับมาในเมืองไทยด้วย


 


จนทำให้บางคนถูกขึ้นบัญชีดำของทางการมาแล้ว ยิ่งเมื่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา



ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยจึงได้พยายามดึงการมีส่วนจากมหาวิทยาลัยอัล
- อัซฮาร์ เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อช่วยหนุนเสริมในเรื่องการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการศึกษาศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับความพยายามสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศมุสลิม ในการช่วยสอดส่งดูแลนักศึกษามุสลิมไทย มิให้รับแนวคิดที่รุนแรงกลับมาด้วย


 


ประกอบกับรัฐบาลไทยมีแนวคิดที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้นมา โดยต้องการเปิดสาขาอิสลามศึกษาขึ้น เพื่อเป้นทางเลือกหนึ่งในกับชาวมุสลิมในพื้นที่ ในการเลือกเรียนศาสนาอิสลาม โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ


 


ซึ่งเมื่อมีการประกาศจัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ในนราชกิจจานุเบกษาขึ้นมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 หลังจากนั้นเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกันทางผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางไปศึกษาดุงานที่มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ เพื่อสร้างความร่วมมือในด้านการเรียนการสอนอิสลามศึกษา โดยได้ข้อสรุปว่า ทางมหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์จะจัดส่งอาจารย์และนักวิชาการมาสอนที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสด้วย


 


ขณะนี้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้เปิดสอนสาขาอิสลามศึกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นรุ่นแรก มีนักศึกษาจำนวน 30 คน โดยมี ดร.หะสัน หมัดหมาน เป็นคณบดี


 


นอกจากนี้ล่าสุดรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ยังขอให้มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ เพิ่มทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทยที่จะไปเรียนที่นั่นด้วย ซึ่งแต่ละปีมีจำนวน 80 ทุน


 


ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงต่างประเทศ ได้เข้าไปดูแลนักศึกษาไทยที่นั่น อย่างเข้าถึงมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และทัศนะคติที่ดีต่อรัฐไทย


 


ล่าสุดสภาความมั่นคงแห่งชาติได้จัดทำยุทธศาสตร์การดูแลนักศึกษาไทยในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นนักศึกษามุสลิมไทยในประเทศตะวันออกลาง ปากีสถาน อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2550 ได้ยกคณะไปเยี่ยมนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์


 


 


สันนิบาติโลกมุสลิมกับมุสลิมไทย


ในส่วนองค์กรสันนิบาติโลกมุสลิม (World Muslim League) หรือ รอบีเตาะห์ เป็นองค์กรเอกชนนานาชาติ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2505 โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย มีหน้าที่เผยแพร่ศาสนา และปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม สาธารณกุศล และดูแล ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศต่างๆ


 


ในส่วนความสัมพันธ์กับประเทศไทยนั้น ในปี พ.ศ.2521 สันนิบาติโลกมุสลิม ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนไทยมุสลิมผ่านองค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ (International Islamic Relief Organization : IIRO) อาทิ การสนับสนุนทางการเงินแก่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า ผู้ประสบภัยพิบัติ การสร้างมัสยิด และซื้ออุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น


 


นอกจากนั้นที่ประชุมคณะมนตรีก่อตั้งสันนิบาตมุสลิมโลกในปี พ.ศ. 2547 เลขาธิการสันนิบาติโลกมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องมิให้ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และองค์กรต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วย


 


ครั้งนั้นยังระบุว่า การฆ่ามุสลิมและคนต่างศาสนิก เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาและการก่อการร้ายคือการทำลายบนผืนแผ่นดิน การฆ่า การสร้างความหวาดกลัว ทำลายสิ่งก่อสร้างบ้านเรือน ถือเป็นการทำสงครามกับอัลเลาะห์


 


ในส่วนบทบาทของมุสลิมไทยที่มีต่อองค์กรนี้ คือ มีสมาชิกมนตรีผู้ก่อตั้งสันนิบาติโลกมุสลิมที่เป็นคนไทยด้วย 2 คน จากทั้งหมด 61 คน คือ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2533 และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับการแต่งตั้งในปี 2540


 


อาจารย์มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา บอกว่า ก่อนที่ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะเป็นสมาชิกสภามนตรีก่อตั้งสันนิบาติโลกมุสลิมนั้น ได้ชาวอียิปต์คนหนึ่ง ชื่อเช็คอาลี อีซา เข้ามาอาศัยอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเขาเป็นกรรมการสภามัสยิดโลก ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสันนิบาติโลกมุสลิมด้วย


 


เช็คอาลี อีซา ทำงานให้ความช่วยเหลือนักวิชาการมุสลิมในประเทศไทย เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพื่อให้ได้รับเงินสนับสนุนรายเดือน ตั้งแต่เดือนละ 1,000 บาท จนถึง 10,000 บาท คนที่ได้รับเงินช่วยเหลือมีอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งโต๊ะอิหม่ามหรือครูสอนศาสนาอิสลามด้วย


 


ต่อมาเมื่อ ดร.อิสมาอีลลุตฟี ได้รับแต่งเป็นสมาชิกสภามนตรีก่อตั้งสันนิบาติโลกมุสลิม จึงสืบสานงานต่อจากเช็คอาลี อีซา โดยเงินช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจากองค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติเช่นกัน


 


ในช่วงแรกๆ ประมาณ 10 ปีที่แล้ว สันนิบาติโลกมุสลิมให้การสนับสนุนโครงการก่อตั้งวิทยาลัยอิสลามยะลาผ่านองค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติ ปีละประมาณ 5 - 10 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี จนปัจจุบันสามารถจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้


 


อาจารย์มัสลัน บอกต่อว่า ที่จริงสันนิบาติโลกมุสลิมได้ให้เงินสนับสนุนแก่โรงเรียนเอกชานสอนศาสนาอิสลามเกือบทุกแห่งในประเทศไทย มากหรือน้อยแตกต่างกัน ซึ่งในการขอรับการสนับสนุนนั้น ดร.อิสมาอีลุตฟี จะเป็นคนลงนามรับรองในฐานะสมาชิกสภามนตรีก่อตั้งสันนิบาติโลกมุสลิม


 


รวมทั้งการขอรับทุนการศึกษา เพื่อไปเรียนต่อที่ประเทศแถบตะวันออกกลางเช่นกัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย คูเวต เป็นต้น ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะเป็นคนออกหนังสือรับรองให้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอง บางครั้งทางมหาวิทยาลัยจะติดต่อไปยังโรงเรียนเป้าหมายโดยตรงก็มี


 


ส่วนการสนับสนุนทุนการศึกษาของสันนิบาตโลกมุสลิมนั้นก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเรียนที่ประเทศใด ไม่ว่าประเทศอียิปต์, ซูดาน หรือจอร์แดน และใครมาขอก็ได้ หรือแม้แต่คนที่จะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ ก็เคยมาขอทุนเรียนที่นั่นด้วย


 


ในจำนวนนี้ผู้ขอรับทุนการศึกษาจากสันนิบาตโลกมุสลิมนั้น รวมนายอิสมาอีลลุตฟีด้วย ซึ่งขอรับทุนผ่านสันนิบาตโลกมุสลิม ในการศึกษาต่อปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยอิมาม มูฮำหัมมัด บินซาอูด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้คนที่สองที่จบปริญญาเอกจากประเทศซาอุดีอาระเบีย


ส่วนคนแรกคือ นายอิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีคนปัจจุบัน คนที่สามชื่อ ดร.ญีฮาด บูหงาตันหยง ซึ่งเสียชีวิตแล้ว คนที่ 4 คือ ดร.อับดุลฮาลิม ไซซิง ปัจจุบันเป็นคณบดี คณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา จากนั้นรุ่นต่อๆ มาก็มีอีกหลายคน


 


นั่นเป็นบทบาทส่วนหนึ่งของทั้งสององค์กรทางศาสนาที่สำคัญ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาและการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อมุสลิมในจังหวัดชายแดภาคใต้มาอย่างยาวนาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net