สัมภาษณ์พิเศษ : เครือข่าย 19 กันยาฯ กับงานรณรงค์ครั้งใหญ่สุดในชีวิต "โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ"

สัมภาษณ์ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

อุเชนทร์ เชียงเสน, โชติศักดิ์ อ่อนสูง, อุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์

10 กรกฎาคม 2550

-------------------------------------------------

สัมภาษณ์โดย - มุทิตา เชื้อชั่ง, ณภัค เสรีรักษ์

ภาพโดย - คิม ไชยสุขประเสริฐ , จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์

 

 

 

เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บางคนส่งเสียงเฮ บางคนนิ่งอึ้ง บางคนน้ำตาซึม บางคนกระอักกระอ่วน รอดูท่าที ฯลฯ แต่หากยังจำกันได้ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนไม่เอารัฐประหารไม่กี่คน เป็น "หมูไม่กลัวน้ำร้อน" กลุ่มแรกก็ว่าได้ที่ออกมาจัดกิจกรรมต่อต้านคณะรัฐประหาร พร้อมสโกแกนสุดโต่งอันโดดเด่น "ไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับคณะรัฐประหาร" ท่ามกลางกระแสที่ผู้คนมากมายประนีประนอมหรือกระทั่งยินดีรับตำแหน่งใหญ่โตใต้ร่มเงาลายพราง

 

หลังจากนั้น กลุ่มก้อนแห่งการต้านรัฐประหารก็แตกขยายเป็นหลายแนวทาง เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวคนทำงานเครือข่าย 19 กันยาฯ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างเรื่องการขยายแนวร่วม จนกลุ่มนี้ห่างหายจากการจัดกิจกรรมไปพักหนึ่ง

 

มาถึงวันนี้ เครือข่าย 19 กันยาฯ กระโดดมาลงสนามทำการใหญ่ รณรงค์ "โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ" พร้อมยุทธศาสตร์การรณรงค์ที่เข้มข้น ทั้งลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ จัดทำโปสเตอร์ สติ๊กเกอร์ หนังสือคู่มือโหวตล้มรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร จำนวนมากเพื่อแจกจ่าย รวมถึงเปิดเว็บไซต์ www.wevoteno.net นับเป็นยุทธศาสตร์การรณรงค์ที่ค่อนข้างใหญ่โตแบบที่ไม่ได้เห็นมากนักในการทำงานของภาคประชาชน

 

คำถามสำคัญนอกเหนือจากความสงสัยเรื่องทุนรอนเกิดขึ้นหลายประการ การรณรงค์เช่นนี้มีความหวังเพียงไร เป็นยุทธศาสตร์การต้านรัฐประหารที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ต่างอย่างไรกับการไม่ไปลงประชามติเสียเลย หรือกระทั่งการไปฉีกบัตร ทำลายบัตรให้รู้แล้วรู้รอด การรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำคัญต่ออนาคตสังคมการเมืองไทยเพียงไร ฯลฯ

 

"ประชาไท" ชวนคนทำงานมานั่งคุยถึงเหตุผลที่มา ยุทธศาสตร์การรณรงค์ เลยไปถึงการวิเคราะห์สังคมการเมืองไทยที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ไม่ค่อยไหลเวียน... ก่อนจะตัดสินใจครั้งสำคัญ ....

 

 

 

0000

 

 

หลังรัฐประหารใหม่ๆ เครือข่าย 19 กันยาฯ ประกาศไม่ยอมรับ คมช. และจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับคณะรัฐประหาร ถึงวันนี้ รณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 อยากรู้ว่าจุดยืนของเครือข่าย 19 กันยาฯ ยังเหมือนเดิมหรือเปล่า นี่นับเป็นการหันมาสังฆกรรมหรือไม่ ?

อุเชนทร์ - เราเห็นธรรมนูญปกครองชั่วคราว มาตรา 32 แล้ว ก็รู้แล้วว่าท้ายที่สุดต้องมาเจอเรื่องประชามติ ว่ากันตามตรงตอนเราเคลื่อนไหวต่อต้าน ก็ไม่คิดว่าการเคลื่อนของกลุ่มเล็กๆ แบบนี้จะล้ม คมช.ได้จริง เพราะเรารู้ศักยภาพและข้อจำกัดของเรา ขณะที่ปีกอื่นๆ ของภาคประชาชนเป็นผู้สถาปนาระบบต่างๆ กับคณะรัฐประหาร มันจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ขึ้นต่อลำดับช่วงเวลา สิ่งที่เราทำในช่วงแรก เรากำลังพิสูจน์ว่าการต้านรัฐประหารเกิดขึ้นได้ แม้ในบรรยากาศที่ใครๆ ก็บอกว่าเกิดขึ้นไม่ได้ ต่างรอดูท่าที

 

ส่วนการประกาศเรื่องรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.49 เราประกาศชัดว่าจะล้มรัฐธรรมนูญ คมช. เพื่อเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา เป็นการปฏิเสธการรัฐประหาร และไม่ยอมให้การเมืองที่คณะทหารสร้างขึ้นสถาปนาขึ้นมาได้ ถามว่า มีความเปลี่ยนแปลงในจุดยืนหรือเปล่า มันไม่เปลี่ยน ตอนนี้เราประกาศชัดว่า การไม่รับรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่แค่ประเด็นเนื้อหา แต่เป็นเพราะที่มาและกระบวนการของมันด้วย หลายคนที่คิดว่าเราเปลี่ยน เพราะอาจเทียบกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นซึ่งโปรทักษิณ คนจึงเข้าใจผิด

 

โชติศักดิ์ - จุดยืนไม่ได้เปลี่ยน เราไม่ได้สังฆกรรมในแง่เจรจาต่อรอง ไม่เคยยื่นหนังสือ ส่วนการโหวตเป็นกิจกรรม พิธีกรรมหนึ่ง การจัดประชามตินี้มันอาจเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประหาร แต่มันก็เป็นวิธีทางหนึ่งที่เราจะไปล้ม เหมือนกับการชุมนุม ชุมนุมได้เราก็ชุมนุม สิ่งที่เราพูดทั้งหมดเราไม่ได้พูดกับรัฐ เราพูดกับประชาชนให้ไปโหวตล้ม

 

อุบลพรรณ - เราต้านรัฐประหารแต่แรก และเนื้อหามันก็สนับสนุนความไม่ชอบธรรมนั้นด้วย ประชามติ มันก็เป็นพื้นที่ต่อต้านที่เป็นรูปธรรมที่สื่อออกสู่สาธารณะมากที่สุดด้วย ถ้าล้มได้ ก็เป็นการบอกได้ว่าทั้งประเทศไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ถึงเราจะแพ้เราก็ต้องสู้ต่ออยู่แล้ว

 

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ท้วงว่า ท้ายที่สุดการประชามติเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจาก คมช. การไปรณรงค์โหวตไม่รับ ก็เข้าไปสู่กระบวนการของ คมช.?  (อ่าน)

อุเชนทร์ - ข้อท้วงติงนี้มีน้ำหนัก แต่เราก็มองต่างออกไป เพราะมั่นใจว่า 1. เราวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการจัดประชามติที่ไม่ยุติธรรม มัดมือชกแบบนี้ไปพร้อมกันด้วย 2. เรายังเห็นว่ามันเป็นช่องที่ประชาชนจะแสดงเจตจำนงปฏิเสธรัฐประหารได้

 

ก่อนหน้านั้นช่วงที่เราทะเลาะกันแล้วพักกันไปพักหนึ่งก่อนกลับมาคิดงาน เราพบข้อถกเถียงในเว็บ บางคนเสนอให้ฉีกบัตร ทำลายบัตร ถ้าอธิบายแบบอาจารย์สมศักดิ์เราก็คิดว่ามันตรงหลักการที่สุด แต่ว่าเราไม่กล้ารณรงค์ให้คนไปทำอย่างนั้น เพราะมันอาจติดคุกและอาจเกิดปัญหายุ่งเหยิงได้ นอกจากนั้นการทำอย่างนั้นก็ไม่ถูกนับคะแนน เป็นบัตรเสีย ถ้ามันแสดงผลว่าเขียนว่าอะไรบ้างก็โอเค แต่ประเมินแล้วคงยาก

 

เหมือนกันกับข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์ที่ไม่ให้ไปลงประชามติเลยมันก็ไม่ถูกนับเป็นคะแนนเช่นกัน อาจารย์สมศักดิ์มองว่าการรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญแบบเราจะเจอปัญหา 2 ประเด็น คือ 1. คุณแพ้แน่ๆ 2. ถ้าคุณแพ้แล้วมันจะบีบให้คุณต้องยอมรับผลของการตัดสินนี้ นี่เป็นโจทย์ที่หนักมาก เป็นราคาที่ต้องจ่าย แต่เราไม่คิดแบบอาจารย์สมศักดิ์ว่ามันจะแพ้อย่างสิ้นเชิง คนอาจจะโหวตไม่รับด้วยเหตุผลหลายอย่าง เราขอให้เหตุผลแบบเราเป็นเหตุผลต้นๆ เหตุผลหนึ่งในการไม่รับ และคนทำรณรงค์มันต้องเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่เสียงที่ไม่รับจะชนะ ถ้าประชาชนไม่รับมันเท่ากับประชาชนปฏิเสธ คมช.ไปในตัวด้วย

 

ถ้าแพ้ก็พร้อมจะยอมรับ และเป็นตามเกมส์ของผู้กำหนดวาระ

 

อุบลพรรณ - ไม่ใช่ มันเป็นแค่พื้นที่หนึ่งที่เราจะใช้เคลื่อนไหวต่อสาธารณะมากกว่า ถึงผลจะเป็นยังไง ที่มาของมันก็ไม่ชอบธรรม เราก็ต้องพูดเรื่องนี้ต่อ

 

โชติศักดิ์ - ถ้าโหวตรับชนะ มันก็จะทำให้เรารู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังรับได้กับรัฐประหาร รับได้กับดอกผลของรัฐประหาร เป็นส่วนที่จะเตือนสติเรา อย่างไรก็ตาม การยอมรับว่าโหวตแพ้เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับว่ารัฐประหารเป็นความชอบธรรมมันก็อีกเรื่องหนึ่ง สำหรับผมอาจยอมรับความพ่ายแพ้ เราไม่ได้โกงเลือกตั้ง ไม่ได้ใช้ภาษีของประชาชนในการโฆษณา ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้ข้อมูลครบถ้วน แต่ไม่ว่าอย่างไร ที่มาความไม่ชอบธรรมไม่สามารถแก้ได้ด้วยการโหวต

 

อุเชนทร์ - แพ้เป็นเรื่องปกติ เรามีกันแค่นี้อย่างที่เห็น ดิ้นรนทุกอย่างเท่าที่บุคลากร ทรัพยากรมี ขณะที่กติกามันไม่ยุติธรรม สิ่งที่ต้องทำให้คือต้องแฉเรื่องกระบวนการด้วย คู่ไปกับการรณรงค์ ซึ่งอันนี้ต้องขอบคุณข้อท้วงติงของอาจารย์สมศักดิ์

 

มันลักลั่นไหม กระบวนการไม่แฟร์แต่ก็ลงไปรณรงค์

โชติศักดิ์ - ตอนนี้การต่อสู้มันมี 2 แนวทาง คือ แนวทางของ นปก.ที่เน้นการชุมนุม กับของเราที่เน้นไปที่การลงประชามติ นปก.ก็ถูกบล็อกเต็มไปหมด ไม่ว่าคุณจะทำตรงไหนก็ต้องเผชิญกับความไม่แฟร์ แต่เราอาจเห็นต่างกับ นปก.บางจุด หรือมีศักยภาพไม่เหมือนกัน เราจึงคิดว่าใครๆ ก็สู้ท่ามกลางเวทีที่ไม่แฟร์ทุกๆ เวที ขณะเดียวกันเราก็พยายามบอกสังคมว่าเวทีมันต้องแฟร์กว่านี้ เราคุยกับอธิการบดีธรรมศาสตร์ อสมท. กกต. ให้มีการจัดเวทีกลาง

 

รณรงค์กับประชาชนในต่างจังหวัดยังไง

อุบลพรรณ - วิธีการที่เราพยายามทำได้มากที่สุด เช่น ในการประชุมสมัชชา สนนท. ที่ผ่านมา ก็มีเพื่อนต่างจังหวัดมาเยอะ เราก็ส่งไปตามเครือข่ายนี้ กรณีปากมูลมีเสวนาที่จุฬาฯ ก็ติดต่อให้สื่อรณรงค์กับพี่ๆ ไปแจกต่อ เพราะคนพวกนี้เขารู้ดีว่ารัฐประหารมันแย่แค่ไหน

 

บรรยากาศในมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดกว้างต่อการรณรงค์ไหม อย่างโดมแดงไปติดโปสเตอร์ในธรรมศาสตร์ ก็เห็นถูกฉีก

อุบลพรรณ - ที่จุฬาฯ ในวันเปิดโลกกิจกรรม รับนิสิตใหม่ ผู้บริหารก็บอกเลยว่า ชมรม ชุมนุม ไหนที่เกี่ยวกับการเมืองไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ในศาลาพระเกี้ยว พวกเราก็เลยรณรงค์อยู่ข้างนอก นิสิตในจุฬาฯ ก็อาจจะมองว่าเราหัวรุนแรงบ้าง เพราะบรรยากาศที่นั่นไม่เคยตื่นตัวอยู่แล้ว แต่มันก็ช่วยกระตุ้นได้บ้าง มีการแจกใบปลิว คู่มือต้านรัฐประหาร มีคนให้ความสนใจพอสมควร เอาหนังสือไปอ่าน แล้วอาทิตย์ต่อมาก็กลับมาถามว่าทำไม เพราะอะไร มาแลกเปลี่ยนกัน

 

ที่ธรรมศาสตร์ เป็นยังไงบ้าง

อุเชนทร์ - เรามีแก๊งค์เตะบอลต้านรัฐประหารด้วยนะ คนที่ไม่เคยทำกิจกรรมมาก่อน แต่ไม่เอารัฐประหารก็มาร่วมกันด้วย เป็นกลุ่มโดมแดงที่ทำโน่นทำนี่ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ที่นี่ (คณะรัฐศาสตร์) ค้านรัฐประหารมากกว่าครึ่ง บางคนเอาเอกสารไปช่วยแจก เราเจอคนเล็กๆ หลายคนที่เข้ามาคุย น้องปริญญาตรีหลายคนก็ช่วยเป็นการ์ดเวลาชุมนุม ช่วยติดโปสเตอร์ เราก็ไม่ใช่ไม่อยากคิดใหญ่ๆ แต่ที่ธรรมศาสตร์องค์การนักศึกษามันเจ๊งไปนานแล้ว และไม่มีกลุ่มก้อนอะไรที่เคลื่อนไหว เราจึงเจอผู้คนที่กระจัดกระจาย มันอาจไม่ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับเรามันสำคัญที่คนได้เรียนรู้ ทำงานร่วมกัน

 

ส่วนที่สอง ชนะหรือไม่ชนะ วาระส่วนตัวเรา ต้องทำให้การไปมีส่วนร่วมกับเผด็จการของนักกิจกรรม คนที่อ้างตัวเองว่า "ภาคประชาชน" "นักประชาธิปไตย" เป็นบาปและคนไม่ยอมรับ อธิการบดีไปเป็น สนช. ก็ต้องถูกนักศึกษาด่าได้ พยายามจะสร้างบรรทัดฐานและวัฒนธรรมแบบนี้แล้วผลักไปเรื่อยๆ จนไปถึงจุดที่ว่าไม่ว่าปัญหาทางการเมืองจะมีความขัดแย้งอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย รัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แต่การคิดแบบนี้มันหวังผลวันสองวันไม่ได้

 

โชติศักดิ์ - ผมตอบแบบคิดใหญ่บ้างนะ เมื่อก่อนเราทำสื่อ ทำอะไรของเราที่มียอดพิมพ์หลักร้อยหลักพัน มันจึงไปอยู่เฉพาะในแวดวงปัญญาชน นักกิจกรรม แต่ผมคิดว่าการรัฐประหารด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เผยแพร่ความคิดให้ไปถึงประชาชน เพราะที่ผ่านมาหากมีแอ๊คชั่นอะไรอย่างมากก็อาจเป็นภาพข่าว หรือมีเนื้อข่าวนิดหน่อย ซึ่งไม่ได้อธิบายอะไรมากนัก ไม่ได้สื่อความคิดของเราไปถึงชาวบ้าน แต่การรณรงค์ที่มีการทำสื่อ หนังสือคู่มือต้านรัฐประหารเล่มเล็กๆ มันถูกแจกจ่ายไปเยอะ หลายๆ หมู่บ้าน ทั้งเครือข่ายที่เรามีและสุ่มกระจายไปตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

 

 

อุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์ , โชติศักดิ์ อ่อนสูง , อุเชนทร์ เชียงเสน

 

 

กลุ่มต้านรัฐประหารมีที่ทางในสื่อทั่วไปบ้างไหม แล้วประเมินบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในปัจจุบันยังไง

อุบลพรรณ -โดยส่วนตัวและแนวทางของพรรคแนวร่วมภาคประชาชนที่สังกัดอยู่ด้วย เราจะไม่สนใจพื้นที่สื่อมวลชนกระแสหลักมาก แต่จะสื่อกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่น การรณรงค์คัดค้าน ม.นอกระบบในหมู่นักศึกษา หรือที่เราทำงานกับกลุ่มย่านรังสิตและไทรอัมพ์ วันก่อนก็เพิ่งไปแจกใบปลิวในนิคมแถวพระประแดง ยามก็มาไล่ แต่เราก็ยังแจกจากด้านนอก แต่หลังจากนั้นสองวันก็มีทหารมาถามว่าเป็นใคร ทำอะไร

 

อุเชนทร์ -เวลาจะประเมินสื่อต้องเข้าใจบริบท รัฐประหารไม่ได้อยู่ดีๆ เกิดขึ้น แต่ส่วนหนึ่งเพราะภาคประชาชนพากันเกลียดทักษิณสุดๆ อะไรก็ได้ให้ทักษิณออกไป สื่อก็เลือกข้างก่อนหน้านั้นแล้วที่จะเอาทักษิณออกไป ฉะนั้น มันจึงไม่แปลกที่วันนี้ทุกคนกลัวทักษิณจะกลับมา ข้อเสนอเขาคือต้องกำจัดทักษิณให้ได้ โดยไม่แคร์ว่าระบอบจะเดินต่อไปยังไง เขาเรียกว่า พักชั่วคราวนานๆ ได้สำหรับระบอบประชาธิปไตยไทย

 

ดังนั้น การต่อต้านรัฐประหารก็คือการเรียกร้องให้ดึงระบบกลับมา ในแง่หนึ่งคุณทักษิณก็ย่อมได้รับการคุ้มครองไปด้วย เราต้องยอมรับว่าตุลาการรัฐธรรมนูญ คตส. เป็นสิ่งที่รัฐประหารตั้งขึ้นมา จึงต้องทำสิ่งที่ร่วมกันทำมาตั้งแต่ต้นในการกำจัดทักษิณ จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้านรัฐประหารถูกติดป้ายได้ง่ายๆ ว่า ลิ่วล้อทักษิณ สู้เพื่อทักษิณ ทั้งที่จริงๆ มีคนที่ต้านรัฐประหารด้วยเหตุผลเยอะแยะ คนที่เชียร์ทักษิณก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่อาจรวมคนได้มากที่สุด

 

คำถามของเราคือ คุณเป็นสื่อมวลชน ทหารบล็อกคนชุมนุม คุณไม่เคยรู้สึกอะไรบ้างหรือ เวลาคุณสู้เรื่องตัวเอง คุณรณรงค์ว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อเท่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ว่าเวลาที่ประชาชนที่รักทักษิณโดนมั่ง ไม่มีใครสนใจ ถามว่าเขายังมีความเป็นพลเมืองหรือเปล่า หรือว่าถ้าเขารักทักษิณ หรือถูกแปะป้ายว่ารักทักษิณ สิทธิทางการเมืองเขาจะต้องหมดไปด้วย

 

สำหรับผม ผมว่าสื่อตอนนี้มันห่วยเอามากๆ อาจมีบางคอลัมน์บ้างที่ยังโอเค แต่โดยรวมถือว่ามีปัญหา และวัฒนธรรมของสื่อพวกนี้ก็มีทั้งยอมให้เซ็นเซอร์ และเซ็นเซอร์ตัวเอง สื่อเป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง มีจุดยืนทางการเมือง ไม่ใช่ปัญหา แต่ท้ายที่สุดคุณต้องรายงานข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ไม่ใช่ชาวบ้านมาหลายพันบอกว่าไม่กี่ร้อย

 

ตอนนี้สื่อไหนมาพูดถึงสิทธิเสรีภาพสื่อ ผมรู้สึกจะอ้วก

 

บางทีรากของปัญหาคือ สังคมไทยไม่คิดว่าคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และไม่ว่ามีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างอย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเขาเป็นพลเมืองและมีสิทธิเหมือนเรา เราถึงต้องปกป้องสิทธิของเขาด้วยเช่นกัน สิทธิของคนรักทักษิณ ถ้าพวกนักวิชาการ พวกแอคติวิสต์ไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงรักทักษิณและอธิบายได้แค่ว่าเพราะถูกซื้อ ผมคิดว่าเลิกทำอาชีพนี้เถอะ

 

เดี๋ยวนี้มีคอลัมนิสต์หลายคนที่เขียนท่วงทำนองว่า ทั้งคนที่รณรงค์ให้รับและไม่รับต่างก็โฆษณาชวนเชื่อ สิ่งที่ทำอยู่นี้คิดว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อไหม

อุเชนทร์ - ลองไปดูว่า โฆษณาชิ้นแรกที่ลงคำพูดอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะได้อะไร เทียบกับที่ ส.ส.ร.ลงว่า ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้ง พูดอย่างนั้นมันหลอกชัดๆ เพราะรัฐธรรมนูญบอกไว้แล้วว่าต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้และมีเลือกตั้งภายใน 30 วัน แต่เราเสนอว่าให้คนอื่นมาช่วยกันโหวต ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนหนึ่งเป็นการปฏิเสธรัฐประหาร แล้วเอานิธิมาบอกเป้าหมาย มันเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ ผมคิดว่ามันเป็นคนละเรื่อง

 

คุณต้องแยกว่าพวกนี้ใช้งบประมาณเราในการผลักดัน และมันพิสูจน์ได้ว่ามีการโกหก แต่เราทำในฐานะประชาชน หาเงินเอง แล้วชวนคนอื่นว่าให้ไปโหวตล้ม มันเป็นสิ่งปกติ และเป็นกระบวนการที่สำคัญด้วยในการลงประชามติ การหย่อนบัตรมันเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้ว มันต้องให้มีการรณรงค์ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง การไปบอกว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้งเป็นการขู่ชาวบ้าน แต่ที่เรารณรงค์มันขู่ชาวบ้านหรือ มันเป็นการเชิญชวน

 

แล้วก็น่ารำคาญมาก เพราะเราลงโฆษณาในมติชนฉบับเดียว แต่พวกนั้นรณรงค์ในทุกที่ทุกทาง จริงๆ สื่อจะมีจุดยืนอย่างไรไม่ใช่ปัญหาเลย ในท่ามกลางการจัดประชามติที่ห่วยสุดๆ แบบนี้สื่อต้องให้ข้อมูลรอบด้าน ทำไมเรื่องที่มาไม่สามารถเป็นเหตุผลในการรับหรือไม่รับได้

 

พูดถึงเรื่องทุน มีคนสงสัยมากกันว่าได้เงินมาจากไหน ถึงทำสื่อรณรงค์กันได้ขนาดนี้

อุเชนทร์ - ภาคประชาชนที่ผ่านมา เวลาทำสื่อรณรงค์ทำไม่จริง ทำเพื่อแถลงข่าว แต่ที่เราทำต้องการเข้าถึงประชาชนจริงๆ ท่ามกลางการโหมโฆษณาทุกฉบับของ ส.ส.ร. มีคนบอกว่า ออกแบบสวยชิบหาย ทำไมล่ะ คนมีความสามารถเยอะแยะ หลายคนมีความรู้ในการออกแบบ การผลิต คนกลับคิดว่าคนตัวเล็กๆ จะทำไม่ได้

 

เรื่องทุน เครือข่าย 19 กันยาฯ มันไม่มีตังค์มาตั้งแต่ต้น ที่เคลื่อนไหวมาตลอด 5-6 เดือนรับเงินบริจาคมาทั้งหมด แล้วช่วงที่เราเตรียมงานรณรงค์นี้ เราก็ไปเล่า ไปพูดคุยกับพรรคพวก โดยเฉพาะพวกนักธุรกิจที่เขาไม่สามารถจะระบุชื่อตรงๆ ได้ว่าเขาคือใคร เพราะไม่รู้ว่าจะโดนบีบยังไงบ้าง แล้วก็ได้รับการสนับสนุนมาคนละนิดคนละหน่อย เรามีงบจากการระดมทุนได้เกือบ 2 ล้าน ก็เอาเงินนี้ไปสู้กับพันล้าน ปัญหาสังคมไทยคือ คนมันไม่เชื่อ ขนาดอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์เห็นทำสื่อเวิร์คแบบนี้ก็ถามเลยว่าเอาเงินมาจากไหน ทำไมถึงไม่เชื่อว่าคนมันพร้อมจะลงแรง ลงกำลัง จ่ายเงิน เพื่อเอามาทำแบบนี้ และทุกบาทถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โชติศักดิ์ - ตอนนี้เราก็ยังรับบริจาคอยู่เพื่อจะได้ผลิตเพิ่ม ดูเลขบัญชีได้จากในเว็บไซต์ (หัวเราะ)

 

ทำไมลงโฆษณาแค่ในมติชนฉบับเดียว ฉบับอื่นไม่ลงให้หรืออะไร

อุเชนทร์ - ก็ไทยรัฐประมาณชิ้นละ 3 แสน มติชนเฉลี่ยแล้วก็ชิ้นละแสนสอง คำนวณกลุ่มเป้าหมายแล้วคิดว่ามติชนดีกว่า นี่เป็นช่องรณรงค์ที่กว้างที่สุด และรู้ว่าต้องโดนด่าแน่ๆ แต่มันทำให้เห็นภาพว่ามีกลุ่มก้อนแบบเราอยู่ จริงๆ เราคิดกันเยอะนะ อยากจะติดบิลบอร์ดตามถนน คิดว่าค่าใช้จ่ายเท่าไร จะติดได้กี่วัน คิดกันขนาดว่าจะเช่ารถโฆษณาติดป้ายแล้วอัดเทปประกาศไปตามถนน เราต้องการให้ข้อมูลของเราไปถึงคนให้มากที่สุด แล้วตอนนี้ก็ทำเสวนาทุกอาทิตย์ ประกอบกับแอคชั่นในที่ต่างๆ เพื่อจะเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ ทำหน้าที่ คุณต้องให้ทั้งทุกฝ่ายได้ดีเบท และไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม 19 กันยาฯ

 

เป้าหมายการรณรงค์ครั้งนี้ คาดหวังว่าองค์กรเอ็นจีโอ นักวิชาการ หรือชนชั้นนำที่เคยพูดเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ จะเข้ามาร่วมรณรงค์ไหม

โชติศักดิ์ - ผมไม่คาดหวังต่อองค์กรดังๆ เช่นที่มีตราประชาธิปไตย เพราะว่าเขาก็มีส่วนกับการรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น แสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษามาโดยตลอด แค่คาดหวังว่าเขาจะเอาคำว่า "ประชาธิปไตย" ออกจากชื่อเขา แค่นั้นก็พอ

 

แล้วองค์กรอื่นๆ ในภาพรวม คาดหวังกับเขาไหม

โชติศักดิ์ - ความจริงแล้วเรื่องรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เท่าไร แต่หลังจากมี พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้ว มันจับต้องได้ เป็นเผด็จการแน่ๆ อำนาจนิยมมากๆ ก็พบท่าทีและความเคลื่อนไหวต่อต้าน ด้านหนึ่งก็น่าดีใจที่มีคนต่อต้านกฎหมายนี้ หรือมาต่อต้านรัฐประหารเพิ่ม แต่อีกด้านหนึ่งที่น่าเศร้าคือ พวกคุณเป็นปัญญาชนกันทั้งนั้น คุณเพิ่งเข้าใจเผด็จการก็ต่อเมื่อมันเป็นรูปธรรมออกมาแล้วหรือ ตอนมันเป็นหน่ออ่อน เมื่อ 19 กันยาฯ คุณไม่สามารถเดาถึงความเลวร้ายของมันได้เลยหรือ

 

อุเชนทร์ - เอ็นจีโอมันไม่ได้มีแค่พวกชื่อดังในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่มันยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกมากมายที่อาจจะเจอกับผลกระทบทักษิณ แต่ 9 เดือนที่ผ่านมามันเป็นยังไง ดีขึ้นไหม ถ้าได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียง มีข้อมูลข่าวสาร ผมคิดว่ายังมีอีกมาที่จะแอคทีฟ และเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย ในความหมายที่การเมืองมันเปิด เวลามีปัญหาสามารถออกมาเดินขบวนได้ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของตัวเองได้ นี่คือความหมายประชาธิปไตยของชาวบ้าน

 

มองอีกด้าน การที่ผู้คนส่วนหนึ่งยอมต่อรัฐประหาร ก็เพราะเท่าทันทุนนิยมโลกาภิวัตน์ จึงต้องกลัวทักษิณมาก

โชติศักดิ์ - ผมไม่คิดว่าทักษิณน่ากลัว อย่างน้อยที่สุดเราก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เขาจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงฐานเสียงของประชาชนที่เลือกเขา ซึ่งต่างกับรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือแม้แต่คนที่อยู่เบื้องหลังที่เราแตะกันไม่ได้ ด้านหนึ่งจึงต้องจัดลำดับว่าใครน่ากลัวกว่าใคร สำหรับผมเขาก็เป็นสามัญชนคนหนึ่ง ไม่ใช่ในแง่เศรษฐกิจแต่ในแง่การเมือง ฉะนั้น เราไม่เห็นด้วยกับเขาหลายอย่าง เขาทำไม่ดีหลายอย่าง เราก็สู้กับเขาอย่างคนปกติ

 

ตอนที่ถึงจุดสูงสุดของการขับไล่ทักษิณ กลุ่มคนรักประชาธิปไตยทั้งหลายก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะจัดการกับอำนาจของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ใหญ่เกินไปได้ยังไง

อุเชนทร์ - ผมไม่คิดว่าระบอบประชาธิปไตยกับทุนมันเป็นเรื่องเดียวกัน ทุนมันอาจเติบโตขึ้นและไปปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่ถ้าเรายืนยันหลักเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ได้ ด้านหนึ่งมันก็จะคานพวกนี้ไว้ด้วย คุณคิดว่าทักษิณใหญ่โตมโหฬารนักหรือ ช่วงแรกขึ้นมาเต็มที่ รอบหลังไม่กี่ปี ถ้าคนมันมีสิทธิเสรีภาพ การเมืองเปิด คนมันก็เอาด้วยน้อยลงเรื่อยๆ ก่อนรัฐประหารทักษิณก็แทบเรียกได้ว่าไร้สภาพแล้ว คุณบริหารงานไม่ได้ต้องยุบสภาหนี ประเด็นคือ คุณเอาทหารลงจากอำนาจได้แบบนี้ไหม ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราเอาทหารลงจากอำนาจได้ด้วยวิธีการใดบ้าง ต้องสูญเสียอะไรบ้าง มันมีความต่างกันระหว่างคนมาจากการเลือกตั้งและไม่ใช่

 

แล้วพวกนายทุนพวกนี้ก็เป็นพลเมือง มีสิทธิเข้าสู่ระบบการเมือง ประเด็นคือ เราต้องทำการเมืองให้มันยุติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาธิปไตยมันไม่มีสมบูรณ์หรอก และเราต้องเดินเข้าไปให้ใกล้มากที่สุด

 

โชติศักดิ์ - ผมมองทักษิณในแง่พัฒนาการประชาธิปไตย ไม่ใช่ที่นายทุนลงมาเล่นเองนะ แต่จากที่หลายพรรคร่วมเป็นรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว อาจจะเกิดการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต สิ่งที่ตามมามันก็มีการตรวจสอบ ผมอยากใช้คำว่า "ตีโต้" จากประชาชน แล้วจากนั้นก็มีการยุบสภา ผมคิดว่าหลังจากนั้นหากการเลือกตั้ง 2 เมษายนผ่านไปโดยไม่มีคู่แข่ง แล้วศาลตัดสินให้เลือกตั้งใหม่ ถ้าตุลาคมหรือพฤศจิกายนที่ผ่านมาไม่มีรัฐประหาร มีการเลือกตั้ง ผมว่าการเมืองมันก็จะมีลักษณะเสียงส่วนใหญ่ที่ใส่ใจเสียงส่วนน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่การเมืองของทักษิณก็คือการเมืองของเสียงส่วนใหญ่ที่มองข้ามเสียงส่วนน้อยไปเลย

 

อุเชนทร์ - ระบอบประชาธิปไตย โดยระบบมันสามารถแก้ไขตัวมันเองได้ ทักษิณหากผ่านการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง คุณไม่สามารถเป็นทักษิณคนเดิมได้อีกแล้ว คุณต้องเข้าใจด้วยว่า การที่ทักษิณมันอหังการ์ได้มากก็เพราะมีคนอย่างหมอประเวศ วะสี, หมอเสม พริ้งพวงแก้ว, สนธิ ลิ้มทองกุล, เดช พุ่มคชา ฯลฯ ที่เชียร์กันมาก มันมีคนจำนวนหนึ่งที่อะไรก็ได้ เน้นตัวบุคคล และมีการฉีกทิ้ง rule of law กรณีซุกหุ้นภาคแรก มีการล่ารายชื่ออัศวินควายดำ กระบวนการภาคประชาชนส่วนหนึ่งจะเสริมอำนาจให้ทักษิณโดยไม่แคร์เรื่องอื่น แค่การมีเสียงข้างมากในรัฐสภามันไม่สามารถมีอำนาจเด็ดขาดได้ มันต้องอาศัยเสียงสนับสนุนนอกรัฐสภาด้วย เวลาพอใจก็เชิดชูไม่สนใจอะไร เวลาไม่พอใจจะไล่ออกอย่างเดียว ไม่สนใจอะไร ไม่รักษากติกาไว้

 

ที่ผ่านมา มีปัญหาความขัดกันระหว่างประชาธิปไตยโดยเนื้อหา กับประชาธิปไตยโดยรูปแบบ อย่างทักษิณพยายามอ้างแต่เสียงข้างมากที่ตัวเองได้รับ และบอกว่าทุกอย่างที่ทำคือประชาธิปไตย คิดอย่างไรกับประเด็นนี้

อุเชนทร์ - ปัญหานี้มีการถกเถียงและถูกบิดกันเยอะ ที่ว่าทักษิณเป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ เนื้อหาไม่ใช่ ผมไม่อยากติดตรรกะแบบนี้ ผมว่าคุณไม่ต้องคิดเลยถ้าเราไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ถ้ารูปแบบไม่ใช่เนื้อหาก็ไม่มีทางใช่ อย่าไปแยกมันว่าต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ท้ายสุด กระบวนการเลือกตั้งมันคือกระบวนการเข้าสู่อำนาจ เราก็ต้องดูที่มาว่ามันอิงกับหลักการประชาธิปไตยที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตยหรือเปล่า อีกส่วนต้องพิจารณากระบวนการใช้อำนาจเป็นอย่างไร มันต้องไปด้วยกัน

 

ถ้ายึดกับประชาธิปไตยที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะพัฒนาเนื้อหา หรือกระบวนการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไร

อุเชนทร์ - ไม่พอใจก็เดินขบวนประท้วง เรากลุ่มเล็กๆ ก็อาจยื่นหนังสือเรียกร้อง หรือถ้าสุริยะใสจะตั้งพรรคการเมืองสู้ก็ทำได้เลย คุณต้องให้กระบวนการมันเปิด เราไม่สามารถตอบแบบครอบจักรวาลได้ว่าจะให้กระบวนการพัฒนาอย่างไร แต่เราไม่เห็นด้วยกับระบบการเมืองที่เป็นอยู่ แต่อย่างหนึ่งคือ ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วจะได้ดังใจหวัง มันไม่มีหรอก เพราะคนมันมีจุดยืน ผลประโยชน์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกันมาก ดังนั้นทำอย่างไรให้คนมันอยู่กันได้ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายและความขัดแย้ง และทำให้การตัดสินใจมันสมเหตุสมผล

 

โชติศักดิ์ - ผมว่าคำว่า ทักษิณไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็ดูตลก เพราะด้านหนึ่งทักษิณเป็นตัวคน รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลหนึ่งรัฐบาล แต่เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยมันคืออำนาจของประชาชนทุกคน ถ้าทักษิณไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็ต้องกลับมาดูว่าทำไมมันถึงไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะตัวทักษิณหรือเปล่า ผมคิดว่าตั้งแต่กรณีซุกหุ้นครั้งแรกจะเห็นได้ชัด ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวทักษิณ แต่เพราะภาคประชาชนพร้อมใจกันเซ็นเซอร์ตัวเองต่างหาก แต่พอหลังๆ มันมีปัญหาของรัฐบาลมากขึ้น มันก็มีกระบวนการตรวจสอบ มีการประท้วง มีการต่อต้าน มันก็สะท้อนประชาธิปไตยในแง่นี้ ถ้าเราต้านมากๆ ทักษิณก็ไม่ได้เข็นรถถังออกมา แต่ยุบสภา ถ้าเลือกตั้งเสียงที่ได้ก็จะน้อยกว่าเดิมมาก เท่ากับว่าที่ทำกันมา คือการลดทอนอำนาจของทักษิณลงเรื่อยๆ มันต้องมีรัฐบาลและต้องมีเสียงข้างมาก แต่ประเด็นคือประชาชนจะจัดการ ควบคุมมันได้อย่างไร

 

ผลตอบรับเป็นอย่างไร

อุบลพรรณ - สายแรงงานที่ทำงานด้วยคือ สมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550 เขาก็มีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้ว ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาทักษิณ ส่วนมวลชนทั่วไป ยังประเมินไม่ถูก ถ้าไม่สกัดกั้นเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาสายแรงงานก็มีการขู่กับนายจ้างว่าจะไล่ออก สำหรับนักศึกษาก็มีการแจกใบปลิว แบบที่ได้รับแจกแล้วบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก ไม่เห็นด้วย เอาใบปลิวคืนอย่างนี้ก็มี (หัวเราะ) นอกจากไม่เอารัฐประหารแล้วมันก็ต้องมีข้อเสนอ ทางพรรคเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ เรามองว่ารัฐธรรมนูญ 40 มันก็ดีในระดับหนึ่ง แต่เห็นว่ามันต้องพัฒนาไปไกลกว่านั้น

 

ก้าวต่อไปจะเป็นยังไง

อุเชนทร์ - เป้าหลักคือตอบโต้การให้คนรับร่าง ต่อไปเราก็ต้องรณรงค์นำรัฐธรรมนูญฉบับ 40 กลับมา โดยเห็นเหมือนกันว่า 40 มีปัญหามากมาย แต่มันมีฐานความชอบธรรม ข้อเสนอหลักคือให้เอา 40 กลับมามันมีคำถามว่า แล้วจะเขียนบทเฉพาะกาลอย่างไร สิ่งที่เรายืนยันคือ ไม่แก้เนื้อหาสำคัญหลัก แล้วเราจะเสนอว่าบทเฉพาะกาลควรแก้อย่างไรบ้างเพื่อการเลือกตั้ง แก้ให้เป็นชุดสำเร็จรูปไปเลย

 

ถ้ากลุ่ม นปก. หรือกลุ่มคนรักทักษิณ จะร่วมด้วย เครือข่าย 19 กันยาฯ ว่าไง

โชติศักดิ์ - เฉพาะหน้าตอนนี้เราทำสื่อและให้ทุกคนที่มาขอ นปก. อาจไม่เคยมาขอโดยตรง แต่กลุ่มพลเมืองภิวัตน์ก็เคยเอาไปแจกเยอะอยู่ การร่วมระดับจับไม้จับมืออีกเรื่องหนึ่ง แต่การมาขอสื่อของเรา เรายินดีอยู่แล้วกับทุกกลุ่ม แม้แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือว่ากลุ่มคนที่เคยโอเคกับการรัฐประหาร ถ้าเปลี่ยนใจอยากได้สื่อของเราไปรณรงค์เราจะบริจาคให้เท่าที่มีกำลังให้ได้

 

อุเชนทร์ - แต่ละกลุ่มมันมีความต่างในรายละเอียด แต่ท้ายที่สุดทุกกลุ่มมันโฟกัสไปที่รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น โดยประเด็นการเรียกร้องมันเป็นแนวร่วมกันอยู่แล้ว แล้วก็อย่างที่นิธิ (เอียวศรีวงศ์) บอก เป็นแนวร่วมกับพรรคไทยรักไทยแล้วเป็นยังไง เสียหายอะไร เราต่างก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใครจะอธิบายอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถามว่าเราจะไปร่วมขบวนกับเขาไหม ถ้าจะร่วมเราร่วมนานแล้ว แต่เราพยายามรักษาพื้นที่ของตัวเองที่จะเคลื่อนไหวประเด็นของเราได้เต็มที่โดยไม่ต้องหุบปาก

 

การรณรงค์ไม่รับประชามติครั้งนี้ มีความหมายต่อสังคมการเมืองไทยขนาดไหน นับเป็นการดันทหารเข้ากรมกองโดยสันติวิธีอย่างที่ใครหลายคนพูดจริงหรือ

อุเชนทร์ - ถ้าเราปล่อยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปได้ มันจะสถาปนาระบบการเมืองใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญ ทำให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจน้อยลง ต้องแชร์อำนาจกับข้าราชการประจำ ส.ว.จากการแต่งตั้ง ตุลาการ นี่คือการสืบทอดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังมีการสืบทอดอำนาจนอกรัฐธรรมนูญผ่านกฎหมายต่างๆ เป็นการทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองและอย่างประจำด้วย นายกรัฐมนตรีแทบไม่มีความหมายเมื่อเปรียบเทียบกับ ผบ.ทบ. และเพื่อคงอำนาจไว้เขาไม่รู้จักการแก้ปัญหาในทางประชาธิปไตยหรอก ถ้าเขารู้จักคงไม่รัฐประหาร

 

ฉะนั้น ทางที่ถนัดก็คือปราบปราม มันจึงหลีกเลี่ยงความรุนแรงลำบาก เพราะคนจะไม่มีทางยอม แต่ถ้าเราปฏิเสธมัน ชนะเที่ยวนี้ได้ก็จะเป็นการปราม หยุด และเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองใหม่

 

โชติศักดิ์ - มันเป็นการปรามทหารรุ่นน้องด้วย

 

การรณรงค์นี้ให้บทเรียนอะไรกับสังคมไทยหรือคนรณรงค์ไหม

อุบลพรรณ - มองในแง่นักศึกษา การณรงค์นี้ก็น่าจะทำให้ขบวนการนักศึกษาตื่นตัวขึ้นมาได้บ้าง ส่วนภาคประชาชนก็อาจจะได้เวลาทบทวนตัวเองที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดรัฐประหารด้วย

 

อุเชนทร์ - บางทีอาจต้องอ้างคำของเฮเกลที่อาจารย์สมศักดิ์เคยว่าเราว่า "บทเรียนประการเดียวที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์คือ ไม่มีใครเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ (The only lesson we learn from history is that nobody learns lessons from history)" เราก็ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไง แต่สำหรับเรามันพิสูจน์ว่า มนุษย์ตัวเล็กๆ ก็ทำตามเจตจำนงได้ หลุดจากความกลัวได้

 

โชติศักดิ์ - พูดถึงตัวรัฐประหารเอง ประชาชนคงสัมผัสได้แล้วว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในสังคมการเมือง การรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ และไม่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ด้วย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท