สัมภาษณ์ "สมเกียรติ ตั้งนโม" : ไม่รับร่าง รธน.50 ฉบับยักษ์ถือกระบอง ที่ทำผิด "อนันตริยกรรมประเทศ"

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา รายการมองคนละมุม สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย "มานพ คีรีภูวดล" ผู้ดำเนินรายการ ได้สัมภาษณ์ "รศ.ดร.สมเกียรติ ตั้งนโม" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า ทำไมถึงประกาศชัดไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550

 

00000

 

 

 

ถาม - ประเด็นแรกที่อยากถาม คือ รัฐธรรมนูญปี 50 ที่ร่างมานี้ มันเกี่ยวข้องกับระบบอมาตยาธิปไตยอย่างไร จะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นอย่างไรและจะทำให้สังคมไทยเป็นอย่างไร

สมเกียรติ - ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่ร่างโดย...ผมขอเรียกว่าอรหันต์ 35 รูปนะ คือคนกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการระดับสูง แล้วประธานคือคุณประสงค์ สุ่นสิริ ก็คือคนที่อยู่บนเวทีสนามหลวงหลายเดือนก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 19 กันยายน คนเหล่านี้ หมายถึงข้าราชการชั้นสูงกับคนบนเวทีสนามหลวง กำลังรวมตัวกันเป็น 35 อรหันต์ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มาปกครอง หรือมาเป็นกฎหมายสูงสุดสำหรับประชาชนไทย 65 ล้านคน ผมรู้สึกว่ามันมีอะไรที่น่าเคลือบแคลงสงสัยอยู่

 

ในแง่ที่จะตอบว่ามันเป็นอมาตยาธิปไตยอย่างไร ผมขอให้พิจารณาวิธีการต่างๆ เช่น วิธีการสรรหาองค์กรอิสระ ก็ไปไว้วางใจกับบรรดาผู้พิพากษาเก่าทั้งหลาย หรือว่าคนที่มาจากวงการผู้พิพากษาในการที่จะกำหนดคัดเลือกบุคคลเข้ามาบรรจุในองค์กรอิสระต่างๆ รวมไปถึง ส.ส.ร. ทั้งชุดนี้ เมื่อเราพิจารณาแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ในร้อยคนล้วนแต่เป็นข้าราชการระดับสูงทั้งสิ้น

 

มีคราวหนึ่งที่ผมได้ดูโทรทัศน์ คุณจรัญ ภักดีธนากุล ได้มาพูดกับพิธีกรท่านหนึ่งในรายการโทรทัศน์แล้วพูดถึงรัฐธรรมนูญว่าเป็นเรื่องของชนชั้นสูงหรือเป็นเรื่องของนักกฏหมายมหาชนที่จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา แบบนี้ก็เป็นการยอมรับโดยดุษฎีว่า เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของชนชั้นสูงที่เขาจะคิด จะเขียน หรือจะทำอะไรเพื่อปกครองชนชั้นต่ำอย่างพวกเราอีก 65 ล้านคน

           

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมว่ามันสะท้อนตั้งแต่คนที่มาคัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ ก็เป็นข้าราชการระดับสูง คนที่ออกมาประชาสัมพันธ์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่เรารู้จักว่า อยู่ในฐานะและตำแหน่งที่เป็นขุนนางเดิมๆ เป็นข้าราชการเดิมๆ ทั้งสิ้น

 

ทั้งหมดในร่างรัฐธรรมนูญนี้ แบ่งออกเป็นหลายหมวดด้วยกัน แต่ผมคิดว่าหมวดที่เป็นขนมหวานที่...ผมอาจจะเรียกไม่ถูก ยาพิษที่เคลือบน้ำตาล ดีกว่า ก็คือหมวดที่สามที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยตั้งแต่มาตราที่ 26 ถึง 69 รวมไปถึงหมวดที่ 7 การมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนตั้งแต่มาตราที่ 163 ถึง 165  สังเกตุได้ว่า หมวดที่ 3 ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ มักจะถูกนำมาโฆษณาชวนเชื่อผ่านช่องทางในการทำประชาสัมพันธ์เสมอ

 

แต่ในเหตุการณ์จริงที่เราได้ดูผ่านช่องทางโทรทัศน์เวลาที่ ส.ส.ร.ประชุมกัน คุณคิดว่าน้ำหนักมันอยู่ที่เรื่องเหล่านี้หรือไม่ ปรากฏว่า 80% ของชั่วโมงการถ่ายทอด สะท้อนให้เห็นถึงการที่พยายามที่จะกำหนด กำกับ ควบคุม ตัวแทนของประชาชนหรือ ส.ส. เป็นส่วนใหญ่ แต่เวลาที่คุณเอามาโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะให้คนรับร่างรัฐธรรมนูญโดยการลงประชามติ คุณกลับชูหมวดที่ 3 ซึ่งเกือบไม่ได้ออกโทรทัศน์เลย

           

ฉะนั้น จริงๆ ข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เฝ้าติดตามคุณผ่านหน้าจอทีวีทั้งหลาย เขาเห็นกันอย่างชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเหมือนร่างรัฐธรรมนูญที่เสมือนหมายจับนักการเมือง คือพยายามที่จะลดบทบาทของ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน อันดับต่อมาก็คือลดอำนาจของฝ่ายบริหารลง โดยให้ฝ่ายตุลาการแทรกแซงเข้ามาในการควบคุมกำกับแต่งตั้ง โดยผ่านมือไม้ที่เรียกว่าองค์กรอิสระ

           

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด ผมคิดว่า กำลังทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่ต้องคานอำนาจกันทั้งสามส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ว่าด้วยเรื่องนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ มันกำลังไขว้กันไปไขว้กันมาจนไม่สามารถจะแยกแยะอำนาจอีกต่อไปได้ วิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่อันตรายนะครับ

 

การที่เรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะทำให้ความฟั่นเฝือ ความไขว้กันไปไขว้กันมาและขาดดุลยภาพของโครงสร้างรัฐธรรมนูญไทยต้องสูญเสียไปโดยตลอด หลังจากวันที่เราไปลงประชามติ ฉะนั้น ผมขอคาดการณ์เอาไว้เลยสองแนวทาง

           

แนวทางแรก ถ้าบอกว่าในอนาคตหลังจากรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าไม่สงบไปอีกหลายปี ก็เพราะเหตุผลที่ว่า คุณได้ทำลายความเป็นตัวแทนของภาคประชาชนก็คือพวกนักการเมืองไป คุณแต่งตั้งองค์กรอิสระที่มาจากฐานอำนาจของข้าราชการระดับสูง อันดับที่สามก็คือคุณทำให้การบริหารบ้านเมืองของฝ่ายบริหารอ่อนแอ

 

ฉะนั้น จริงๆ ก็คือว่า สังคมไทยจะตกอยู่ภายใต้ระบอบอมาตยาธิปไตยซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังฉากการย้อมสีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยก็คือข้าราชการระดับสูงนั่นเอง

 

ถ้าย้อนไปในรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เขาบอกว่าฝ่ายบริหารหมายถึง ส.ส. หรือนักการเมือง มีอำนาจเยอะเกินไป ก็เลยต้องจัดอย่างนี้ ทีนี้กลไกที่อาจารย์บอกว่า จริงๆ แล้วมันมีกลไกหรือสถาบันที่มันจะต้องทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ มันต้องมีนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ตอนนี้คือว่ามันจะไม่สมดุลกัน มันจะไปไขว้กันยังไงหรือทำให้เกิดปัญหายังไง

มันไขว้กันก็คือว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เมื่อเราพลิกไปที่หมวดที่ว่าด้วยรัฐสภาก็คือหมวดที่ 6 และหมวดที่ 11 ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ 1 ว่าด้วยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คุณจะเห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด ได้มีอำนาจของฝ่ายข้าราชการเข้ามาแทรกแซงและทำให้มันอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดที่ 11 ที่ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ 7 ท่านที่แต่งตั้งองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตุลาการ นี่ละครับที่เราเรียกกันว่ามันเป็นการไขว้ของอำนาจดุลยภาพในโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย

 

จริงๆ แล้ว คือเขาต้องการจะแก้ไขปัญหาในรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ฝ่ายบริหารตรวจสอบยากและใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ หรือเปล่า

เหตุผลนี้น่าฟัง แต่ผมจะชี้ให้เห็นลึกไปกว่านั้นคือ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คนที่มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 คือคนที่เสียประโยชน์ในช่วงที่ทักษิณมีอำนาจ 6 ปี คุณคิดว่าคนที่ไม่เป็นกลางแบบนี้ ควรจะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปกครองคน 65 ล้านคนหรือ

 

คำถามของผมก็คือว่า เราไม่เชื่อคุณ เราอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ขอโทษ...กฎอัยการศึกนี้เป็นกฎที่ไม่ได้มีการรับรองนะครับ ประกาศโดยคณะบุคคล เรียกว่าเป็น คณาธิปไตยนะครับ ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยอีกต่างหาก ก็คือไม่มีการถูกยอมรับใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นกฎอัยการศึกจึงเป็นกฎที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องของคณาธิปไตย เหตุการณ์บ้านเมืองที่เราประกาศกฎอัยการศึก มันเป็นภาวะที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่เป็นภาวะของการทำรัฐประหาร แล้วก็จัดการร่างกฎอัยการศึกแล้วปกครองคน 65 ล้านคนอย่างต่อเนื่อง เราอยู่ในภาวะที่มีสงครามหรือ นี่คือคำถาม จริงๆ ก็คือว่า กฎอัยการศึกถูกใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย       

           

ผมจะแนะนำอย่างนี้ครับว่า หลังการทำรัฐประหารมันมีหลายวิธีที่คุณจะปกครองบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นต้องประกาศกฎอัยการศึกซึ่งใช้ในภาวะสงครามเท่านั้น ก็คือ พระราชกำหนดบางฉบับ สอง รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 งดใช้บางมาตรา ก็เป็นไปได้ เห็นมั้ยครับ ว่าทางออกมันมีหลายวิธี แต่คณะรัฐประหารชุดนี้เลือกใช้กฎอัยการศึกเพราะว่าตนเองจะได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

           

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเลย ก่อน 19 กันยายน ฝ่ายการเมืองที่มาจากกลุ่มที่เรียกว่า "ธนกิจการเมือง" ค่อนข้างมีอำนาจเหนือข้าราชการ หลัง 19 กันยายน กลุ่มข้าราชการพยายามที่จะออกหมายจับกลุ่มธนกิจการเมือง แล้วกลุ่มข้าราชการก็อ้าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น รัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกร่างโดยคนที่เป็นกลาง แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยคนที่ขัดแย้งกัน

 

ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะถูกประกาศ มันมีกระบวนการสร้างเครื่องมือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน ขึ้นมา ตรงนี้อาจารย์มองว่า การร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน มันมีความเชื่อมโยงกับการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ในอนาคตอย่างไรหรือ

ผมคิดว่า...ผมยกตัวอย่างอุปมาอุปไมยให้ชัดเจนก็คือว่า ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่เวทีสนามหลวงก่อน 19 กันยายน มันเป็นการขัดผลประโยชน์ของกลุ่มธนกิจการเมืองด้วยกันเองคือกลุ่มของ สนธิ(ลิ้มทองกุล) จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กับกลุ่มของทักษิณ นี่คือการทะเลาะโต้เถียงและขัดแย้งกันในกลุ่มธนกิจการเมือง

 

ในกลุ่มธนกิจการเมืองนี้ ฝ่ายสนธิได้เดินทางไปหายักษ์ที่ถือกระบองเพื่อให้มาช่วยพวกฝ่ายตน แล้วปรากฎว่าไปอ้อนวอนอยู่หลายครั้งจนกระทั่งยักษ์ถือกระบองได้ออกมาช่วยเหลือจริง ซึ่งจะช่วยเหลือจริงหรือไม่ก็ตามเราต้องพูดในความซับซ้อนของมันอีก เพราะว่ามันเกิดขึ้นในช่วง 19 กันยายน 2549 สิบเอ็ดวัน ก่อนที่ตำแหน่ง ผบ.ทบ.จะเปลี่ยนแปลงในวันที่ 1 ตุลาคม แต่ผมจะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องนี้สำหรับคราวนี้

           

ผมขอให้ข้อมูลว่า พอยักษ์ถือกระบองออกมาแล้ว คุณคิดว่า คุณจะดึงเอายักษ์ถือกระบองกลับไปจำศีลอีกหรือ เมื่อยักษ์ถือกระบองออกมาแล้ว มันก็ได้กวัดแกว่งกระบองของตนเองออกไปทั่ว ก็ควบคุมไม่ได้แล้วตอนนี้ คุณลองคิดดูว่าไอ้ พ.ร.บ. ฉบับต่างๆ ไม่ใช่ฉบับนี้ฉบับเดียวนะ ผมจะไล่ให้ดู... พ.ร.บ.ความมั่นคง ,พ.ร.บ.ข่าวกรอง,กฎหมายคอมพิวเตอร์หรืออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ฉบับหนึ่ง อะไรอีกหลายอย่างที่มันเป็นแพ็กเก็จของมัน ออกมาเป็นชุดเลย สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นมาตรการทางการทหารในการต่อสู้ในยามศึกสงคราม เพื่อที่จะปิดล้อมฝ่ายตรงข้าม

 

คุณจะเห็นว่า วิธีการปิดล้อมของเขามันสะท้อนออกมาในการปิดล้อม 4 อย่างด้วยกัน

 

หนึ่ง ปิดล้อมเสบียงที่เรียกว่าท่อน้ำเลี้ยง อันที่สอง ปิดล้อมทางภูมิศาสตร์ก็คือกำหนดพื้นที่การก่อม็อบหรือการประท้วงให้อยู่แต่ในเขตสนามหลวงห้ามเคลื่อนย้าย ผมขอถามว่า ม็อบที่มีระเบียบแบบนี้มันเรียกม็อบหรือ ถ้าเกิดคุณควบคุมมันขนาดนี้ เราควรจะเรียกว่าพวกจำศีล ม็อบมันก็ต้องเคลื่อนไหว แต่คุณไปปิดพื้นที่เขาอีก อันที่สามก็คือปิดพื้นที่สื่อ ผมเลยถามว่า ไฮ ทักษิณ ยังสบายดีอยู่หรือ หรือว่าสื่อที่เคยเป็นของฝ่ายทักษิณแต่เดิมคือ ไอทีวี ซึ่งปัจจุบันก็คือ ทีไอทีวี เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้ก็คือเป็นบ้านแตกรอบที่สอง นี่ก็คือการปิดล้อมในหลายๆ ด้านด้วยวิธีการทางทหาร

 

อันดับสุดท้าย คือการปิดล้อมทางแนวร่วม เขาพยายามที่จะทำยุทธวิธีหรือยุทธการแบบดาวกระจาย คุณก็ไปกำหนด ไปยุติ อะไรทั้งหมด ทั้งหมดนี้คือวิธีการทางทหารในการปิดล้อม โดยมี พ.ร.บ.,พ.ร.ก.หรือกฎหมายอะไรหลายแบบออกมา เพื่อที่จะสยบ กำกับ ปิดล้อม ควบคุม แล้วก็ทำลายในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ที่เพิ่งทำลายพรรคไทยรักไทยไปเมื่อไม่นานมานี้

 

จากความขัดแย้งของกลุ่มธนกิจการเมืองของทั้งสองฝ่าย แล้วอีกฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็ไปดึงยักษ์มา แล้วเราจะควบคุมยักษ์ได้อย่างไร ยักษ์มันจะทำอะไรต่อไป แล้วเราจะถูกควบคุมอย่างไร

ผมคิดว่า เราจะต้องออกมาลงประชามติ เพื่อแสดงให้เห็นกันชัดเจนว่า ประชาชนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเปรียบเสมือนผ้ายันต์ของยักษ์ที่ถือกระบองที่ทำให้มันยังคงกระพันอยู่ได้ พิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 309 คุณอ่านให้ดีๆ มาตรา 309 เป็นมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งได้อภัยโทษในสิ่งที่ทำมาทั้งหมด

 

ยักษ์ที่ถือกระบองรู้ว่าตนเองทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ผิดหลักนิติธรรม ผิดหลักนิติรัฐ ผิดทุกสิ่งทุกอย่าง จึงมีการอภัยโทษให้ตนเองในมาตรา 309 สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด มันทำให้สิ่งที่คุณทำรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เป็นการกำกับ เป็นการกำจัด เป็นการควบคุม และเป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย 65 ล้านคน

 

ถ้าเป็นในทางพุทธศาสนาจะต้องเรียกว่า "อนันตริยกรรมประเทศ" ก็คือเป็นกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ คือการประหารรัฐ เราเรียกว่าเป็นอนันตริยกรรมของประเทศ ซึ่งมีความผิดมหันต์ ถ้าในสมัยโบราณก็คือ "ต้องตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร" แต่ในกฎหมายใหม่ก็คงไม่มีแบบนี้ การอภัยโทษหรือการนิรโทษกรรมคือการหลุดพ้นจากการถูกตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรนั่นเอง ถ้าเทียบกับสมัยอยุธยา

 

ฉะนั้น จริงๆ ก็คือตัวเองก็รู้อยู่ แล้วพยายามที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ควรรับ  ถามว่าเราจะต่อสู้อย่างไรกับยักษ์ที่ถือกระบอง อันดับแรกสุดเลยคือวันที่ 19 สิงหาคม ไปที่คูหาแล้วก็กาบัตรเพื่อที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับยักษ์ถือกระบองนี้

 

น่าสังเกตว่า ตัว พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ออกมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้อย่างดี ถ้าอย่างนั้นมันก็เท่ากับไม่มีความหมายอะไรใช่มั้ยครับ

ขอโทษ ผมไม่เคยคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 50 จะให้สิทธิใครเพิ่มเติม ในหมวดที่ 3 ซึ่งโกหกมาตลอด ผมจึงเรียกว่าเป็นยาพิษเคลือบน้ำตาล เพราะอะไร ถ้าคุณจะให้สิทธิประชาชนจริง หรือว่าคุณจะให้สิทธิประชาชนในการถอดถอน ไม่ใช่ลดจำนวนครับ การลดจำนวนไม่ใช่ปัญหาสำคัญ

 

ผมจะยกตัวอย่างเช่น คุณลดจำนวนให้เหลือหนึ่งหมื่นคนแทนที่จะเป็นห้าหมื่น หรือให้เหลือสองหมื่นแทนที่จะเป็นห้าหมื่น อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าหลังจากประชาชนขอถอดถอน สองหมื่นรายชื่อมีพร้อมแล้วส่งเข้าไป ปรากฏว่าสภาฯ เอาวาระของคุณไปจัดลำดับเป็นวาระสุดท้ายของการประชุมเสมอ เมื่อไรเรื่องคุณจะได้เข้า ซึ่งจุดอ่อนข้อนี้มันปรากฏชัดมาตั้งแต่ปี 40 ว่าเรามีสิทธิแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่ต่างกันที่จำนวน ปัญหาของมันคืออะไร ปัญหาของมันที่แท้ก็คือว่า มันไม่ใช่เรื่องจำนวนปริมาณของคนที่ไปถอดถอนที่ลดจำนวนลง แต่มันอยู่ที่การกำหนดลงไปในรัฐธรรมนูญว่า ถ้ามีการถอดถอนโดยยื่นเรื่องขึ้นมาสองหมื่นรายชื่อ หรือหนึ่งหมื่นรายชื่อ อะไรก็แล้วแต่ ต้องกำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนในที่ประชุมของรัฐสภา นี่คือปัญหา

 

ฉะนั้นสิทธิที่เขียนไว้ที่ผมบอกว่า เป็นยาพิษเคลือบน้ำตาล คือการโฆษณาชวนเชื่อว่าคุณมีสิทธิมากขึ้น ขอโทษ กระเป๋าของคุณว่างเปล่าเหมือนเดิมครับ

 

เรื่องการลงประชามติ หรือกระบวนการภาคประชาชนจะแสดงจุดยืนตรงนี้อย่างไร

ผมคิดว่าเรื่องประชามติเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ว่าต้องเข้าใจโครงสร้างของประชามติก่อน โครงสร้างของประชามติจะมีได้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง มีพื้นที่ส่วนกลาง ที่คนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อันที่สองจะต้องมีกลไกในการทำประชามติ อันที่สามก็คือเสียงของประชามติจะต้องได้รับการปฏิบัติ ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในขณะที่เสียงส่วนน้อยต้องได้รับความเคารพ จะมีอยู่สามขั้นตอน

 

ทีนี้เรามาพลิกดูสถานการณ์จริง ประชามติในทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่ส่วนกลาง คนที่ออกไปรณรงค์ให้การทำประชามติก็คือโครงการแม่ไก่เจ็ดพันตัวเป็นของรัฐ อันต่อมาคือ สสร. ซึ่งควรหมดอายุหลังจากยกมือรับร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว เพราะว่า คุณไม่ได้เป็นกลาง เพราะคุณรับร่างรัฐธรรมนูญยังไปรณรงค์เรื่องประชามติอีก ตรงนี้ไม่มีความชอบธรรม กกต.สองคนซึ่งเป็น สสร.ก็ไปเป็นคนที่ดูแลหรือรักษากล่องหรือหีบบัตรเลือกตั้ง คุณก็ลองคิดดูว่า ประชามติแบบนี้เป็นประชามติแบบไหน ไม่มีพื้นที่ส่วนกลาง ไม่มีพื้นที่ให้เราสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แล้วเราก็ไปลงประชามติแบบไม่รู้เรื่อง ลักษณะแบบนี้ทั้งหมดด้วยเวลาอันจำกัด

 

ผมคิดว่า ประชามติจึงมีความหมายสุดท้ายก็คือว่า มันหมายถึง เราไม่เอา คมช.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท