Skip to main content
sharethis

โดย : วิวัฒน์ ตามี่


 


 


ภาพประกอบโดย gotoknow.org


 


ที่มาของการประกาศปีทศวรรษสากลชนเผ่าพื้นเมืองนั้น เกิดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียนแดงในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งชนเผ่าอินเดียนแดงได้ร่วมกันออกมาเรียกร้องต่อสู้และโจมตีกลุ่มประเทศต่างๆเหล่านี้ ว่าเป็นผู้บุกรุกดินแดนของตนและละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนและแสดงจุดยืนว่า ผืนแผ่นดินเป็นของตนและถูกคนภายนอกเข้ารุกราน ดังนั้น สิทธิดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองและคุ้มครอง


 


จากเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มอินเดียนแดงจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำประเด็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าอินเดียนแดงกับรัฐบาลสหรัฐเข้าไปสู่เวทีการพูดคุยของสันนิบาตแห่งชาติ (The League of Nation) ในปี ๑๙๒๐ที่ประชุมมีข้อถกเถียงมากมายเพื่อให้ได้ข้อยุติตามที่ชนเผ่าอินเดียนแดงเรียกร้อง ซึ่งทำให้ประชาคมโลกรับรู้และสนใจประเด็นชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น


 


ในปี ๑๙๗๐ สหประชาชาติโดยผู้แทนพิเศษ นายโจเซ มาร์ติเนส โคโบ ทำการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาประชากรชนเผ่าพื้นเมือง ผลการศึกษาทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ชนเผ่าพื้นเมืองและได้เรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติทำงานจริงจังมากขึ้น จนทำให้นำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยประชากรชนพื้นเมือง (Working Group on Indigenous Population -WGIP) ในปี ๑๙๘๒ คณะทำงานชุดนี้ได้ดำเนินกิจกรรมในการสนับสนุนและปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ด้วยการประทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองในปี ๑๙๙๕-๒๐๐๔ ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศต่างๆ ๑๓ กลุ่มได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์


 


ในปี ๑๙๙๓ องค์การสหประชาชาติ(UN) ได้ประกาศเป็นปีแห่งชนเผ่าพื้นเมืองสากลและมีการประกาศว่าจัดตั้งเวทีถาวรชนเผ่าพื้นเมือง (Permanent Forum on Indigenous Issues) สำหรับการทำงานชนเผ่าโดยตรงในระบบงานขององค์การสหประชาชาติ และในปี ๒๐๐๐ สภาเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC) ได้มีการจัดประชุมเพื่อจัดตั้งเวทีถาวรชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งส่งทำให้มีพื้นที่เท่าเทียมกับตัวแทนของรัฐในหน่วยงานถาวรหน่วยงานหนึ่งในระบบ UN ชนเผ่าพื้นเมืองได้อาศัยกลไกเวทีถาวรชนเผ่าพื้นเมืองในรณรงค์ผลักดันประเด็นปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองต่อเวทีสหประชาชาติ ส่งผลให้เกิดการร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ขณะนี้อนุสัญญาฉบับนี้ได้ผ่านสภาสิทธิมนุษยชน (Human right Council ) แล้ว กำลังจะได้รับฉันทามติจากสมัชชาสหประชาชาติให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศภายในเดือนกันยายน ๒๐๐๗ นี้


 


ระหว่างปี ๒๐๐๖-๒๐๑๔ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีทศวรรษสากลชนเผ่าพื้นเมืองระยะที่๒ กำหนดให้วันที่ ๙ สิงหาคมของทุกปี เป็น"วันชนเผ่าพื้นเมืองสากลโลก" UN เสนอให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมต่างๆที่ชนเผ่าพื้นเมืองจัดขึ้นในวันนี้ สำหรับประเทศไทยยังไม่เคยสนับสนุนการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองดังกล่าวเลยสักครั้ง เลยไม่แน่ใจว่ารัฐไทยคิดอย่างไรกับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย


 


ข้อสังเกตคือ ประเทศไทยมีวันสำคัญต่างๆมากมายนอกเหนือจากวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันแรงงานแห่งชาติ วันเด็ก วันสตรีสากล วันผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ยังไม่เคยมีวันที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่า ทั้งที่ในประเทศไทยมีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากมายและเป็นที่รับรู้ในเวทีสากล


 


"ประเทศไทยกับชนเผ่าพื้นเมือง"


เมื่อย้อนกลับมาดูในประเทศไทย ว่าทำไมที่ผ่านมา รัฐไทยไม่เคยยอมรับว่ามีชนเผ่าพื้นเมือง ก็คงต้องกลับไปดูข้อเท็จจริงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการศึกษาทางมานุษยวิทยา ซึ่งคงช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น สิ่งที่ค้นพบคือ สังคมไทยยอมรับว่าการคงอยู่ของประเทศไทยประกอบด้วยความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๕๐ กลุ่ม ความมีตัวตนของบางกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ว่าโดยกำเนิดหรือ โดยการอพยพ ก็อยู่มานานก่อนสถาปนาเป็นรัฐไทยด้วยซ้ำ


 


ดังนั้น การสำนึกตนเป็นคนไทยและเรียกร้องสิทธิต่างๆ จากรัฐไทยย่อมมีความชอบธรรม ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเท่าเทียมเช่นคนไทยทั่วไปโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ


 


แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น รัฐไทยไม่เคยยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ ไม่ยอมรับรองสิทธิสถานภาพบุคคลทางกฎหมายเหมือนประชาชนคนไทยพื้นราบทั่วไป ชนเผ่าจำนวนมากจึงไม่ได้รับการรับรองสิทธิความเป็นพลเมืองตามกฎหมาย สิทธิในถิ่นที่อยู่ และไม่ได้รับสิทธิบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ


 


ทุกวันนี้ รัฐไทยยังคงมีทัศนคติต่อชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในทางลบอยู่ตลอดเวลา ต่างถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีการตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากแก่การเข้าถึง ทำให้เป็นอันตรายแก่คนส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ยังถูกมองว่าชนเผ่าทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำถูกทำลาย หนำซ้ำยังถูกกล่าวหาว่านิยมปลูกฝิ่นและชอบอพยพโยกย้ายถิ่นทำให้ยากแก่การปกครองควบคุม


 


ด้วยข้ออ้างเหล่านี้ รัฐจึงพยายามใช้แนวคิด หาแนวทางควบคุม ด้วยการใช้แนวคิด "แยกคนกลุ่มน้อยออกจากคนกลุ่มใหญ่" ภายใต้นโยบายการแยกออก (separation) และควบคุม (control) มุ่งเปลี่ยนจิตสำนึกด้านวัฒนธรรมให้มีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อรัฐไทยมากกว่าคิดแก้ไขปัญหาที่ชนเผ่าประสบอยู่


เมื่อองค์การสหประชาชาติมีการประกาศปีทศวรรษสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก รัฐไทยรู้สึกเฉยๆ คิดว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศไทยเพราะคิดว่าไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ มีแต่คนต่างด้าวและชนกลุ่มน้อยเท่านั้น


 


ชนเผ่าพื้นเมืองคิดอย่างไรกับรัฐไทย                                                                                แท้จริงแล้ว ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ ล้วนสำนึกตนว่า ตนคือคนดั้งเดิมและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และถือว่าเป็นผู้มีส่วนก่อร่างสร้างแผ่นดินร่วมกันมาเฉกเช่นเดียวกับชนกลุ่มอื่น... แต่รัฐไทยในกลุ่มชนชั้นนักปกครองกลับมองข้าม ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ดังนั้น จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับชนเผ่าพื้นเมืองจึงเป็นแบบคู่ขนาน ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวง ไม่เคยไว้วางใจกันมาโดยตลอด


 


อย่างไรก็ตาม ในหลายปีที่ผ่านมา กระแสสังคมโลกในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้มีพัฒนาการขยายความหมายและขอบเขตกว้างขวางขึ้น ผลักดันให้มีกลไกคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก


 


กระทั่งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศและนุสัญญาประกอบเป็นพันธะกรณีที่จะต้องยึดปฏิบัติรวม ๕ ฉบับด้วยกันคือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และอนุสัญญาการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและพิธีสารเลือกรับ


 


และในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ก็ได้บัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยยึดถือเกณฑ์กติกาตามรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าเป็นสัญญาบ่งบอกว่ายอมรับชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น แต่มักวงเล็บไว้เสมอว่ายอมรับเฉพาะบางชนเผ่าเท่านั้นมิใช่ทั้งหมด


 


 


การประกาศ "วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย" คือการกำหนดชะตากรรมตนเอง


การประกาศวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ นี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ และครั้งแรกที่ดำเนินการเริ่มต้นจัดงานโดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศร่วมกับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง และได้รับการสนับสนุนจัดงานจากสถาบันชาติพันธุ์พัฒนา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


 


โดยมีเป้าหมายของการประกาศวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ก็เพื่อประกาศให้สาธารณะและประชาคมโลกรับรู้เรื่องราวชนเผ่าพื้นเมืองไทยว่ามีตัวตนและมีจุดยืนอย่างไรต่อสังคมไทยและในเวทีสากล


 


และที่สำคัญที่สุดก็คือ เพื่อให้รัฐบาลไทยตระหนัก เห็นความสำคัญและยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย สังคมไทยเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะนำไปสู่การยอมรับและอยู่ร่วมกันโดยปราศจากอคติทางชาติพันธุ์ อย่างแท้จริง.


 


 






 


กำหนดการ "การจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกในประเทศไทย" ครั้งที่ 1


ระหว่างวันที่ 8 - 9 สิงหาคม 2550



ณ ห้องประชุมทองกวาว สำนักบริการวิชาการ (UNISERV) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


 


 


วันที่ 8 สิงหาคม 2550


08.00 - 09.00 น.             ลงทะเบียน/รับเอกสาร


09.00 - 09.30 น. กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน


            โดย                   นายจอนิ โอ่โดเชา ประธานกรรมการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองฯ


09.30 - 10.20 น.             ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ชนเผ่าพื้นเมือง ตัวตนคนชายขอบในสังคมไทย : มุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชน"


            โดย                   คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


10.20 - 12.30 น. เสวนาเรื่อง "อัตลักษณ์ชนเผ่าพื้นเมืองไทยในเวทีสากล"


วิทยากรโดย                    อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ


มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา


                                    ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


                                    ดร.นฤมล หิญชีระนันท์ อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์


                                                                                     มหาวิทยาลัย


                                    นายศตวรรษ สถิตย์เพียรศิริ สถาบันชาติพันธุ์พัฒนา กระทรวงการ


                                                                         พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


                                    คุณสมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


ดำเนินรายการโดย             ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


12.30 - 13.15 น.             พัก รับประทานอาหารกลางวัน


 


13.15 - 14.00 . บรรยายพิเศษ เรื่อง "ปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลกแห่ง


 สหประชาชาติกับผลกระทบที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมือง"


โดย                   Ms. Jannie Lasimbang, Secretary General of AIPP Foundation


 


14.00 - 17.30 น.             เวทีเสวนา "ข้อเสนอของชนเผ่าพื้นเมืองต่อรัฐไทยและสังคมโลก"


ผู้ร่วมอภิปราย                  นายจอนิ โอ่โดเชา ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมือง


นางชี แซ่ลี ผู้แทนสตรีชนเผ่าพื้นเมือง


นายมนูญ ไทยนุรักษ์ ผู้แทนชนเผ่าในชุมชนเมือง


ผู้แทนคนทำงานภาคบริการและแรงงาน (เอ็มเพาเวอร์)


                                    ผู้แทนเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง (จากชุมชนเมือง)


                                    ผู้แทนเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง (จากชุมชนบนพื้นที่สูง)


                                    ผู้แทนชาวแม่อายถูกถอนสัญชาติ


                                    ผู้แทนกรณีคดีปางแดง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่


 ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองชาวเล


นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้แทนนักพัฒนาชนเผ่าพื้นเมือง


ผู้ดำเนินรายการโดย          นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ


 


17.30 - 18.30 น.            รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน


 


18.30 - 22.00 น.            กิจกรรมการแสดงและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง


ประสานการจัดกิจกรรม โดยนางสาววรรณ คำมี และ ผู้ประสานงานแต่ละชนเผ่าพื้นเมือง


 


19.00 - 21.00 น. ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองและคณะทำงานร่วมจัดทำคำประกาศเจตนารมณ์


                                    และจุดยืนของชนเผ่าพื้นเมืองและข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและสังคมโลก


ประสานงานและดำเนินรายการโดย นายวิวัฒน์ ตามี่ และนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด


 


วันที่ 9 สิงหาคม 2550


07.00 - 08.30 น.             คณะผู้ร่วมงานรณรงค์เดินทางมาถึงบริเวณลานโพธิ์ วัดสวนดอก อำเภอ


                                    เมือง จังหวัดเชียงใหม่และรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน


08.30 - 09.00 น.            จัดตั้งขบวนและเตรียมความพร้อมก่อนการเดินรณรงค์


09.00 - 11.00 น.             เคลื่อนขบวนเพื่อรณรงค์เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก จากบริเวณวัด


                                    สวนดอกสู่ประตูท่าแพ เดินรณรงค์มายัง ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์


11.00 - 11.30 น.             ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล


11.30 - 12.00 น.             อ่านคำประกาศเจตนารมณ์วันชนเผ่าพื้นเมืองโลกในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net