Skip to main content
sharethis


บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)

 


 


นักวิจัย JGSEE ชี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับภาคการใช้พลังงาน อีกทั้งยังเป็นการปลดปล่อยเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ เผยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้ผลควรทำในภาคการใช้พลังงาน โดยการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ


 


รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยว่า  ปัจจุบันมีการกล่าวถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว ซึ่งแท้จริงแล้วจากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศของประเทศไทยในปี 2546  จากประมาณ 344 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นการปล่อยจากภาคพลังงานถึงร้อยละ 56 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ รองลงมาภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 24 จากขยะมูลฝอย และของเสีย ร้อยละ 8 จากป่าไม้และการใช้ที่ดิน ร้อยละ 7 และจากกระบวนการอุตสาหกรรมร้อยละ 5 ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับภาคพลังงานมากกว่าภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่


 


"ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ หรือประมาณ 40 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยจากภาคพลังงาน อีกทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวยังเป็นการปล่อยเพื่อความอยู่รอดของคนไทย เนื่องจากคนไทยทุกคนต้องกินข้าว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวจึงยังไม่มีความจำเป็นในปัจจุบัน"


 


ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากนาข้าว ส่วนใหญ่คือก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินนา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน คือ สภาพไร้อากาศในนาข้าว และสารอินทรีย์ที่อยู่ในนาข้าว โดยจากการทำวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของการระบายน้ำต่อการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์จากนาข้าว" ของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พบว่าช่วงเวลาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ช่วงที่ต้นข้าวเริ่มออกดอก ออกรวง


 


"จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินนาเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน โดยจุลินทรีย์ชนิดนี้จะย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ต้นข้าว และรากข้าวปล่อยลงสู่ดินในช่วงออกรวง และจะย่อยสลายได้ในสภาพไร้อากาศ ซึ่งแปลงนาที่มีการปล่อยน้ำมาท่วมดินนาจะทำให้เกิดสภาพไร้อากาศในดินนา ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจะถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศมากที่สุดโดยผ่านทางช่องว่างในลำต้นของข้าว แต่อย่างไรก็ดี หากชาวนามีความต้องการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ก็สามารถทำได้ โดยการเลื่อนการปล่อยน้ำออกจากนาไปในช่วงที่ต้นข้าวกำลังออกดอก ออกรวง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด การดึงน้ำออกจากนาจะทำให้ดินนากลับคืนสู่สภาพมีออกซิเจน ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ จากนั้นจึงสูบน้ำกลับเข้านาภายใน 3 วัน วิธีการเช่นนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ประมาณร้อยละ 30-40 จากปริมาณการปล่อยเดิม"


 


นอกจากนี้ รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าวต่ออีกว่า  จากข้อมูลของ World Research Institute (WRI) เมื่อปีค.ศ. 2000  การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศของประเทศไทย  มีอัตราการปล่อยเพียงร้อยละ 0.8 ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั่วโลก และถูกจัดอยู่ที่ลำดับที่ 26 ประเทศไทยจึงควรมีมาตรการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะในภาคพลังงาน อันประกอบด้วยสาขาหลักได้แก่ สาขาขนส่ง สาขาการผลิตไฟฟ้า และสาขาอุตสาหกรรม ซึ่งภายในเวลา 5 ปี  หากหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจะช่วยให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณร้อยละ 10 และหากใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับการใช้มาตรการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดได้ถึงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการใดๆ เลย 


 


ทั้งนี้ วิธีการที่ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมกันปฏิบัติได้คือ การประหยัดพลังงาน ลดการใช้น้ำมันให้น้อยลง หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง ด้วยวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยน้อยลงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net