Skip to main content
sharethis

ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย และอดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ส่งเอกสาร "ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" โดยผู้เขียนชี้แจงวัตถุประสงค์ของเอกสารว่าเพื่อ "ตีแผ่ความจริงอีกด้านหนึ่ง" ของ รธน.50 และชวนให้ท่านทั้งหลาย ไปลงมติ "ไม่รับ" ร่าง รธน.


โดย ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ ฉบับเต็มได้ที่นี่

หมายเหตุจากประชาไท : ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549 และแฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย พ.ศ.2546 ส่งเอกสาร "ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" มาให้ประชาไทพิจารณาเผยแพร่

ตอนหนึ่งของคำชี้แจง ทศพลระบุว่า

"เอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อตีแผ่ความจริง อีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่บกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อย่างเป็นระบบและครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งยังต้องการเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายไปลงประชามติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม ท่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมทุกเรื่อง ทุกประเด็นนะครับ การจะไป ลงประชามติ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขอให้เป็นไปตามดุลยพินิจของท่านเอง ผมเพียงต้องการทำหน้าที่ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งแก่ท่านเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดผมก็เคารพในวิจารณญาณของทุกท่าน รวมทั้งพร้อมยอมรับผลการลงประชามติที่จะออกมาในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ทุกประการ"

โดยเนื้อหาที่เผยแพร่เป็นส่วนของ คำชี้แจง บทนำ และ สาระสำคัญของบทวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเอกสาร โดยผู้อ่านสามารถดาวน์โหลด เอกสาร "ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐" 

คำชี้แจง

            พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพทุกท่านครับ ผมเขียนเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อตีแผ่ความจริง อีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่บกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อย่างเป็นระบบและครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งยังต้องการเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายไปลงประชามติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม ท่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมทุกเรื่อง ทุกประเด็นนะครับ การจะไป ลงประชามติ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขอให้เป็นไปตามดุลยพินิจของท่านเอง ผมเพียงต้องการทำหน้าที่ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งแก่ท่านเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดผมก็เคารพในวิจารณญาณของทุกท่าน รวมทั้งพร้อมยอมรับผลการลงประชามติที่จะออกมาในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ทุกประการ

ก่อนที่ท่านจะได้อ่านเอกสารฉบับนี้ต่อไปในรายละเอียดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี ความผิดพลาด บกพร่อง จนอาจนำประเทศไปสู่วิกฤติการณ์ที่ร้ายแรงได้ในอนาคตนั้นผมขออนุญาตชี้แจงบางประเด็นที่สำคัญเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ดังต่อไปนี้

            ๑. เอกสารฉบับนี้เป็นความคิดเห็นของผมโดยเฉพาะ มิใช่ความคิดเห็นของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยส่วนรวม ผมขอรับผิดชอบต่องานเขียนชิ้นนี้ของผมแต่เพียงผู้เดียว

            ๒. เอกสารฉบับนี้มุ่งวิเคราะห์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงที่มามากนัก เพราะฉะนั้น ผมขอยืนยันในที่นี้ว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับการรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ เครือข่าย ๑๙ กันยาต้านรัฐประหารที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร เป็นหลัก

            ๓. แม้ว่าผมจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ผมต้องขอปฏิเสธว่า ผมไม่ได้เป็นผู้สนับสนุน กลุ่มไทยรักไทยรวมทั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการก่อความรุนแรงและความไม่สงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง รวมทั้งการใช้วาจาหยาบคายต่อ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา และขอประณามการกระทำดังกล่าว รวมทั้งขอวิงวอนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดอย่างเฉียบขาด และเป็นธรรม

            ๔. ในเอกสารฉบับนี้ ผมพยายามที่จะใช้ภาษาที่ง่ายที่สุดเสมือนหนึ่งผมกำลังเล่าเรื่องและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญให้ท่านฟังเพื่อให้ท่านทั้งหลายที่อาจจะไม่ถนัดในการอ่านภาษากฎหมาย หรือภาษาวิชาการทางการเมืองการปกครอง ได้เข้าใจเนื้อหาของเอกสารฉบับนี้ได้โดยง่าย และไม่รู้สึกเบื่อหน่ายจนเกินไปในการอ่านเอกสารฉบับนี้จนจบ

            ๕. ผมจำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างตรงไปตรงมา และคงต้องขออภัย ผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่อาจจะถูกพาดพิงอยู่หลายครั้งในเอกสาร ฉบับนี้

สุดท้าย ผมขอเชิญชวนทุกท่านไปออกเสียงประชามติในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่ว่าท่านจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตาม ขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณารับเอกสารฉบับนี้ไปอ่านโดยไม่โยนลงถังขยะเสียก่อน และขอขอบพระคุณมากขึ้นที่จะกรุณาอ่านเอกสารฉบับนี้จนถึงบรรทัดสุดท้าย สำหรับท่านใดที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สามารถส่งความคิดเห็นของท่านมาแลกเปลี่ยนกันได้ที่ booksinghdam@hotmail.com ผมยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกท่านด้วยความเคารพ

ด้วยจิตคารวะ
ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์
นิสิตชั้นปีที่ ๔ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แฟนพันธุ์แท้การเมืองไทย พ.ศ. ๒๕๔๖
และอดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙

000

บทนำ

            ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่พวกเราทุกคนจะต้องไปออกเสียงประชามติว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่จะถึงนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องหลายประการอันอาจจะนำพาประเทศไปสู่วิกฤติการณ์ร้ายแรงได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติการณ์ดังกล่าวขึ้น ผมจึงไม่สามารถรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ และ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านไปลงประชามติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นเดียวกัน

            ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รวมทั้งผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมารณรงค์ให้ท่านทั้งหลายไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อว่า ให้รับไปก่อนแล้วไปผลักดันแก้ไขกันในภายหลัง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ คน สามารถเข้าชื่อกันเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ผมต้องขอเรียนทุกท่านว่า อย่าไปหลงเชื่อคำโฆษณาในลักษณะนี้ เพราะถ้าเราทุกคนไปลงมติรับโดยคิดแต่เพียงว่า "รับๆ ไปก่อน" ตามที่ ผู้มีอำนาจในขณะนี้ต้องการ จะส่งผลให้คะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก เช่น เห็นชอบถึงร้อยละ ๙๐ ไม่เห็นชอบเพียงร้อยละ ๑๐ ในอนาคตใครก็ตามริเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถูกตั้งคำถามทันทีว่า มีความชอบธรรมอะไรที่จะไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ในที่สุด จะไม่มีใครกล้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอนทั้งๆ ที่เห็นปัญหาและข้อบกพร่องมากมายที่จำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศในระยะยาว

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ แม้จะไม่ได้ผ่านการลงประชามติ แต่ก็ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในขณะนั้นด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น อีกทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา แม้เราจะพบเห็นปัญหามากมายจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ มากว่า ๙ ปี แต่ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพเสนอแก้ไขเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบเพราะเกรงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ละเมิดเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมืองของประชาชนจนประเทศต้องประสบกับภาวะวิกฤติการณ์ทางการเมืองอย่างร้ายแรงจนไม่สามารถ หาทางออกได้ และเกิดรัฐประหารขึ้นในที่สุด

            พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ผ่านการลงประชามตินะครับ ยังไม่มีใครกล้าแก้ไขเพิ่มเติม แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าผ่านการลงประชามติได้ด้วยคะแนเสียงท่วมท้นจะมีคนกล้าเสนอแก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างไร?

            เพราะฉะนั้น ผมขอเชิญชวนทุกท่านให้ไปลงประชามติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างน้อยที่สุด ถ้าคะแนนเสียงไม่รับอยู่ในระดับสูง หรือใกล้เคียงกับคะแนนเสียงที่รับ แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการลงประชามติ แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังได้อย่างชอบธรรม และจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงพอสมควร

            ถ้าวิเคราะห์ในภาพรวม รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อบกพร่องอยู่มากมายหลายประการ เริ่มต้นจาก เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ไว้ใจพี่น้องประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มุ่งทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล และความแข็งแกร่งของพรรคการเมืองจนไม่อาจแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประเทศได้ การดึงฝ่ายตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไปซึ่งจะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของ ฝ่ายตุลาการในระยะยาว ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า สาเหตุที่ฝ่ายตุลาการเป็นที่ไว้วางใจของพี่น้องประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมคลี่คลายวิกฤติการณ์ทางการเมืองนั้นเป็นเพราะตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา ศาลไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองที่มีแต่ความสับสนวุ่นวาย และการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อีกทั้งยังดำรงความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัดตลอดมา ฉะนั้น การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดึงศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยไม่จำเป็นจะเป็นการทำลายสถาบันตุลาการในระยะยาว แล้วในอนาคต ประเทศไทยจะไม่เหลือสถาบันใดที่จะเข้ามาแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองได้อีก ในอนาคต

            นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังมีการหมกเม็ดเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง สร้างความแตกแยกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดขึ้นในประเทศ ปลุกพลังของ "อำมาตยาธิปไตย" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และยังมีข้อบกพร่องอื่นๆ อีกมากมายดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป สรุปง่ายๆ ก็คือ สถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกทำลายลงจนสูญเสียความแข็งแกร่งและความสมดุลไปจนหมดสิ้น

            อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มักจะหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมานำเสนอว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อีกทั้งยังมีบทบัญญัติอีกจำนวนมากที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก จึงสมควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

            ในประเด็นนี้ ผมขอชี้แจงทำความเข้าใจว่า เวลาที่เราจะพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้น เราต้องทราบก่อนว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญอยู่ที่ไหน ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศไทยได้แสดงทัศนะว่า สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่หมวดที่ว่าด้วยสถาบันทางการเมือง หาใช่หมวดที่ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ แต่อย่างใดไม่ ผมคิดว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องยอมรับความจริงแล้วว่า อย่างไรเราก็ต้องอยู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Representative Democracy" เป็นหลัก ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราก็ต้องอยู่กับระบบการเลือกตั้ง อยู่กับพรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี ฝ่ายค้าน รวมทั้งฝ่ายตุลาการ สถาบันทางการเมืองเหล่านี้ยังคงต้องแสดงบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศ และที่สำคัญที่สุดยังจะต้องเป็นสถาบันที่ช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองได้จริงในทางปฏิบัติ ถ้าสถาบันการเมืองเหล่านี้อยู่ในสภาพที่อ่อนแอจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือมีสถาบันใดสถาบันหนึ่งมีอำนาจมากเกินไปจนเข้าไปควบคุม แทรกแซงการทำงานของสถาบันอื่นๆ ได้อย่างสิ้นเชิง วิกฤติการณ์ทางการเมืองย่อมเกิดขึ้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนย่อมไม่ปรากฏผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ในทางตรงกันข้าม การคุ้มครอง และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนได้โดยง่ายเป็นเรื่องที่จำเป็นและควรสนับสนุน แต่สำคัญที่สุดเราต้องไม่ลืมส่วนที่สำคัญที่สุดอีกส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ก็คือ เรื่องสถาบันทางการเมือง

            รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นตัวอย่างที่สำคัญของกรณีนี้ เพราะแม้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะให้สิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวางจนได้รับการยกย่องจากนานาอารยประเทศ แต่สุดท้ายก็นำพาประเทศไทยไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองจนเกิดการรัฐประหารในที่สุด สาเหตุสำคัญเกิดจาก ความผิดพลาดในการออกแบบโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองที่เอื้อให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง มีเสถียรภาพมากจนเกินไป แต่มิได้ออกแบบโครงสร้าง สถาบัน และกลไกการตรวจสอบให้เข้มแข็งทัดเทียมกับฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้นต้องมาพร้อมกับการออกแบบสถาบันการเมืองที่มีความเหมาะสมเช่นเดียวกัน

            ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่เรากำลังจะต้องออกเสียงประชามตินี้ แม้ว่าจะเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายๆ ด้าน แต่ก็ไม่ได้มากมายมหาศาลตามที่ได้โฆษณาชวนเชื่อกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม กลับมีบทบัญญัติบางมาตราที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจนแต่ไม่เคยมีใครหยิบยกมานำเสนอ อีกทั้ง สิทธิเสรีภาพบางเรื่องที่เพิ่มขึ้นก็มิได้แก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

            การนำเสนอของผมในเอกสารฉบับนี้ จะนำเสนอเป็นประเด็นเรียงตามลำดับก่อนหลังใน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และในบางประเด็นก็จะนำเสนอบทบัญญัติในมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ท่านได้เข้าใจประเด็นต่างๆ อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลามากนัก หรือไม่ต้องการอ่านเอกสารฉบับนี้ทั้งฉบับก็สามารถอ่านเฉพาะส่วนสรุปสาระสำคัญได้

000

สาระสำคัญของบทวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

            ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (ฉบับออกเสียงประชามติ) มีข้อบกพร่องต่างๆ มากมายที่จะนำพาประเทศไปสู่หายนะได้ในอนาคต พวกเราทุกคนจึงไม่ควรปล่อยให้สิ่งเลวร้ายนี้ผ่านไปได้โดยง่าย ข้อบกพร่องต่างๆ พอสรุปได้ ดังต่อไปนี้

๑. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาด้านจริยธรรมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ มีผลประโยชน์ทับซ้อน

            ๑.๑ สภาร่างรัฐธรรมนูญให้เวลาประชาชนเพียง ๑๙ วันในการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญที่มีความยาวถึง ๓๐๙ มาตรา ๑๖๙ หน้า ทั้งๆ ที่กฎหมายบัญญัติให้กำหนดวันออกเสียงประชามติไม่เร็วกว่า ๑๕ วันแต่ไม่ช้ากว่า ๓๐ วัน สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงมีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า คือ กำหนด วันลงประชามติเป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งจะให้เวลาประชาชนเพิ่มขึ้นอีก ๗ วันเป็นอย่างน้อยในการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ การกระทำของสภาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงไม่ได้แตกต่างไปจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน ๓๗ วันนับแต่วันที่ยุบ สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙

            ๑.๒ แม้จะมีบทบัญญัติห้ามมิให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็น ส.ส. และ ส.ว. เป็นระยะเวลา ๒ ปีนับจากวันประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ได้ นอกจากนี้ สมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่อีก ๗๕ คนยังสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง และดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ได้ทุกองค์กร ทั้งๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เช่นเดียวกัน

            ๑.๓ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนบทเฉพาะกาลเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองสามารถไปเป็นส.ว. ที่มาจากการสรรหาได้อย่างชอบธรรม เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่สามารถเป็น ส.ว. ได้เพียง ๒ ปีแต่กลับไปกำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันทั้งหมดหลังจากดำรงตำแหน่งไปแล้ว ๓ ปี

๑.๔ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหลายท่านดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) หรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นอกจากจะไม่ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยการกำหนดให้ตัวเองพ้นจากตำแหน่งในองค์กรอิสระภายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วภายในระยะเวลาไม่นานนัก ยังกำหนดให้ตัวเองสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระในอีกหลายปีข้างหน้าอีกด้วย นับเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองอย่างน่าเกลียดที่สุด

๒. มิได้ให้สิทธิ เสรีภาพ แก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง และไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วรวมทั้งมีบทบัญญัติที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนอย่างร้ายแรง

 

            ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนเฉพาะในเรื่องที่ ไม่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น แต่ประเด็นสิทธิ เสรีภาพ ที่สำคัญที่ส่งผลต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้มีความจริงใจที่จะให้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ดังนี้

            ๒.๑ ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยไม่เคยเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตได้แสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่น้อย และยังเป็นการเพิ่มสิทธิ เสรีภาพ ให้แก่อาชญากรอีกด้วย

            ๒.๒ ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติและพี่น้องประชาชนได้มีโอกาสร่วมกันกำหนดว่า "ค่าใช้จ่าย" ใดบ้างที่รัฐสมควรอุดหนุนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลเสียที่ตามมาด้านหนึ่ง จะกลายเป็นช่องว่างที่จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาต่างๆ สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ตามอำเภอใจ อีกด้านหนึ่ง จะกลายเป็นภาระทางการเงินของรัฐเพราะจะต้องอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย และ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการศึกษา เช่น ค่าเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

            ๒.๓ ยังคงมีบทบัญญัติที่อาจตีความได้ว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้รัฐบาลโอนสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมดไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการต่อต้านตามมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น

            ๒.๔ จำกัดสิทธิ เสรีภาพ ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนโดยเปิดโอกาสให้เสนอเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น ไม่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันการเมือง หรือเรื่องอื่นใดได้เลย

            นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่า ร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอนั้นจะผ่าน การพิจารณาของรัฐสภาด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งไม่ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ และสาระสำคัญ เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองสามารถคว่ำ หรือประวิงเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอได้โดยชอบธรรม

            ๒.๕ ประชาชนไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติ คณะรัฐมนตรียังคงเป็นผู้ผูกขาดอำนาจดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นเดิม อีกทั้ง ผลการออกเสียงประชามติก็อาจจะไม่ผูกมัดให้ฝ่ายบริหารต้องปฏิบัติตาม ไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษาประเด็นที่จะลงประชามติอย่างเหมาะสม และไม่มีการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้ไปออกเสียงประชามติที่จะทำให้การออกเสียงประชามติในแต่ละครั้งมีความชอบธรรม ถือเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่มักง่ายที่สุด

๒.๖ กำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำของสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี เป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ทางการเมืองของประชาชน และยังตัดสินคุณค่าของมนุษย์ด้วยกระดาษเพียงแผ่นเดียว อีกด้วย

            ๒.๗ เปิดโอกาสให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดระเบียบเองได้ว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ อันอาจนำไปสู่การสูญเสียสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และยังเป็นการตัดสิทธิของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวซึ่งเท่ากับเป็นการลดทอนสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยลงด้วยเช่นเดียวกัน

            ๒.๘ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนบทบัญญัตินิรโทษกรรมการกระทำของผู้มีอำนาจในขณะนี้ ไว้ล่วงหน้า เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สามารถดำเนินการอะไรก็ได้โดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้

            ๒.๙ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่เป็นข้อตกลงที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างร้ายแรง

            ๒.๑๐ ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง

            ๒.๑๑ แม้จะกำหนดระยะเวลาในการพิจารณากฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนไว้อย่างชัดเจน แต่กลับไม่กำหนดบทลงโทษไว้ บทบัญญัติในส่วนนี้จึงไม่อาจเกิดผลได้ในทางปฏิบัติ

๓. ทำลายเสถียรภาพ และดุลยภาพ ของสถาบันทางการเมือง

            ๓.๑ รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ของประเทศที่หมักหมมมายาวนานได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหา ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาศีลธรรมเสื่อมทราม ปัญหาการศึกษา ฯลฯ
            ๓.๒ นายกรัฐมนตรีจะไร้ภาวะผู้นำ ตกอยู่ภายใต้การควบคุม และการต่อรองผลประโยชน์ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

            ๓.๓ พรรคการเมืองซึ่งถือเป็นสถาบันหลักของระบอบประชาธิปไตยจะอ่อนแอลง และไม่อาจพัฒนาตนเองให้กลายเป็นสถาบันระดับชาติได้

            ๓.๔ การเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็น ส.ส. ได้ในเวลาเดียวกันจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่นักการเมืองทั้งหลายเป็น "คนดีของจังหวัด แต่เป็นคนชั่วของประเทศ" นักการเมืองที่เป็นฝ่ายบริหารจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาเขตเลือกตั้งของตนเอง

            ๓.๕ ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่แบ่งประเทศออกเป็น ๘ กลุ่มจังหวัด จะก่อให้เกิด ความแตกแยกครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของคนในภูมิภาค มิใช่นายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศอีกต่อไป อีกทั้ง การแบ่งกลุ่มจังหวัดตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นการแบ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก จังหวัดภาคใต้บางจังหวัดต้องไปรวมอยู่กับจังหวัดในภาคกลาง จังหวัดในภาคอีสานต้องไปรวมอยู่กับจังหวัดในภาคเหนือ เป็นต้น

            ๓.๖ สมาชิกวุฒิสภามาจากการสรรหาเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด แต่กลับให้มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนออกจากตำแหน่งได้ นับว่าไม่มีความชอบธรรม และยังไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่า กรรมการสรรหาจะไม่ถูกแทรกแซง อีกทั้งกรรมการสรรหาทั้งหมดนั้นเป็นตำแหน่งที่อาจถูกถอดถอนได้โดยสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น คำถามคือ เมื่อสมาชิกวุฒิสภามาจากกรรมการสรรหาเหล่านี้เกือบครึ่งหนึ่ง แล้วจะสามารถถอดถอนบุคคลเหล่านี้ออกจากตำแหน่งได้อย่างไร สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งคนใดจะกล้าลงมติถอดถอนคนที่สรรหาตัวเองมา

            ๓.๗ การห้ามเครือญาติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา คำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ในที่นี้ มีความหมายกว้างมาก คือ รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนจำนวนมาก สะท้อนถึงการไม่ไว้ใจวิจารณญาณของพี่น้องประชาชน รวมทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแทรกแซงวุฒิสภาได้ เพราะการแทรกแซง และครอบงำวุฒิสภานั้นมีวิธีการที่หลากหลาย และสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นญาติพี่น้องกันแต่อย่างใด

            ๓.๘ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระอย่างแท้จริง เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมือง

            ๓.๙ ดึงฝ่ายตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติตลอดจนมีอำนาจมากเกินไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของฝ่ายตุลาการในระยะยาว แล้วในที่สุด ประเทศไทยจะไม่เหลือสถาบันใดที่จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ของชาติได้อีกต่อไป ดังกรณีต่อไปนี้

            ๓.๙.๑ เปิดโอกาสให้ศาล และองค์กรอิสระ สามารถเสนอกฎหมาย และเสนอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณต่อรัฐสภาได้โดยตรง เป็นการดึงศาลให้ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง

            ๓.๙.๒ ฝ่ายตุลาการเป็นเสียงข้างมากในกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร

            ๓.๑๐ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างแท้จริง ฝ่ายค้านต้องมีเสียงสูงถึง ๑๒๐ เสียง จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ คำถามก็คือ แล้วถ้าฝ่ายค้านเหลือน้อยกว่า ๑๒๐ เสียงจะทำอย่างไร อภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีฝ่ายบริหารทุจริต ประพฤติมิชอบก็ไม่ได้ แล้วโอกาสที่ฝ่ายค้านจะเหลือน้อยกว่า ๑๒๐ เสียงสูงพอสมควร เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลจะพยายามรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลให้มากที่สุดเพื่อให้ฝ่ายค้านเหลือน้อยกว่า ๑๒๐ เสียง แล้วโดยธรรมชาติของนักการเมืองย่อมอยากเป็นรัฐบาลทุกคน ทุกพรรค สุดท้ายเราก็จะไม่เหลือฝ่ายค้าน จะเหลือแต่ฝ่ายที่ยังไม่ได้ร่วมรัฐบาลเท่านั้น

            ๓.๑๑ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปกป้องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ กรณี พระราชอำนาจที่จะทรงยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และกรณีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา)

            ๓.๑๒ จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภากำหนดไว้เช่นนี้ คำถามสำคัญก็คือ เพราะเหตุใดประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงไม่มีสิทธิเลือกนักการเมืองที่พวกเขานิยมชมชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่าวาระที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด

            ๓.๑๓ แม้ประชาชนจะมีสิทธิเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่จะเป็นหลักประกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเสนอจะผ่านการพิจารณาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ประชาชนไม่มีสิทธิเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตนเองเสนอ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย ผู้มีอำนาจสามารถแก้ไขได้ตามอำเภอใจโดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของประชาชน

๔. การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไร้ประสิทธิภาพ

            ๔.๑ ศาล และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล แต่ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้ประชาชนได้รับทราบ

            ๔.๒ ในกระบวนการถอดถอน สมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่มีโอกาสตรวจสอบดุลพินิจของ ป.ป.ช. ในกรณีที่ตัดสินว่าข้อกล่าวหาต่อผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงไม่มีมูล

            ๔.๓ ไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่า ประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิตรวจสอบดุลพินิจของสมาชิกวุฒิสภาในการลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับว่า ต้องถ่ายทอดสดการอภิปรายในวุฒิสภาก่อนจะมีการลงมติถอดถอน

            ๔.๔ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการให้ "ใบเหลือง" หรือ "ใบแดง" แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้จนถึงก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเป็นการเปิดช่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้โดยง่าย

            ๔.๕ ถ้านักการเมืองถูกกล่าวหาว่าทุจริตจะต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียว ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่นๆ ที่ ล้วนแล้วแต่มีอำนาจในการตรวจสอบนักการเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถ้าถูกกล่าวหาว่าทุจริต มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีถึง ๓ ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

เอกสารประกอบ

ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ฉบับเต็ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net