Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ซาเสียวเอี้ย


 


เราต่างก็รู้ดีว่ามนุษย์กระจ้อยร่อยนั้นมีข้อจำกัดมากมายเหลือเกิน…


 


ในเวลาที่ป่วยไข้…หลายคนอาจเคยนึกเล่นๆ ว่าอยากให้ร่างกายของตัวเองกลายสภาพเป็นอะไรอย่างอื่นที่เข้มแข็งและทนทานต่อภาวะต่างๆ ที่เข้ามากระทบได้ดีกว่านี้ หรือเวลาที่ชิ้นส่วนของร่างกายเกิดชำรุดทรุดโทรม...บางคนอาจหวังในใจว่าถ้ามีอะไหล่มาเปลี่ยนได้เหมือนเครื่องจักรกลก็คงดี


 


ความพยายามของมนุษย์ที่จะก้าวข้ามขอบเขตจำกัดของร่างกายจึงถูกพัฒนาเป็นวิทยาการทางการแพทย์ต่างๆ นานา ที่จะทำให้ร่างกายของเรา "ทนทาน" ต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ การใส่อุปกรณ์เทียมที่ช่วยให้ระบบการทำงานในร่างกายได้ดีขึ้น การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ หรือแม้แต่โคลนนิ่งที่ยังเถียงกันไม่จบสิ้นว่ามันกระทบต่อ "ศีลธรรมอันดี" หรือไม่อย่างไร


 


จินตนาการถึงร่างกายที่สามารถ "กลายร่าง" เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจาก "กายเนื้อ" ของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในหนังหลายเรื่องก็เป็นการตอบสนองความพยายามที่จะเอาชนะขีดจำกัดที่ว่ามาแล้วเช่นกัน


 


ยอดมนุษย์ การกลายพันธุ์ และร่างกายที่สามารถเปลี่ยนรูป หรือ Transform เป็นอะไรอย่างอื่น จึงได้รับความนิยมอยู่เสมอ...


 



 


 


หนังฟอร์มยักษ์อย่าง Transformers หรือ "มหาวิบัติจักรกลสังหารถล่มจักรวาล" ในชื่อไทย ก็อยู่ในข่าย "จินตนาการ" ถึงร่างกายอันไร้ขีดจำกัด ต่างกันตรงที่ว่า แทนที่จะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีเลือดเนื้อและพลังเหนือมนุษย์ ผู้กำกับ Michael Bay กลับเลือก "หุ่นยนต์" ที่มีชีวิตจิตใจมาเป็นส่วนเติมเต็มความฝันของตัวเอง (และแฟนหนังแอ๊กชั่นอีกนับไม่ถ้วน)


 


ความแรงอีกอย่างที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดังไปทั่วโลก มีส่วนอย่างยิ่งจากความดังในอดีตของหุ่นยนต์แปลงร่างจากการ์ตูนเรื่อง Transformers ที่เป็นของเล่นในฝันของเด็กผู้ชายยุค 80"s-90"s ซึ่งปัจจุบันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวัยปลาย 20 หรือต้น 30 อันเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่และชัดเจนของหนังเรื่องนี้


 


และอาจเพราะผู้ชายถูกออกแบบ (หรือไม่ก็ถูกปลูกฝังมา) ให้ไปกันได้ดีกับความเร็ว ความแรง ความแข็งกระด้างของเครื่องยนต์กลไก ในขณะที่ผู้หญิงถูกตั้งโปรแกรมให้มีฟังก์ชั่นที่ตอบรับกับความละเอียดอ่อนและเรื่องจุกจิกหยุมหยิม


 


ความลุ่มหลงของมนุษย์ที่ส่วนใหญ่มีเพศสภาพเป็นผู้ชาย จึงมักจะทุ่มเทให้กับเครื่องยนต์กลไกและเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ มากกว่าผู้หญิง คอหนังส่วนใหญ่ที่มาดู Transformers จึงได้แก่ผู้ชายวัยอื่นๆ ที่ยังหลงใหลหุ่นยนต์กลไกและเครื่องจักรด้วย


 


พล็อตคร่าวๆ ของ Transformers จึงเป็นการพูดถึงสงครามระหว่างหุ่นยนต์มีชีวิตซึ่งมีวิวัฒนาการสูงกว่ามนุษย์โลกมากมายหลายเท่า แต่ดาวดวงนั้นของเผ่าพันธุ์หุ่นยนต์มีชีวิตก็ถูกทำลายจนย่อยยับด้วยน้ำมือของหุ่นกระหายสงครามนามว่า Megatron และการทำสงครามได้ทำให้ Cybertron หรือแหล่งพลังงานของดาวดวงนั้นสูญสลายไป


 


หุ่นยนต์ที่รอดชีวิตแบ่งออกเป็นสองฝ่าย (ง่ายๆ) คือ ฝ่ายดี - Autobots ที่ประกอบด้วยออพติมัสไพรม์, บัมเบิลบี, แจ๊ส ฯลฯ และ ฝ่ายเลว - Decepticons (เมกาตรอน, เฟรนซี, แบล็กเอาท์, บาริเคดฯลฯ) ที่ต้องการทำลายล้างทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานของตัวเอง...


 


ทั้งออโตบอทส์และดีเซปติคอนส์ต้องแสวงหาดินแดนใหม่และแหล่งพลังงานใหม่


 


และแน่นอนว่าดินแดนแห่งนั้นจะเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจากดาวเคราะห์สีฟ้าที่เราเรียกกันว่า "โลก"


 


สงครามระหว่างหุ่นยนต์ที่ต้องการ "ทำลายโลก" กับหุ่นยนต์อีกฝ่ายที่รักสงบและต้องการ "ปกป้องโลก" จึงเกิดขึ้น โดยมีโลกมนุษย์เป็นสนามรบ และมี "แซม วิทวิคกี้" (Shia LaBeouf) เด็กหนุ่มวัยรุ่นที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษนักสำรวจ คือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การสงบศึกระหว่างหุ่นยนต์ทั้งสองฝ่าย


 



 


นอกจากการต่อสู้ของหุ่นยนต์ซึ่งเป็นจุดขายหลักๆ แล้ว ดูเหมือนว่าผู้กำกับไมเคิล เบย์ จะพยายามผูกโยงประเด็นเรื่องมิตรภาพ คุณธรรมความดี และการต่อสู้กับฝ่ายอธรรม (ด้วยการใช้ความรุนแรง?) ลงไปในหนังแอ๊กชั่นไซไฟที่อุดมไปด้วยสเปเชียลเอฟเฟกต์เรื่องนี้ด้วย


 


เจ้าของเตนท์รถมือสอง (Burny Mac) ที่ขายรถยนต์คาเมโรเก่าๆ ให้กับแซมจึงพูดว่า "มีอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงมนุษย์และเครื่องยนต์เข้าด้วยกัน" และคนดูก็จะได้เห็น "ความผูกพัน" ระหว่างแซมและ "บัมเบิลบี" หรือรถคาเมโรที่เป็นออโตบอทส์แปลงร่างมาพิทักษ์รักษาความปลอดภัยของเขา


 


ประเด็นเรื่องมิตรภาพระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ที่ถูกใส่เข้ามา ทำให้นักดูหนังหลายคนที่ดูหนังเรื่องนี้บอกว่า "ประทับใจมาก" และหนังเรื่องนี้ก็ "สนุกมาก" ถ้าหากวัดจากความนิยมในหมู่ชน


 


แต่ในฐานะคนธรรมดาที่ไม่เคยมีหุ่นยนต์แปลงร่างเป็นของเล่นในวัยเด็ก (โดยมากจะชวนพี่ๆ น้องๆ ปีนต้นไม้เล่นหรือไม่ก็ตีปิงปอง เตะฟุตบอลมากกว่า) และไม่เคยผูกพันกับของใช้ไฮเทคหรือเครื่องจักรกลอะไรเลย นอกจากรถยนต์ญี่ปุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่ใช้มาได้หลายปี ทำให้ความผูกพันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ในเรื่องนี้ออกจะประดักประเดิดในความรู้สึก มากกว่าจะนึกคล้อยตามไปด้วยความซาบซึ้ง...


 


เพราะถ้าเกิดว่ารถยนต์ที่ใช้อยู่กลายร่างเป็นหุ่นยนต์จริงๆ เราคงมีเรื่องคุยกันไม่มากนัก และประเด็นหลักๆ คงเป็นเรื่องของน้ำมันที่อาจจะหามาเติมให้เต็มอิ่มไม่ค่อยได้...ซึ่งอันนั้นมันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าเกินไปที่เราดูแล "เพื่อน" ได้ไม่ดีนัก :-P


 


และถ้าหากจะว่ากันจริงๆ สิ่งที่ถูกเรียกว่าความผูกพันระหว่างมนุษย์อย่างแซมและหุ่นยนต์อย่างบัมเบิลบี ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการยัดเยียดมิตรภาพอย่างผิวเผินที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน


 


แซมเป็นแค่วัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องการจะมีรถยนต์เป็นพาหนะคู่ใจเอาไว้โชว์สาวที่ตัวเองปิ๊ง (Meagan Fox) การมีบัมเบิลบีจึงเป็นเรื่องผลประโยชน์ของแซมล้วนๆ ในขณะที่ของเก่าๆ ซึ่งไม่เท่ แต่น่าจะมีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น แว่นตาของปู่ทวดซึ่งเป็นนักสำรวจคนสำคัญตามท้องเรื่อง...กลับถูกแซมนำไปขายทอดตลาดอีเบย์ออนไลน์เสียอย่างนั้น


 


และถึงแม้ว่าในตอนท้าย แซมจะกลายเป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าออโตบอทส์บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว การผูกพันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ ยังต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายได้ประโยชน์เสมอ...


 


ยิ่งถ้ามองไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาสินค้าของเหล่าสปอนเซอร์ของหนังเรื่องนี้ต่างพาเหรดกันมาอวดศักยภาพในแต่ละฉากจนเกินพอดี มันก็อดทำให้รู้สึกไม่ได้ว่า Transformers เป็นเพียงแค่การกลายร่างของโฆษณาขายรถยนต์จากค่าย General Motors (GM) ที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของภาพยนตร์...ก็เท่านั้น


 


การผูกโยง "ความดี" และภาพลักษณ์ของเครื่องจักรกลที่อุบัติขึ้นเพื่อ "ช่วยเหลือมนุษย์" ของเหล่าออโตบอทส์ ซึ่งล้วนแปลงร่างเป็นยานพาหนะจาก GM จึงเป็นการ "จงใจขายของ" ที่ไม่เนียนเอาเสียเลย...


 


นอกจากนี้ การจงใจจิกกัดสังคมอเมริกันถูกนำมายัดๆ ไว้ในฉากต่างๆ ด้วย เช่น การล้อเลียนรัฐบาลเรื่อง "โครงการลับ" ต่างๆ ที่ให้พ่อแม่ของแซมออกมาพูดว่า "ที่นี่อเมริกา" คงไม่มีการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ขนาดนั้น หรือประเด็นเรื่องการรับผิดชอบภารกิจของเหล่าหุ่นยนต์ออโตบอทส์ "ตาสีฟ้า" ที่ต้องปกปักรักษามนุษย์ผู้ป่าเถื่อนและด้อยความเจริญ รวมถึงการทำงานของพนักงานให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ในอินเดียที่บริษัทข้ามชาติของอเมริกาว่าจ้างไว้ ไม่ต่างอะไรจากการ "ตั้งโปรแกรม" ซึ่งพนักงานเหล่านั้นไม่เคยใส่ใจบริบทอื่นใด และเกือบทำให้เหล่าทหารอเมริกันต้องตายในทะเลทราย...


 


มุกจิกกัดที่ถูกใส่เข้ามาทั้งหมด ไม่ได้ทำให้ Transformers มีความชัดเจนหรือคมคายในประเด็นทางสังคมเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด และในทางตรงกันข้าม มันทำให้เนื้อหาส่วนต่างๆ แยกออกจากกันอย่างเปล่าประโยชน์


 


หุ่นยนต์ที่เรียงรายกันมาปรากฏตัวใน Transformers จึงเป็นได้แค่เพียงการสนองต่อมความต้องการที่จะได้เห็นหุ่นยนต์ที่ตัวเองหลงใหลเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและทรงพลัง เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ที่มนุษย์ทำไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าทีมสร้างในส่วนของสเปเชียลเอฟเฟกต์ทำงานได้อย่างไร้ที่ติจริงๆ


 


ความสมจริงของหุ่นยนต์แปลงร่าง และการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว ช่วยให้เวลาสองชั่วโมงกว่าในโรงหนังไม่ทรมานจนเกินไปนัก แต่ถ้าถามว่ามีอะไรหลงเหลืออยู่ในหัวหลังจากเดินออกจากโรงได้ประมาณ 5 ก้าว ก็คงต้องตอบตามตรงว่าหูที่อื้อจากระบบเสียงในโรงหนัง เป็นเครื่องยืนยันเพียงอย่างเดียวว่ายังมีบางอย่างจากหนังเรื่องนี้หลงเหลืออยู่กับเรา...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net