คำต่อคำ ดีเบตประวัติศาสตร์ "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : สมคิด เลิศไพฑูรย์ VS วรเจตน์ ภาคีรัตน์

สองนักกฎหมายมหาชน โต้ประเด็นต่อประเด็น หลักคิดกับหลักการ จากที่มา เรื่อง ส.ว. ส.ส. เขตเลือกตั้ง ถึงการนิรโทษกรรมตัวเอง และการสืบทอดอำนาจ

 

 

ประชาไท - เมื่อวันที่ 3 ส.ค.50 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเวทีดีเบต (การประชันความคิด) จุดเด่น-ข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ณ หอประชุม บ้านมนังคศิลา โดยได้รับความร่วมมือในการถ่ายทอดสด ผ่านทางเนชั่นแชนแนล และเว็บไซต์ประชาไท

 

 

เวทีครั้งนี้ มีตัวแทนเข้าร่วมการประชันความคิดจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประกาศว่า "รับร่าง" รัฐธรรมนูญ และจากฝ่ายนักวิชาการ ตัวแทนนักการเมือง ที่ประกาศ "ไม่รับร่าง" โดยแบ่งการประชันความคิดออกเป็นคู่ๆ ดังนี้

 

คู่ที่ 1: นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กับ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

คู่ที่ 2: นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกและประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร. กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

 

คู่ที่ 3: คือ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ส.ส.ร.และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กับ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร จากเนชั่นแชนแนล และสมชัย ศรีสุทธิยากร เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต)

 

รายการทั้งหมด แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1-3 ให้แต่ละคู่อภิปรายคนละ 20 นาที จากนั้นให้ตอบคำถามคนละ 5 นาที และในช่วงสุดท้าย เป็นช่วงสรุปประเด็น คนละ 5 นาที ซึ่งฝ่าย ส.ส.ร.มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นตัวแทน และฝ่ายนักวิชาการ มีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นตัวแทน

 

ก่อนจะเริ่มการอภิปรายในแต่ละคู่ มีการจับฉลากว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อน ซึ่งฝ่ายที่อภิปรายก่อนจะได้สิทธิตอบคำถามทีหลัง ทั้งนี้เมื่อผลการจับฉลากออกมา ปรากฏว่าในทั้ง 3 คู่ ฝ่าย ส...เป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อนทั้งสิ้น

 

"ประชาไท" ขอเก็บเนื้อความทุกคำ ทุกประโยคมาเผยแพร่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ตอน

 

0 0 0

 

 

 

 

 

"พูดกันมากว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหา 74 คนไม่เป็นประชาธิปไตย คนพูดก็อาจจะไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ ถามว่า การสรรหาบางส่วน เลือกตั้งบางส่วน ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยไหม ส.ว.ในอังกฤษแต่งตั้งทั้งหมด มีใครว่าอังกฤษไม่เป็นประชาธิปไตยไหม"

 

                สมคิด เลิศไพฑูรย์

 

 

"เวลาที่เราวิเคราะห์ถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น จะต้องดูอำนาจหน้าที่ด้วย อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 50 นี้จะมีอยู่สูงมาก สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ แต่สภาขุนนางของอังกฤษไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นในการที่จะอธิบายหรือลอกเลียน หรืออ้างอิงต่างประเทศ จะต้องดูลักษณะอำนาจหน้าที่ของเขาประกอบกัน"

 

                   วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

 

 

0 0 0

 

สมคิด เลิศไพฑูรย์

เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ การรัฐประหารวันที่ 19 กันยา นำมาซึ่งการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งผมร่วมร่างอยู่ด้วย และผมก็ไม่เห็นด้วยกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ประการใด เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2549 ขึ้น รัฐธรรมนูญปี 49 ก็อยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในฐานะที่ผมร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ในฐานะของหลายคนที่อยากเห็นประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราควรมีส่วนในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ไหม มีเพื่อนของผมหลายคนทั้งสนับสนุนและคัดค้านเรื่องนี้

 

ผมเองเห็นว่าการร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และก็ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดว่า ในอดีตเมื่อมีการรัฐประหารแต่ละครั้งก็จะมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้น หลังจากนั้นก็จะมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น เช่น ปี 2490 มีรัฐธรรมนูญ 9 พ.ย.90 หลังจากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 92 ขึ้น ปี 2520 เกิดการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็มีการทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว 9 พ.ย. แล้วก็ฉบับถาวรปี 2521 ปี 2534 ก็เช่นเดียวกัน ปี 2549 กับ 2550 ที่เราพูดกันว่า ควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ผมคิดว่าเป็นการนำพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ควรจะมีหลักการอะไรบ้าง ผมเองวางหลักการไว้ 2 หลักที่จะร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50

 

หลักการที่หนึ่ง คือรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องมีความเป็นประชาธิปไตย หลักการที่สอง คือต้องแก้ปัญหาของสังคมไทยที่เกิดขึ้นก่อนปี 2549 ให้ได้ สองคำถามนี้เป็นคำถามที่ผมพยายามทำรัฐธรรมนูญปี 50

 

คำถามแรก เรื่องความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญปี 50 มีคนตั้งคำถามเรื่องนี้เยอะ ปี 50 มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง การปกครองระบอบประชาธิปไตยก็คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

 

คำถามที่หลายคนถามมากก็คือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการต่อท่ออำนาจไหม มีการนิรโทษกรรม คมช.ไหม ทำไม ส.ว.ไม่มาจากการเลือกตั้ง คำถามเหล่านี้มุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับปี 50

 

ขออนุญาตกราบเรียนว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีบทบัญญัติใดให้ คมช.เข้ามามีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากคนนอก มาจากคนใน เห็นชัดเจน นายกรัฐมนตรี-คมช. ไม่ได้มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.แต่ประการใดทั้งสิ้น คมช. ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นโดยเร็วภายในปีนี้ ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยตรงไหนบ้าง ไม่มีครับ

 

มาตรา 309 ที่ถามอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาตรานี้เขียนว่าอะไร มีการฟังคนอื่นพูดกันเยอะว่ามาตรานี้เขียนนิรโทษกรรม คมช. ไม่มีครับ มาตรา 309 พูดว่าสิ่งที่ถูกต้องในปี 2549 ให้ถือว่าถูกต้องต่อไป ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดให้ผิดต่อไป หรือให้ถูก ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ผิดขอให้ถูก เขียนว่าสิ่งที่ถูกขอให้ถูกต่อไป ถามว่าเขียนแบบนี้ผิดตรงไหน มีบทบัญญัติตรงไหนบ้างที่นิรโทษกรรม คมช.  การนิรโทษกรรมได้หมดสิ้นไปแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 49 เพราะรัฐธรรมนูญ 49 ได้นิรโทษกรรม คมช.ไปแล้ว ในทางกฎหมายจึงไม่ต้องนิรโทษกรรม คมช.อีกต่อไป

 

มาตรา 309 มุ่งอุดช่องว่างของกฎหมายในปัญหากฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ฉะนั้น มาตรา 309 ไม่ได้ผิดหลักการการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างที่หลายคนได้พูดแต่ประการใด

 

เรื่อง ส.ว.พูดกันมากว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหา 74 คนไม่เป็นประชาธิปไตย คนพูดก็อาจจะไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ ถามว่า การสรรหาบางส่วน เลือกตั้งบางส่วน ผสมกัน ขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยไหม ส.ว.ในอังกฤษแต่งตั้งทั้งหมด มีใครว่าอังกฤษไม่เป็นประชาธิปไตยไหม ในเบลเยี่ยม ส.ว.แต่งตั้ง 40 คน แต่งตั้งโดยสภาชุมชน 21 คน โดยสหกรณ์10 คน ในประเทศอินเดีย ไอร์แลนด์ ภูฏาน แคนาดา มีการผสมผสานระหว่างส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งกับส.ว.ที่มาจากการสรรหาทั้งสิ้น อิตาลีก็เป็นเช่นนั้น

 

ผมอยากจะเรียนว่า ประเทศที่ผมเอ่ยนามไม่ได้เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการแต่อย่างใดทั้งสิ้น ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนี่แหละครับ ที่อาจมี ส.ว.มาจากการสรรหา ผสมการเลือกตั้งได้ ท่านอยากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยเฉพาะกลับไปสู่รัฐธรรมนูญปี 40 หลายท่านพูดไปแล้วนะครับว่าปี 40 มีปัญหา แต่หลายท่านก็บอกว่าเอาปี 40 กลับมาใช้เถอะ สองประโยคนี้ขัดแย้งกันไหมครับ

 

ปี 40 มีปัญหามากพอสมควร เราต้องแก้ไขปัญหาปี 40 และนำพาประเทศไปสู่ระบอบที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ผมเรียนท่านทั้งหลายว่า ระบบส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีปัญหาอยู่พอสมควร เราวางระบบ ส.ว.ต้องมีความเป็นกลาง แต่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แนะนำตัว แต่สังกัดพรรคไม่ได้ ไม่มี ส.ว.ประเทศไหนในโลกที่บอกว่าไม่เป็นกลาง แต่ ส.ว.เมืองไทยบอกต้องเป็นกลางนะ แต่ให้มาจากการเลือกตั้ง ปัญหามีอยู่ว่า ส.ว. 2 ชุดที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 ประกาศใช้ มีความเป็นกลางมากแค่ไหนอย่างไรบ้าง เลือกตั้ง 100% จะซ้ำซ้อนแบบเดิมไหม จะนำพาประเทศไปสู่ปัญหาไหม เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 วางน้ำหนักที่ ส.ว.ให้เป็นคนแต่งตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร

 

ผมไม่ได้บอกว่าถ้าเลือกตั้งทั้งหมดไม่ดี แต่ว่าอย่ากล่าวหาว่าเลือกตั้ง 76 สรรหา 74 ขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นต้องไปบอกว่าอังกฤษแย่ เป็นเผด็จการ เบลเยี่ยมก็เป็นเผด็จการ อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประเทศอื่นในโลกยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีประเทศหนึ่งของโลก ก็มีระบบสรรหา ส.ว. ผมคิดว่าเราต้องพูดกันบนเหตุบนผล ไม่ใช่พูดบนพื้นฐานของการพยายามตั้งโจทย์ของปี 50 ล้มรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วพยายามหาข้ออ่อนมาจ้องจับผิดกัน

 

อาจารย์เจิมศักดิ์พูดไปแล้วว่ามีหลายมาตราที่อาจารย์เจิมศักดิ์ไม่เห็นด้วย ผมก็ว่าเยอะครับ แต่ว่าข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 40 มีอยู่มาก ข้อเสียก็พอสมควร ปี 40 เองตอนผมร่างผมก็เห็นว่ามีข้อบกพร่องหลายเรื่อง ไปล็อคบอกว่า ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี มาปลดล็อคปี 50 ไปล็อคว่า กกต.ให้ใบเหลืองใบแดงแล้วจบสิ้นเลย ให้อำนาจเบ็ดเสร็จของ กกต. เรามาแก้ปัญหาให้ กกต.ถูกตรวจสอบโดยศาลได้ มีหลายเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐธรรมนูญปี 50 ได้ดำเนินการไป

 

ฉะนั้น โดยสรุปในประเด็นแรก ผมอยากเรียนท่านทั้งหลายว่า ถ้าใช้การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เป็นตัวตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการดังกล่าวข้างต้นเลย อาจจะมีข้ออ่อนที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ เช่น รัฐบาลอาจจะไม่เข้มแข็ง ถามว่ารัฐบาลไม่เข้มแข็งเพียงพอเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยไหม คำตอบคือเปล่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ถ้าหลักการนี้ใช้ได้โดยรวม รายละเอียดก็ค่อยมาดูกันว่าเป็นอะไรบ้าง

 

ลองเอาปัญหาของปี 40 เป็นตัวตั้ง ท่านจาตุรนต์ อาจารย์นิธิพูด หรือแม้แต่อาจารย์วรเจตน์ก็เคยเขียนบทความเยอะแยะว่า 40 มีปัญหาและควรแก้ไข ร่างปี 50 ก็เอาปี 40 เป็นตัวตั้งเลย แล้วแก้ไขปัญหาปี 40 โดยเราแก้ 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราพยายามทำให้ดีขึ้น อาจารย์เจิมศักดิ์ได้พูดไปเยอะ สิทธิในระบบต่างๆ มากมายเต็มไปหมด รัฐธรรมนูญปี 50 ดีกว่าปี 40 เยอะในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่มีคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ในฉบับปี 50 เลย ถ้าจะพูดก็เพียงว่ามันจะเป็นจริงไหม  เป็นไปได้ไหม แต่นั่นไม่ใช่ข้อวิพากษ์วิจารณ์

 

ปี 50 เขียนดีกว่าปี 40 แน่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และปี 50 ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ทำให้การเมืองของนักการเมืองมีการเมืองของภาคประชาชนลงไปด้วย แต่อาจารย์นิธิพยายามพูดว่า ปัญหาของประเทศไทยไม่ได้แก้ปัญหาที่นักการเมือง แต่แก้ปัญหาด้วยประชาชน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 50 พยายามจะพูดว่า รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น พอให้มีเขตใหญ่ มีปัญหากับประชาชน ปาร์ตี้ลิสต์มีหลายลิสต์ มีการสรรหา นั่นคือการพยายามพูดในส่วนของนักการเมืองค่อนข้างมาก การเมืองของภาคของคนส่วนหนึ่ง แต่ถามว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ได้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นไหม คำตอบคือมีเยอะแยะเต็มไปหมด

 

รัฐธรรมนูญปี 40 มีไหมให้ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อขอแก้รัฐธรรมนูญได้ ไม่มี รัฐธรรมนูญปี 40 มีไหมให้ประชาชนติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ไม่มี มีไหมที่ให้ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง มีไหมที่ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถฟ้องได้ในเรื่องต่างๆ มีไหมที่ประชาชนสามารถลงประชามติ และเป็นประชามติที่ผูกมัดรัฐบาลด้วย ไม่ใช่ประชามติแบบเดิมที่ขอความเห็นประชาชนเท่านั้น

 

เราลดจำนวนของคนถอดถอนจาก 50,000 คน เหลือ 20,000 คน บางคนบอกไม่มีความหมายเลย มีครับ ความหมายมีเยอะ นี่คือการให้อำนาจประชาชนเพิ่มมากขึ้นในการแตะต้องนักการเมือง ในการตรวจสอบทางการเมือง ดำเนินการต่างๆ ทางการเมือง เอฟทีเอทั้งหลายแต่เดิมไม่เคยที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียน การทำเอฟทีเอต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องฟังเสียงประชาชนก่อน ต้องมีการตั้งสภาเกษตรกร ต้องมีกองทุนพัฒนาการเมืองของภาคประชาชน มีอีกหลายเรื่องที่เราพยายามจะให้อำนาจทางการเมืองแก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ลดอำนาจของนักการเมืองหรอก นักการเมืองยังไงก็เล่นการเมือง ยังไงก็อยู่ในระบบการเมือง แต่ว่าการเมืองที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย ต้องเป็นการปกครองโดยประชาชน ถามว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความผิดตรงไหนที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

ปัญหาใหญ่ที่คนวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 50 คือ ดุลยภาพทางอำนาจ หลายคนพูดว่าเราไปลดอำนาจรัฐบาลลง ไปลดอำนาจ ส.ส.ลง ไม่จริงหรอกครับ ดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ถูกทำลายลงไปในช่วงของรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นสิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องแก้ไข เราก็แก้ ถามว่าเราพยายามทำให้รัฐบาลอ่อนแอลงไหม เปล่าครับ เราทำให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีอำนาจอยู่เหมือนเดิมพอสมควร

 

ท่านอาจารย์นิธิพูดถึงมาตรา 230 ของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่พูดถึงเรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม รัฐธรรมนูญปี 50 ยังมีอยู่ ไม่ได้ตัดทิ้ง กฎหมายทั้งหลายที่เสนอเข้าสู่สภา หลายคนบอกรัฐบาลไม่สามารถผลักดันกฎหมายได้เลย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐกำหนดไว้หมดแล้ว เปล่าครับ มีช่องว่างมากมายให้รัฐบาลเสนอกฎหมายเข้าสภา และถ้าใครก็แล้วแต่ที่เสนอกฎหมายเข้าสภาแล้วเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเงิน รัฐบาลก็สามารถบอกยังไม่ต้องเข้าสภาได้

 

การตราและกำหนดยังเป็นอำนาจของรัฐบาลอยู่ การปลดรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง รัฐบาลมีอำนาจทั้งสิ้น รัฐบาลมีอำนาจทั้งหลายทั้งปวงที่ควรจะเป็นทั้งหมด มีการพูดถึงการแทรกแซงฝ่ายประจำ ไม่สามารถแทรกแซงได้ ผมบอกเลยครับว่า รัฐธรรมนูญเขียนจริง ไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่ว่าต้องพูดให้หมดว่า แทรกแซงฝ่ายประจำไม่ได้ในกรณีที่แทรกแซงแล้วเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือของพรรคการเมือง เราจะยอมหรือให้นักการเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หรือของพรรคการเมือง เรายอมไม่ได้นะครับ

 

มีคนพูดอีกว่า ดุลยภาพมันสวิงไปสู่ศาลเพิ่มมากขึ้น ผมเรียนว่า นี่ก็พูดด้านเดียว รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 40 เท่าไรนัก ปี 40 มีให้อำนาจศาลอยู่แล้ว สรรหา ป.ป.ช. มีศาล 3 ศาลนั่งอยู่ในการสรรหา ในการสรรหา ก.ก.ต.ก็มีศาลนั่งอยู่ในการสรรหา เราไม่ได้เพิ่มอำนาจศาลในการสรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญแต่ประการใดทั้งสิ้น การสรรหายังคงรูปแบบเดิมพอสมควร แต่ปรับปรุงตบแต่งให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ถ้าบอกว่าไม่เคยมีอยู่ในปี 40 เลย ปี 50 มาใส่ เข้าใจผิด ข้อมูลไม่เป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไป

 

ในทางตรงกันข้าม ศาลกลับลดอำนาจลง ศาลกลับถูกตรวจสอบได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ศาลฎีกาเดิมทีมีอำนาจพิจารณาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 219 วรรค 3 บอก ศาลฎีกาน่าจะมีอำนาจพิจารณาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น เราสร้างผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาขึ้น รัฐธรรมนูญปี 50 บอกผู้ตรวจการรัฐสภาต้องตรวจสอบศาลด้วยนะ จากที่แต่เดิมศาลไม่เคยถูกตรวจสอบเลย เราบอกประชาชนลดจาก 50,000ชื่อ เหลือ 20,000 ชื่อ ฟังดูแล้วไปเกี่ยวข้องกับนักการเมืองเท่านั้น ท่านอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญบอกคนที่ถูกถอดถอนได้ คือศาลด้วย ฉะนั้น ประชาชน 20,000 ชื่อสามารถถอดถอนศาลได้ด้วยเช่นเดียวกัน ถามว่าดุลยภาพแบบนี้ที่เราสร้างขึ้นให้อำนาจศาลเกินไปไหม

 

ในเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ เราพยายามให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีสถานะเป็นผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญปี 40 ที่ท่านยกย่องว่าดีมากมาย ลองไปถามนักการเมืองหรือ ส.ส.ในปี 40 ว่าเขาได้ทำหน้าที่ของเขาไหมในฐานะผู้แทนประชาชน ทุกคนตอบตรงกันหมด ส.ส.ทำอะไรแทบไม่ได้เพราะพรรคการเมืองเขาคุมหมด จะยกมือพูดในสภา พรรคการเมืองก็ไม่ให้พูด จะเสนอกฎหมายเข้าสภาต้องขออนุญาตนักการเมือง จะลงมติอะไรก็แล้วแต่ พรรคการเมืองคุมหมด รัฐธรรมนูญปี 50 ผิดตรงไหนที่บอกว่าให้ ส.ส.มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นด้วยการเปิดช่องให้การลงมติในเรื่องต่างๆ ของ ส.ส.นั้น ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงมติพรรค เราทำให้ผู้แทนประชาชนมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น

 

ถามว่าเราทำให้ผู้แทนประชาชนไม่ได้คิดถึงประชาชนไหม ด้วยการขยายเขตเลือกตั้งเป็นเขตละ 3 คน ถ้าเขตใหญ่ขึ้น ส.ส. 1 คน ห่างเหินประชาชนแน่ แต่ถ้าเขตใหญ่ขึ้น ส.ส.3 คนความห่างเหินจะอยู่ตรงไหน และที่สำคัญอย่าเข้าใจผิดว่า ส.ส.มีหน้าที่ไปฟังทุกข์ร้อนประชาชน แน่นอน ส.ส.ต้องมีอำนาจหน้าที่เหล่านั้น แต่หน้าที่หลักของ ส.ส.คือหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่ว่าคุณจะมาจากการเลือกตั้งของคนในเขตไหนก็แล้วแต่ คุณเป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นผู้แทนของเขตเลือกตั้ง เรื่องนี้เราอยากทำ และอยากให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 50 อยากให้เกิดการผลักดันที่เราเรียกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มุ่งไปสู่เรื่องดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการมากขึ้น

 

ถ้าพูดเฉพาะเรื่องดุลอำนาจ เดิมฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก ทำลายฝ่ายนิติบัญญัติ ทำลายฝ่ายตุลาการ เราให้ดุลอำนาจอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่ได้ทำลาย ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีใครคิดแบบนั้น แต่แน่นอนเมื่อเราลดลงมาหน่อยก็จะรู้สึกว่าดุลอำนาจเปลี่ยนแปลงไป ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้มีเจตนาจะให้ประเทศไทยล่มสลาย หรือนำระบอบเผด็จการมาใช้กับประเทศไทย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มีแต่พยายามหาทางออกให้กับประเทศ นำประเทศไปสู่ระบบประชาธิปไตย เสริมสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพิ่มอำนาจในทางการเมืองของประชาชน ทำให้เกิดดุลยภาพในทางการเมืองเกิดขึ้น

 

ผมอยากให้เรามองเห็นภาพว่า รัฐธรรมนูญปี 50 แม้ไม่ดีที่สุด แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีฉบับหนึ่ง และจะนำพาประเทศไปสู่ระบอบการปกครองประชาธิปไตยในอนาคต 

 

 

0 0 0

 

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เวลาที่เราจะพูดถึงเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าประเด็นหลักๆ ที่ต้องพิจารณามีอยู่ 3 เรื่อง คือ ที่มาของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ, กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเอง

 

ในเรื่องของที่มานั้น แทบทุกคนก็ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องและสมควร  ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเราก็บอกนะครับว่า รัฐธรรมนูญที่มีที่มาลักษณะเช่นนี้ จะมีปัญหาในทางเนื้อหาเสมอ

 

รัฐธรรมนูญที่มีที่มาที่ดี เช่นรัฐธรรมนูญปี 2540 เปลี่ยนผ่านมาจากปี 2534 จะมีปัญหาในเรื่องประชาธิปไตยน้อย รัฐธรรมนูญปี 2489 ที่เปลี่ยนผ่านมาจากรัฐธรรมนูญ 2485 ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น "ที่มา" ก็เป็นตัวบ่งชี้เรื่องของเนื้อหาด้วย

 

ในแง่ของกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ความจริงที่ผมอยากจะพูดก็คือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อ้างเรื่องจริยธรรมเอาไว้มาก ถึงขนาดมีหมวดๆ หนึ่งพูดถึงเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญก็มีการพูดประเด็นนี้ ปัญหาก็คือว่า ตัวผู้รับรัฐธรรมนูญนั้น มีปัญหาเรื่องนี้เองหรือไม่ อันนี้น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้อันหนึ่งในการที่เราจะตัดสินใจว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

 

ตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นมี "ประโยชน์ทับซ้อน" ในแง่ของการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ เนื่องจากว่าผู้รับรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งมีที่มาจากองค์กรอิสระ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มิหนำซ้ำ ยังไม่มีการขจัดผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะเกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีก เช่น ไม่มีการบัญญัติห้ามคนที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ อันนี้คือปัญหาในเรื่องของกระบวนการในการยกร่าง

 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดเรื่องจริยธรรม ต้องตั้งคำถามกับจริยธรรมของผู้ร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งผมไม่ได้พูดถึงทุกคน แต่หมายถึงผู้ร่างจำนวนหนึ่ง มิพักต้องพูดถึงว่า ณ บัดนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็จะกลับมาเป็นผู้ที่จัดการออกเสียงประชามติ ที่ถือว่ามีส่วนได้เสียกับการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย มีการพูดกันอยู่มากเหมือนกัน แต่แล้วก็เงียบหายไป

 

ในเรื่องของเนื้อหารัฐธรรมนูญ เนื่องจากเวลาจำกัด ผมจะพูดใน 3 ประเด็นหลักๆ

 

ประเด็นที่ 1 คือ ประเด็นความเป็นเอกภาพ และความไม่เป็นระบบของตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งหมายถึงการขาดวิชาการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญด้วย

 

ประเด็นที่ 2 คือประเด็นเกี่ยวกับฐานคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมือง

 

ประเด็นสุดท้าย คือความไม่เคารพรัฐธรรมนูญของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ อันนี้คือปัญหาของเรื่องการนิรโทษกรรมนั่นเอง

 

ประเด็นแรกนั้น ถ้าเราพิจารณาดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพบว่ามีบทบัญญัติที่อาจจะเกิดการขัดกันเอง เมื่อกี้ท่านอาจารย์สมคิดได้พูดถึงเรื่องของการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า เมื่อ กกต.ใช้อำนาจไปแล้ว ณ บัดนี้สามารถตรวจสอบได้โดยศาล ซึ่งไม่จริงทั้งหมด แต่เป็นความจริงแค่ครึ่งหนึ่ง เหตุผลเช่นนั้นก็เพราะว่าในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญนี้ การตรวจสอบการใช้อำนาจของ กกต.จะทำได้ก็ต่อเมื่อ กกต.ใช้อำนาจหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น

 

ก่อนการประกาศผลเลือกตั้งนั้น คำวินิจฉัยของ กกต.ถือเป็นที่สุด โดยเหตุผลนี้เอง บทบัญญัติดังกล่าวจึงน่าจะไปขัดแย้งกันเองกับบทบัญญัติอีกส่วนหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นการตัดอำนาจของคนที่ได้รับผลเสียหายจากการใช้อำนาจของ กกต.ที่ตัดสิทธิก่อนประกาศผลการเลือกตั้งนั้นๆ ให้นำคดีไปสู่ศาล มิพักต้องพูดถึงประเด็นในทางเทคนิค

 

ประเด็นที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ คือเรื่องฐานคิดในการออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมือง เราพูดกันมามากแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจของฝ่ายตุลาการที่จะเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะ หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับปี 40 ก็ถือว่ามากกว่าจริง ที่ท่านอาจารย์สมคิดว่านั้นถูกต้องแล้ว แต่รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น จะพบบทบาทของศาลในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมากมาย ทั้งประธานศาลทั้ง 3 ศาล หรือในบางกรณีก็จะเป็นบุคคลที่ศาลนั้นเลือกมาให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาด้วย

 

ประเด็นก็คือ เราบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เผชิญกับปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ และก็ไม่มีสถาบันใดที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเท่ากับสถาบันตุลาการ ในการที่จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ผมเรียนว่าการที่เราจะพูดถึงประเด็นนี้ เราต้องพูดถึง "ลักษณะการใช้อำนาจของศาล" เสียก่อน เหตุที่ศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ศาลยุติธรรม" ซึ่งมีประวัติความเป็นมา มีธรรมเนียมที่ยาวนาน ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนในระดับที่สูง ก็เพราะว่าศาลทำหน้าที่ในการตัดสินคดี ศาลเป็นคนกลางในการตัดสินคดี เมื่อเกิดคดีขึ้น ก็มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล แต่ศาลไม่ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง หรือไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งต่างๆ

 

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดให้ศาล ผู้แทนศาล หรือประธานศาลต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสรรหาบุคคล ความเกี่ยวพันในทางการเมืองก็เป็นอันเลี่ยงไม่พ้น แน่นอนว่าเรายังไม่สามารถทำนายผลที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้ แต่ผมเชื่อว่าจะมากจะน้อยก็จะกระทบต่ออำนาจในทางตุลาการแน่นอน

 

ปัญหาประการถัดไปอยู่ที่เรื่องการจัดโครงสร้างของวุฒิสภา วุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ที่กำลังจะมีการลงประชามติ มีที่มาอย่างที่ท่านได้ทราบกันแล้ว ก็คือมาจากการเลือกตั้ง 76 จังหวัด หรือจังหวัดละ 1 คน แล้วก็มาจากการสรรหาอีก 74 คน ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังบอกอีกว่า สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่ง 74 คนที่มาจากการสรรหา อาจจะอ้างไม่ได้ว่าเป็นผู้ที่มาจากปวงชนชาวไทย เพราะการจะอ้างว่าเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนด้วย

 

มีคนบอกว่าในต่างประเทศก็มีการสรรหาเหมือนกัน หรือสภาของประเทศที่เป็นสภาสูงนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น สภาขุนนางในประเทศสหราชอาณาจักร ผมเรียนว่า เวลาที่เราวิเคราะห์ถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น จะต้องดูอำนาจหน้าที่ด้วย

 

อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 50 นี้ ถ้าเกิดผ่านประชามติ จะมีอยู่สูงมาก สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แต่สภาขุนนางของอังกฤษไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นในการที่จะอธิบายหรือลอกเลียน หรืออ้างอิงต่างประเทศนั้น จะต้องดูลักษณะอำนาจหน้าที่ของเขาประกอบกัน ถ้ามาจากการสรรหาแล้ว หน้าที่ของเขาคืออะไร อำนาจหน้าที่ที่มากล้นของวุฒิสภานั้น ต้องการความเชื่อมโยงในฐานของประชาธิปไตย ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง อันนี้คือปัญหาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และก็ปรากฏอยู่ในตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วย

 

มาถึงประเด็นเรื่อง "ระบบเลือกตั้ง" มีการบอกว่าระบบเลือกตั้งในร่าง รธน.ปี 2550 นี้ ทำให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เพราะว่าไม่จำเป็นต้องเลือกคนๆ เดียวในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ผมเห็นว่า ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะนำเราย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาในอดีตที่เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นนั้นอาจส่งผลกับการจัดการการเลือกตั้ง และการตรวจสอบดูแลการเลือกตั้งที่อาจจะยากขึ้นไปด้วย มิหนำซ้ำยังทำให้ประชาชนในแต่ละเขตมีคะแนนเสียงไม่เท่ากันในการเลือกผู้แทนของตัว ประชาชนที่อยู่ในเขตเลือกตั้งที่เลือกผู้แทนได้ 3 คนก็อาจจะเลือกได้ครับ เพราะชอบ 3 คนก็เลือก 3 เบอร์ แต่ถามว่าประชาชนที่อยู่ในเขตที่เลือกผู้แทนได้คนเดียวล่ะครับ ถ้าชอบ 3 คน เลือกได้กี่เบอร์ครับ ก็เลือกได้เบอร์เดียว

 

แต่ว่าอันนี้เป็นปัญหาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ได้แก้ไขลุล่วงไปแล้วในระดับหนึ่ง ก็คือการจัดให้เขตเลือกตั้งเป็นเขตที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้คนเดียวทั้งประเทศ คือ 400 เขต มองในมุมนี้ก็จะทำให้เกิดความเสมอภาคในการออกเสียงลงคะแนน และอาจจะช่วยในการจัดการการเลือกตั้งอีกด้วย

 

ผมไม่แน่ใจในเรื่องของการใช้เงินซื้อเสียง เพราะว่าเขตที่ใหญ่ขึ้นนั้น ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าการแข่งขันอาจจะรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ ปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งคือการทำลายระบบการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน หรือระบบบัญชีรายชื่อ จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้กำหนดให้มี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่ออยู่เหมือนเดิม แต่ว่าลดจำนวนลง จาก 100 คน เหลือ 80 คน รัฐธรรมนูญปี 40 มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ใช้เขตประเทศนั้นเป็นเขตเลือกตั้ง หมายความว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคการเมืองทำบัญชีหนึ่งบัญชี และประชาชนทั้งประเทศ เวลาไปออกเสียงเลือกบัญชีรายชื่อ ต้องมี 1 คะแนน แล้วเอาคะแนนมารวมกัน ก่อนจะกระจายกลับไปยังพรรคการเมืองนั้นๆ

 

แน่นอนว่า ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากมีการกดตัดที่ 5 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้พรรคการเมืองที่เป็นพรรคเล็กๆ ที่ ส.ส.ได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ไม่มีที่นั่งในสภา แต่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันในรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามตินี้ ซึ่งมีการทำให้ประเทศทั้งประเทศกลายเป็น 8 กลุ่มจังหวัด หรือ 8 เขตเลือกตั้งในระบบสัดส่วน แล้วเอาจังหวัดต่างๆ มารวมกัน แล้วก็ทำให้บัญชีนั้นเป็นบัญชีเล็ก บัญชีละ 10 คน

 

ถามว่าทำไมถึงเป็นปัญหา? คำตอบก็คือการออกแบบระบบเลือกตั้งแบบนี้ไม่ตอบคำถามเลยว่าผู้แทนของระบบบัญชีรายชื่อที่มาจากกลุ่มจังหวัดแต่ละจังหวัดนั้นเป็นผู้แทนของ "อะไร" ไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำนโยบายในระดับประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ส่งผลให้พรรคการเมืองนั้นๆ อาจจะมีปัญหา แม้แต่ในเชิงการสนองนโยบาย เพราะเป็นไปได้ว่าจังหวัดของภาคกลางจังหวัดหนึ่ง อาจถูกนำไปรวมกับอีกจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ แล้วเลือก ส.ส.ในกลุ่มบัญชีเดียวกัน

 

ผมเรียนว่าถ้าเกิดจะลดทอนหรือแก้ปัญหาจาก รธน.ปี 40 ยังมีวิธีอีกหลายวิธี เช่น ยกเลิกระบบ 5 เปอร์เซ็นต์ไป แต่คงระบบบัญชีรายชื่อระดับประเทศเอาไว้ หรืออาจจะยังใช้ระบบ 5 เปอร์เซ็นต์อยู่ แต่เพิ่มสัดส่วนอย่างอื่น เช่น พรรคการเมืองใดได้เก้าอี้ในที่นั่งของ ส.ส.เขต ถึง 2 เขตหรือ 3 เขต ก็ให้เอาคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อนั้นมารวมคำนวณ เพื่อจัดการที่นั่งกลับไปให้กับพรรคการเมืองนั้นด้วย การแก้ปัญหามีหลายวิธีที่จะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญนั้นสอดคล้องกับฐานคิดในทางทฤษฎี

 

ประเด็นปัญหาอีกอันหนึ่ง คือเรื่องของการตรวจสอบ ผมยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายเรื่องในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบ มีความก้าวหน้าขึ้นจริง ดังที่ท่านผู้ร่างรัฐธรรมนูญหลายท่านได้พูดไปแล้ว ซึ่งนี่อาจจะเป็นข้อดีของตัวรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงลงประชามติฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ผมว่ามันมีคำถามที่จะต้องตั้งอยู่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มองบุคคลสองกลุ่มแตกต่างกัน นั่นคือมองนักการเมืองอย่างหนึ่ง แล้วก็มองข้าราชการหรือระบบราชการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเมื่อมอง 2 อย่างต่างกันอย่างนี้แล้ว ก็จะส่งผลต่อวิธีคิดและการออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองด้วย และถ้าเราตรวจสอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราก็จะพบว่ารัฐธรมนูญฉบับนี้คุมเข้มบรรดานักการเมืองต่างๆ เช่น จะต้องมีการเปิดผยบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ด้วย

 

แต่ปัญหาก็คือว่า องค์กรบางองค์กรที่ใช้อำนาจเกาะเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรืออำนาจทางการเมืองนั้น ไม่มีบทบัญญัติเช่นนี้ครับ ซึ่งผมอยากจะถามว่า ถ้าเกิดมีการกำหนดให้บรรดานายกรัฐนตรี ส.ส.หรือ ส.ว.ต้องเปิดเผยตัวบัญชีทรัพย์สิน องค์กรที่ทำหน้าที่ในการสรรหาบุคคลเข้าสู่องค์กรอิสระ ไม่ควรจะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์อันเดียวกันหรือ? เพราะเหตุว่ากรรมการสรรหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอำนาจยิ่งไปกว่ากรรมการสรรหาองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญปี 40 มาก

 

เช่น ถ้าสรรหาไปแล้วทางวุฒิสภาไม่รับ คณะกรรมการสรรหาก็จะสามารถยืนหยัดได้ และยืนยันด้วยมติที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้แล้วด้วย ผลก็คือจะทำให้ไม่ต้องสนใจว่า วุฒิสภาจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ คณะกรรมการสามารถแต่งตั้งบุคคลผู้นั้นเข้าสู่องค์กรอิสระได้ ในแง่มุมนี้ การตรวจสอบกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่มีบทบาทในตัวรัฐธรรมนูญนั้นจึงไม่เท่าเทียมกัน

 

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือปัญหาในเรื่องของการไม่เคารพหลักความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และของตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

 

ถามว่าทำไมผมจึงพูดเช่นนั้น? มันมีการพูดกันถึงเรื่องมาตรา 309 ซึ่งถามกันว่าเรื่องนี้ถือเป็นการนิรโทษกรรมหรือไม่ ผมคิดว่าการจะเข้าใจมาตรา 309 จะต้องอ่านมาตรา 309 และอ่านถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ว่าเขียนเอาไว้ว่าอย่างไร

 

มาตรา 309 บอกว่า "บรรดาการใดๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 เป็นการชอบด้วยกฏหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"

 

ถ้าท่านจะอ่านมาตรา 309 ให้เข้าใจ ท่านอาจจะต้องเติมความดังวลีเหล่านี้ลงไป เพื่อให้เข้าใจ มาตรา 309 ยิ่งขึ้น ในส่วนของผมเติมลงไปในวงเล็บ () อย่างนี้ครับ ว่า

 

"บรรดาการใดๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ถึงแม้ว่าการนั้นจะไม่ชอบด้วยกฏหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะไม่ชอบด้วยกฏหมายและรัฐธรรมนูญ) ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

 

นี่คือมาตรา 309 ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่า มาตรานี้เขียนขึ้นมาทำไม ส.ส.ร.บางท่านอธิบายว่า มาตรานี้เขียนไว้เพื่อรองรับการกระทำที่ถือว่าชอบด้วยกฏหมายตามรัฐธรรมนูญปี 2549 บางคนก็บอกว่ารับรองเฉพาะการกระทำที่ชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งจริงๆ การกระทำที่มันชอบด้วยกฏหมาย ท่านไม่ต้องไปรับรองหรอกครับ การกระทำที่มัน "ชอบ" มันก็ "ชอบ" อยู่วันยังค่ำ

 

หรือถ้าจะรับรอง ก็ไม่ควรเขียนโดยใช้ถ้อยคำที่มีความหมายกว้างขนาดนี้ รวมทั้งระบุว่า "การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังที่ประกาศในรัฐธรรมนูญนี้" ผลก็คือบทบัญญัติในมาตรานี้ที่เป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ ได้ "ทำลาย" หลักความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญลง เพราะแม้ว่าจะมีการกระทำอันใดก็ตามที่เกิดขึ้นก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา โดยสมมติว่ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ ผลก็คือว่า การกระทำอันนั้น แม้มันจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ ก็ไม่มีองค์กรใดสามารถไปตรวจสอบการกระทำดังกล่าวนั้นได้

 

หลักการเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้นได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 6 ซึ่งเป็นมาตราต้นๆ แต่ถูกทำลายลงในมาตรา 309 นี่คือปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญ

 

ผมเรียนว่าก่อนหน้านี้เราได้มีการพูดถึงประเด็นนี้กันมากแล้ว ตั้งแต่ตอนที่เป็นฉบับรับฟังความคิดเห็น หลายส่วนหลายภาคได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตราดังกล่าว แต่บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ตัวถ้อยคำเหมือนกันทุกประการกับฉบับที่ได้รับฟังความคิดเห็น ถ้าหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการจะกำหนดยกโทษให้องค์กรใดตามการจัดตั้งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ควรจะเขียนให้ชัด เพื่อความยุติธรรมและเป็นธรรม เพราะองค์กรที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 19 กันยายน ปี 49 นั้น จะต้องยอมรับนะครับว่า มีที่มาที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะเขียนรับรองก็ต้องว่ากันไปเป็นองค์กรและเป็นเรื่องๆ ไป แต่ถ้าเขียนครอบคลุมอย่างนี้ก็จะมีปัญหา

 

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ หลายคนบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีการวางกลไกในเชิงสืบทอดอำนาจ เพราะไม่มีบทบัญญัติที่พูดถึงเรื่องของ คมช.ให้มีอำนาจต่อไป คมช.จะพ้นตำแหน่งไปพร้อมกับคณะรัฐมนตรี แต่บทบัญญัติบางบัญญัติไม่ได้สื่อเช่นนั้นครับ เช่น การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ซึ่งจะเป็นองค์กรอีกองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการกำหนดและร่างกฏหมาย ที่จะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกฏหมายต่อไป คณะกรรมการชุดนี้จะได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

 

ถามว่าคณะรัฐมนตรีชุดไหนครับ ที่จะเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้? คำตอบคือ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนี้ครับ เพราะเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องถือว่าเขาคือผู้บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

 

คำถามมีอยู่ว่า มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้เป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการเหล่านี้ ทำไมไม่รอให้มีการจัดการเลือกตั้ง รอให้มันมีที่มาที่ถูกต้อง แล้วจึงค่อยแต่งตั้งกรรมการเหล่านี้ไปทำหน้าที่ที่สำคัญในระดับประเทศ ซึ่งก็คือเรื่องของการกำหนดทิศทางกฏหมายของประเทศ นี่คือประเด็นหลักๆ ที่ผมอยากจะเน้นให้เห็น

 

ความจริงผมยอมรับว่ามีบทบัญญัติหลายเรื่องที่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 40 บทบัญญัติบางเรื่องเป็นบทบัญญัติหรือเป็นกฏเกณฑ์ที่ตัวผมเองก็ได้เคยเสนอด้วยซ้ำไป เมื่อตอนที่มีการวิพากษ์รัฐธรรมนูญปี 40 เช่น การมีบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เรื่องนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ทำไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ถือเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน เพื่อความเป็นธรรม เพราะเป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เรียกได้ว่าเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญนี้

 

แต่สมมติเราบอกว่า เราจะไม่ดูที่มา ไม่ดูกระบวนการยกร่าง เลิกฟังที่ผมบอกไปว่าที่มาไม่ถูกต้อง กระบวนการยกร่างมันมีปัญหา เราตัดสองอันนั้นออกไป แล้วดูแต่ส่วนที่เป็นเนื้อหาอย่างเดียว ถามว่าเราจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ไหม แต่ละบุคคลอาจจะมีความคิดในเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน ผมขอเรียนว่า เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีกับข้อเสียที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้อดีคือได้รับสิทธิและเสรีภาพบางอย่างเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งจะได้อยู่แล้วถ้ามีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในครั้งถัดไป เปรียบเทียบกับข้อเสียที่จะเกิดขึ้นจากการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ข้อเสียมีมากกว่าครับ เทียบกันไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ แล้วกลไกตรงนี้ก็จะต้องดำเนินไปโดยไม่มีการแก้ไข

 

ปัญหาต่างๆ ที่ไม่ได้พูดกันในเวลานี้ วันนี้ มันจะไปปะทุขึ้นหลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว รัฐธรรมนูญปี 50 นี้ จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นก่อนปี 40 ครับ แต่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองของไทยในวันข้างหน้า มีโอกาสที่จะเดินไปสู่ความผิดนั้นอีกครั้ง

 

 

หมายเหตุ : ในรอบนี้ไม่มีการตอบคำถาม โดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ผู้ดำเนินรายการ แจ้งว่า  เนื่องจากเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้วจึงให้รอบของ ดร.สมคิดและดร.วรเจตน์ ไม่มีคำถาม เพื่อให้ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายมีเวลาสรุป

 

 

ดูวิดีโอคลิปดีเบตได้ที่  http://www.prachatai.com/live/20070803

 

 

 

............................

เกี่ยวข้อง

บทคัดย่อ "ดีเบต" รธน.40 VS รธน. 50 : จรัญ-เจิมศักดิ์-สมคิด VS นิธิ-จาตุรนต์-วรเจตน์

คำต่อคำ ดีเบต "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : จรัญ ภักดีธนากุล vs นิธิ เอียวศรีวงศ์

คำต่อคำ ดีเบต "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง vs จาตุรนต์ ฉายแสง

คำต่อคำ ดีเบต "รับ ไม่รับ" รธน.50 : บทสรุปสองฝ่าย โดย "วรเจตน์" และ "จรัญ"

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท