Paper Ranger ตอน กำเนิดฮีโร่ : โลกร้อน ทรัพยากร และมือของนักออกแบบ

กระดาษมาในมือเรานั้นเป็นไฉน ในภาวะที่โลกเจ็บป่วยและทรัพยากรเริ่มหรอยหรอ เราจะทำอะไรได้บ้าง

 

 

วงเสวนาภาษากันเอง ในวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ภาควิชา การออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชักชวนเหล่านิสิตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผู้ที่สนใจมาฟังและแลกเปลี่ยนความรู้และไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวกับ โลกร้อน การออกแบบ และทรัพยากรของโลกในนี้

 

กับวิทยากรสามท่าน ได้แก่ ฐิตินันท์ ศรีสถิต ผู้เขียนหนังสือ "โลกร้อน ทุกสิ่งที่เราทำ เปลี่ยนแปลงโลกเสมอ" มูลนิธิโลกสีเขียว, ชัยพร อินทุวิศาลกุล เจ้าของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ผู้อยู่เบื้องหลังสมุด Paper Ranger และ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ดีไซเนอร์นักรีไซเคิล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของบริษัท osisu  (www.osisu.com)

 

ลองมาฟังรายทางของกระดาษ อีกทั้งทรัพยากรอื่นๆ ที่ควรจะไม่ถูกทิ้งให้เสียเปล่า

 

ฐิตินันท์ ศรีสถิต : "กระดาษกับโลกร้อนๆ"

งานของเปเปอร์เรนเจอร์สนใจมาก เพราะว่า ตอนนี้กระแสโลกร้อนมาแรง แต่ส่วนใหญ่จะเน้นรณรงค์การใช้พลังงาน ลดพลาสติก แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกระดาษ จริงๆ กระบวนการผลิตกระดาษ ใช้ทรัพยากรเยอะมาก พูดได้อย่างย่อๆ คือ

 

1. ใช้ต้นไม้ 1 ใน 5 ของต้นไม้ทั่วโลกส่งไปทำกระดาษ

2. ใช้พลังงาน 1 ใน 5 ของโลกส่งไปทำกระดาษ

 

สองส่วนหลักๆ นี้ทำให้กระดาษมีส่วนเยอะกับโลกร้อน และกระดาษจำนวนมาก ใช้ครั้งเดียว ไม่ได้นำมารีไซเคิล หรือนำมารีไซเคิลไม่ได้

 

กระดาษที่รีไซเคิลได้ต้องสะอาด ไม่เปื้อนน้ำมัน เป็นกระดาษแผ่นใหญ่ ไม่ถูกฉีกและเยื่อกระดาษขาด กระดาษที่ผสมพลาสติกหรือเคลือบมันจะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

 

สำหรับงานสื่อสารมวลชนที่ทำอยู่คือ มูลนิธิโลกสีเขียว คือ "นิตยสาร" ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้กระดาษเยอะ ตั้งแต่ต้นฉบับ บรู๊ฟตรวจตัวหนังสือที่มีประมาณ 1-3 บรู๊ฟ สำหรับนิตยสาร 1 เล่ม เราใช้กระดาษ 3-4 เท่าจากที่เราเห็น และยังมีกระดาษที่ใช้ในงานสำนึกงานอื่นๆ อีก ของเราเองเราพยายามแยกกระดาษแต่ละชนิดที่ใช้ได้ นี่สำหรับใช้สองหน้า อันนี้สำหรับแปะข่าวหรืออื่นๆ

 

สำหรับสมาชิกนิตยสารบางคนประหยัดโดยใช้ซองที่เคยส่งแล้วมาใช้ซ้ำอีก ซึ่งมันก็ยังใช้ได้ นิตยสาร way ใช้กั้นกระแทนกระดาษซ้ำ ในบางประเทศใช้วิธีอัดกระดาษหนาๆ เอาม้วนกระดาษเป็นรอบแกนดินสอ เป็นต้น ตัวอย่างชุมชนรีไซเคิลที่เราเคยเห็น คือ โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งจัดการเรื่องขยะได้ดีมาก มีการคัดแยก จาก 200 กิโล เหลือ 20 กิโล หากใครสนใจอยากไปศึกษาบอกได้ค่ะ พี่เพิ่งไปมา

 

ชัยพร อินทุวิศาลกุล : "ความท้าท้ายของกระดาษหน้าเดียวในระบบอุตสาหกรรม"

ต้องออกตัวก่อนว่า โครงการนี้ไม่ได้คิดเอง พอทางจิตอาสาเขามาคุยว่า ถ้าจะทำ ทำได้ไหม เราก็คิดว่าประเด็นมันท้าทายดี เอากระดาษหน้าเดียวมาทำ พอทำเรื่องนี้ทำให้คนทำงานในโรงพิมพ์ตระหนักเรื่องการใช้กระดาษมากขึ้น

 

คนมักเข้าใจว่า เวลาทำงานรีไซเคิลจะเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นเยอะ ต้นทุนมากขึ้น แต่ไม่นะ ตัวอย่างของเปเปอร์เรนเจอร์  จริงๆ มันไม่ได้เปลืองอะไรเลย นอกจากเปลืองแรง มีขั้นตอนการเก็บเล่มมากขึ้น ใช้เวลา ใช้แรงงานคนที่ไม่ต้องมีทักษะมากขึ้น แต่ขั้นตอนง่าย แค่ไม่ได้อยู่ในไลน์การผลิตปกติ โรงงานจะทำหรือไม่ขึ้นกับว่าองค์กรว่าอยากทำไหม  คิดว่า ถ้าเราทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ทำได้ โดยพยายามทำให้ process line อุตสาหกรรมของงานแบบนี้เกิดขึ้น

           

สำหรับลูกค้าในตลาด ตอนนี้ลูกค้าสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ว่า supplier กระดาษยังไม่สามารถการันตีได้ว่าเป็นกระดาษรีไซเคิลจริงๆ

 

ในเชิงการรีไซเคิลของโรงพิมพ์ เราทำได้อยู่แล้ว คือ pre-consumer พวกกระดาษสำหรับพิมพ์ กระดาษบรู๊ฟ ตอนนี้มีความคิดเพิ่มว่าจะใช้กระดาษห่อกระดาษมาทำอะไรต่อ เพราะมันเป็นกระดาษดีมีคุณสมบัติกันความชื้น ทนทาน

 

ถามว่าคนออกแบบช่วยโรงพิมพ์ประหยัดอะไรได้บ้าง  ทำได้หลายทาง คือ ออกแบบสิ่งพิมพ์ให้สามารถนำมารีไซเคิลต่อไปได้ เช่น ไม่ควรใช้สีสะท้อนแสง ไม่ใช้ฟอย ไม่เคลือบมัน เพราะทำให้นำไปเข้ากระบวนการผลิตกระดาษรีไซเคิลไม่ได้, เวลาออกแบบ พยายามเลือกขนาดของหนังสือที่ไม่ใหญ่ผิดปกติ เพราะมันจะเสียเศษเยอะ, ออกแบบการจัดหน้าให้ประหยัดขอบกระดาษ , ปกติหน้าเปิดเป็นขวา ก็เปลี่ยนเป็นหน้าซ้าย, ประหยัดความหนากระดาษ หรือ เลือกใช้สีหมึกธรรมชาติ สามารถทำได้หลายทาง สร้างสรรค์ได้

 

แต่ในระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้ต้องการความโดดเด่น ฉีกแนว ต้องการความหรูหรา ความสวยงาม มากกว่าคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต : "นักออกแบบ = นักทำลาย หรือ นักสร้างสรรค์?"

กรอบการออกแบบของส่วนตัวมี 3 อย่าง คือ

1.       สิ่งแวดล้อม         ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

2.       เศรษฐกิจ                        การเติบโตและยั่งยืนทางธุรกิจ

3.       สังคม                 คนและ วัฒนธรรม

 

สามส่วนที่สมดุลกันจะได้ จุดมุ่งหมาย คือ "อยากให้ทุกคนมีความสุข"

 

ในฐานะสถาปนิก ผมเป็นมือหนึ่งในการทำลายสภาพแวดล้อม สำหรับนักสถาปนิก คนมองว่าเราเป็นผู้สร้าง แต่จริงๆ เราก็เป็นนักทำลายด้วย มองง่ายๆ อย่างห้องนี้ เราใช้แอร์อย่างน้อย 3 เครื่องใหญ่ๆ ไฟ ตัวตึก แต่ในฐานะนักวิจัยมองว่าจะทำอย่างไรให้มีสิ่งที่ทิ้งน้อยลง คิดว่ามันต้องมีทางออก

 

ความเป็นนักทำลาย

-                      อาคารทั้งโลกนี้ผลิตแต่ละปี 3,000 ล้านตัน

-                      ขยะครึ่งหนึ่งของโลกมาจากการก่อสร้าง ตัวอย่างเช่น เก้าอี้ไม้สวยๆ 1 ตัว หนัก 7 ให้ลองเดามาจากไม้กี่กิโลกรัม นำมาจากไม้ 70 กิโลกรัม จะเห็นได้ว่า เราทิ้งมากกว่าใช้ ถามว่าส่วนที่เหลือไปไหน ไม้ชิ้นๆ ขี้เลื่อย เศษไม้สักเป็นถุง ไม้ปาเก้ เขาเอาไปทำฟืนหมด เศษเหล็ก  จอคอมพิวเตอร์ เศษกระดาษ หีบห่ออาหาร เหลือเต็มไปหมด ขยะเหล่านี้เอาไปทิ้งในที่ว่างซึ่งเป็นที่อยู่ของนก ปลา สัตว์น้ำต่างๆ

-                      หีบห่ออาหาร กระดาษและคาร์ดบอร์ด เป็นวัสดุที่ใช้เยอะมาก 1 ใน 4 มาจากกระดาษ

-                      พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้เยอะ เป็นส่วนประกอบของหีบห่อ 20% เราใช้พลาสติกประมาณ 53% แต่มีการรีไซเคิลน้อยมาก

-                      ไฟเบอร์กลาสต์และเรซิ่นเหลือจำนวนมากจากการทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่ใช่วิธีฝั่งกลบซึ่งจะทำให้ดินจะตาย ดินแข็งจนไม่สามารถปลูกสร้างอาคารได้

 

สิ่งเหล่านี้เป็นจุดกระตุ้นให้นักออกแบบอย่างผมคิดปรับการทำงานที่ทิ้งมากกว่าใช้  เอาของทิ้งมาใช้

 

 

นักออกแบบทำอะไรได้

บริษัท osisu ที่ผมสร้างขึ้น เริ่มนำเอาเศษของจากสิ่งก่อสร้าง โรงงานต่างๆ มาออกแบบโดยเน้นการออกแบบที่สวยงาม เช่น เฟอนิเจอร์ต่างๆ ของใช้ ถุง สมุด กระเป๋า แม้แต่เศษกระดาษฝอยจากกระดาษสำนักงานก็สามารถนำเอามาใส่ถุงเพื่อรักษารูปร่างของงานออกแบบได้

สิ่งเหล่านี้ทำขายทั่วโลก ขยะก็ยังไม่หมด ขยะกองเป็นภูเขา

 

000

 

คำถามจากน้องๆ คำตอบจากพี่ๆ

 

ทราบมาว่าผลิตภัณฑ์รีไซเคิลต้นทุนสูง อยากทราบว่ามีความคุ้มค่าในการผลิตมากน้อยแค่ไหน  และผู้บริโภคยอมรับหรือเปล่า?

ผศ.ดร.สิงห์        ในเรื่องค่าใช้จ่าย มีสองส่วนคือราคาวัสดุการผลิตและค่าแรงงานในการผลิต ของเราราคาวัสดุไม่เสียเยอะ แต่ค่าแรงใช้เยอะ เราใช้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบกันเพื่อเป็นงานหนึ่งชิ้น คุ้มไหม? ต้องถามว่าคุ้มคืออะไร? กำลังทำงานที่คิดถึงสามส่วนคือ สิ่งแวดล้อม คน และเงินที่ทำให้สามารถอยู่ได้ คิดว่ามันยั่งยืนและไปได้ระยะยาว ปีแรกมันขาดทุน ไม่คุ้มหรอก ตามธุรกิจทั่วไป ปีสองทรงๆ ปีต่อๆ น่าจะดีขึ้น 10 ปีที่ผ่านมา ผมคิดเรื่องนี้ เขาหาว่าบ้า แต่ตอนนี้เป็นไปได้ คนยอมรับ

 

จริงๆ มีคนมากมายที่เอาขยะมาออกแบบก่อนผมแต่ไม่ยั่งยืน ตอนแรกผมอายนะ ผมเอางานออกแบบนำก่อนเลย เน้นความสวยงามทำให้เขาสนใจมาพูดคุย ก็สามารถให้ความรู้เขา คำว่ารีไซเคิลขายไม่ได้ แต่แฟชั่นขายได้ มันต้อง Hi-design ถึงจะไปรอด

 

ในขั้นแรกสนใจดีไซน์ รูปลักษณ์ แต่ตัดสินใจจากเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายเราคือคนที่มีความรู้และใส่ใจเรื่องนี้ ผู้บริโภคที่รับสินค้ารีไซเคิลได้ เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และใส่ใจเรื่องนี้ เขาเห็นแล้วเอาเลย ขึ้นกับเราว่าจะเจอเขาหรือเปล่า ถ้ากลุ่ม mass จริงๆ ต้องถามว่า ราคาถูกลงได้ไหม

ชัยพร   คิดว่า งานรีไซเคิลน่าจะทำให้เป็น mass ได้ เพราะว่าขยะมาจากคนส่วนใหญ่ ก็น่าจะกลับไปสู่คนส่วนใหญ่ แต่ต้องมีคนเริ่มก่อน อย่างเปเปอร์เรนเจอร์ แรกๆ อาจจะต้นทุน 5 บาท ต่อไปเทคโนโลยีน่าจะช่วยให้ถูกลง เข้าระบบอุตสาหกรรมแล้วคุ้มค่า

 

ฐิตินันท์  ส่วนตัวคิดว่า คนที่จะใช้ของรีไซเคิล น่าจะเริ่มจากความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าเขาเข้าใจ แม้ว่าราคามันแพงกว่า เขาก็จะยอมรับที่จะจ่ายแพงกว่าได้

 

ภาครัฐจะช่วยอะไรได้บ้าง

ชัยพร   ไม่ค่อยสนใจว่ารัฐเขาจะยุ่งอะไร ก็ทำของผมไป จริงๆ เราไม่ต้องเรียกร้องหรอก เขาสามารถคิดได้เองอยู่ คิดว่าเราทำด้วยความตั้งใจดีกว่าทำเพราะแรงจูงใจ เช่น ภาษี มันง่ายกว่า ถ้าเราอยากทำเอง

 

ฐิตินันท์ ไม่ได้คิดพึ่งรัฐเลย เพราะเห็นกี่รัฐบาลมักไม่ได้เอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวนำ แต่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เช่น มาตราพุด ที่มีปัญหามากเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่รัฐก็ไม่ยอมปิดเพราะมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา คิดว่าเราควรริเริ่มเองก่อน ถ้าสังคมสนใจ สังคมเห็นมันจะดีเอง ไม่ต้องรอให้มีโอกาสถึงทำ

 

ผศ.ดร.สิงห์ คิดว่าถ้าจะทำให้เรื่องนี้มันไปได้ดี จำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เราทำให้มันชัดเจน ทำให้เขาเห็นและเอาไปบอกเขา ไม่ใช่รอให้เขาเห็นอย่างเดียว

 

ทิ้งท้ายให้นักออกแบบรุ่นใหม่

ผศ.ดร.สิงห์ สำหรับน้องๆ นักออกแบบผมคิดว่าเราควรรู้ process ในการผลิตงานของตัวเองว่าเราใช้อะไรไปบ้าง สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆ น่าสนใจๆ ได้ ประเด็นของนักออกแบบในอนาคต คือ ต้องไม่เป็นนักออกแบบที่คิดแต่เรื่องรูปลักษณ์ ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้ด้วย ไม่ใช่แค่นักสร้าง แต่ต้องเป็นนักทดลอง นักวิจัย รู้จักวัสดุที่เราผลิต ทรัพยากรที่มี

 

ชัยพร   สำหรับนักออกแบบ ยิ่งคุณต้องการคุณภาพที่สูงมากเท่าไหร่ ของเสียในการผลิตยิ่งมาก บางทีงานออกแบบเน้นความหรู ก็ยิ่งต้องมี creative item เยอะ ทำให้กระบวนการผลิตต้องเผื่อของมากขึ้น เสียของมากขึ้น ถ้าเราจะดีไซน์อย่างไรให้มันน้อยลง ง่าย ของเสียน้อยลง เลือกวัสดุที่คุ้มค่า ทำให้กระบวนการผลิตคุ้ม ได้ของที่สวยและเบียดเบียนโลกน้อยลง

 

ฐิตินันท์ พี่มองว่างานออกแบบแบบนี้เป็นความท้าทาย ถ้าเราทำได้ก็เจ๋ง

 

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเปเปอร์เรนเจอร์

http://jitasa.com/paperranger/

 

เครือข่ายจิตอาสา

Website : http://www.volunteerspirit.org

Email : volunteersipirit@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท