สรุปข่าวประเทศพม่ารอบสัปดาห์ที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2550

 






1. สถานการณ์ในประเทศพม่า

 

1.1       หน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ให้เห็นว่ามีการลักลอบขนส่งไม้จากพม่า เข้ามาทางพรมแดน                 จีน  

ตัวแทนองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งหนึ่งของพม่า เปิดเผยว่าปัจจุบันยังคงมีไม้แปรรูปจำนวนมากถูกขนส่งจากหมู่บ้านไลซาทางตอนเหนือของกรุงย่างกุ้งของพม่าราว 1,000 กิโลเมตร เข้าสู่พรมแดนจีน โดยพบว่าไม้บางส่วนถูกแปรรูปมาจากต้นไม้ที่ยังโตไม่ได้ขนาด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่เหลืออยู่ในป่าอีกแล้ว

อุตสาหกรรมไม้แปรรูปเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลพม่า แม้ที่ผ่านมาทางการจีนได้พยายามยุติการซื้อขายไม้กับพม่าจากปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ทว่ามาตรการดังกล่าวกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ยังคงมีไม้จากพม่าจำนวนมากสามารถเล็ดลอดเข้าสู่จีน

ด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ในจีนทำให้ความต้องการใช้ไม้แปรรูปในจีนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทเอกชนจีนจำนวนไม่น้อย อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อนำเข้าไม้จากพม่าโดยอาศัยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทุจริต โดยเฉพาะวิธีกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ป่าและตัดไม้ทั้งหมดในที่ดินผืนนั้น ซึ่งในอนาคตจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสาหัส

(ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 15/07/2550)

 

1.2       บริษัทในพม่ามีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เปิดดำเนินการจริง

สื่อมวลชนในพม่ารายงานว่าปัจจุบันมีบริษัทธุรกิจในประเทศเพียงร้อยละ 10 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้นที่เปิดดำเนินการจริง และอยู่ในสภาพที่มีเงินทุนประกอบการน้อย อีกทั้งไม่มีเครือข่ายตลาดในต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ฉบับวันที่ 15 ก.ค. รายงานอ้างตัวเลขของทางการพม่าว่า ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนทั่วประเทศราว 40,000 แห่ง แต่จำนวนบริษัทที่เปิดดำเนินการจริงมีเพียงประมาณ 4,000 แห่ง โดยกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ส่วนเมืองขนาดเล็กจะมีบริษัทจดทะเบียนเพียงเมืองละ 1-2 แห่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตามทางการพม่าระบุว่า ทางการพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทธุรกิจในประเทศที่สามารถดำเนินธุรกิจในระดับโลก แต่ไม่ได้เปิดเผยมาตรการช่วยเหลือ

ทั้งนี้พม่าถูกสหรัฐและประเทศต่างๆในยุโรปคว่ำบาตรทางการเศรษฐกิจ เพื่อกดดันให้พม่าปรับปรุงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยอมมอบอิสรภาพแก่นางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่า และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

(สำนักข่าวไทย วันที่ 15/07/2550)

 

1.3       รัฐบาลพม่าจะจัดการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติในวันพุธนี้

      รัฐบาลพม่ากำหนดที่จะเปิดการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติในวันพุธนี้ โดยมีผู้แทนฝ่ายต่างๆกว่า 1,000 คนเข้าร่วมประชุม ซึ่งระหว่างการประชุมที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ผู้แทนทั้งหมดจะได้รับอนุญาตให้ออกจากบริเวณสถานที่ประชุมน้อยมากและไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก

      การประชุมดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกของแผนประชาธิปไตย7 ขั้นตอน แต่ถูกสหภาพยุโรป สหรัฐและสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความล้มเหลว เนื่องจากนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมด้วย

      ทั้งนี้พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีได้คว่ำบาตรการประชุม เพื่อประท้วงที่นางซูจีถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก โดยการประชุมร่างรัฐธรรมนูญพม่าจัดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 16/07/2550)

 

1.4       รัฐบาลทหารพม่าเตรียมร่างรัฐธรรมนูญต่อ

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม รัฐบาลทหารพม่าประกาศว่าจะมีการเปิดการเจรจารอบสุดท้ายในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งนักวิเคราะห์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือที่จะทำให้รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

ตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารเป็นผู้เลือกเองนั้นได้มีการประชุมพบปะกันและหยุดพักเป็นช่วงๆ มาตั้งแต่ปี 2536 เพื่อร่างแนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อ้างว่าเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่รัฐบาลทหารได้วางไว้ แต่รัฐบาลไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนเวลาสำหรับการเลือกตั้ง และนักวิเคราะห์หลายรายมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกใช้เพียงเพื่อเป็นการกำหนดบทบาทอย่างเป็นทางการของกองทัพในรัฐบาล

การเจรจาร่างรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วไม่ได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ เนื่องจากไม่มีนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าเข้าร่วมเจรจาด้วย

นักการทูตเอเชียคนหนึ่งในย่างกุ้งซึ่งไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกซึ่งได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่นายออง เนง อู นักวิเคราะห์การเมืองพม่าซึ่งอยู่ในไทย กล่าวว่ากระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากถูกกำกับควบคุมโดยรัฐบาลทหาร

(มติชน วันที่ 17/07/2550)

 

1.5       พม่าเปิดประชุมร่างรัฐธรรมนูญรอบใหม่หวังได้ข้อสรุปในครั้งนี้

พลจัตวาจอ ซัน รัฐมนตรีกระทรวงสารนิเทศของพม่า กล่าวว่าการประชุมวันนี้เริ่มขึ้นหลังจากชะงักไป 7 เดือนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่งจึงจะเสร็จสิ้น มีตัวแทนกว่า 1,000 คนจากทั่วประเทศร่วมประชุมที่ศูนย์การประชุมนวงนาปิน ห่างจากกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเชิงพาณิชย์ไปทางเหนือราว 45 กิโลเมตร

การประชุมระดับชาตินี้เป็นการประชุมเพื่อจัดทำแนวทางสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พม่าไม่มีรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2531 เมื่อทหารชุดปัจจุบันเข้ายึดอำนาจและยุติการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยวิจารณ์ว่าเป็นกระบวนการที่น่าละอาย เพราะผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่รัฐบาลเลือกมา และไม่มีตัวแทนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซู จี การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ตั้งเป้าจะสรุปขั้นแรกของแผนสันติภาพ 7 ขั้น ด้วยการผ่านความเห็นชอบแนวทางสำหรับมาตราในรัฐธรรมนูญอีก 7 มาตรา จากทั้งหมด 15 มาตรา และแก้ไขบางมาตราที่เห็นชอบไปแล้ว

ฝ่ายวิจารณ์ระบุว่ารัฐบาลจงใจให้การประชุมครั้งสุดท้ายนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประชุมสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในเดือนนี้ เพื่อจะได้อ้างว่ามีความคืบหน้าในเรื่องนี้ รัฐบาลพม่าเริ่มประชุมระดับชาติครั้งแรกเมื่อปี 2536 แต่ต้องระงับไปเมื่อปี 2539 เนื่องจากพรรคของนางซู จี เดินออกจากห้องประชุม โดยอ้างว่าทหารบงการการประชุม จากนั้นจึงได้เริ่มการประชุมใหม่เมื่อปี 2547

 (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18/07/2550)

     

1.6       พม่าเปิดประมูลอัญมณีครั้งใหญ่ที่สุด

      หนังสือพิมพ์มิร์เรอร์ของทางการพม่า รายงานข่าวว่ารัฐบาลทหารได้จัดงานประมูลอัญมณีล้ำค่าครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยทางการพม่าไม่ได้เปิดเผยรายได้จากการประมูลขายในครั้งนี้ แต่คาดว่าน่าจะอยู่ที่หลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ งานประมูลอัญมณีครั้งใหญ่ของพม่านี้จัดขึ้น 13 วัน สิ้นสุดลงเมื่อวันจันทร์ที่ 16 ก.ค. มีการนำหยก ไข่มุก และอัญมณีต่างๆ อาทิไพลินและทับทิมอันเลื่องชื่อ ถึงร้อยละ 70 ของจำนวนที่มีอยู่กว่า 6,400 ชิ้นออกมาประมูลขาย รายงานยังระบุว่ามีลูกค้ากว่า 4,000 รายมาร่วมแย่งประมูลสินค้าในงานนี้ ทั้งจากจีนและไทย รายงานข่าวระบุว่าไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดในตลาดอัญมณีของพม่า ตามปกติแล้วพม่าจะจัดงานใหญ่แบบนี้ปีละ 2 ครั้งเพื่อสกัดการนำอัญมณีออกขายในตลาดมืด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่ามีมูลค่าอย่างน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจพม่า

(สยามรัฐ วันที่ 18/07/2550)

 

1.7       พม่าจัดงานฉลองวันแห่งวีรบุรุษอย่างยิ่งใหญ่เพื่อรำลึกถึงบิดาของซูจี

เอเอฟพีรายงานว่ารัฐบาลทหารพม่าจัดงานรำลึกนายพลออง ซาน บิดาผู้ล่วงลับของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่า โดยนางซูจีไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีรำลึกครั้งนี้ เพราะยังอยู่ระหว่างถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณในบ้านพัก โดยทุกปีนางซู จี จะไปวางดอกไม้ที่หลุมศพของบิดา ยกเว้นในช่วงที่ถูกกักบริเวณตั้งแต่พ.ค.2546 ทหารพม่าเชิญพี่ชายนางซู จี ไปร่วมงานแทน

เจ้าหน้าที่และนักการทูตราว 100 คน ได้เดินทางมาที่สุสานผู้เสียสละเพื่อชาติ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของนายพลอองซาน วีรบุรุษผู้ประกาศเอกราชให้กับพม่า ใกล้กับเจดีย์ชเวดากองในวันนี้ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาเพื่อร่วมพิธีรำลึกถึงนายพลอองซานและคนอื่นๆอีก 8 คนที่ถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 หรือเพียง 1 ปี หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ขณะที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมให้นางซูจีที่ยังถูกกักบริเวณไว้ในบ้านพักมาเข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ แต่เชิญนายออซาน อู พี่ชายของเธอ ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐมาร่วมงานแทน และอนุญาตให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดีของนางซูจีส่งตัวแทนมาร่วมงาน ขณะที่นายอูไม่ได้กล่าวอะไรในระหว่าง 10 นาทีของพิธีดังกล่าว

พลเอกอองซาน เป็นผู้นำชาวพม่าต่อสู้กับอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมและญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองพม่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองจนกระทั่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในที่สุด ทางการพม่าจึงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันรำลึกถึงวีรบุรุษที่สำคัญที่สุดของพม่า

(ข่าวสด , สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 20/07/2550)

 

 






2. การค้าชายแดน

 

2.1       ประชาชนกาญจนบุรีเรียกร้องเปิดด่านเจดีย์สามองค์แบบถาวร

      นายวิฑูร อรรถ หัวหน้าสำนักงาน จ.กาญจนบุรี กล่าวในวาระผู้ว่าฯ พบสื่อมวลชนประจำเดือนกรกฎาคมว่า ณ ปัจจุบันนี้ด่านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี เป็นด่านชั่วคราวที่เปิดการค้าขายระหว่างไทยกับพม่า จ.กาญจนบุรี เห็นสมควรว่าน่าจะเปิดด่านพระเจดีย์สามองค์ให้เป็นด่านถาวรจึงได้นำวาระเสนอความคิดเห็นไปยังกระทรวงมหาดไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดได้รับคำตอบลงมาว่ายังไม่สามารถยกระดับด่านดังกล่าวได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีปัญหาในเรื่องการปักปันแนวเขตชายแดนและการปกครองของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่มีความเรียบร้อย จึงให้ชะลอเรื่องการยกระดับด่านพระเจดีย์สามองค์จากด่านชั่วคราวให้เป็นด่านถาวรไว้ก่อน

(ผู้จัดการ วันที่ 18/07/2550)

 

2.2       ประเทศพม่าตั้งเป้าค้าขายชายแดนปีละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ 

      พันเอกผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ( ไทย - เมียนม่าร์ ) แม่สอด - เมียวดี ทีบีซี. เป็นประธานในที่ประชุมทีบีซี.ร่วมกับพันโทวินโก่โก่ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 28 จังหวัดเมียวดี ของพม่าตรงข้ามอำเภอแม่สอด ในฐานะประธานทีบีซี.ฝ่ายพม่า ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 27 หรือ ครั้งที่ 1 ประจำปีพ.ศ.2550

      โดยมีคณะกรรมการชายแดนไทย - พม่าทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมประชุม ขณะที่ฝ่ายพม่าได้นำนายอูอ่อง โซเต็ง หัวหน้าควบคุมการค้าชายแดนของพม่าเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพเฉพาะก่อนเข้าสู่วาระการประชุมเท่านั้น โดยที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงเรื่องการเฉลิมฉลองสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ซึ่งครบรอบ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และเรื่องเกาะพิพาทไทย-พม่า บริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด พร้อมปัญหาการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า

      การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ การพบปะคุยกันเพื่อทำความเข้าใจกัน ส่วนประเด็นอื่นๆได้คุยกันบ้าง แต่เป็นปัญหาเล็กน้อย นอกจากนี้ได้ประสานกับพม่าเพื่อฉลองสะพานมิตรภาพไทย-พม่าร่วมกัน โดยฝ่ายพม่ารับข้อเสนอไปประสานหน่วยเหนือ ซึ่งคาดว่าทางพม่าคงให้ความร่วมมือ ส่วนปัญหาเรื่องเกาะพิพาทไทย-พม่าบริเวณใต้สะพานมิตรภาพไทย-พม่านั้นจะได้นำเรื่องนี้ไปสู่การประชุมคณะกรรมการส่วนภูมิภาคไทย - พม่า

      นายอูอ่อง โซเต็ง หัวหน้าควบคุมการค้าชายแดนของพม่าบอกว่าทางรัฐบาลพม่ามีนโยบายตั้งเป้าส่งออกในปี 2550 จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (US) และส่งเสริมการส่งออก จะส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย -พม่า อย่างถูกต้อง โดยต้องการส่งสินค้าเกษตรเข้าไทย เช่น ถั่ว ข้าวโพดเป็นต้น

(สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 18/07/2550)

 

2.3       ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีหารือโครงการเส้นทางเศรษฐกิจราชบุรีสู่อันดามันกับทหาร ก่อนพูดคุยกับพม่า

นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่าตนและคณะทำงานได้ร่วมหารือเกี่ยวกับโครงการเส้นทางเศรษฐกิจสู่อันดามันกับ พ.อ.วันชัย ชัยประภา ผู้อำนวยการกองการชายแดนไทย-พม่า และผู้แทนกรมการทหารช่าง ซึ่งการหารือดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินโครงการ โดยทาง พ.อ.วันชัยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐบาลพม่าว่าในการพิจารณาโครงการใหญ่ๆจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บัญชาการสูงสุดของรัฐบาลพม่า เช่นเดียวกับโครงการเส้นทางเศรษฐกิจราชบุรีสู่อันดามันที่ทางจ.ราชบุรีต้องมีข้อมูลด้านต่างๆอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านี้คณะทำงานของจ.ราชบุรี และบริษัทสหวิริยาฯได้สำรวจพื้นที่การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในสหภาพ พม่าก็เห็นว่ามีความเหมาะสม รวมไปถึงเส้นทางจากราชบุรีไปสู่อันดามันก็มีศักยภาพกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ทางคณะทำงานจะต้องมีการเจรจากับทางการพม่าให้เกิดความชัดเจนต่อไป ก่อนนำเสนอข้อมูลกับรองนายกรัฐมนตรีในการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

(มติชน วันที่ 18/07/2550)

 

2.4       แม่ฮ่องสอนอนุญาตนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ไม้จากพม่า

นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าขณะนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อนุญาตให้มีการนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ด่านพรมแดนบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยใช้บริเวณสถานีตำรวจภูธรบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมือง และด่านพรมแดนบ้านห้วยผึ้ง ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนโดยใช้สถานที่ศูนย์บ้านร่องแห้ง ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นสถานที่ตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์ ฯ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 หน่วยงานเข้ามาตรวจสอบการนำเข้าสิ่งประดิษฐ์

การนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวให้สหกรณ์สิ่งประดิษฐ์บ้านทุ่งกองมู เป็นผู้ดำเนินการทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกกว่า 100 คน ได้มีรายได้จากการนำสิ่งประดิษฐ์นำมาแปรรูปให้มีความสวยงามและจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีคำสั่งลงวันที่ 18 กรกฏาคม 2550 ให้มีการนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ ฯ เข้ามาในราชอาณาจักรไทย

ทางด้านนายสรุชาย สุวกุล นายด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอนเปิดเผยว่า วันที่ 19 กต.ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอนได้จัดเก็บภาษีปากระวางสิ่งประดิษฐ์ที่นำเข้าได้ประมาณ 68,000 บาท ซึ่งการนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ ฯ ดังกล่าวจะสร้างฐานการจัดเก็บภาษีปากระวางให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งการนำเข้าสิ่งประดิษฐ์ก็จะทำให้ราษฎรในพื้นที่รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยผา เจ้าของตลาดนัดบ้านร่องแห้งมีรายได้อีกด้วย 

ทางด้านนายเดช เยาวโสภา ประธานสหกรณ์สิ่งประดิษฐ์บ้านทุ่งกองมู ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากนี้ไปสมาชิกสหกรณ์สิ่งประดิษฐ์บ้านทุ่งกองมุ กว่า 100 คน จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำสิ่งประดิษฐ์มาแปรรูปให้มีความสวยงาม เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวบ้านทุ่งกองมู

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20/07/2550)

 

 






3. แรงงานข้ามชาติ

 

3.1       แรงงานจำนวนมากถูกล่อลวงไปเป็นทาสบนเรือประมง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ก.ค. ที่โรงแรมเอเชีย มูลนิธิกระจกเงาจัดสัมมนา "วิกฤติแรงงานทาส... ธุรกิจเถื่อนบนเรือประมง" โดยน.พ.พลเดช ปิ่นประ ทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิด

น.พ.พลเดชกล่าวว่า ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานประมงนอกน่านน้ำอย่างหนัก ทำให้เกิดขบวนการนายหน้าออกปฏิบัติการล่อลวงและนำพาแรงงานเพื่อขายให้เรือประมงทั้งจังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออก ภาคใต้ของไทย โดยจะถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาสในพื้นที่จำกัดกลางทะเลลึกในน่านน้ำอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี หรือการขายแรงงานต่อเนื่องให้กับเรือลำอื่น บางคนไม่ได้กลับมาอีกเลยหรือกระโดดน้ำลอยคอหนีออกมา ทั้งนี้ยังมีแรงงานที่ติดอยู่ในเรือกลางทะเลอีกหลายพันถึงหมื่นคน ทางออกคือต้องวางแนวทางป้องกันไม่ให้แรงงานถูกล่อลวงไปในกระบวนการค้าแรงงานทาส ผู้เสียหายต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความช่วยเหลือ กระทรวงพม.พร้อมเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา โดยต้องพูดคุยกับสมาคมนอกน่านน้ำประมงไทย ผู้ประกอบการเรือประมง เพื่อควบคุมตรวจสอบเรือแต่ละลำ และแก้ไขช่องโหว่และจุดอ่อนของปัญหา

ด้านนายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงสถานการณ์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหา การลักพาตัวและการล่อลวงเพื่อบังคับใช้แรงงานทาสบนเรือประมงว่า ขณะนี้มูลนิธิช่วยเหลือเหยื่อจำนวน 19 ราย เป็นชายไทยอายุเฉลี่ย 23 ปี อายุต่ำสุด 15 ปี สูงสุด 53 ปี ถูกล่อลวงไปเป็นแรงงานทาสบนเรือประมง แต่ละลำมีลูกเรือประมาณ 20-40 คน โดยวิธีการมีตั้งแต่นายหน้าเข้ามาตีสนิทบอกว่ามีงานสบาย รายได้ดี การโปะยาสลบ หรือใส่ยาในอาหารและน้ำให้กินจนหมดสติแล้วเอาตัวไป ล่าสุดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จ.สมุทรปราการ กินกาแฟแล้วหมดสติถูกนำตัวไปขายไต้ก๋งเรือประมง รูปแบบใหม่ที่พบคือการพาไปเที่ยวสถานบริการ ร้านคาราโอเกะให้เหยื่อกินดื่มเหล้าจนเมามายหมดสติแล้วเอาตัวไปขาย หรือให้ใช้บริการการค้าประเวณีแล้วบังคับให้ชดใช้เงินโดยต้องลงเรือไปใช้หนี้

เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ คนเร่ร่อนไร้บ้าน พื้นที่ต้นทาง เช่นสถานีขนส่งหมอชิต หัวลำโพง สนามหลวง วงเวียนใหญ่ สวนสาธารณะมหาชัย ถนนนครนอก จ.สงขลา โดยจะหลอกไปขายปลายทางย่านท่าเรือ เช่น อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสงคราม จ.นครศรีธรรมราช จ.ปัตตานี โดยแหล่งใหญ่ คือตลาดปลามหาชัย และสงขลา เมื่ออยู่บนเรือจะถูกใช้แรงงานทาส ถูกทุบตี ไม่ได้ค่าจ้างหรือได้ไม่ครบ เจ็บป่วยได้กินแค่ยาพารา นอกจากนั้นยังมีแรงงานต่างชาติ ทั้งพม่า ลาว เขมรที่ตกเป็นเหยื่อด้วย หลายคนถูกค้ามนุษย์ซ้ำซาก อยู่ในเรือประมง 6 ลำช่วง 1-2 ปี โดยไม่มีโอกาสกลับเข้าฝั่งเลย บางรายอยู่บนเรือนานถึง 3 ปีกว่าจะได้กลับบ้าน

ปัญหาเกิดจากไม่มีการตรวจสอบใบอนุญาตการนำเรือออกจากฝั่ง ไม่มีการตรวจสอบหนังสือเดินทาง และมีการสวมสิทธิ ธุรกิจแรงงานเถื่อนหาเงินง่าย เพียงไต้ก๋งโทรศัพท์มาซื้อแรงงาน นายหน้าซึ่งมีเครือข่ายทั้งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่สงขลา หรือมหาชัย แท็กซี่ป้ายดำย่านหมอ ชิตที่จะเข้าไปล่อลวงเหยื่อ เพื่อจัดส่งให้ได้เงินรายหัวประมาณ 20,000 บาท แบ่งให้เครือข่าย 2,000-3,000 บาท โดยขบวนการนายหน้าไม่ถูกควบ คุมหรือตรวจสอบแต่อย่างใด

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า กระบวนการนายหน้ามีความซับซ้อน โดยย่านศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จ.สมุทรสาคร เป็นแหล่งใหญ่ที่เหยื่อจะเข้ามาจึงมีนายหน้าตัวใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 100 ราย เข้ามาล่อลวง เห็นเหยื่อแบกสัมภาระเข้ามาก็เป็นที่รู้กันว่ามาหางานทำก็จะเข้าไปหลอกมาลงเรือ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้วิธีการล่าสุดจะพาเหยื่อไปเที่ยวคาราโอเกะ ซื้อประเวณี ครั้งละ 10 คน 1 วัน 1 คืน อ้างติดหนี้ 2 แสน ต้องหาเงินมาใช้โดยการไปทำงานกับเรือประมงหรือการหลอกให้เล่นพนัน โดยการจัดนายหน้าหลอกลวงเหยื่อจะโยงใยกันชัดเจน ทั้งนี้เหยื่อหลายรายที่เรือไม่ต้องการหรือไม่อยากจ่ายค่าแรงให้ ก็จะนำตัวไปทิ้งไว้ตามเกาะ เช่น เกาะตวน ในอินโดนีเซีย ที่น่าห่วงที่สุดคือเรือเถื่อนที่ตรวจสอบไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปหามาตรการดูแลแก้ปัญหาโดยด่วน

(ข่าวสด วันที่ 17/07/2550)

 

3.2       ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเตรียมนำปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาในอำเภอแม่สอด เข้าหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ

พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวภายหลังเข้าหารือกับนายดำรง กะลำคาร ประธานกรรมการอิสลามประจำ จ.ตาก ที่มัสยิดอันซอร อ.แม่สอด เกี่ยวกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านจ.ตากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถผลักดันบุคคลเหล่านี้ซึ่งมีอยู่กว่า 100 คน กลับออกไปได้ เนื่องจากเมื่อมีการผลักดันออกไปชาวโรฮิงญาไม่สามารถกลับถิ่นฐานเดิมได้ ทำให้มีการลักลอบกลับเข้ามาอยู่ในอ.แม่สอดอีกก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในพื้นที่ จะได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับชาวโรฮิงญาเหล่านี้ถูกจับกุมตัวได้ทางด้านจ.ระนอง แล้วถูกส่งตัวมาผลักดันกลับทางด้านอ.แม่สอด ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจ.ตากได้เข้ามาช่วยเหลือในเบื้องต้น ด้วยการจัดหาที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ในระหว่างที่ภาครัฐกำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 20/07/2550)

 

3.3       คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภานิติบัญญัติ ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ตรวจติดตามปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว หวั่นก่อปัญหาสังคมและความมั่นคงของชาติ

พล.อ.สมชาย อุบลเดชประชารัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภานิติบัญญัติ พร้อมคณะฯ ตรวจติดตามปัญหาแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดระยอง และเข้าฟังบรรยายสรุปด้านแรงงานต่างด้าวของทางจังหวัดระยอง โดยมีนายสุนทร รัตนวราหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ให้การต้อนรับและชี้แจงฯตอบข้อซักถามต่างๆ ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภานิติบัญญัติ ได้กำชับให้ทางจังหวัดดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอาจจะเข้ามาก่อปัญหาทางสังคม เช่นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเถื่อนรวมทั้งด้านความมั่นคงของชาติด้วย และหากจะให้ทางคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภานิติบัญญัติ นำเรียนปัญหาการแก้ไขที่ทางจังหวัดเห็นว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ พร้อมนำเสนอรัฐบาลแกไขโดยด่วนต่อไป

ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเปิดเผยว่าแรงงานต่างด้าวในจังหวัดระยองมีกว่า 9,000 คน มีการจ้างมากสุดคือในภาคประมง ส่วนปัญหาที่อยากให้แก้ไขคือขั้นตอนการขึ้นทะเบียนต้องการลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เช่น อาจเป็นปีละครั้ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายยังสูง เป็นต้นเหตุให้นายจ้างในจังหวัดไม่ยอมมาต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเถื่อนเพิ่มมากขึ้น 

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 20/07/2550)

 

 






4. ผู้ลี้ภัย

 

4.1       สมาชิกสมัชชาแห่งชาติร่างรัฐธรรมนูญประเทศพม่าลี้ภัยในไทย

      เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ฐานที่มั่นของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) กองพลที่ 6 ด้านตรงข้าม จ.ตาก พล.ท.มูตู ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเคเอ็นยู นักการเมืองพม่า และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่า ได้นำสมาชิกสมัชชาแห่งชาติร่างรัฐธรรมนูญประเทศพม่า จำนวน 4 คน เปิดแถลงข่าวการลี้ภัยเข้ามายังชายแดนไทย-พม่า ด้านจ.ตาก ประกอบด้วยนายเอเอทวย อายุ 60 ปี ตัวแทนสมัชชาแห่งชาติร่างรัฐธรรมนูญ จากรัฐกะเหรี่ยง นายคุณมิ้น ทูน อายุ 43 ปี ผู้แทนจากพรรคเอ็นแอลดี นายคูนตี เส่า อายุ 62 ปี ผู้แทนจากองค์กรปฏิวัติแห่งชาติไทยใหญ่ และนายคูเช เหย่ อายุ 57 ปี ผู้แทนจากคะเรนนี่

      นายเอเอทวยกล่าวว่า สาเหตุที่ลี้ภัยมาเนื่องจากไม่พอใจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับพิมพ์เขียวที่มีรัฐบาลทหารพม่าอยู่เบื้องหลังทั้งหมด ที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่ลำบากมาก เพราะถูกแทรกแซงจากฝ่ายทหารมาโดยตลอด การประชุมแต่ละครั้งถูกชี้นำโดยฝ่ายทหารและสมาชิกสมัชชาฯไม่กล้าขัดขวาง และจากนี้ทั้ง 4 คนจะไม่ร่วมประชุมสมัชชาฯ วันที่ 18 กรกฎาคมนี้ และต่อไปจะทำความเข้าใจกับคนทุกกลุ่ม เพื่อต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร รวมทั้งจะรณรงค์ให้ประชาชนชาวพม่าต่อต้านรัฐบาลทหารและเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป

(มติชน วันที่ 16/07/2550)

 

 






5. ต่างประเทศ

 

5.1       โครงการขายเฮลิคอปเตอร์ทหารของอินเดียให้พม่า ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรด้านอาวุธ                     ของอียูต่อพม่า

องค์การนิรโทษกรรมสากลซึ่งมีที่ตั้งในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ระบุในรายงานเรื่อง" เฮลิคอปเตอร์อินเดียสำหรับพม่า : ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของอียูหรือเปล่า" ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวันที่ 16 ก.ค. ว่า แผนการของอินเดียที่จะขายเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบารุ่นก้าวหน้า (Advanced Light Helicopter) หรือ ALH ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์จู่โจมทางทหารให้แก่รัฐบาลทหารพม่า เป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรด้านอาวุธของสหภาพยุโรปต่อพม่า เพราะเฮลิคอปเตอร์ชนิดนี้ใช้ชิ้นส่วนประกอบ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆของชาติสมาชิกอย่างน้อย 6 ชาติของสหภาพยุโรป หรืออียู ประกอบด้วยเบลเยี่ยม,อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสวีเดน

รายงานซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์กรเอกชนต่างๆทั้งของยุโรปและนานาชาติ รวมทั้ง"เซฟเฟอร์ เวิร์ล"ซึ่งทำงานเพื่อป้องกันความรุนแรงจากการใช้อาวุธระบุว่า สหประชาชาติได้ระบุว่าปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าเป็นไปอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ รวมทั้งการสังหารแบบรวบรัด การทรมาน และการเกณฑ์ทหารเด็ก ขณะที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลและ"เซฟเฟอร์ เวิร์ลด์" เรียกร้องให้อียูจัดการเจรจากับรัฐบาลอินเดียในเรื่องนี้ และว่าหากอินเดียยังคงยืนกรานจะขายเฮลิคอปเตอร์ให้พม่า อียูสมควรหาทางยกเลิกใบอนุญาตส่งออกที่อนุมัติไปแล้วทั้งหมด รวมทั้งไม่อนุมัติคำร้องขอใหม่ๆด้วย

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16/07/2550)

 

5.2       ไอเออีเอปฏิเสธแผนวิจัยโรงงานนิวเคลียร์ในพม่า

นายโมฮาเหม็ด เอลบาราเด ผู้อำนวยการทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ กล่าวระหว่างแถลงข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียวันนี้ ปฏิเสธว่าไอเออีเอไม่เคยเห็นหรือรับทราบแผนในการวิจัยเครื่องปฏิกรณ์ในพม่า แม้ว่ารัสเซียจะแถลงยืนยันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าไอเออีเอเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

ในขั้นตอนปัจจุบันข้อมูลจากรัสเซียเป็นเพียงข่าวอีกชิ้นหนึ่งมากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริงในการดำเนินการจริง

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นตอบโต้กรณีสำนักงานปรมาณูโรซาตอมของรัสเซียออกแถลงการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อ้างว่าอยู่ระหว่างจัดทำข้อตกลงในการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ที่มีเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 10 เมกะวัตต์ โดยใช้พลังงานจากยูเรเนียม - 235 ซึ่งเป็นยูเรเนียมเสริมสมรรถนะระดับต่ำ โดยการวิจัยและจัดสร้างจะอยู่ภายใต้การควบคุมของไอเออีเอ

รัฐบาลทหารพม่าถูกกดดันโดยมาตรการต่างๆจากประชาคมโลกมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปฏิเสธชัยชนะในการเลือกตั้งของนางอองซาน ซู จี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดีเมื่อปี 2533 อย่างไรก็ตาม รัสเซียและจีนสองพันธมิตรสำคัญที่สุดของพม่าแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางโดดเดี่ยวพม่าและให้ความช่วยเหลือตลอดจนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับพม่ามาโดยตลอด

(สำนักข่าวไทย วันที่ 18/07/2550)

 

5.3       แม่ทัพภาคที่ 3 เสนอกระทรวงการต่างประเทศเจรจา 3 ชาติ จีน-พม่า-ลาว ช่วยสกัดผู้                        หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติเกาหลีเหนือเข้าไทย

            พล.ท.จิรเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติเกาหลีเหนือเพื่อขอลี้ภัยไปยังประเทศ 3 หรือเกาหลีใต้ผ่านมาทางภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายว่า ถือเป็นขบวนการนำคนมาให้ประเทศไทยรับไว้ ซึ่งประเทศไทยก็ต้องรับไว้เพราะมนุษยธรรม แต่จะต้องประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอให้ประเทศจีน พม่า และลาว ช่วยผลักดันออกไป ในส่วนด่านของไทยก็ต้องสกัดกันไม่ให้เข้ามาเมืองไทยก่อน ล่าสุดตัวเลขของผู้หลบหนีเข้าเมืองนิ่งและมีแนวโน้มลดลง

            ตามข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติเกาหลีเหนือที่ต.ม.แม่สาย จ.เชียงราย พบว่ามีผู้หลบหนีเข้าเมืองจับกุมได้ 287 คนนับตั้งแต่ต้นปี 2550 โดยชาวเกาหลีเหนือจะมาพักตามตามท่าเรือเชียงแสนและเชียงของ แวะพักโรงแรมฝั่งตรงข้าม จากนั้นจะนั่งรถเข้ากรุงเทพฯหรือตั้งใจเดินมาให้ตำรวจเชียงรายจับกุมเพื่อส่งต่อไปยังสถานทูตของตนต่อไป

(ผู้จัดการ วันที่ 18/07/2550)

 

 

5.4       เลขายูเอ็นเรียกร้องให้พม่าร่างรัฐธรรมนูญอย่างโปร่งใส 

นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่า ให้หลักประกันว่าการเจรจาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญจะมีความโปร่งใสและครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าเพิ่งเปิดการประชุมแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญรอบสุดท้ายไปเมื่อวานนี้

พลโทเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีรักษาการของพม่ากล่าวเปิดประชุมซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมที่อยู่ห่างไปทางเหนือของย่างกุ้งราว 45 กิโลเมตร โดยมีผู้แทนจากทั่วประเทศกว่า 1 พันคน เข้าร่วมการประชุมระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญมากที่สุดของกระบวนการโร้ดแม็พ และขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมอย่าพยายามแก้ไขในเรื่องที่ได้เห็นชอบกันไว้ก่อนหน้านี้

พลโทเต็ง เส่ง อ้างว่าชาวพม่าส่วนใหญ่สนับสนุนการประชุม และเตือนด้วยว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายจัดการกับใครก็ตามที่พยายามขัดขวาง คาดว่าการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีขึ้นหลังว่างเว้นมานาน 7 เดือน จะใช้เวลานาน 1 เดือนครึ่งจึงจะเสร็จสิ้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นการปิดฉากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินมานาน 14 ปี และมีเป้าหมายเพื่อทำให้ขั้นแรกของโร้ดแม็พ 7 ขั้นตอนสู่ประชาธิปไตยของพม่าเสร็จสมบูรณ์และนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แม้ว่าจะยังไม่การกำหนดกรอบเวลาก็ตาม

(สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 19/07/2550)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท