Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภฤศ ปฐมทัศน์


 



 


งการเพลงนอกกระแสของไทย นอกจากกลุ่มที่เติบโตมาจากยุคอัลเตอร์เนทีฟจนกลายเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าอินดี้แล้ว ยังมีอีกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มใต้ดิน ซึ่งที่มาของความเป็น "ใต้ดิน" นี้ จะด้วยเพราะเนื้อหาที่แรงและแหวกแนว จะด้วยลักษณะทางดนตรีซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในบ้านเรา หรือจะด้วยความเป็นกลุ่มก้อนย่อยๆ ที่ไม่ได้ออกไปในสื่อวงกว้างก็ตาม


 


และถ้าเอ่ยถึงดนตรี "ใต้ดิน" แล้ว คงจะละทิ้งดนตรี Heavy Metal ไปไม่ได้ โดยเฉพาะในเมืองไทยดนตรี Heavy Metal เป็นสิ่งที่เหมือนผู้มาเยือนแปลกหน้ามาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งเมื่อก่อนนั้นน้อยครั้งนักจะได้รู้จักเจอะเจอวงที่เล่นแนวนี้


 


แต่ด้วยการเติบโตในช่วงสิบถึงยี่สิบปีที่ผ่านมา บวกปัจจัยหนุนจากความแพร่หลายทางสื่อดนตรีจากตะวันตก ทำให้ดนตรีแนวนี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนฟังมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนฟังยุคใหม่ที่เติบโตมากับวงแนว Nu-Metal อย่าง Slipknot, Korn ฯลฯ หรือที่ใหม่เข้ามาอีกหน่อยก็แนว Metalcore อาจจะทำให้ส่วนหนึ่ง สนใจในด้านของความเป็น Metal แล้วขุดค้นไปสู่ยุคเริ่มต้นของมัน รวมไปถึงการค้นหากิ่งก้านสาขาอันหลากหลายมากมาย อย่างพวก Power, Gothic, Thrash, Death, Black, Doom ฯลฯ


 


เมื่อก่อนนั้น วงใต้ดิน(หรือนอกกระแส) หลายวงอาจจำเป็นต้องขุดตัวเองขึ้นมาอยู่บนดินบ้างเพื่อเหตุผลของความอยู่รอดหรืออะไรก็ตามแต่ ขณะที่ในปัจจุบันที่ค่ายเพลงเล็กๆ เริ่มขยายตัวมากมาย พื้นที่ที่กว้างขวางขึ้น การติดต่อทางอินเตอร์เน็ตทำให้ช่วยในการเผยแพร่งานและประชาสัมพันธ์ แม้จะยังไม่ถือว่าบูมมาก แต่ก็นับได้ว่าผู้ที่รักในแนวดนตรีที่แตกต่างไปจากกระแสหลักสามารถเข้าถึงตัวดนตรีได้มากกว่าแต่ก่อน เรียกว่ากำลังเติบโตอย่างช้าๆ ก็ว่าได้


           


ถึงเราจะมีโอกาสได้ฟังผลงานของคนไทยด้วยกันเองได้ง่ายขึ้นแล้ว แต่หลายคนอาจจะบอกว่าเทียบกับเมืองนอกไม่ได้ ซึ่งตรงนี้โดยส่วนตัวผมคิดว่ามาจากตัวระบบการบันทึกเสียงที่อาจจะไม่ได้ดีเท่าของเมืองนอก อีกส่วนหนึ่งก็คือดนตรีแนวนี้ในบ้านเรายังถือว่าเป็นของใหม่อยู่พอสมควร ใครที่เคยอยู่มาแต่ยุคตั้งต้นอาจจะทำซาวน์ได้เนี้ยบกว่าบ้าง แต่กับเด็กใหม่ๆ หลายคนคงต้องให้เวลาลองผิดลองถูกกันหน่อย


 


ปัญหาอีกอย่างของกลุ่มใต้ดินในปัจจุบัน ที่อาจจะมีอยู่บางกลุ่มเพียงเท่านั้นคือ การที่จริงจังกับวัฒนธรรมกลุ่มย่อย (Subculture) ตรงนี้มากเกินไป ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการพยายามแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด เช่น "คนฟังเมทัล ห้ามฟังแนวอื่น ไม่งั้นถือว่าไม่เป็นของจริง" (มันเกี่ยวไหมเนี่ย...ดนตรีก็คือดนตรีนะครับเพ่...) หรือแม้กระทั่งแยกสายชัดเจน "ว่าตูฟัง Black เอ็ง ฟัง Death ไอ่น้อยนี้ฟัง Nu Metal เราอยู่คนละทาง ฯลฯ..."


 


ซึ่งอะไรแบบนี้ ส่วนตัวผมไม่อยากให้เกิดสักเท่าไหร่


 


เพราะ การรวมกลุ่มแบบนี้ ส่วนหนึ่งมันน่าจะมาจากการต่อต้านหรือท้าทาย establishment ของกระแสหลัก (โดยที่ผู้รวมกลุ่มจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่) เพื่อจะได้สร้างสรรค์งานอย่างอิสระ พ้นจากการครอบงำ แต่ดันกลายเป็นว่ายังไม่ทันที่จะต่อรองอำนาจกับ establishment ของกระแสหลักได้ ดันกลับมาตั้ง establishment ย่อยๆ ครอบงำกันเองเสียอย่างงั้น


 


จริงอยู่ที่แนวดนตรีบางพวกมันพ่วงแนวปฏิบัติของมันมาด้วย แต่สำหรับผมแล้ว ดนตรีเป็นศิลปะ ศิลปะสำหรับผมคือสิ่งที่แยกกันชัดเจน ว่าอะไรเป็น รูปแบบ (Form) อะไรเป็นเนื้อหา (Content) อะไรเป็นบริบทแวดล้อมทางวัฒนธรรม


 


และถ้าคนชื่นชมยินดีกับกับรูปแบบดนตรีของ Heavy Metal ก็อาจไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือชื่นชมกับเนื้อหา แล้วไม่จำเป็นต้องไปใส่ชุดดำฟัง คนที่ชอบเสียงกลองรั่วๆ เร้าๆ กีต้าร์บาดแรง เสียงร้องสำรอกหรือกรีดแตก ก็ไม่จำเป็นต้องลุกไปหาแกะมาเชือดสังเวย 666 แต่อย่างใด


 


อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของบริบททางวัฒนธรรม ในประเทศเราเองก็ไม่ได้ถูกกดขี่ทางศาสนามากเท่าบางประเทศในแถบยุโรป (ซึ่งคงทำให้พวกเขาเก็บกดกันมาก) เราจึงไม่จำเป็นต้องไปเลียนแบบวัฒนธรรม วิธีคิดของจากฝั่งเขาขนาดนั้นก็ได้


 


ตรงนี้เองที่มีส่วนทำให้สื่อ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มองอะไรตื้นๆ เห็นว่าดนตรี Metal เป็นอะไรที่รุนแรง เพราะพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงบริบทอื่นๆ ในสังคมบ้านเราเลย ได้แต่หาอะไรก็ได้ที่จะป้ายโทษไปวันๆ การ์ตูนบ้าง เกมส์บ้าง อินเตอร์เน็ตบ้าง แม้แต่ดนตรีเมทัลก็โดนพวกสั่วๆ นี้ป้ายโทษเป็นครั้งคราว (สำหรับประเทศนี้แล้ว "รัฐไม่เคยผิด...เพราะรัฐมีคุณธรรมอยู่ฝ่ายเดียว ประชาชนนั่นแหละไร้คุณธรรม แล้วรัฐก็จะหาแพะรับผิดแทนได้ทันท่วงทีทุกครั้ง ถ้ามีอะไรจะมาทำให้คุณธรรมของรัฐแปดเปิ้อน" :P แหวะ!)


 



 


เอาล่ะ...ได้เข้าเรื่องอัลบั้มกันเสียที...


 


เมทัลฟาร์ม (Metal Farm) เป็นการรวมเพลงของเหล่าศิลปินใหม่...ซึ่งบางวงอาจเป็นศิลปินใหม่ๆ อยู่ถึงปีสองปี ยังคงทำเพลงได้สัก 3-4 เพลง และยังไม่ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง


 


แต่ก็ต้องเข้าใจเพราะ พวกเขาบางคนอาจจะกำลังศึกษาอยู่ บางคนมีภาระหน้าที่การงาน ต้องกินต้องใช้ ต้องเลี้ยงชีพ เวลาที่จะมามีให้ตรงนี้อาจไม่เต็มที่นัก ดังนั้น การรวมเพลงของวงใหม่ๆ มาไว้ในแผ่นเดียวกันนี้เอง ที่น่าจะเป็นการทดสอบสนามทางดนตรีของเหล่าวงใหม่ ทั้งยังเป็นการเปิดตัวกับเหล่าผู้ฟังที่ซื้อ CD ไปในตัว


 


ที่นำพาวิจารณ์กันในวันนี้เป็นอัลบั้มที่ 4 แล้ว มีศิลปินอยู่ 9 วง กับเพลงทั้งหมด 14 เพลง ซึ่งใครที่ชอบเมทัล หรือ ฮาร์ดคอร์ พังค์ ในแนวทางที่ชัดเจนหน่อย คงไม่ถูกใจเท่าไหร่ เพราะขึ้นชื่อว่ารวมศิลปินแล้ว แนวเพลงในอัลบั้มนี้จึงหลากหลาย แต่ก็ยังเป็นสาขาย่อยภายใต้ดนตรีชวนโยกหัว


 


เริ่มจากวงหน้าใหม่ นามว่า Slaid วง 5 ชิ้นที่บอกว่า เป็นแนว Thrash ปน Death ในแบบ Newschool ผสม Oldschool เพลงเปิดคือ "ฤดูกาลแห่งความตาย" ที่ได้กลิ่น Thrash จัดกว่า Death ส่วนที่จะเป็น Death ได้นั้นน่าจะเป็นเสียงร้องกับเนื้อหาที่พูดถึงความตาย กับเพลงที่สองของพวกเขาคือ "ความทรงจำสีเลือด" ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เสียงกลองในบางช่วง อาจจะชวนให้นึกถึงแนว Death มากกว่าเพลงแรกหน่อย


 


ตามมาด้วยวง Thaw Turret ที่มีประวัติเคยเล่น Cover วงแนว Emo/Post-Hardcore ก่อนที่จะตัดสินใจทำดนตรีให้แน่นขึ้นมาหน่อยเป็น Metalcore (ตัวผู้เขียนเองยอมรับว่ายังไม่ค่อยคุ้นกับแนวชื่อใหม่ๆ นี้อยู่เหมือนกัน) แต่วงนี้มี Keyboard มาเสริมให้ฟังดูแตกต่างอยู่บ้าง ในเพลงแรกคือ "Final Destination" มีเสียงร้องแบบกรีดแตก แบบแนว Black ซาวน์ยังขัดๆ อยู่บางส่วน แต่โดยรวมก็โอเค


 


โดยส่วนตัวชอบเสียงคีย์บอร์ดที่แม้จะน้อยนิด แต่ก็เสริมบรรยากาศของเพลงได้เข้าที ขณะที่เพลง "Royal Slave of Pain" นั้นมากับจังหวะกลาง ๆ ที่มีเสียงสำรอกกดต่ำ (ที่ฟังไม่ได้ศัพท์) ปนเสียงกรีดแตก อย่างเพลงแรก ในส่วนของจังหวะกลองกับคีย์บอร์ดช่วงกลางเพลงทำได้ดีทีเดียว


 


คั่นอารมณ์หนักๆ ด้วยเพลง "Death Sea" จากวงแนวที่เล่นเบาลงมาหน่อยอย่าง 8th Floor วงนี้มาในแนวทางของ Alternative Metal ปน Gothic ซึ่งทั้งเสียงร้องและดนตรีชวนให้นึกถึงวงที่มีแนวทางเดียวกันคือ Evanescence อย่างเสียมิได้ โดยเฉพาะเสียงเปียโนเปิดเพลง ขณะที่เมโลดี้ในบางจุดก็ไพล่ไปทาง Within Temptation ขาดก็แต่ถ้ามีเสียงเครื่องสายคงครบสูตร Gothic และจะเป็นเพลงที่ได้อารมณ์มากเลยทีเดียว


 


ในแนวที่ใกล้ๆ กันคือ Power Metal (ซึ่งหายากมากสำหรับวงไทย) ก็มีวง Mystic Angel มาในเพลงที่ร้องเป็นภาษาอังกฤษล้วนอย่าง "Blood of the Brothers" ซึ่งเนื้อหาก็สมเป็นแนว Power ดี ดนตรีไม่แรงหรือหนักมาก พอให้นึกถึง Iron Maiden ริฟฟ์กีต้าร์ที่เด่นและโดน ทำให้แม้จะถูกวงอื่นๆ ส่วนใหญ่ในอัลบั้มบดบังไปในแง่ความหนักหน่วง แต่ก็ยังคงจุดเด่นในแบบของตัวเองเอาไว้ได้


 


As the Spirit dies เป็นวงที่เล่นแนว Melodic Death มาวาดลวดลายด้วยเพลง "Commit Suicide" ที่ร้องได้เหี้ยม ดนตรีก็หนักใช้ได้ ตามมาด้วยวงที่บอกว่าเล่นแนว Technical Death อย่าง Anubiz ก็มีเพลง "Baptism" มาพร้อมไลน์กีต้าร์ใส่ลีลาแบบ Technical เป็นพัก ๆ สลับด้วยการสำแดงบทโหดของเสียงร้องและจังหวะกลอง


 


กลับมาที่แนว Thrash กับเพลง "End" ของวง Destroy ที่ยังขาดความเด่นไปหน่อย แต่ก็เข้าใจใช้ความเป็น Death มาปะปนอย่างกลมกลืนในทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเสียงร้อง, ริฟฟ์, โซโล่, จังหวะ


 


มาถึงวง Lost กับเพลง "Nameless" ที่ดูจะเป็น Melodic Death อีกเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกยังไม่เข้มเท่าไหร่ในด้านความหนัก เสียงกลองที่เด่นออกมายังฟังดูแปลก ๆ ในขณะที่ความเมโลดิกนั้นถือว่าสอบผ่าน


 


ตามมาด้วย No Idea ที่บอกว่ามากับแนวทางดนตรีของตัวเองไม่ลอกใคร เพลง "73rd hour" ของพวกเขาจึงมากับดนตรีที่ขึ้นต้นด้วยจังหวะสนุกๆ แบบพังค์ แต่ไหงระห่ำเมามันส์ จนกลายเป็นเมทัลไปเสียในเวลาต่อมา เสียงร้องปะปนหลายรูปแบบ บางจุดก็ฮาดี (จุดที่ร้อง วัน ทรู ทรี โฟร์ ด้วยเสียงโหดๆ) ขณะที่ Keep Your Mouth Clean ดูใกล้ๆ กับความเป็น Hardcore แต่ก็มีลูกเล่นพอให้แปลกหูกันบ้างเมื่อมีโอกาส เนื้อเพลงนี้เหมือนจะด่าอะไรสีกอย่างในวงการที่พวกเขาอยู่นี้แหละ


 


มาถึงวงสุดท้ายที่บอกว่าเป็น Thrash อีกวงก็คือ Mascara ที่มีเพลง "Lizard" กับ "วิสามัญ" เพลงแรกมาพร้อมกับริฟฟ์ดุๆ เนื้อหาก็ดุด้วย แต่โซโล่ที่ยังไม่ดุมาก เสียงร้องก็ดูเกือบดุ ยังกั๊กๆ ในบางจุด ขณะที่เพลงสุดท้ายของอัลบั้มอย่าง "วิสามัญ" นั้น อินโทรดี เนื้อหาที่ถ้าย้อนกลับไป 3-5 ปีจะเข้ากับยุคสมัยมาก ส่วนของดนตรีแน่นปึกในทุกส่วน ขณะที่เสียงร้องดุๆ ยังมีบางส่วนที่กั๊กๆ แบบเพลงก่อนหน้านี้ จึงถือเป็นจุดที่ต้องพิจารณา


 


บางคนที่มีโอกาสได้ฟังอัลบั้มนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่าเพลงแนวหนักกะโหลกของไทยยังห่างชั้นนักกับวงของเมืองนอก ทั้งนี้มันก็ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือของศิลปินเหล่านี้เพียงอย่างเดียว อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่าระบบบันทึกเสียงของบ้านเราอาจทำได้ไม่ดีเท่าที่อื่น


 


ในส่วนของวงดนตรี แม้ฝีมือของหลาย ๆ วงในนี้โดยรวมจะถือว่ามีมาตรฐานพอ แต่การให้เวลาอีกสักหน่อยคงทำให้แต่ละวงได้ขัดเกลาฝีมือ หาแนวทางของตัวเองและค้นพบพลังสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็เป็นได้


 


ในส่วนของเนื้อเพลง หากจะไปเรียกร้องเอาความลึกซึ้งจากแนวนี้คงจะไม่เข้าที แต่ถ้าตัววงดนตรีเอง เนื้อหามันมีมุมมองที่พิเศษ แปลกใหม่ (อาจจะในแบบเดธๆ ก็ได้) จะน่าช่วยเพิ่มเอกลักษณ์ความน่าสนใจได้เป็นอย่างดี


 


สำหรับอัลบั้มนี้นั้น อาจจะติด Thrash กับ Death เยอะไปหน่อย แต่มันก็คงช่วยเปิดหูให้กับนักฟังเพลง ได้ค้นพบว่าวงใหม่ๆ วงไหนบ้างที่น่าสนใจ และน่าสนับสนุนต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net