Skip to main content
sharethis

บทบรรณาธิการ


ภายใต้ยุคสมัยที่มนุษย์ลดทอนสรรพสิ่งต่างๆ รวมถึงตัวมนุษย์เองให้เหลือเป็นเพียงตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย หรือการดำรงอยู่


คนธรรมดาสามัญก็ดูเหมือนจะไม่ต่างอะไรกับตัวเลขตัวหนึ่งบนหน้ากระดาษหรือมุมมองของรัฐ (ประชาชาติ) เสียง ความรู้สึก หรือแม้แต่ความคิด ของคนธรรมดาสามัญเหล่านี้ ได้ถูกลดทอน ปิดบัง ซ่อนเร้น ภายใต้ความลวงว่าเขายังคงเป็นสมาชิกของสังคมหรือของรัฐ


กลายเป็นเสียงเพรียกที่ไม่มีใครได้ยิน เป็นภาพอีกแง่มุมที่ไม่มีใครได้เห็น เป็นความคิดที่ถูกอำพราง


เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า เราจะสามารถเข้าใจสังคมโดยรอบหรือปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ หรือปิดตาเพียงข้างเดียวต่อไปได้หรือไม่?


ความซับซ้อนของปัญหาในบางครั้งอาจมีต้นตอมาจากสิ่งง่ายๆ เพียงการไม่ยอมรับฟังเสียงอันหลากหลายของผู้คน  เป็นปัญหาที่เกิดจากการไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็นความแตกต่าง


เมื่อต่างคนต่างไม่เห็น ไม่รับฟัง ซึ่งกันและกัน ความเข้าใจก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก


เสียงอันสำคัญที่ถูกทำให้ไม่สำคัญ เสียงที่กังวาลในในจิตใจของผู้คนที่รัฐและคนอื่นไม่ยอมรับฟังหรือเมินเฉย


เราจะยอมรับฟังเสียงเหล่านี้และปลดปล่อยเสียงเหล่านี้ให้กังวาลก้องบนพื้นที่แห่งโสตประสาทของเราหรือไม่? เพื่อความเข้าใจในความหลากหลายและแตกต่าง


ในเมื่อโลกนี้มิได้มีเพียงเรา...


 


อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
เช้าตรู่ 20 มิถุนายน 2550


 


ก่อนเล่าเรื่อง


"สามจังหวัดชายแดนใต้" คือ คำเรียกขานที่เรามักจะได้ยินได้เห็นอยู่ทุกวันผ่านหน้าจอทีวีและพาดหัวข่าวประจำวัน ซึ่งมักสะท้อนภาพทหาร ตำรวจและนักข่าวที่กำลังปฏิบัติการเพื่อค้นหาหลักฐานจากเศษซากและคราบเลือดบนท้องถนน ท่ามกลางสายตาของกลุ่มคนที่แต่งกายพร้อมผ้าคลุมผมหรือผ้าโสร่งที่กำลังจ้องมองการปฏิบัติการอย่างใจจดใจจ่อ


"สามจังหวัดชายแดนใต้" จึงเปรียบประหนึ่งเป็นคำแทนเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นไปแล้ว


เราปฏิเสธไม่ได้ว่า  ในฐานะคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งความรุนแรงดังกล่าว การแสวงหาความปลอดภัยในชีวิตและปัจจัยในการอยู่รอดก็อาจเป็นการเพียงพอแล้ว ในขณะที่ภาพเหตุการณ์รุนแรงที่นั่น ยิ่งทำให้ คนนอกพื้นที่ อย่างเรา รู้สึกร่วมกันว่า...โชคดีไม่น้อยที่เราไม่มี ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงอยู่ในที่แห่งนั้น


เรามีความสุขอยู่ในบ้านของเรา


หากเราลองมองเพียงว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นเพียงพื้นที่หนึ่งที่ไม่ต่างกับตรอกซอกซอยในกรุงเทพฯ ท้องทุ่งโล่งชายฝั่งโขง ชายทะเลหม่นๆ ที่ภาคตะวันออก หรือดอยสูงลมหนาวทางภาคเหนือ ที่ต่างก็มีชีวิต มีรากเหง้า มีความขัดแย้ง และมีการพูดคุย  การใช้ชีวิตอันแสนธรรมดาๆ ของผู้คนธรรมดาๆ ในที่แห่งนั้นก็ยังกำลังคงดำเนินควบคู่ไปกับความรุนแรงที่ดำรงอยู่


หากแต่เราได้เห็นและได้สัมผัสหรือไม่?


ความเข้าใจของเราเป็นผลมาจากภาพความรุนแรงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายกระแส ทั้งจากที่ตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทว่าเรื่องธรรมดาๆ ที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ของผู้คนที่นั่นอาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หากเพียงแต่เราได้ยินพวกเขาพูดและเข้าใจพวกเขา


บางครั้ง เรื่องเล่าจากคนในพื้นที่ อาจสะท้อนความจริงได้ดีกว่าข่าวสาร บทวิเคราะห์ หรืองานวิชาการบางชิ้น ไม่เพียงเพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เท่านั้น หากแต่เรื่องเล่าจะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเคยเผชิญกับอะไรอยู่


แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้อาจไม่สามารถซึมซับได้ตามจอทีวีและพาดหัวข่าวประจำวัน


ความเรียงทั้ง 3 ชิ้น ซึ่งคุณกำลังจะพลิกอ่านต่อไปนี้เป็นของนักศึกษา 3 คน ในวิชาการพัฒนาสังคมมุสลิม (Muslim Society Development) หนึ่งในวิชาเลือกด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี นับเป็นงานเขียนที่สะท้อนความคิด ตัวตน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของเยาวชนในพื้นที่ "สามจังหวัดชายแดนใต้"


เขาและเธอทั้งสาม ต่างเป็นสมาชิกของของกลุ่มสังคมอันหลากหลายในพื้นที่แห่งนี้  หนึ่งเป็นมลายูมุสลิม หนึ่งเป็นพุทธเชื้อสายจีน และอีกหนึ่งเป็นไทยพุทธ


กองบรรณาธิการหวังเป็นยิ่งว่า คุณจะได้สัมผัสกับภาพของความจริงของชีวิตที่มีสีสัน สัมพันธภาพในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนไทยพุทธและมุสลิม แม้จะไม่ใช่ข้อมูลสถิติบาดเจ็บและตายอย่างที่คุ้นเคยกัน


เรื่องเล่าเหล่านี้เปรียบเป็นสายฝนพรำแห่งความเข้าใจที่โปรยปรายลงมาท่ามกลางไฟใต้ที่ลุกโชน และยังไม่รู้ว่าจะมอดลงเมื่อไหร่  


กองบรรณาธิการ


จุลสารกลุ่ม South - See


ภายใต้บริบทของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสภาพสังคมที่มีความแตกแยกทางความคิด ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมและคนต่างภูมิภาค กลุ่มเยาวชนที่มีความห่วงใยต่อสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจึงรวมตัวกันขึ้นเกิดเป็น กลุ่ม South-See และ กลุ่มเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเยาวชนจากหลายสถาบัน หลากหลายช่วงอายุและต่างสาขาวิชาเรียนเข้าร่วมทำกิจกรรม เพื่อต้องการทำความเข้าใจ และร่วมใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นทางกลุ่มจึงร่วมกันจัดทำจุลสาร "South-See" พร้อมสโลแกนที่ว่า "กลุ่มเล็กๆที่ทำกิจกรรมเล็กๆ ด้วยความหวังที่ยิ่งใหญ่" เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจและความห่วงใยให้เกิดขึ้นระหว่างคนในสังคม โดยหวังว่าพลังเล็กๆของเยาวชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น


 

เอกสารประกอบ

อ่านจุลสาร South See Vol 4

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net