Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 ส.ค. 50 เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พรรคแนวร่วมภาคประชาชน กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


และศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา จัดเสวนาเรื่อง อนาคตสังคมไทยหลังประชามติ ณ ห้องประชุม ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดยนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง


 


นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และอดีต ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยา ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 40 ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติ และไม่เห็นด้วยกับวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และสมาชิกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งที่คมช.มีบทบาทมาก แต่ก็พร้อมจะพิจารณาเนื้อหาร่างตามเนื้อผ้า ว่าถ้าเนื้อหานำไปสู่การปฏิรูปการเมืองและสังคมอย่างจริงจัง ก็จะรับ


 


เขากล่าวว่า เดิมพิจารณาเนื้อหาเป็นหลัก และแม้มีข้อดีหลายอย่างซึ่งมาจากการผลักดันของภาคประชาชน เช่น การรับรองสิทธิตามข้อตกลงสากล เปิดโอกาสครั้งแรกให้ประชาชนแก้รัฐธรรมนูญได้ด้วยห้าหมื่นชื่อ ยกเลิกคุณสมบัติที่ต้องมีคุณวุฒิปริญญาตรีของ ส.ส. แต่ก็ยังคงของ ส.ว.ไว้ การเซ็นข้อตกลงกับต่างประเทศที่รัฐบาลต้องเสนอกรอบการเจรจากับรัฐสภา เปิดการประชาพิจารณ์ เปิดเนื้อหาการตกลง


 


แต่โดยรวม รัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่มีเรื่องที่ชำรุดและเป็นปัญหาสำคัญมาก 3 เรื่อง คือ วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละคน ที่เหลือมาจากการสรรหา ซึ่งเป็นการเอาอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชนทั้งประเทศมาให้คณะสรรหาที่ได้แก่ ตัวแทนองค์กรอิสระ ตัวแทนพรรคการเมืองเข้ามาเป็นผู้สรรหา เท่ากับคนเจ็ดคนที่มาจากตุลาการ องค์กรอิสระ และพรรคการเมืองมีความชอบธรรมที่จะเลือกคนได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แสดงถึงการไม่ไว้ใจการตัดสินของประชาชน และสิ่งที่จะเกิดขึ้น อาจเป็นการหมกเม็ด เปิดโอกาสให้คนที่ผู้มีอำนาจต้องการ เข้ามาในวุฒิสภา


 


อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องนี้ในสังคมก็แตกอยู่เหมือนกัน มีคณะกรรมาธิการที่ไปฟังเสียงประชาชนบอกว่าประชาชนหลายส่วนเห็นด้วยกับการให้ ส.ว.บางส่วนมาจากการแต่งตั้ง คำถามคือ วิธีการตั้งคำถามแฟร์ไหม ทั้งนี้ ข้อเท็จจริง คือ มันขัดกับหลักประชาธิปไตยทั่วโลก อย่าเอาตัวอย่างของประเทศล้าสมัยมาเป็นตัวอย่างที่ดี อย่างนี้ประชาชนจะมีโอกาสเรียนรู้จากผลการเลือกตั้ง และกลับไม่ต้องรับผิดชอบจากคนที่ตัวเองเลือกตั้ง


 


สำหรับการสรรหาองค์กรอิสระ เห็นด้วยที่ให้มีตัวแทนพรรคการเมืองและฝ่ายตุลาการ แต่นอกจากนั้น ต้องมีตัวแทนองค์กรภาคประชาชน สื่อและนักวิชาการด้วย ต้องมีที่มาที่หลากหลาย แทนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้ แต่ร่างฉบับนี้กลับให้ความไว้วางใจกับภาคตุลาการ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือภาคตุลาการจะถูกซื้อ และอย่าบอกว่าภาคตุลาการถูกซื้อไม่ได้ แม้แต่การซุกหุ้นของคุณทักษิณ ก็มีข้อสงสัยเยอะว่าตุลาการรัฐธรรมนูญ ถูกซื้อไหม เพราะมติออกมาค่อนข้างแปลก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การให้อำนาจกับข้าราชการในสิ่งที่ควรจะเป็นอำนาจของประชาชน


 


องค์กรอิสระต่อไปจะเสีย แม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เคยเป็นตัวแทนของภาคประชาชนได้ แม้จะมีปัญหาบางอย่าง แต่ที่ผ่านมาก็สะท้อนผลประโยชน์ภาคประชาชน แต่ในร่างใหม่นี้ การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาจากการสรรหาของคณะตุลาการส่วนหนึ่ง ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่น่าจะได้ตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง


 


ถัดไปคือเรื่องมาตรา 309 ที่มีการตีความหลายอย่าง บางคนบอกว่าไม่ใช่การต่ออำนาจคมช. คำถามคือเขียนไว้เพื่ออะไร แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ดูแล้วไม่เป็นธรรมชาติของรัฐธรรมนูญ ดูแล้วหมกเม็ด มีวัตถุประสงค์แต่ไม่แสดงชัดเจน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ มันไม่ตรงไปตรงมา


 


ที่น่าผิดหวัง คือ เรื่องรัฐสวัสดิการที่เริ่มต้นในรัฐธรรมนูญ 40 ไม่มีอะไรคืบหน้าในรัฐธรรมนูญ 50 เลย ความหวังของประชาชนที่จะมีหลักประกันในชีวิตที่ดี ไม่มี ความหวังที่จะสร้างความเป็นธรรมกับสังคมในการกระจายรายได้ไม่เกิดขึ้น ทั้งยังน่าผิดหวังที่ยังคงชื่อหมวด "สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย" ทั้งที่ภาคประชาชนพยายามเสนอให้แก้เป็น "สิทธิเสรีภาพของประชาชน" แต่ก็ไม่มีการแก้ไข จึงไม่ครอบคลุมถึงคนจำนวนมากที่ไม่มีบัตรประชาชน เลข 13 หลัก


 


โดยเนื้อหา องค์กรในกป.อพช. จำนวนมากก็ตกลงว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้


 


นอกจากนี้ เห็นว่าไม่ควรต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะระหว่างนี้มีสัญญาณที่ไม่ดีหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น พ.ร.บ. ความมั่นคง ที่ให้อำนาจทหารควบคู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความพยายามรักษาอำนาจของทหารในสังคมไทย ที่จะทำให้หมวดสิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญ ไม่มีความหมายเลย


 


สองคือ ความพยายามของส่วนราชการตอนนี้ที่จะทำให้ผลประชามติรัฐธรรมนูญออกมาเป็นได้รับการรับรองโดยประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย มีการใช้กลไกของรัฐในพื้นที่ทุกส่วนเพื่อให้ผลออกมาเป็นรับร่าง ที่จะอันตรายจาก 19 ส.ค. คือถ้าผลออกมาว่า "รับ" ท่วมท้น จะสร้างความชอบธรรมต่อทุกอย่าง ทั้งต่อการรัฐประหาร ต่ออำนาจ ต่อการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคง ซึ่งอันตรายมาก


 


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ค่อนข้างเชื่อว่าเสียงจะออกมาเป็นรับ คนที่ไม่รับ ต้องแสดงพลังให้มากที่สุด ในสถานการณ์นี้และรณรงค์ให้ไม่รับ


 


ถ้ามติออกมาไม่รับ จะสื่อว่า ประชาชนต้องการเห็นการปฏิรูปสังคมและการเมืองอย่างจริงจัง การไม่รับ เป็นการทำให้เกิดการปฏิรูปสังคมการเมืองได้เร็วที่สุด ถ้าผลออกมารับสัก 60% ไม่รับ 40% ยังเปิดโอกาสต่อการปฏิรูปได้ เพราะแปลว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมรับการร่างรัฐธรรมนูญ


 


แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่รับ ปัญหาคือ เวลาไปคุยกับคนต่างๆ ไม่ได้ศึกษา รายละเอียดของรัฐธรรมนูญ แต่รับเพราะไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากถูกขู่จนกลัวว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญ เท่ากับจะสร้างความวุ่นวายในสังคม เหมือนผู้มีอำนาจพยายามบอกให้รับไปก่อน คนใน ส.ส.ร. แม้แต่คนในสื่อเอง ซึ่งคิดว่าสื่อมวลชนเองก็ลำเอียงมากๆ เท่าที่ดูในโทรทัศน์


 


นอกจากไม่รับ เราต้องแสดงพลังในการไม่รับ ที่สำคัญที่สุดต้องออกมาต่อต้าน พ.ร.บ. ความมั่นคงด้วย อย่างไรการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีก็จะมีต่อไป


 


ทั้งนี้ การไม่รับแสดงว่าอยู่กลุ่มเดียวกับทักษิณรึเปล่า เหมือนที่บอกว่าถ้ารับจะเป็นพวก คมช. เราจะถูกผลักไปขั้วใดขั้วหนึ่งเสมอ ตรงนี้คิดว่าภาคประชาชนต้องมีจุดยืนของตัวเอง ต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่รับก็คือไม่รับ


 


นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่า 19 สิงหานี้ไม่ว่ารับไม่รับ สังคมไทยก็คงมีปัญหาเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ถ้าผ่าน ก็เป็นการผ่านของร่างที่ คมช. ยัดเยียดให้เพราะ คมช. มีบทบาทในกระบวนการร่างมาตลอด โดยตั้งกติกาว่าจะร่างอย่างไร แต่งตั้ง ส.ส.ร.กฎหมายธ. ทั้งทางตรงทางอ้อม ในแง่หลักการก็ขัดแย้งกันในตัว ทหารที่ไม่เชื่อกฎหมายสูงสุดที่ฉีกรัฐธรรมนูญ กลับมาโปรโมทรัฐธรรมนูญ ฉบับทหาร


 


ถ้าผ่าน ก็คิดว่ากลุ่มต้านอย่างเครือข่าย 19 กันยาฯ คงไม่ได้กลับเข้าห้องเรียนไปเฉยๆ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความพยายามผ่านกฎหมายเป็นชุด เช่น พ.ร.บ. ความมั่นคง ที่มีปัญหามาก โดยด้าน คมช. เอง พล.อ.สนธิก็แสดงความสนใจที่จะเล่นการเมือง ตอนเช้าก็พูดว่า ทหารก็เล่นการเมืองได้ ซึ่งเขาเองเห็นว่าทหารก็เล่นการเมืองได้ แต่นี่ดันไปนำการรัฐประหาร วางรากฐานก่อนแล้วมาเล่น เลยมองไม่เห็นว่าถ้าผ่านแล้วจะสงบอย่างไร พล.อ.พัลลภ (ปิ่นมณี) ก็ลงเล่นการเมืองแล้ว เลยอาจลงเป็นชุด ไม่เพียงแพคเกจกฎหมาย แต่มีทหารด้วย โดยตอนนี้แม้แต่เอ็นจีโอที่เชียร์รัฐประหารอย่างหมอประเวศ ยังออกมาเตือน กรณีที่พล.อ.สนธิจะเล่นการเมือง


 


นอกจากนี้แล้ว มาตรา 77 ที่พูดเรื่องงบทหาร แสดงว่าทหารคงอยากอยู่ยาว ถ้าร่างรัฐธรรมนูญ ผ่าน กลุ่มที่คิดกับรัฐประหาร คงต้องคิดต่อ ว่าถ้าโหวตโนแพ้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป


 


ทั้งนี้ มีคนเสนอว่าให้มีช่องที่สามว่าไม่เอาด้วยกับกระบวนการนี้ นอกจากช่องรับกับไม่รับ กกต. ก็บอกว่าพิมพ์ไปแล้ว ดังนั้น จึงมีทางเลือกของคนไม่รับแค่สองทาง ถ้าไปลงประชามติไม่รับก็จะโดนอ้างว่า ยอมเล่นตามกติกา มีคำถามว่า ต้องยอมรับผลหรือไม่ หรือถ้าฉีกบัตรก็จะมีปัญหาผิดกฎหมาย อีกทาง ถ้าไม่ไปลงเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ลงเพราะไม่สนใจการเมือง หรือว่าไม่ยอมรับร่าง รธน. ถ้าไม่ผ่าน ก็ยังต้องต่อสู้กันต่อหรือกดดันว่า คมช. จะใช้ฉบับไหน หรือถึง รธน. ผ่าน ก็คิดว่ายังสู้ต่อได้เพราะกระบวนการไม่ชอบธรรม


 


ต่อมา ถ้ามีเลือกตั้ง ประชาชนก็ต้องกลับมาเจอคำถามว่าแล้วนักการเมืองแบบเก่าจะทำอย่างไร แต่โจทย์จะแตกต่างเพราะทหารจะสืบทอดอำนาจต่อ รูปร่างหน้าตารัฐบาลจะเปลี่ยนไปจากช่วง 15 ปีนี้ จะมีคำถามเกิดขึ้นว่า กลุ่มต้านรัฐประหารจะสลายตัวหลังเลือกตั้งไหม แล้วจะผลักดันอย่างไรให้เกิดภาคประชาชนที่แท้จริงที่ไม่พึ่งเจ้า อาวุโส เอ็นจีโอ


 


นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า วาทกรรมรับร่างฯ เพื่อให้บ้านเมืองสงบ แพร่หลาย รู้สึกว่าต้องทำหน้าที่เพื่อชาติ โดยหลายคน หนึ่ง ไม่ได้อ่านร่าง รธน. สอง อ่านแล้วไม่เห็นด้วย กระอักกระอ่วน สาม กระบวนการไม่ถูกต้อง แต่เพราะถูกบอก และอยู่ในภาวะวิกฤตการเมือง 2 ปี เกิดการปะทะแยกขั้ว ทำให้คนทั่วไปรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับทั้งสองฝ่าย เริ่มตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุม สร้างบรรยากาศของการเลือกข้าง สร้างความเหนื่อยหน่ายและถูกเสนอว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวยุติ หลายคนเลยจะออกไปรับ


 


ผลที่จะเกิดขึ้นจะมีผลผูกพันในระยะยาว เป็นพิธีกรรมรัฐธรรมนูญ สมัย รธน. 40 คนตื่นตัว ชาวบ้านถือรัฐธรรมนูญ ไว้สู้กับตำรวจเวลาถูกลิดรอนสิทธิ แต่คนทั่วไป ชนชั้นกลาง ปัญญาชน เอ็นจีโอ คงรู้สึกว่าถ้าเชื่อมั่นจริง คงไม่ถูกล้มไปได้ แม้ รธน. 40 ไม่ได้ดี 100% อย่างน้อยก็ผ่านจาก ส.ส. มีส่วนร่วมของประชาชน เพราะงั้นคนที่เชียร์คงไม่ได้เชื่อในรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นหลักสูงสุด เป็นrule of law แต่เป็นการวัดพลังมากกว่า.


 


การโหวตไม่รับสู้ในเกฎหมายแพ้ มีราคาที่ต้องจ่าย แต่การไม่สู้จะเป็นพลังที่สูญเปล่า จะอธิบายอย่างไร


 


หากประชามติไม่ผ่าน นั่นคือการถ่วงดุล ฝั่งสนับสนุนทักษิณอาจมีแรงมากขึ้น แต่จะช่วยประชาชนถ่วงดุลกับทหาร การผลักดันกฎหมายต่างๆ ความชอบธรรมในการวางรากฐานทุกอย่าง เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง


เพราะฉะนั้นในภาวะที่จะทำได้ ไปลงประชามติเหมือนกับการถ่วงดุล โนโหวต สมัยทักษิณ เป็นภาวะที่พยายามถ่วงดุลให้มากที่สุด เพราะอำนาจนิยม อำนาจทหารจะกลับมา หากเสียงไม่รับมาก ก็อาจทำให้คนใช้อำนาจไม่เหลิง


 


การโหวตครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการต่อสู้ระหว่างคนเอากับไม่เอาคุณทักษิณ เพราะมันถูกทำให้จบเมื่อ 19 กันยายน 49 เวทีนั้นได้จบไปแล้ว โจทย์เปลี่ยนไป วันนี้เป็นการต่อสู้กับอำนาจที่คงอยู่ และพยายามสถาปนาต่อในสถานการณ์ปัจจุบัน คนที่ต้องการคานดุล แม้ไม่ชอบหรือต่อต้านทักษิณก็โหวตไม่รับได้ ถ้าฝ่ายค้านในสภาไม่มีประชาชนก็จะต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ถ้าชนะไม่ขาด ก็มีการถ่วงดุล ถ้าแพ้ราบคาบ ก็ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ


 


หลายคนอาจไม่รู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพลดลง แต่ถ้าปล่อยผ่าน การเมืองต่อไป รัฐจะมีอำนาจกว่าประชาชน โดยมีมรดกบาปที่ทิ้งไว้คือกฎหมายต่างๆ รธน. นั้นเป็นสัญญะ แต่กฎหมายเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันกฎหมายต่างๆ ที่ดันออกมาไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่ผ่านสภา เป็นยุคทองของข้าราชการอำนาจนิยม พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ ข่าวกรอง สื่อ ทั้งหมด 8 ฉบับ ที่ประกาศไปแล้ว เช่น พ.ร.บ. คอมฯ ดูว่าดี ป้องกันแฮกเกอร์ แต่ก็ให้อำนาจตำรวจคอมพิวเตอร์หรือไซเบอร์คอร์ป มีอำนาจสืบค้นเรียกข้อมูลจราจรย้อนหลัง 90 วัน คุมร้านเนต ต้องลงทะเบียน มีกล้องวงจรปิด ขอข้อมูลการใช้อินเตอร์เนตผ่านไอเอสพี โดยไม่ต้องขอเรา ต้องผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ ซึ่งคนคุมก็คือรัฐ พ.ร.บ. วิทยุโทรทัศน์ มาตรา 39 ที่ให้อำนาจรัฐ ปิดรายการที่ขัดต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรื่องการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้นในการควบคุม โดยเมื่อก่อนไม่คุมเทศกาลหนัง แต่เดี๋ยวนี้คืบคลานมาคุม


 


ทั้งที่พฤติกรรมต่างๆ นี้มีกฎหมายอาญา จัดการอยู่แล้วกฎหมาย มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การออก พ.ร.บ. เช่นนี้เป็นความตั้งใจใช้อำนาจทับซ้อน พ.ร.บ. อีกฉบับคือ พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ซึ่งทุกอย่างก็อาจผิดได้ ไม่ว่า รอยสัก เพลง หรือภาพอาร์ท ทุก พ.ร.บ. มีเรื่องของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และศีลธรรม ซึ่งน่าจะเป็นการควบคุมเสรีภาพในการสื่อสารมากกว่า


 


ถ้ามีกฎหมายแบบนี้ ใครก็ใช้ได้ การคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คัดค้าน คมช. หรือบอกว่า เอา-ไม่เอา นักการเมือง แต่เป็นสิทธิเสรีภาพ เมื่อเป็นเรื่องการเมือง ก็ผ่านหมด แล้วเราก็ให้อำนาจกับเขา ในการออกกฎหมายจัดการกับเรา


 


นี่เป็นความผิดของทุกคน รวมทั้งตนเองที่ทำให้เหตุการณ์มาแบบนี้


 


กฎหมายเป็น พ.ร.บ. แล้วแก้ยาก ล้มรัฐธรรมนูญง่ายกว่าแก้ พ.ร.บ. ซึ่งมีผลต่อชีวิตประจำวัน ทั้งที่ไม่ต้องเขียน เพราะกฎหมายอาญาครอบคลุมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ไม่มีแรงไปเปลี่ยน เว้นแต่การเมืองหลัง 19 ส.ค.เปลี่ยน คงทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนมีน้ำหนักมากขึ้น แม้จะไม่ชนะ แต่ก็หวังว่าอำนาจถ่วงดุลจะสูสี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net