เครือข่าย 19 กันยา ฯ ยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลปกครองกลาง

ประชาไท - 21 ก.ค. 50 เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ทำหนังสือถึงศาลปกครองเพื่อฟ้อง นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต. และนายประพันธ์ นัยโกวิท (กกต.) เนื่องจาก นางสดศรี และนายประพันธ์ เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พศ.2550 มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนหลักการในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวตลอดมา ดังนั้น จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเคยพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว 

 

แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องปัจจุบันเป็น กกต.ที่จะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการลงประชามติของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีส่วนเสียโดยตรงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำมาให้ประชาชนลงประชามติ นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การดำเนินการจัดให้มีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางการปกครองอย่างชัดเจน เพราะในวันที่ฟ้องคดีนี้ กกต.มิได้เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 แต่อย่างใด ดังนั้นการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองกลาง

 

นอกจากนี้ ทางกลุ่ม 19 กันยาฯเห็นว่ากรณีดังล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนเนื่องจากการลงประชามติใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว จึงขอศาลได้โปรดไต่สวนโดยฉุกเฉินเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น โดยขอให้มีคำสั่งให้ นายอภิชาติ มีคำสั่งห้าม นางสดศรี และนายประพันธ์ ในฐานะ กกต.ยุ่งเกี่ยวกับการจัดให้มีการลงประชามติรับรองหรือไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ไปก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยถือเอาคำฟ้องในข้อนี้เป็นคำขอตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2540  





เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
                                                                                                121/40 ซอยเฉลิมหล้า ถ.พญาไท
                                                                                                เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

18 กรกฎาคม 2550

เรื่อง      ขอยื่นฟ้อง          1.นายอภิชาต สุขัคคานนท์  ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

                                    2.นางสดศรี สัตยธรรม                   กรรมการการเลือกตั้ง
                                    3.นายประพันธ์ นัยโกวิท                 กรรมการการเลือกตั้ง
เรียน      อธิบดีศาลปกครองกลาง

            ข้าพเจ้าผู้ฟ้องคดี ขอยื่นฟ้อง 1.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2.นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง 3.นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาคารศรีจุลทรัพย์ ถนนพระรามที่ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

            ข้อ 1. ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นประชาชนชาวไทย ซึ่งมีสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง มีสิทธิในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และมีสิทธิในการลงประชามติ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้บัญญัติรับรองไว้โดยชัดแจ้ง  แม้ภายหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารซึ่งใช้ชื่อเรียกตนเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) จะทำการล้มรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 โดยใช้กำลังอาวุธก็ตาม แต่ถึงอย่างไรคณะรัฐประหารดังกล่าวก็ยังได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ซึ่งมีข้อความบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพซึ่งประชาชนชาวไทยเคยได้รับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ไว้

 

            ข้อ 2. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและดำเนินกิจการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

            ข้อ 3. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้นดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวของคณะรัฐประหาร

 

            ข้อ 4. ปรากฏว่า ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องนำมาให้ประชาชนชาวไทยลงประชามติรับรองหรือไม่รับรองนั้น คณะรัฐประหาร (คปค.) ได้แต่งตั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ เป็นสมาชิกในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะนำมาให้ประชาชนลงประชามติด้วย

            ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ ได้ร่วมดำเนินการเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด โดยได้มีบทบาทแสดงความคิดเห็น แก้ไขเพิ่มเติม ยกร่างในรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งต่อมาเมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ร่วมอยู่ด้วย ได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเสร็จแล้วเสนอต่อที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งปรากฏว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วยในเวลาดังกล่าว ได้ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดต่างๆปรากฏอยู่ทั่วไปโดยชัดแจ้ง และผู้ฟ้องคดีจะนำเสนอต่อศาลต่อไป

 

            ข้อ 5. ภายหลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ในการจัดให้ประชาชนลงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการจัดให้มีการลงประชามติโดยถูกต้องเที่ยงธรรม โดยต้องวางตนเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต้องไม่มีประโยชน์ได้เสียใดๆในการลงประชามติทั้งสิ้น

 

            ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนหลักการในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวตลอดมา ทั้งในการประชุมกรรมาธิการยกร่างและในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็เป็นผู้พิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบรับรองร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเคยพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการการเลือกตั้งจะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการลงประชามติของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ด้วย

 

            ข้อ 6. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีส่วนเสียโดยตรงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำมาให้ประชาชนลงประชามติ ด้วยเหตุผลตามที่กราบเรียนมาข้างต้นแล้ว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงได้มีหนังสือแจ้งในผู้ถูกฟ้องคดีที่ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ มีคำสั่งพักงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 เพื่อมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ3 มาดำเนินการในฐานะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อควบคุมดูแลการลงประชามติรับรองหรือไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีส่วนได้เสียในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามหนังสือที่มีถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ท้ายฟ้อง

 

            ข้อ 7. ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐการดำเนินการจัดให้มีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญตามคำฟ้องในคดีนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางการปกครองอย่างชัดเจน และปรากฏว่าในวันที่ฟ้องคดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งมิได้เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 แต่อย่างใด โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้เลย ดังนั้นการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองกลาง

 

            ข้อ 8. ผู้ฟ้องคดีนี้เป็นผู้เสียหาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้ลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกับนิสิตนักศึกษาประชาชนชาวไทยผู้รักประชาธิปไตย ร่วมกันเรียกร้องรณรงค์ให้ประชาชนลงมติไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเห็นว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่ได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง และร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดทำแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ร่วมจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนและได้ความเห็นชอบต่อร่างดังกล่าวตลอดมาหากปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 มาดำเนินการจัดการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ย่อมไม่เป็นธรรม ไม่เป็นกลาง และเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้จัดการลงประชามติเป็นผู้มีส่วนได้เสียในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเอง กรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

 

            ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้ดำเนินการพักงานมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 มาดำเนินการจัดการลงประชามติตามที่กราบเรียนข้างต้นแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ผู้ฟ้องคดีจึงขอศาลปกครองกลางได้โปรดมีคำสั่งบังคับผู้ถูกฟ้องคดีดังนี้

 

            ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งยุ่งเกี่ยวกับการจัดให้มีการลงประชามติรับรองหรือไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ทั้งนี้หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลปกครองเป็นคำสั่งแทนเจตนาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

 

            ข้อ 9. เนื่องจากการจัดการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ซึ่งในช่วงเวลาขณะนี้จะต้องเร่งดำเนินการจัดเตรียมการลงประชามติ ทั้งในด้านบุคลากรและเอกสารต่างๆ รวมทั้งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศทราบ ซึ่งหากปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ยังคงดำเนินการจัดเตรียมการลงประชามติในฐานะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ย่อมทำให้เกิดความเสียหายเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันอาจจะเกิดความไม่เที่ยงธรรม เป็นกลางตามที่กราบเรียนแล้วข้างต้นได้

 

            ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และเนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วนเพราะการเตรียมการลงประชามติจะต้องรีบดำเนินการก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นกรณีเร่งด่วนจึงขอศาลได้โปรดไต่สวนโดยฉุกเฉินเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้นโดยขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งยุ่งเกี่ยวกับการจัดให้มีการลงประชามติรับรองหรือไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ไปก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยถือเอาคำฟ้องในข้อนี้เป็นคำขอตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2540 ผู้ฟ้องคดีขอศาลได้โปรดไต่สวนคำขอนี้โดยด่วนในวันนี้เพื่อมีคำสั่งชั่วคราวตามที่กราบเรียนข้างต้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

ลงชื่อ                                         ผู้ฟ้องคดีที่ 1

            (นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง)

 

ลงชื่อ                                         ผู้ฟ้องคดีที่ 2

            (นายฤทธิชัย ชูวงษ์)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท