We Media (2) : "Media 1.5" ความหวังรำไรของสื่อไทย

 
            ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กิมมิคยอดนิยมอันหนึ่งของโลกออนไลน์คือการนำตัวเลข "2.0" มาแปะไว้ท้ายชื่อ เพื่อประกาศตัวว่าเป็นธุรกิจแห่งสหัสวรรษใหม่
 
            จุดเริ่มต้นของโลก "2.0" ต้องย้อนไปเมื่อปี 2546 เมื่อ คอลัมนิสต์ไอทีคนหนึ่ง สังเกตเห็นแนวโน้มว่า เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากเดิมที่เคยเป็นเว็บนิ่งๆ มีแต่ข้อมูล ทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับแผ่นพับประชาสัมพันธ์ออนไลน์ กลายมาเป็นแหล่งชุมชนขนาดมหึมาที่ผู้อ่านมีบทบาทในการสร้างข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีทำงานของอุตสาหกรรมสื่อไปอย่างสิ้นเชิง
 
            ถ้าให้ยกตัวอย่างเว็บสมัยใหม่ที่ว่า ที่เห็นภาพที่สุดและรู้จักกันทั่วไป คงต้องเป็น YouTube เว็บไซต์ วิดีโอออนไลน์ชื่อดัง จากเดิมที่ผู้ชมต้องรอดูภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดในโรงหรือผ่านจอทีวี กลายมาเป็นคนสร้างหนังด้วยตัวเอง และแจกจ่ายให้ผู้ชมคนอื่นๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต
 
            คอลัมนิสต์คนนั้นเรียกเว็บแบบใหม่นี้ว่า "เว็บ 2.0" [1]
 
            จากนั้นไม่นาน "เว็บ 2.0" ก็ดังแบบฉุดไม่อยู่ เว็บไซต์จำนวนมากประกาศตัวเองว่าเป็น 2.0 เพื่อหวังผลทางการตลาด สิ่งที่ตามมาคือ ผลิตภัณฑ์หรือแนวคิดเดิมๆ ที่เรารู้จักกันดี ล้วนแต่มีเลข 2.0 แปะท้ายกันตกเทรนด์ทั้งสิ้น
 
            วงการสื่อมวลชนเองก็หนีไม่พ้น "Media 2.0" [2]
 
            แนวคิดของ Media 2.0 ไม่ต่างอะไรกับเว็บ 2.0 มาก นัก นั่นคือ แทนที่จะรอการรายงานข่าวจากนักข่าว ผ่านไปให้บรรณาธิการตรวจสอบก่อนจะตีพิมพ์ เรามาอ่านข่าวที่เขียนโดยผู้อ่านคนอื่นๆ ดีกว่า [3]
 
            แนว คิดนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงว่า ไม่มีทางที่นักข่าวจะสามารถเกาะติดประเด็นข่าวอย่างลึกซึ้งได้ทุกเรื่อง เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ และความเชี่ยวชาญในสายงานเรื่องนั้นๆ แต่ขณะเดียวกัน คนธรรมดาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์หรือวงการมากกว่า ย่อมมีความสามารถในการเล่าเรื่องนั้นได้ดีกว่า (นักข่าวจะเล่าเรื่องไฟไหม้ได้ดีเท่าคนที่เพิ่งหนีออกมาจากไฟไหม้ได้อย่างไร?) ถ้า เราสามารถเชื่อมโยงคนเหล่านี้ในแต่ละวงการเข้าด้วยกันได้ เราย่อมจะได้เนื้อหาจำนวนมากกว่า ลึกกว่า และถูกกว่าโมเดลการใช้ผู้สื่อข่าว-กองบรรณาธิการแบบดั้งเดิม สิ่งที่ใช้เชื่อมโยงนั้นก็คืออินเทอร์เน็ต
 
            พลังของ Media 2.0 ถูก พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนจากความสำเร็จของบล็อก ที่ผู้อ่านทุกคนสามารถกลายมาเป็นคนเล่าข่าวได้ง่ายๆ ปัจจุบันต่างประเทศเกิดอาชีพนักเขียนบล็อกที่หารายได้จากค่าโฆษณาบนบล็อกของ ตัวเองโดยไม่ต้องทำงานอย่างอื่น วงการสื่อในประเทศไทยเองเริ่มเห็นพลังของ Media 2.0 ซึ่งสังเกตได้จากการโหมโปรโมทเว็บบล็อก OKNation ของฝั่งเนชั่น ซึ่งหวังจะดึงพลังของฐานคนอ่านที่มีอยู่แล้วจำนวนมาก มาเป็นผู้รายงานข่าวให้กับเนชั่นนั่นเอง[4]
 
            อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Media 2.0 จะ ช่วยให้ข่าวสารมีจำนวนมากกว่า มีประเด็นหลากหลายกว่าที่เคยเป็นมา แต่มันก็ย่อมมีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน บล็อกเกอร์อิสระบางคนอาจมีฝีมือการเขียนข่าวได้ทัดเทียมกับนักข่าวอาชีพ แต่บล็อกเกอร์จำนวนเยอะกว่านั้นมากเพิ่งเคยเรียบเรียงความคิดของตัวเองเป็น ครั้งแรก และหลายคนใช้บล็อกเป็นเพียงไดอารี่ออนไลน์ที่เอาไว้ระบายอารมณ์เท่านั้น
 
            นอกจากนี้ Media 2.0 ยังถูกตั้งคำถามถึงวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความถูกต้องของแหล่งข่าว ปัญหานี้แทบไม่เกิดขึ้นในโลกของ Media 1.0 ที่ เนื้อหาส่วนใหญ่ผ่านการคัดกรองโดยระบบบรรณาธิการ และถูกบีบด้วยต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่สามารถตีพิมพ์เนื้อหาด้อยคุณภาพได้ อย่างมั่วซั่ว [5]
 
            นอกจากปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพของเนื้อหาแล้ว ข้อดีที่ผู้ผลิตสื่อแบบ 2.0 เป็น ผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งก็มีข้อเสียตามมาเช่นกัน เพราะเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นมา จะมีเฉพาะสิ่งที่ผู้ผลิตคนนั้นสนใจเท่านั้น เราคงไม่สามารถหาอ่านข่าวกีฬาหรือบันเทิง จากเว็บไซต์ของชุมชนผู้สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ได้ ขณะที่หนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว ให้เราได้ครบทุกเรื่องที่คนธรรมดาควรจะสนใจ
 

เปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยของ Media 1.0 และ Media 2.0

 

 

Media 1.0
 
Media 2.0
 
เนื้อหามีคุณภาพ ควบคุมได้ในระดับหนึ่ง
 
 
เนื้อหามีตั้งแต่คุณภาพยอดเยี่ยมไปจนถึงยอดแย่
 
 
ค่าผลิตเนื้อหาแพง จำนวนแปรผันตามกำลังเงิน
 
ค่าผลิตเนื้อหาถูกมาก
 
หัวข้อของเนื้อหาตามที่ผู้อ่านสนใจ
 
 
หัวข้อของเนื้อหาตามที่ผู้เขียนสนใจ
 
 
บรรณาธิการเป็นผู้คัดกรองเนื้อหา
 
ผู้อ่านเป็นคนคัดเลือกเนื้อหาด้วยตัวเอง
 
มีระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล
 
ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ยาก

 

 

 
  
            นักวิชาการด้านสื่อใหม่และผู้ประกอบการ Media 2.0 รู้ ตัวถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาวิธีการที่นำข้อดีทั้งสองยุคมารวมกัน ผู้เขียนขอถือวิสาสะเรียกวิธีการลูกผสมแบบนี้ว่า Media 1.5
 
            แนวคิดของ Media 1.5 คือการปล่อยให้ผู้เขียนสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระตามแบบฉบับของ Media 2.0 แต่นำเข้าสู่ระบบบรรณาธิการเพื่อคัดกรองอีกชั้นหนึ่ง วิธีนี้จะได้ข้อดีด้านจำนวนจาก 2.0 ในขณะเดียวกัน มีการควบคุมคุณภาพของชิ้นงาน และหัวข้อตรงกับความต้องการของผู้อ่าน ตามวิธีของ 1.0
 
            Media 1.5 ยัง อยู่ในช่วงลองผิดลองถูก ถึงจะมีแนวคิดแบบเดียวกัน แต่วิธีปฏิบัติของแต่ละเจ้าย่อมแตกต่างกันอย่างมีนัยยะ แนวคิดหนึ่งที่ถูกนำเสนอคือการสร้าง "เวอร์ชัน" [6] ของเนื้อหา
 
            เช่น ชิ้นงานที่ออกมาจากผู้เขียนสดๆ ไม่ผ่านการแก้ไขจะเป็นเวอร์ชัน a ที่คนอ่านยังมีสิทธิ์เข้าถึงโดยตรง แต่เวอร์ชัน b ที่ ผ่านระบบบรรณาธิการแล้ว (เช่น แก้คำผิด ปรับมุมมอง) จะถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ทั้งทางสื่อออนไลน์และสื่อแบบดั้งเดิม บางสำนักยังก้าวไกลไปถึงการเสนอให้ผู้อ่านเองนั่นล่ะ ที่รับบทบรรณาธิการแก้ไขจากเวอร์ชัน a ไปเป็น b เสียด้วยซ้ำ [7]
 
            ผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นานเกินสองปี วิถีของ Media 1.5 จะเริ่มลงตัว มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จสามารถนำไปใช้ซ้ำได้มากขึ้น
 
            ในยุคที่สื่อกระแสหลักของประเทศถูกแทรกแซงอย่างหนัก ส่วนสื่อทางเลือกยังขาดแคลนทั้งกำลังเงินกำลังคน ผู้เขียนหวังว่า แนวคิด Media 1.5 ที่ กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา จะมีน้ำหนักในสังคมมากพอจนถ่วงดุลกับสื่อแบบดั้งเดิมได้ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพและไม่ถูกบิดเบือนได้ในระดับที่ไม่เคยเป็น มาก่อน



[1] ปัจจุบันยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนของเว็บ 2.0 แต่คำนิยามฉบับที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดเป็นฉบับของ Tim O'Reilly ผู้ก่อตั้งและเจ้าของสำนักพิมพ์ O'Reilly
 
[2] แนวคิดที่ใกล้เคียงกับ Media 2.0 แต่ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว และกำลังได้รับความสนใจในวงการสื่อสารมวลชนยุคใหม่ ได้แก่ citizen media, citizen journalism, participatory media ซึ่งขอไม่พูดถึงในที่นี้
 
[3] แนวคิดที่ว่า ให้ผู้ใช้เป็นคนสร้างเนื้อหาด้วยตัวเอง มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า User-generated content หรือ UCG แนวคิดนี้ใกล้เคียงกับเรื่อง Crowdsourcing และได้รับการกล่าวถึงในหนังสือ The World is Flat ภายใต้ชื่อ Uploading
 
[4] เว็บไซต์ต้นฉบับของแนวคิด "ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวได้" คือ OhMyNews ของประเทศเกาหลีใต้
 
[5] ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของปัญหานี้คือเว็บไซต์ Digg.com ซึ่งเป็นเว็บข่าวแบบ 2.0 ซึ่ง ให้ผู้อ่านเป็นคนส่งข่าวที่น่าสนใจเข้ามา และเรียงลำดับของข่าวตามคะแนนที่ผู้อ่านคนอื่นโหวตให้ ระบบนี้เป็นการมอบสิทธิ์ของบรรณาธิการให้กับมวลชนผู้อ่านอย่างสิ้นเชิง ทำให้การรายงานข่าวเกิดความรวดเร็วและหลากหลายมาก แต่ข้อเสียที่ตามมาก็คือคุณภาพของข่าวที่ลดลง และเกิดการรวมกลุ่มของผู้โหวตเพื่อให้ข่าวหรือโฆษณาของตัวเองได้ขึ้นหน้าแรก ที่เด่นที่สุดเช่นกัน
 
[6] คำภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกคือ revision
 
[7] รายละเอียดดูใน Information Architects Japan
 
 
 
 

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท